Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


วิทยากร  บุญเรือง


 


เราไปทำอะไรในมหา'ลัย ... เป็นคำถามตั้งแต่ยุคแสวงหาจวบจนถึงปัจจุบัน --- ที่นั่นมี 'ความหมาย' หรือ 'ความหงอย' ให้หา ... วิทยากร บุญเรือง จะพาคุณไปตามหาสิ่งนั้น


 



 


 



"ฉันจึงมาหาความหงอย"


.... ช่วงเวลานี้อาจไม่ใช่ฤดูกาลพระราชทานปริญญาบัตรของมหา"ลัยชื่อดังทั้งหลาย  แต่สำหรับมหา"ลัยเอกชนเล็กๆ ของผม ที่พึ่งก่อตั้งใหม่ได้ไม่กี่ปี พึ่งมีการมอบใบปริญญาไปหมาดๆ --- แน่ล่ะว่าผมคงไม่ได้เป็นส่วนร่วมในพิธีกรรมอันทรงเกียรตินั้น


 


เช่นเดียวกับ นักคิด-นักเขียน ชื่อดังที่เคยเป็น "ขบถ" ในอดีตส่วนใหญ่ของสังคมไทย หลายคนก็ไม่ได้ผ่านพิธีนี้เช่นกัน และก็อย่างว่า … ความทะเยอทะยานส่วนตนของผมคือ อยากจะเป็นแบบพวกเขาบ้าง! (อย่าพึ่งหมั่นไส้ เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิ์ฝันไม่ว่าจะเป็น ดารา-นักร้อง-นักฟุตบอล ... ผมก็ขอใช้โอกาสนั้นฝันบ้าง ฝันถึงเส้นทางที่ผมรัก ;-)


 


และจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผมเองไม่ใช่ขบถคนเดียวของรุ่น เพราะเท่าที่สอบถามไถ่ถึงสารทุกข์สุขดิบของเพื่อนๆ พบว่าผมเป็นหนึ่งในสามขบถแห่งรุ่น คนนึงคือผมที่มีเหตุผลส่วนตัวบางประการ คนนึงได้ข่าวมาว่าไปติดคุกอยู่ที่ไหนไม่รู้เลยไม่ได้มารับ ส่วนอีกคน "ไม่มีตังค์จ่ายค่าเล่าเรียน" ติดค้าง เขาเลยไม่ให้รับ!


 


ผมคิดว่าถ้าผมมาอธิบายความเท่ส่วนตนที่ไม่ยอมรับปริญญาด้วยมือตัวเองนั้น ก็คงไม่เหมาะและคงจะเป็นการหมั่นไส้ของมิตรรักหลายๆ คนเปล่าๆ ปลี้ๆ ;-) รึจะเอาเหตุผลของเพื่อนคนที่ติดคุก อันนี้ก็ไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ คือมันติดคุก มันเลยออกมารับไม่ได้ ... เอาเป็นว่าผมของเล่าถึงเหตุผลของเพื่อนคนนึง ใน 3 ทหารเสือของรุ่น คนที่ติดค่าเล่าเรียนนั่นแหละ


 


ทั้งๆ ที่เพื่อนคนนี้ของผม ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว กระเหม็ดกระแหม่เจียดเงินเพื่อทะนุบำรุงการศึกษาของตนเอง แต่ท้ายสุด เงินงวดท้ายสุดที่มันต้องจ่ายก่อนรับปริญญา มันกลับหามาไม่ได้ ... และนั่นก็ทำให้มันหงอยๆ ลงไปถนัดตาเมื่อเจอกัน และมันก็อดเข้ารับปริญญาอย่างแน่นอน เพราะนโยบายของมหา"ลัยผม จบปีไหนรับปีนั้น ไม่สามารถไปรับกับอีกรุ่นได้


 


ความฝันมันจึงสลาย!


 


ในสังคมไทยปัจจุบัน โอกาสที่คนๆ หนึ่งจะมีศักดิ์ศรีเท่าคนอื่นๆ ถึงแม้ใครจะพูดถึงความพอเพียงหรือศีลธรรมใดๆ ก็แล้วแต่ แต่ทว่าความทะเยอทะยานในการหาสิ่งที่ดีกว่าของแต่ละคนย่อมมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ในอดีต ... ความฝันของพ่อคน แม่คน ญาติโยม ของเด็กบ้านนอกทั้งหลาย การจบปริญญาตรีของบุตรหลาน เปรียบเสมือนเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่ง ที่คนต่ำต้อยในสังคมสามารถตะเกียกตะกายขึ้นไปทำในสิ่งที่คนมีกะตังค์อย่างเสมอภาค (ด้วยจำนวนเงินค่าหน่วยกิจที่ไม่บ้าระห่ำอย่างในปัจจุบัน;-)


 


เช่นเดียวกันกับปัจจุบัน ที่ค่านิยมนี้ยังไม่เคยจางหาย ถึงแม้ว่าในยุคหนึ่งจะเคยมีการพยายามแสวงหาความหมายของนักศึกษา ปั้นแต่งให้มันสูงส่ง ซึ่งมันก็เหมือนลมที่พัดมาแรงๆ วูบสองวูบ แล้วก็ค่อยๆ จางหายไป ...


 


จากที่นักศึกษาเป็นเครื่องหมายการค้าของความมีหน้าตา เกียรติยศ สู่การเป็น นักศึกษานักรบของประชาชน แล้วก็กลับมาสู่การแสวงหาหน้าตาเกียรติยศอีกครั้ง!


 


ทั้งๆ เราถูกสอนมาให้คิดคำนึงถึงเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงเป็นเรื่องรองลงไป ... แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย! แม้แต่การประพฤติตนของคนที่สอนเรามาแบบนั้นก็ตาม


 


กระดาษใบนั้นยังคงมีความหมายเสมอ ชุดที่รุ่มร่ามที่ไม่กี่ครั้งในชีวิตจะได้ใส่ก็ยังคงมีมนต์ขลัง ... เพราะใครจะไปสนเรื่องความคิด-เรื่องอุดมการณ์ที่มีอยู่ในสมองและฝังอยู่ในจิตใจ - ที่เขาสนคือผลการเรียนดีๆ จากมหา"ลัยดังๆ แล้วก็รูปแห่งความทรงจำในวันที่ประกาศถึงความอหังการ์นั้น!


 


000


 


การศึกษา ... ธุรกิจที่มีผู้บริโภคอย่างล้นเฝือ 


 


 


 


 




มหา"ลัยที่ผุดขึ้นใหม่เหมือนดอกเห็ด คล้ายๆ จะเป็นการกระจายโอกาสการศึกษาให้กับประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มหา"ลัยเหล่านี้เป็นเพียงหน่วยธุรกิจใหม่ๆ บนโลกที่ "ความรู้ถูกทำให้กลายเป็นอำนาจและสินค้า" เท่านั้น


 


และก็ใช่ว่าคุณภาพการศึกษาของแต่ละมหา"ลัยจะเป็นที่ดึงดูดนักศึกษาเพียงอย่างเดียว ความรู้ทักษะที่ได้อาจจะเป็นเรื่องรอง หากแต่การยกระดับชนชั้นผ่านชุดครุยและใบปริญญาต่างหากคือเป้าหมายหลักของการศึกษาที่เป็นธุรกิจของไทยในปัจจุบัน เป็นหนทางแห่งการยกระดับเงินเดือน / เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน


 


ในเมื่อเราดำเนินทิศทางไปยังเศรษฐกิจแบบเสรี การศึกษาจึงต้องเป็นสิ่งที่ "ให้เปล่าไม่ได้" รึถ้าจะให้ได้ ก็เหมือนไม่เต็มใจที่จะให้เท่าที่ควร ;-)  


 


-- ทำไมเราจึงต้องมีติวเตอร์? ทำไมเราจึงต้องมีโรงเรียนกวดวิชา?


 


คำตอบก็คือ...ในโลกแห่งทุนนิยม การแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมันก็ไปได้สวยกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน ที่เน้นแต่ แข่งขัน, แข่งขัน และก็แข่งขัน


 


และก็เช่นเดียวกับทุกยุคทุกสมัย ที่นักศึกษาคือความหวัง-คืออนาคตเสมอ เฉกเช่นในยุคสมัยปัจจุบัน นักศึกษาก็คือความหวังของธุรกิจทุนนิยม เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังจับจ่ายอย่างหลากหลายที่สุด


 


อ๊อพชั่นเสริมความเป็นนักศึกษาล่ะ? -- สไตล์เท่ๆ ฮิปฮอป หรือว่าไว้ผมเดรดล๊อคดี?


 


เราต้องพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง? ที่จะทำให้ดูเหนือกว่าพวก "เสี่ยวๆ"


 


เรากินข้าวแกงถูกๆ ไม่ได้ล่ะนะ ต้องกินตามร้านในห้างนู่น - งานอดิเรก ความสนใจจะต้องมี ตีกอล์ฟ หรือ การสะสมแผ่นเพลงคลาสสิคดี? - โน๊ตบุ๊คต้องเล็กกระทัดรัดและเหมาะกับการใช้งานนอกสถานที่ - มือถือมีบลูตู๊ดรึเปล่า? ... ฯลฯ อีกสารพันที่ไว้ใช้รับประกันการเป็นนักศึกษา การบริโภคทั้งหลายแหล่นั่นแหละ


 


ทุกกระบวนการในกิจกรรมการศึกษาไทย ล้วนมีความหมายทางการตลาด ตั้งแต่วันแรกที่ตัดชุด ซื้อหนังสือ เลือกหอพัก อพาร์ตเม้นต์ คอนโด ซื้อรถ ซื้อทุกอย่างที่บ่งบอกสถานะตนเองสู่การเป็นนักศึกษา


 


แม้แต่วันรับปริญญาที่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นเงินเป็นทองไปเสียทั้งหมด ทำผมทำเผ้า แต่งหน้า เช่าชุด หรือช่อดอกไม้ช่อใหญ่ๆ หลายๆ ช่อ ... แน่นอนว่าคืนวันนั้นจะเป็นคืนที่สนุกสุดเหวี่ยงอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ;-)


 


หรือว่าอีกหนึ่งวันหลังจากนั้น ... วันที่นั่งซึม นั่งหงอย ปาดเหงื่อคิดคำนวณเงินที่ได้ใช้จ่ายไปกับการฉลอง "บัณฑิตใหม่" พร้อมด้วยอาการแฮ้งค์ ---


 


วันนี้เครื่องดื่มที่ทำให้กระชุ่มกระชวย ก็เลยยังพอขายได้อีกหลายขวด สำหรับเหล่าบัณฑิตใหม่ แฮ้งค์สุราทั้งหลาย ;-)


 


หมายเหตุ:


 


จากยุคแสวงหามาจนถึงยุคโพสต์โมเดิร์น นักแสวงหาได้คำตอบหรือยัง ขอเชิญไปร่วมงาน 60 ปี "วิทยากร เชียงกูล" ผู้เป็นเจ้าของ "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" ในวันที่  2  ธันวาคม  2549  ระหว่างเวลา  09.00 - 18.00 น. ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ด้านหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net