Skip to main content
sharethis

 



ภาพจาก http://www.ucl.or.th/pic/ang.jpg


 


ประชาไท - 7 พ.ย.2549 คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Working Group on Justice for Peace) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำโดย อังคณา นีละไพจิตร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดภาคใต้ (ศอ.บต.) สืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ฆ่าผู้บริสุทธิ์รายวันที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างจริงจัง พร้อมทั้งจะต้องมีการสืบสวนกรณีที่ชาวบ้านร่วมกันปิดล้อมพื้นที่และปฎิเสธไม่ให้ตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 40 นาย เข้าไปในท้องที่ที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ซึ่งก็คือภายในโรงเรียนบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ. บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา


 


หากรัฐบาลปัจจุบันมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ จะต้องหาทางระงับเหตุ ทั้งสกัดความเชื่อ หยุดข่าวลือ ยุติเหตุที่อาจทำให้ชาวบ้านปิดล้อม และปฏิเสธการตั้งกองกำลังเฉพาะกิจในพื้นที่ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจ ทางคณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพก็ตาม


 


นอกจากนนี้ คณะทำงานฯ ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ประการให้ ศอ.บต.นำไปพิจารณาประกอบการแก้ปัญหาด้วย ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพิจารณาคดีฆ่ารายวัน ทบทวนการดำเนินงานกรณีความไม่สงบและจัดทำบันทึกการสอบสวนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงการยกเลิกพระราชบัญญัติฉุกเฉินในแต่ละพื้นที่


 


000


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ Working Group on Justice for Peace


มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 111 ซอยสิทธิชน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย สามเสนนอก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทร 662-6934939 โทรสาร 66-2-2753954


 


เผยแพร่ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2549


 


แถลงการณ์


 


ขอให้ ศอ.บต.ดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนการฆ่ารายวันอย่างจริงจัง เพื่อหาสาเหตุการฆ่า สกัดความเชื่อ หยุดข่าวลือ ยุติเหตุชาวบ้านปิดล้อม ปฎิเสธทหารตำรวจหน่วยเฉพาะกิจ


 


จากเหตุการณ์การปิดล้อมพื้นที่และปฎิเสธไม่ให้ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด) ที่ 3201 จำนวน 40 นาย ที่ตั้งฐานปฏิบัติการภายในโรงเรียนบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ. บันนังสตา จ.ยะลา จากข่าวเผยแพร่ในสื่อมวลชน ชาวบ้านที่ระบุว่าเป็นเด็กและสตรีมุสลิมรวมตัวกันเรียกร้องกดดันให้ ตชด.ออกนอกพื้นที่เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ยิงนายอิสมาย สามะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน บริเวณใกล้กับฐาน ตชด.ที่ 3201 นายอิสมาย สามะ เป็นบิดาของนายอับดุลเลาะ สามะ ผู้ต้องหาคดีก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุมและได้รับการปล่อยตัวก่อนหน้านี้


 


สืบเนื่องจากปัญหาความไม่เป็นธรรมที่สะสมต่อเนื่องยาวนานมาแต่อดีต ได้ส่งผลกระทบให้เกิดความหวาดระแวง ความรุนแรง และนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันของประชาชนใน พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงความไม่ไว้วางใจในเจ้าหน้าที่รัฐ และความรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม


 


ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงไม่เว้นแต่ละวันในพื้นที่ โดยกระบวนการยุติธรรมไม่เคยสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่เป็นคดีอาญา โดยนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานสอบสวนในพื้นที่ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่สำคัญนี้และปิดคดีด้วยเหตุผลเพียงว่าเป็นการสร้างสถานการณ์


 


ดังนั้นเมื่อรัฐบาลปัจจุบันมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้อย่างจริงจัง และเพื่อเป็นการระงับเหตุ สกัดความเชื่อ หยุดข่าวลือ ยุติเหตุชาวบ้านปิดล้อมและปฏิเสธกองกำลังเฉพาะกิจในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจ ทางคณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพจึงใคร่ขอเสนอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ บต.) ตามโครงสร้างใหม่ ดำเนินการดังนี้อย่างเร่งด่วน


 


1. ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาคดีฆ่ารายวันที่เกิดขึ้นใหม่อย่างจริงจัง และดำเนินการสืบสวนสอบสวน การใช้นิติวิทยาศาสตร์ การจดบันทึกเหตุการณ์ ชี้แจงกับญาติของผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อหยุดข่าวลือและระงับเหตุที่ทำให้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะต้องดำเนินการนำคนผิดมาลงโทษไม่ว่าการฆาตกรรมนั้นจะเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มก่อการหรือการก่อเหตุอาชญกรรมธรรมดา


 


2. ขอให้เร่งรัดการทบทวนการดำเนินการกรณีความไม่สงบรายวัน ทำบันทึกสารบทคดีทั้งหมด ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิด และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พบว่านอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำศาสนา พระภิกษุ และบรรดานักกิจกรรมที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป ต่างได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และถูกสังหารไปหลายราย โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้


 


3. ขณะนี้ยังมีการใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ภาวะฉุกเฉิน ในการติดตามจับกุม คุมขัง ผู้ต้องสงสัยในกรณีความรุนแรงภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชั้นจับกุม ชาวบ้านบางคนถูกนำตัวมาโดยไม่แจ้งให้ญาติทราบ ทำให้เยาวชนหลายคนขาดโอกาสในการศึกษา และไม่สามารถทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวได้ตามปกติเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศว่าจะยกเลิกการใช้ พ.รก.ฉบับนี้ภายในระยะเวลา สองเดือนนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 ภายหลังการประกาศใช้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.) ตามโครงสร้างใหม่ จึงขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายพิจารณาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างระมัดระวัง หรืองดเว้นการบังคับใช้ชั่วคราว


 


ทั้งนี้ ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพจะจัดส่งรายงานการลงพื้นที่และสะท้อนปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบจากการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจต่างๆ และการใช้ความรุนแรงของกลุ่มก่อการเพื่อประสานงานกับทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ บต.) เพื่อดำเนินการติดตามและค้นหาความจริงต่อการเสียชีวิตและแก้ไขปัญหาความไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเรียกกลับคืนความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด


 


อังคณา นีละไพจิตร           ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


สมชาย หอมลออ               ที่ปรึกษาคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


พรเพ็ญ คงขจรเกียรตื        ผู้ประสานงาน


 


------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net