Skip to main content
sharethis


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


 


หลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยกำลังทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ธีรยุทธ บุญมี ผู้นำนักศึกษาในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 และปัญญาชนคนสำคัญของประเทศในปัจจุบัน ได้เขียนบทความขนาดสั้นเพื่อเสนอความเห็นต่อสถานการณ์ในขณะนั้น รวมทั้งแนวทางพัฒนาการเมืองในระยะยาว โดยเขาสนับสนุนการรัฐประหารด้วยเหตุผลสองข้อ


 


ข้อแรก การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นโดยผู้ทำการที่เป็น "พลังซึ่งเน้นด้านคุณธรรมของบ้านเมือง"


 


ข้อสอง การรัฐประหารครั้งนี้นำมาซึ่งรัฐบาลซึ่งมีผู้นำที่สุขุม มั่นคง มีรองนายกรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์และความสามารถ รวมทั้งมีรัฐมนตรีที่สื่อสารกับชาวบ้านได้ดี


 


มองอย่างผิวเผินแล้ว ธีรยุทธสนับสนุนการรัฐประหารด้วยเหตุผลเรื่องตัวบุคคล เพราะได้อ้างถึงอุปนิสัยของผู้ก่อรัฐประหารและคณะรัฐมนตรี เช่น ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, จรัญ ภักดีธนากุล โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ , หรือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่มีทางล่วงรู้ได้


 


ปัญหามีอยู่ว่าสำหรับประชาชนที่อยู่นอกสังคมชนชั้นนำออกไป รวมทั้งสำหรับคนชนบทที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับบุคคลเหล่านี้ ธีรยุทธจะจูงใจให้พวกเขายอมรับความชอบธรรมของรัฐประหารและคณะรัฐบาลชุดนี้ได้อย่างไร?


 


สรุปอย่างรวบรัดที่สุด ธีรยุทธบอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ชอบธรรม เพราะเป็นรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อพลังที่ยึดถือความซื่อสัตย์, พลังสถาบันยุติธรรม, พลังสถาบันชาติ, และพลังสถาบันกษัตริย์ ไม่สามารถต่อสู้กับทุนการเมืองได้ ทำให้กองทัพจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง[1]


 


อันที่จริง ธีรยุทธไม่ได้อธิบายรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะ "ความจำเป็นทางการเมือง" เพื่อขับไล่ "ทุนการเมืองระดับชาติและระดับโลกาภิวัตน์" แต่เพียงอย่างเดียว หากยังเสนอ "ทฤษฎีทั่วไป" ว่าด้วยแนวทางการพัฒนาการเมืองไทยอีกด้วย กล่าวคือเขาเห็นว่าชนชั้นนำสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ควรร่วมมือกับชนชั้นนำในการสร้างรัฐธรรมนูญบน "โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย" เพื่อออกไปจากแนวคิดตะวันตกแบบสุดขั้ว นั่นก็คือออกไปจากแนวคิดที่ถือว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งคืออำนาจที่สำคัญที่สุดในสังคม


 


ในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ธีรยุทธโจมตีว่าการเมืองที่ให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งเป็นเพียง "ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ" (Procedural Democracy) ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ "ประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร" (Substantive Democracy)[2] นั่นก็คือประชาธิปไตยที่ทำให้ได้มาซี่งผู้ปกครองที่เป็นคนดี มีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม


 


ถึงตรงนี้ บทความของธีรยุทธมีประเด็นให้โต้แย้งได้อย่างน้อยสามข้อ


 


ข้อแรก การเลือกตั้งเป็นเพียง "ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ" จริงหรือไม่


 


ข้อสอง "ประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร" คือประชาธิปไตยที่ได้มาซึ่งผู้ปกครองที่ทรงศีลธรรมอย่างที่ธีรยุทธว่าไว้จริงหรือ


 


ข้อสาม หากนำแนวทาง "โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย" แบบธีรยุทธมาใช้ สภาพทางการเมืองในสังคมไทยจะเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร


 


ในฐานะที่เรียนรัฐศาสตร์มาบ้าง ผู้เขียนขอโต้แย้งธีรยุทธในประเด็นดังต่อไปนี้


 


1. ต่อคำถามข้อแรก ไม่มีใครในโลกที่คิดว่าประชาธิปไตยหมายถึงแค่ระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง แต่ธีรยุทธออกจะ exaggerate ไปมาก ที่ลดทอนให้การเลือกตั้งเป็นเพียง "การแสดงออก" ถึงการยอมรับอำนาจประชาชน


 


ในทางรัฐศาสตร์นั้น ประชาธิปไตยเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงเป็นระบบการเมืองที่กำหนดให้ "เจตจำนงทั่วไปของปวงชน" (popular will) ควบคุมอำนาจ (authority) ในการบริหารจัดการกลไกรัฐในลักษณะต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่า "เจตจำนงทั่วไป" ต้องแสดงออกผ่านสถาบันทางการเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการตัดสินใจรวมหมู่ (collective decisions) ของประชาชนในเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแอบอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของ "เจตจำนงทั่วไป" ได้อย่างเลื่อนลอย


 


ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ ก็จะเข้าใจสถานภาพของการเลือกตั้งและรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยได้ชัดเจนขึ้นว่าทั้งสองส่วนนี้เป็น "กลไก" เพื่อให้สมาชิกในสังคมตัดสินใจร่วมกันว่าจะมี "เจตจำนงทั่วไป" ในการควบคุมกลไกรัฐในลักษณะใด ผ่านคนกลุ่มไหน และด้วยกระบวนการอย่างไร


 


ในแง่นี้ การเลือกตั้งจึงไม่ได้เป็นเพียง "ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ" ที่ปราศจากแก่นสารอย่างที่ธีรยุทธว่าไว้ แต่การเลือกตั้งคือ "รูปแบบ" ที่เป็นบรรทัดฐานขั้นต่ำในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในระดับที่สูงกว่านั้น ถึงขั้นที่หากไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่มีโอกาสที่ประชาชนจะแสดงเจตจำนงการเมืองอย่างเสรี (self-determinacy) และไม่มีทางที่จะมีประชาธิปไตย[3]


 


หากพูดด้วยภาษาทฤษฎีการเมืองหลังสมัยใหม่บางสำนัก ประชาธิปไตยมี "จุดเน้นทางความคิด" (locus of enunciation) อยู่ที่ "ปวงชน" การเมืองแบบประชาธิปไตยจึงเป็นการเมืองที่มุ่งแปรอำนาจปวงชนให้เป็นระบบระเบียบที่มีลักษณะเชิงสถาบันให้มากที่สุด (the proceduralization of popular sovereignty) เพราะเชื่อว่ามีแต่วิธีการนี้เท่านั้นที่จะให้กำเนิดผลทางการเมืองที่สมเหตุสมผล (rational outcomes) ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง


 


2. แนวคิดของธีรยุทธนั้นเห็นว่าแก่นสารของประชาธิปไตยคือการได้มาซึ่งผู้ปกครองที่มีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม แต่ผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติเช่นนี้เป็นอุดมคติของการเมืองแทบทุกชนิด เพียงแต่ในระบบประชาธิปไตยนั้น ผู้ปกครองที่มีคุณสมบัตินี้ไม่ได้เป็นหลักประกันที่เพียงพอต่อการสร้างการเมืองที่ดี


 


พูดให้สั้นก็คือสิ่งที่ธีรยุทธคิดว่าเป็นแก่นสารของประชาธิปไตยนั้น อาจไม่ใช่แก่นสารที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยจริงๆ


 


ในโลกสมัยใหม่นั้น การปกครองแบบประชาธิปไตยมีแก่นสารอยู่ที่การพัฒนาระบบระเบียบเชิงสถาบันอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายของการพัฒนานี้อยู่ที่การทำให้เกิดกระบวนการสร้างเจตจำนงร่วมในระดับรวมหมู่ที่มีเหตุมีผล (rational collective will formation) ซึ่งหมายความว่าใครก็ไม่สามารถทึกทักล่วงหน้าได้ว่าสิ่งที่สมาชิกทุกคนในสังคมต้องการนั้นคืออะไร เพราะการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นการเมืองที่เชื่อเรื่องการพัฒนาไปข้างหน้า โดยที่แต่ละย่างก้าวของการพัฒนาล้วนมีผลต่อวัฒนธรรมการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม

 


ในระบบประชาธิปไตยนั้น กระบวนการที่ดีคือหลักประกันไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ขณะที่ในแนวคิดเรื่อง "โครงสร้างทางการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย" ผลลัพธ์ที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องมาจากกระบวนการที่ดีเลยก็ได้ ธีรยุทธและปัญญาชนจำนวนมากจึงยอมรับการรัฐประหารและกระบวนการที่สืบเนื่องจากนั้น หากทำให้ได้มาซึ่งผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และมีศีลธรรม


 


ควรระบุด้วยว่าเพราะธีรยุทธคิดว่าแก่นสารของประชาธิปไตยอยู่ที่การได้มาซึ่งผู้ปกครองที่ดี ผู้ปกครองที่ดีจึงเป็นผู้ทรงสิทธิทางการเมืองสูงสุด ทำให้ชนชั้นนำมีอัตวินิจฉัยและทรงไว้ซึ่งสิทธิในการแทรกแซงและกำกับวาระทางการเมืองของสังคมอย่างไรก็ได้ ส่วนประชาชนนั้นก็ต้องปรับความเข้าใจเสียใหม่ว่าประชาธิปไตยหมายถึงการร่วมมือกับผู้ปกครองผู้ทรงศีลธรรม


 


คำถามคือภายใต้ "โครงสร้างทางการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย" เช่นนี้ ประชาธิปไตยในความหมายของการปกครองโดยประชาชน โดยประชาชน และของประชาชน จะมีสถานภาพอย่างไร? เพราะเมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ต่างๆ แล้ว ดูจะเป็น "การเมืองแบบภูมิปัญญาไทย" นี้เอง ที่ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็น "รูปแบบ" เพื่อห่อหุ้มแก่นสารที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นั่นก็คือการเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำ


 


3. ธีรยุทธพูดไว้ถูกว่าการเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำเป็น "ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย" แต่เขาไม่ได้อภิปรายไว้เลยว่าบทบาทของชนชั้นนำส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ซ้ำยังไม่พูดถึงบทบาทของคนชั้นกลางและคนชั้นล่างเลยแม้แต่น้อย ราวกับว่าชนชั้นนำไทยเป็นเอกภาพ มีวาระทางการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว มีเป้าหมายเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนชนชั้นอื่นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการเมืองในสังคมนี้แต่อย่างใด


 


มีนักสังคมศาสตร์คนไหนบ้างที่กล้าเสนอมุมมองเรื่องพัฒนาการประชาธิปไตยโดยมีฉันทาคติต่อชนชั้นนำไทยได้ไกลถึงขั้นนี้?


 


ทรรศนะคติของธีรยุทธต่อระบบประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วง พ.ศ.2521-2531 เป็นตัวอย่างของคำอธิบายแบบนี้ เขากล่าวว่าประชาธิปไตยครึ่งใบของไทยเกิดขึ้นเพราะพรรคการเมือง, กลุ่มทุน, และกลุ่มอุปถัมภ์ท้องถิ่น เติบโตอย่างรวดเร็ว จนการคอรัปชั่นขยายตัวกว้างขวาง ขณะที่ค่านิยมซื่อสัตย์สุจริตก็เสื่อมทรามลง จนกระทั่ง "สังคมต้องหาทางออกโดยสร้างระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ" ซึ่งก็คือระบบการเมืองที่กองทัพกำกับรัฐสภาและพรรคการเมือง, ทหารสนับสนุนพล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 8 ปีเศษ, ประธานรัฐสภามาจากการแต่งตั้ง ส่วนนายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร


 


คำถามคือสังคมไทยไปร่วมกันหาทางออกโดยสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบตอนไหน? มีใครและคนกลุ่มไหนบ้างที่มีโอกาสร่วมหารือกันในประเด็นนี้? ระบบการเมืองนี้มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร? เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบเพื่อจะเข้ามาแทรกแซงการเมือง? ประชาธิปไตยครึ่งใบสัมพันธ์อย่างไรกับสภาพที่ทหารเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาเดียวกัน?


 


ธีรยุทธพูดถึงการเมืองที่ยึด "ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย" แต่ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยฉบับธีรยุทธมีกองทัพเป็นศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งหมด ประวัติศาสตร์เล่มนี้เขียนว่าพรรคการเมืองและรัฐสภาเป็น "ผู้ร้าย" ที่ทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงขั้นที่แม้กองทัพจะยินยอมให้มีนายกฯ จากการเลือกตั้งในปี 2531 พฤติกรรมของพรรคการเมืองและรัฐสภาก็ไม่ดีขึ้น จนกองทัพไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดไป


 


แต่จริงหรือที่การรัฐประหารทุกครั้งเกิดขึ้นเพราะความเลวทรามของพรรคการเมือง ?[4]


 



4. ธีรยุทธไม่ได้เสนอว่าทหารเท่านั้นที่ควรมีบทบาทกำกับประชาธิปไตย หากพลังฝ่ายราชการ , ศาล ,


องคมนตรี รวมทั้งนักวิชาการที่มีคุณธรรม ก็ควรร่วมกันพัฒนาการเมืองในลักษณะ "กู้ชาติ" ต่อไปด้วย โดยธีรยุทธเสนอให้ประชาชนละเลิกมุมมองว่าคนเหล่านี้รวมตัวเพื่ออำนาจหรือผลประโยชน์ แต่ให้เข้าใจว่านี่คือ "กระบวนการคุณธรรมสังคม"


 


ขณะที่ธีรยุทธเขียนแนวทางการเมืองที่ยึด "ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย" โดยผูกพรรคการเมืองไว้กับกลุ่มทุนและกลุ่มอุปถัมภ์ท้องถิ่นอย่างแน่นแฟ้น ในอีกด้าน ธีรยุทธกลับสร้างภาพให้ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ปลอดจากการแสวงหาอำนาจทางการเมืองและส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำใน "ลักษณะเฉพาะตามประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย" จึงเป็นชนชั้นนำที่มีสถานภาพใกล้เคียงกับอริยะชนผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน ไม่มีผลประโยชน์ทางโลก แตกต่างจากพรรคการเมืองที่ละโมบและเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มอิทธิพลที่ชั่วร้ายตลอดเวลา


 


ด้วยยุทธศาสตร์การเขียนเช่นนี้ ธีรยุทธจึงไม่เห็นว่าการเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำมีปัญหาอย่างฉกรรจ์ตรงที่ไม่มีใครรู้ว่าชนชั้นนำแต่ละรายมีธุรกิจในกิจการอะไร ไม่มีใครรู้ว่าชนชั้นนำแต่ละคนมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ, กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้มีอิทธิพลกลุ่มไหน ไม่มีใครรู้ว่าคนเหล่านี้เจรจาตกลงอะไรกันในห้องประชุมลับหรือในสถานสโมสรบางแห่ง ทำให้ไม่มีทางมีหลักประกันว่าความใกล้ชิดนี้จะไม่ออกผลเป็นกฎหมาย, นโยบายรัฐ หรือการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มมากกว่าส่วนรวม


 


ไม่ว่าจะในแง่มุมไหน การเมืองแบบชนชั้นนำก็ดึงการตัดสินใจทางการเมืองไปจากการควบคุมของสังคม ทำให้การตัดสินใจทางการเมืองขึ้นอยู่สายสัมพันธ์ส่วนบุคคล นำไปสู่สถานการณ์ที่คนหยิบมือเดียวมีอำนาจสูงสุดในเรื่องต่างๆ (ultimate decisionists) ซึ่งหากไม่ระมัดระวังให้ดี สภาพเช่นนี้ย่อมทำให้การเจรจาต่อรองและล๊อบบี้กันลับๆ สำคัญขึ้น ส่วนระเบียบกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานทางสังคมเสื่อมความสำคัญลง


 


ในทางทฤษฎีการเมืองแล้ว การเมืองภายใต้การกำกับของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นอำมาตยาภิวัฒน์, ตุลาการภิวัฒน์ หรืออะไรก็ตามแต่ ล้วนมีแนวโน้มจะทำให้สังคมตกอยู่ในสภาพอย่างที่นักเทววิทยากล่าวไว้ตั้งแต่ ค.ศ.200 ว่า neque enim quia bonum est, idcirco auscultare debemus, sed quia deus praecipt หรือ "อะไรที่พระเจ้าว่าไว้ คนในสังคมย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม"


 


ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน ไม่มีใครคิดว่าการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ และธีรยุทธ บุญมี ก็พูดไว้ถูกต้องว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะและภูมิปัญญาของแต่ละสังคม แต่อะไรคือลักษณะเฉพาะและภูมิปัญญาของแต่ละสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ตอบได้ไม่ง่าย ซ้ำต่อให้ตอบได้ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้คำตอบนั้นเกินเลยไปถึงขั้นล้มล้างหลักการที่เป็นสากลของประชาธิปไตย


 


ในงานเขียนของธีรยุทธชิ้นนี้ ลักษณะเฉพาะของสังคมไทยถูกทำให้ผูกพันกับกองทัพและชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม โดยเฉพาะศาล, ข้าราชการชั้นสูง, องคมนตรี, และนักวิชาการอาวุโส การนิยามลักษณะเฉพาะของสังคมแบบนี้ส่งผลให้ชนชั้นนำกลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดมีความชอบธรรมที่จะกำกับการพัฒนาการเมืองได้เต็มที่ ข้อเสนอเรื่อง "โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย" จึงทำให้การเมืองกลายเป็นการวิ่งเต้นเข้าหาศูนย์กลางอำนาจ การต่อสู้ทางการเมืองคือการอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลไปหว่านล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายและนโยบายบางอย่าง ส่วนกระบวนการทางการเมืองก็ถูกลดทอนให้มีสภาพเป็นแค่การเจรจาตกลงเป็นการภายใน


 


น่าสนใจว่าหลังจากดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ 1 สัปดาห์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นฝรั่งเกินไป จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นไทยมากขึ้น ทำให้ ข้อเสนอเรื่อง "โครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย" ของธีรยุทธ ดูจะไปกันได้กับความเห็นของนายมีชัยในเรื่องนี้ ทั้งที่สถานภาพทางสังคมและบทบาทในอดีตของคนคู่นี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


 


รัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้อะไรต่อมิอะไรเป็นไปได้มากขนาดนี้ นี่คือสิ่งอัศจรรย์ของรัฐประหารครั้งนี้อย่างแท้จริง


 


(โปรดติดตามตอนต่อไป)




 

 








[1] เหตุผลของธีรยุทธสอดคล้องกับคำแถลงของคณะปฏิรูปการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน แทบทุกตัวอักษร   จึงมีปัญหาคล้ายๆ กันว่าธีรยุทธและคณะปฏิรูปกำลังประกาศว่าฝ่ายที่ขัดแย้งกับ "ทุนการเมือง" ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป  แต่คือสถาบันหลักต่างๆ   ในสังกัดชนชั้นนำของสังคม   จนอาจตั้งคำถามต่อไปได้ว่าแล้วทำไมคนนอกสังคมชนชั้นนำและคนชนบทต้องยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้  เพราะคู่ขัดแย้งกับฝ่าย "ทุนการเมือง" ไม่ใช่ประชาชนแต่อย่างใด


 



[2] น่าสนใจว่าขณะที่ธีรยุทธโจมตีว่าแนวคิดเรื่องการเลือกตั้งเป็นฝรั่งสุดขั้ว  เขากลับใช้แนวคิดเรื่องProcedural Democracy และ Substantive Democracy ที่แสนจะเป็นฝรั่งยิ่งกว่าแนวคิดเรื่องการเลือกตั้งอย่างมากมายมหาศาล   ความเป็นฝรั่งจึงไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง  แต่จะเป็นปัญหาในทันทีทีมันขัดแย้งกับญัตติทางการเมืองแบบไทยๆ  ซ้ำประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือธีรยุทธพูดถึงแนวคิดฝรั่งอย่าง Procedural Democracy และ Substantive Democracy ในแบบที่ไม่มีนักวิชาการคนไหนพูดไว้   จนชวนให้สงสัยว่าหรือความเป็นไทยจะหมายถึงการอ้างแนวคิดอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ


 



[3] การวิจารณ์การเลือกตั้งว่าเป็นประชาธิปไตยโดยรูปแบบไม่ใช่เรื่องใหม่  เพราะแม้แต่มาร์กซ์ใน On The Jewish Question ก็วิจารณ์เอาไว้ว่าความสำเร็จทางการเมืองของชนชั้นนายทุนคือการทำให้สิทธิในการเลือกตั้งกลายเป็นสิทธิของพลเมืองทั่วไป   เหตุผลคือสิทธิที่พลเมืองแต่ละคนมีเท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง ย่อมทำให้คนชั้นล่างเข้าใจว่าตนเองมี "เสียง" เท่ากับชนชั้นนายทุนและผู้มีทรัพย์   สิทธิเลือกตั้งจึงส่งผลให้คนชั้นล่างไม่เห็นว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมนั้นเป็นประเด็นการต่อสู้ที่สำคัญอีกต่อไป  การแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจกับอาณาบริเวณทางการเมืองจึงเป็นหัวใจของยุทธการทางปรัชญาข้อนี้   และการแบ่งแยกลักษณะนี้เองที่เป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยแบบทุนนิยม-เสรีนิยม


  


อย่างไรก็ดี  การวิจารณ์สิทธิเลือกตั้งแบบนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือกับชนชั้นนำดังที่ธีรยุทธเสนอไว้  ในทางตรงกันข้าม  การวิจารณ์สิทธิเลือกตั้งเป็นไปเพื่อทำให้คนชั้นล่างเกิดความสว่างวาบทางปัญญาที่จะมองเห็นทะลุทะลวงกรอบการคิดแบบชนชั้นนายทุนเสรีนิยม   จึงเป็นการวิจารณ์เพื่อให้ประชาธิปไตยถึงรากถึงโคนไปสู่คนชั้นล่างมากยิ่งขึ้น  ไม่ใช่วิจารณ์เพื่อให้คนชั้นล่างร่วมมือกับคนชั้นนำ


 



[4] โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว การรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว  ในทางตรงกันข้าม  รัฐประหารหลายครั้งเกิดขึ้นเพราะผู้นำกองทัพขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี, มีการแก่งแย่งอำนาจระหว่างนายทหารกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ,  ผู้บัญชาการเหล่าทัพแย่งชิงผลประโยชน์จากงบประมาณซื้ออาวุธขนาดใหญ่ , ทรรศนะคติทางการเมืองที่มองว่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นศัตรูของชาติ , กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มผลักดันให้ทหารก่อรัฐประหารเพื่อช่วงชิงโอกาสในการได้มาซึ่งสัมปทานในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ฯลฯ


 


 


..................................................................................


พิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1370


 


 


อ่านเรื่องประกอบ


สัมภาษณ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (1) : การเคลื่อนไหว 2549 "รัฐประหารของคนชั้นกลาง" (26/6/2549)


 


สัมภาษณ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ตอนที่ 2) : การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้  (1/7/2549)


 


สัมภาษณ์พิเศษ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ตอนที่ 1 : 30 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยแพ้แล้ว(6/10/2549)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net