วิพากษ์นโยบายพลังงานรัฐบาลชั่วคราว-ข้อเรียกร้องรูปธรรมต่อการปฏิรูปพลังงาน

ประชาไท - วานนี้ (6 พ.ย. 2549)   ตัวแทนผู้บริโภค และนักวิชาการที่ศึกษาด้านพลังงานออกมาแถลงข่าวหลังจากนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 8 พ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงใหม่ รวมถึงจะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ให้เร็วที่สุดด้วย

 

สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่า หลายเรื่องไม่ต่างจากนโยบายสมัยรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าแผนพีดีพีแบบเดิมซึ่งคิดโดยเทคโนแครตกลุ่มเดียวโดยไม่มีการตรวจสอบ เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ การเตรียมใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งมากมายกับชาวบ้านในพื้นที่ แม้ในเรื่องการแปรรูป พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีจะแถลงนโยบายชัดว่าจะไม่ดำเนินการในช่วงรัฐบาลรักษาการนี้ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ทบทวนนโยบายพลังงานอย่างจริงจังเพื่อจัดการปัญหาและสร้างโครงสร้างค่าไฟที่เป็นธรรม 

 

เธอระบุด้วยว่า รัฐบาลชั่วคราวไม่ควรเร่งเปิดประมูลไอพีพี หรือทำสัญญาเมกะโปรเจ็กต์ด้านพลังงาน เพราะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้ายังไม่ได้รับการทบทวน หรือเปิดให้มีส่วนร่วมจริงๆ อีกทั้งรัฐบาลรักษาการไม่เหมาะจะเซ็นสัญญาระยะยาวกับเอกชน แต่สิ่งที่ควรทำคือการรณรงค์ลดพีค หรือปริมาณการใช้ไฟสูงสุดในฤดูร้อนของปี 2550 การรื้อโครงสร้างการทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ซ้อนทับ เช่น การที่ปลัดกระทรวงพลังงานนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทลูกของ กฟผ. หลายบริษัทได้เงินเดือนเพิ่มเติมหลายล้านบาท นอกจากนี้ยังควรยกเลิก พ.ร.บ.ทุนวิสาหกิจที่จะใช้แปรรูป กฟผ. ในรัฐบาลที่แล้วเพราะเป็นการออกกฎหมายโดยใช้อำนาจรัฐอย่างเดียว ตลอดจนแก้ไขปัญหาดั้งเดิมของชาวบ้าน เช่นกรณีชาวบ้านรอบเหมืองแม่เมาะยังไม่ได้รับค่าชดเชย

 

ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคยังนำเสนอแนวทางจัดการภาครัฐด้วยว่า ควรแยกค่าความต้องการไฟฟ้าของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ออกจากค่าไฟฟ้า เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต้องแจ้งว่าต้องการใช้ไฟเดือนละเท่าไร หากใช้เกินจะต้องจ่ายราคาแพงกว่าปกติ หากใช้ไม่ถึงที่แจ้งก็จะไม่ได้เงินค่าไฟคืนแต่จะสามารถลดปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้ลงได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการรับผิดชอบ

 

ในส่วนของชุมชน สายรุ้งเสนอให้เปิดให้ชุมชนบริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการขายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้า เพราะหลายพื้นที่มีทรัพยากรและศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองแต่ติดขัดที่กฎหมายและกลไกต่างๆ ไม่เอื้อ ขณะที่ส่วนของเครือข่ายสลัมก็ควรเปิดให้มีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อซื้อไฟในราคาขายส่งจากการไฟฟ้าแล้วมาจัดการขายให้กันเองในเครือข่ายสลัม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในค่าไฟฟ้าอีกหลายขั้นตอนสำหรับคนจนเหล่านั้น เช่น ค่าเอฟที ค่ามิเตอร์ ค่าจัดเก็บฯ กรณีนี้ประเทศเนปาลเริ่มใช้มาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว

 

"การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ ต้องปฏิรูปพลังงานด้วย ให้การตัดสินใจลงไปถึงชุมชนให้ได้ ที่ผ่านมา สังคมอาจเป็นแค่ทางสองแพร่ง คือ ถ้าไม่ให้ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจผูกขาดแบบเดิม ก็ต้องแปรรูปไปเป็นเอกชน แต่เราคิดว่ามันมีทางเลือกอื่น ที่รัฐมนตรีพลังงานสามารถวางรากฐานทางเลือกไว้ได้ตั้งแต่ตอนนี้ แต่ถ้ายังดำเนินการตามระบอบทักษิณซึ่งมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและสร้างความขัดแย้ง เราก็ไม่รู้จะเปลี่ยนรัฐมนตรีคนใหม่ไปทำไม" สายรุ้งสรุป

 

ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการด้านพลังงานจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวถึงข้อเสนอว่า ประการแรก รัฐบาลควรเปิดทางเลือกทั้งหมดในการตอบสนองไฟฟ้า และเปิดให้มีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้พลังงาน ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลต่างเข้าใจการมีส่วนร่วมในความหมายแคบ มักเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพียงครั้งเดียว ทั้งที่ต้องเปิดให้ร่วมตลอดกระบวนการ ที่สำคัญ ในขณะที่วางแผนร่วมกันนั้นก็ไม่ควรเปิดประมูลไอพีพี เพราะต้องรอแผนให้ออกมาชัดเจนว่าควรใช้เชื้อเพลิงอะไร เท่าไร

 

เขายังนำเสนอให้มีการรับรองสิทธิชุมชนในพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานด้วยเลยเพื่อให้ชุมชนสามารถผลิต จัดการ จำหน่ายพลังงานได้เนื่องจากปัจจุบันหลายชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ตื่นตัวและมีศักยภาพในการพึ่งตนเองในด้านนี้เนื่องจากพลังงานเริ่มมีราคาสูงขึ้นเรื่อย แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดังนั้น รัฐควรช่วยโดยการออกมาตรการประกันราคารับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม ดังที่ในหลายประเทศประสบความสำเร็จทำให้พลังงานหมุนเวียนเติบโต โดยอาจจะใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานหรือส่วนอื่นๆ ในการจัดการ ทั้งนี้ หากศึกษากันอย่างจริงจังจะพบว่าราคาพลังงานหมุนเวียนไม่ได้แพงอย่างที่เข้าใจกัน

 

"เฉพาะตัวเลขของกระทรวงพลังงาน จะพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ กว่า 12,000 เมกะวัตต์ แต่มันไม่เคยถูกแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างทรัพยากรที่อยู่กับอุตสาหกรรม กับชุมชน แต่ยังไงก็ตาม สำหรับชุมชน มันอาจไม่ได้สำคัญว่าตัวเลขเป็นเท่าไหร่ บางทีตัวเลขน้อยมากแต่ชุมชนทั้งหมดพึ่งตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์" ศุภกิจกล่าว

 

เขากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ควรจัดตั้งองค์กรอิสระจาหน่วยราชการเพื่อรับผิดชอบสนับสนุนพัฒนาพลังงานชุมชน ทำหน้าที่คล้ายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่อยู่ภายใต้รัฐแต่ไม่ใช่ภาคราชการ ทำงานร่วมกับชุมชนหรืออบต. มีเงินกองทุนที่จะช่วยส่งเสริมได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท