Skip to main content
sharethis

000


 


แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) มีจุดยืนตั้งต้นคือเราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ดังนั้น เราไม่สนับสนุน นโยบายใดๆที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชั่วคราวในขณะที่สังคมไทยยังไม่ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม คปส มีความจำเป็นต้องแสดงจุดยืนต่อสาธารณชนจากกรณีความขัดแย้ง เกี่ยวกับ บริษัทองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ( อสมท. ) ระหว่างพนักงานและคณะผู้บริหารชุดใหม่ที่เกิดจากรัฐบาลชั่วคราวภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดังนี้


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นว่า ความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นจาก การใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมภายหลังการยึดอำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน แม้ว่านโยบายภายใต้การกำกับของ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นด้วยความปรารถนาดี ทว่ากระบวนการนั้นขาดความโปร่งใส ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยละเลยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น พนักงาน อสมท., ผู้ผลิตรายการ, ผู้บริโภค และสาธารณชน


 


ดังนั้นการดำเนินการในลักษณะปิดประตูเพื่อตกลงกันภายใน (Back door solution) ระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้ประกอบการสื่อภาคเอกชน โดยปราศจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่เปิดเผย โปร่งใสต่อสาธารณชน ย่อมก่อให้เกิดความคลางแคลงใจจากสังคมไทย ที่สำคัญปัญหาครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของการปฏิรูปสื่ออีกครั้ง เพราะไม่อาจนำไปสู่การธำรงหลักการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้


1. คปส. เห็นว่า นักวิชาชีพและพนักงาน อสมท. มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงจุดยืน คัดค้านการใช้อำนาจของรัฐหรือผู้บริหาร โดยไม่ควรถูกข่มขู่ แทรกแซง จากอำนาจรัฐ หรือ อำนาจใดๆ


2. คปส. เห็นว่า นักวิชาชีพสื่อ ผู้บริโภค สาธารณชน และสังคมทุกภาคส่วน ต้องแสดงจุดยืนเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมและสร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่อของรัฐ


3. คปส. เห็นว่า การปฏิรูปสื่อต้องเริ่มต้นจากแนวคิดในการปฏิรูปสื่อของทั้งระบบ รวมถึงการปฏิรูปสื่อของรัฐ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 ช่อง 11 ช่อง 7 ช่อง 3 และ อสมท เพื่อปลดแอกสื่อของรัฐให้มีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพทางการเมืองและสนองประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง


 


ดังนั้นแม้การดำเนินการใดๆก็ตามของผู้มีอำนาจรัฐ หากปราศจากความเคารพในหลักการพื้นฐาน คือหลักธรรมาภิบาล ซึ่งธำรงความถูกต้อง โปร่งใส การมีส่วนร่วมของสังคมอย่างเสมอภาคแล้ว ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จ หรือ ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน เพราะสุดท้าย ปัญหาเรื่องนี้ จะถูกมองเป็นการถ่ายเทผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกันมากกว่าคำนึงถึงหลักประกันเรื่องประโยชน์สาธารณะ ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง


 


 


                                                                       


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


9 พฤศจิกายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net