มายาคติ 9 ประการเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

มายาคติ 1 : รัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง
ที่อาจนำไปสู่การนองเลือด
ข้อโต้แย้ง: ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสิ่งธรรมดาในทุกสังคม และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังอยู่ในวิสัยที่สามารถคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การที่รัฐประหารเกิดขึ้นโดยปราศจากการปะทะและนองเลือดเป็นตัวชี้วัดภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้น ฉะนั้น การทำรัฐประหารไม่เพียงแต่ไม่จำเป็น แต่จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีความเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้น เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดต่างสามารถแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัยต่างชี้ว่าเหตุการณ์นองเลือดมักเกิดขึ้นในสังคมเผด็จการมากกว่าในสังคมประชาธิปไตย 

มายาคติ 2 :  รัฐประหารไม่ได้ทำลายประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยถูกทำลายไปแล้วโดย "ระบอบทักษิณ"
ข้อโต้แย้ง: ถึงแม้เงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลทักษิณ สร้างความเสียหายให้กับระบอบประชาธิปไตย แต่เงื่อนไขดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้การเมืองภาคประชาชนเติบโต สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ นับเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการไปสู่สังคมประชาธิปไตย แต่รัฐประหารได้ขัดขวางขั้นตอนดังกล่าว เพราะได้ปิดโอกาสทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาลงอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสถาบันหรือทางสังคม จึงเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

มายาคติ 3 : รัฐประหารเพียงหยุดประชาธิปไตยลงชั่วคราว เพื่อปรับปรุงแก้ไขวิกฤติต่างๆ แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่
ข้อโต้แย้ง: ประชาธิปไตยไม่ใช่ซีดีหรือดีวีดีที่สามารถแช่ภาพและเสียงไว้แล้วสามารถเล่นใหม่ต่อเนื่องไปได้ทุกครั้งที่ต้องการ หากแต่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง การหยุดชะงักไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการที่สั่งสมมาทั้งหมด ไม่สามารถเริ่มต้นจากจุดนั้นๆ ได้ รัฐประหารจึงไม่ได้หยุดประชาธิปไตยลงชั่วคราว หากแต่ทำลายรากฐานประชาธิปไตยที่สังคมไทยร่วมกันสั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเชิงสถาบัน สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการตรวจสอบรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ สิทธิในการจัดการทรัพยากร ฯลฯ   

มายาคติ 4 :
สังคมไทยมีลักษณะเฉพาะตัว รัฐประหารจึงสามารถนับเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบไทย
ข้อโต้แย้ง: ทุกสังคมมีลักษณะจำเพาะ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ แต่ไม่ว่าจะมีลักษณะเฉพาะอย่างไร ทุกสังคมประชาธิปไตยต่างไม่ยอมรับว่ารัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และแม้อาจเถียงได้ว่ารัฐประหารเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของระบอบการปกครองในสังคมไทย ก็ยังจำเป็นต้องอธิบายให้ได้ว่าสังคมไทยมีลักษณะจำเพาะอย่างไรจึงจำเป็นต้องมีรัฐประหาร ไม่ใช่ด้วยการยกเมฆเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร

มายาคติ 5 : รัฐประหารเกิดขึ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว เราจึงไม่สามารถทำอะไรกับมันได้

ข้อโต้แย้ง: รัฐประหารยังไม่เสร็จสิ้น การโค่นล้มรัฐบาลเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรัฐประหารซึ่งต้องการสถาปนาระบอบอำนาจใหม่ ฉะนั้น เราจึงสามารถมีส่วนในการยับยั้งมันได้ ทั้งด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผย และด้วยการหยุดสร้างความชอบธรรมให้กับมันทั้งโดยเจตนาและอย่างรู้ไม่เท่าทัน นอกจากนี้ แม้อาจเถียงได้ว่ารัฐประหารเกิดขึ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องจำแนกถูกผิดให้ได้อยู่ดี เพราะการไม่สามารถนำฆาตกรฆ่าข่มขืนมาลงโทษได้ไม่ได้หมายความว่าฆาตกรนั้นไม่ผิด

มายาคติ 6 :
รัฐประหารสามารถแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลทักษิณได้
ข้อโต้แย้ง: รัฐบาลทักษิณอาจมีปัญหาด้านการทุจริตคอรัปชั่น แต่ต้องแก้ด้วยวิธีการที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ร่วมตรวจสอบได้ ไม่ใช่ด้วยวิธีการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็น
เงื่อนไขหนึ่งที่เอื้อให้รัฐบาลทักษิณกระทำการทุจริต รัฐประหารจึงไม่เพียงแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตที่สั่งสมมา หากแต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จกระทำทุจริตเพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับการจัดการปัญหาทุจริต การที่บรรดานายทหารเข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ นับเป็นสัญญาณอันตรายที่สังคมไทยพึงระมัดระวัง


มายาคติ 7 : รัฐประหารสามารถคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณได้
ข้อโต้แย้ง: ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณจริง และก็อาจจะจริงที่นโยบายของรัฐบาลทักษิณมีส่วนทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น แต่รัฐประหารก็ไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาแต่อย่างใด ท่าทีและนโยบายเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาลรักษาการณ์ไม่ช่วยให้ปัญหาความรุนแรงลดลง เพราะเป็นไปได้ที่ผู้ก่อความรุนแรงจะประเมินว่ารัฐบาลรักษาการณ์ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารอ่อนแอ เพราะขาดฐานสังคมที่เข้มแข็ง ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าบรรดา "เมืองขึ้น" มักแข็งเมืองและแยกตัวเป็นอิสระเมื่อยามที่ศูนย์กลางอำนาจอ่อนแอ

มายาคติ 8 : รัฐประหารสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาลทักษิณได้
ข้อโต้แย้ง: รัฐบาลทักษิณก่อปัญหาไว้ค่อนข้างมาก อาทิ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดส่งผลให้มี ผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน ทว่าคณะรัฐประหารไม่เคยกล่าวถึงประเด็นนี้แต่อย่างใด ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศในระยะยาว อาทิ การเปิดเสรีการค้า นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมสุดโต่ง ฯลฯ กลับได้รับการสานต่อจากรัฐบาลรักษาการณ์อย่างครบถ้วน ฉะนั้น คณะรัฐประหารจึงไม่สามารถอาศัยการอาสาเข้ามาแก้ปัญหาประเทศเป็นข้ออ้างได้ และสังคมไทยก็ไม่สามารถคาดหวังอะไรจากรัฐประหารและรัฐบาลรักษาการณ์ได้เช่นกัน

มายาคติ 9 :
รัฐประหารสามารถนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
ข้อโต้แย้ง: รัฐประหารปิดประตูที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพราะการปฏิรูปการเมืองต้องมาจากฐานสังคมในวงกว้างและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แต่รัฐประหารจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้เฉพาะในกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม และบุคคลเหล่านี้ต่างก็เป็นร่างทรงของคณะรัฐประหารเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การเสนอแนวคิดให้มีองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อทำงานเคียงคู่กับองค์กรภายใต้กำกับของคณะรัฐประหารก็เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าจะส่งผลจริงในทางปฏิบัติ เพราะการเริ่มต้นด้วยความคิดที่ผิดและดำเนินการด้วยวิธีการที่ผิด จะนำไปสู่สิ่งที่ถูกต้องในบั้นปลายได้อย่างไร 


คำถามชวนคิด :
ในเมื่อรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งความคิดทางการเมือง (ซึ่งเป็นสิ่งปกติธรรมดาและรัฐประหารก็ไม่ใช่ทางแก้) ไม่ได้ต้องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชัน (ซึ่งเกิดขึ้นในทุกรัฐบาลและรัฐประหารก็อาจร่วมสังฆกรรมด้วยในไม่ช้า) ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้(ซึ่งต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการณ์ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร) ไม่สนใจต่อปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลทักษิณก่อขึ้น (ซึ่งต้องการวิธีคิดที่แตกต่าง ซึ่งไม่สามารถแสวงหาได้จากคณะรัฐประหารและรัฐบาลรักษาการณ์) ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ (ซึ่งหมายถึงอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็มักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำผิดอยู่ร่ำไป) และไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเมืองอย่างกล่าวอ้าง (ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดหลังรัฐบาลทักษิณเรืองอำนาจ แต่รัฐประหารกลับเป็นตัวทำลายโอกาสนั้นลง) ถ้าอย่างนั้นรัฐประหารเกิดขึ้นทำไม? เพื่ออะไร? ใครได้ประโยชน์จากการทำรัฐประหารครั้งนี้?

 

 

...........................................................

ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://tinyurl.com/y5cvqt

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท