Skip to main content
sharethis


ภาพจาก AFP


 


ประชาไท - 22 พ.ย.2549 จากการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน มีรายงานว่าวาระสำคัญประจำสัปดาห์นี้ ได้แก่ การลงมติรับทราบการจัดทำเอกสารแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับการทำรัฐประหารเพื่อ "การปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย" เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเอกสารดังกล่าวถูกพูดถึงในฐานะ "สมุดปกขาว" ที่จัดพิมพ์เป็นภาษาไทย จำนวน 2 หมื่นเล่ม และพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษอีกประมาณ 1 พันเล่ม เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนและทูตของแต่ละประเทศ


 



เนื้อหาในสมุดปกขาวจะชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ในการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยสรุปถึงเหตุการณ์สำคัญที่เป็นชนวนเหตุว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่เพิ่งถูกยึดอำนาจไป ถูกเพ่งเล็งจากสังคมอย่างหนัก และถูกกล่าวหาด้วยความเคลือบแคลงสงสัยว่า (1) พยายามผูกขาดอำนาจ (2) ทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลโดยการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และแทรกแซงการแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ (3) คุกคามและแทรกแซงสิทธมนุษยชน (4) มีการดำเนินงานและบริหารประเทศที่ส่อไปในทางทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง (5) มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างกว้างขวาง และ (6) ละเมิดหลักจริยธรรม


 


พร้อมกันนี้ ได้มีการระบุไว้ในสมุดปกขาวด้วยว่ามีความพยายามที่จะหาทางออกด้วยการแก้ไขภายในระบบ อาทิ การชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธีและปราศจากอาวุธ การให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออก โดยบุคคลหลายฝ่ายที่ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมถึงการใช้บทบาทของศาลในการผ่าทางตันทางการเมือง (ตุลาการภิวัตน์) แต่วิธีการทั้งหมดไม่ได้ผล โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ที่ว่า กกต.มีความผิดเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบจัดการเลือกตั้ง วันที่ 2 เมษายน 2549 และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะผู้พิพากษา ศาลปกครองสูงสุด และคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาบางส่วน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549



 


นอกจากนี้ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2549 เป็นเพียงภาพสะท้อนการบรรลุถึง "รูปแบบ" ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนได้รับโอกาสในการเลือกตั้ง การได้รับเสียงสนับสนุนการเลือกตั้งจำนวนมากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในรอบที่ 2 ของรัฐบาลทักษิณ หากจะมองอย่างผิวเผิน ดูเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อความสำเร็จในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดเดิม แต่หลังจากการเลือกตั้งเรื่อยมาจนถึงเดือนกันยายน 2549 เริ่มมีเสียงจากประชาชนที่แสดงถึงความสงสัยและไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น


 


โดยประเด็นที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยคือเรื่องของการเล่นพรรคเล่นพวก แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องและบริวารอย่างไม่มีสิ้นสุด การแต่งตั้งเพื่อนและเครือญาติให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการ ในขณะที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกทำให้อ่อนแอเกินกว่าจะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางได้ ซึ่งเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และองค์กรหลักอีกหลายแห่ง จนไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับกลไกการตรวจสอบโดยรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


ผลการสำรวจประชามติของสำนักต่างๆ แสดงถึงการเสื่อมความนิยมในตึวรัฐบาล นักวิชาการ และสื่อมวลชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก ความไม่พอใจที่สะสมเพิ่มพูนกลายเป็นการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนนำไปสู่การยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ในที่สุด 


 


เช่นเดียวกับการดำเนินนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลชุดเดิม โดยเฉพาะกรณีการแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรณีการปราบปรามยาเสพติดที่ส่งผลให้ความรุนแรงขยายตัว เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายต่อหลายครั้ง จนเสื่อมเสียภาพลักษณ์ของประเทศ


 



ประเด็นสำคัญอันเป็นที่คลางแคลงใจอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติที่เป็นรูปธรรม คือการกล่าวหาว่าผู้นำประเทศอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และใช้อำนาจทางการบริหารแสวงประโยชน์ทุกด้านให้ตนเองและญาติมิตร ทั้งที่ผู้นำประเทศซึ่งควรจะยึดหลักการบริหารแบบมีธรรมาภิบาล แต่กลับขาดจริยธรรมจนมีการแก้ไขช่องว่างทางกฎหมายที่เอื้อต่อการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้บริหารประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสาเหตุให้ คปค.ต้องทำการปฏิรูปการปกครองในวันที่ 19 ก.ย. 2549 จนนำไปสู่การตั้ง คมช.และรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา


 


อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ คมช.และรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมใดๆ ออกมาเลยตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา และนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ชี้แนะว่า สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะการไม่ทำความกระจ่างในเหตุผลของความจำเป็นในการยึดอำนาจตามที่ คมช.เคยประกาศไว้ อาจมีส่วนเร่งให้ คมช.ตัดสินใจเร่งจัดทำสมุดปกขาวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงของการยึดอำนาจออกมาแจกจ่ายแก่ประชาชนเร็วกว่ากำหนดเดิม ซึ่งเคยคาดการว่าจะแจกจ่ายในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net