Skip to main content
sharethis

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์


คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 พลันเสียงประกาศ "โปรดฟังอีกครั้ง ..." ปัญญาชนชั้นกลางไทยกลุ่มใหญ่ต่างไชโยโห่ร้องว่า "เราชนะแล้ว" "ระบอบทักษิณพังทลายแล้ว" ปัญญาชนกลุ่มนี้ประกอบด้วยนักวิชาการ อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำสหภาพแรงงาน ราษฎรอาวุโส "ผู้ดี" แม้แต่ "คนเดือนตุลา" ที่อดีตเคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย


 


วันที่ 19 กันยายนเป็นหินลองทองที่พิสูจน์ว่า ใครและชนชั้นใดต้องการประชาธิปไตย และใคร ชนชั้นใดที่เป็น "พวกอำนาจนิยม" ณ วันนี้ ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มใหญ่ได้กลายเป็นพวกขวาจัด สนับสนุนและชื่นชมรัฐประหารที่สถาปนา "ระบอบปฏิรูป" แล้วต่างก็แย่งกันวิ่งเข้าไปขอส่วนแบ่ง ทั้งยศ ตำแหน่ง และเงินกันอย่างครึกครื้น


 


ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในกลุ่มปัญญาชนส่วนที่คัดค้านรัฐประหารว่า เกิดอะไรขึ้นกับปัญญาชนชั้นกลางไทยส่วนมาก? พวกเขาน่าที่จะเป็น "กองหน้าประชาธิปไตย" ไม่ใช่ "พวกหามเสลี่ยงอำนาจนิยม" คำอธิบายก็มี เช่น "คนพวกนี้หลงผิด" "ถูกอารมณ์เกลียดชังทักษิณเข้าครอบงำจนหน้ามืด" "สร้างวาทกรรมระบอบทักษิณขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงเชื่อหัวปักหัวปำ" แต่คำตอบเหล่านี้เน้นไปที่อัตวิสัยตัวบุคคลเท่านั้น โดยไม่ได้ตอบว่า เหตุใดพวกเขาจึง "แห่แหนไปเป็นพวกอำนาจนิยมขวาจัดอย่างพร้อมเพรียงกันหมด"


 


คำตอบคือ ปัญญาชนชั้นกลางส่วนนี้ปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองจารีตนิยม-ขุนนางไปแล้ว พวกเขาไม่เคยเป็นฐานพลังและกองหน้าประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย แม้บางคนเคยมีส่วนร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ก็ตาม สิ่งที่คนพวกนี้ใฝ่ฝันต้องการมาตลอดยุคสมัยคือ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ให้ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางขยายสมาชิกภาพความเป็น "อภิสิทธิ์ชน" มาให้พวกตน


 


ปัญญาชนชั้นกลางเป็นดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการศึกษาในยุค 2500-2516 ซึ่งเป็นเผด็จการทหารด้วยอำนาจรัฐที่ผูกขาดในวงแคบของชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนาง การต่อสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" ของปัญญาชนชั้นกลางก็คือ ยุติการผูกขาดอำนาจในหมู่ขุนนางราชการและให้ขยายขอบข่ายอำนาจนั้นมาสู่ "คนนอก" แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในเดือนตุลาคม 2516 แต่ดอกผลก็ถูกปล้นชิงกลับคืนไปในเดือนตุลาคม 2519 ปัญญาชนชั้นกลางเหล่านี้ยังคงดิ้นรนต่อสู้เรียกร้อง "ประชาธิปไตย" ของพวกตนมาตลอดยุค 2520 ซึ่งการเมืองเป็นระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้นที่ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางกุมอำนาจรัฐจริง แต่มีเปลือกนอกเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ที่มีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองกับรัฐบาลที่อ่อนแอ


 


ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มนี้สนับสนุนหรือไม่คัดค้านรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เพราะพวกเขาเองมีทั้งผลประโยชน์และจิตวิทยาร่วมกับชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางที่รังเกียจนักการเมืองที่เลือกตั้งโดยชนชั้นล่างทั่วประเทศ แต่พวกเขาคัดค้านนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่า ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางยังคงต้องการผูกขาดอำนาจไว้ในกลุ่มเล็กแคบของตนเหมือนเดิมด้วยการย้อนยุคการเมืองไปถึงปี 2523


 


ชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางจึงสรุปบทเรียนได้ว่า ต้องเจียดสมาชิกภาพในอำนาจไปให้ปัญญาชนชั้นกลางเพื่อให้เป็นพันธมิตรและ "คนหามเสลี่ยง" แก่พวกตน ปัญญาชนชั้นกลางจึงเป็นผู้ที่ได้เสพดอกผลแห่ง "ชัยชนะ" ของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สถานะการเมืองสังคมได้ยกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่นั้น พวกเขาคอยชะเง้อ ชูสองมือ ร้องขอยศ ตำแหน่ง และผลประโยชน์จากผู้ปกครอง ได้เข้าไปอยู่ในกลไกอำนาจทั้งในระบบราชการและองค์กรการเมืองผ่านสถานะของตนในมหาวิทยาลัยและองค์กรพัฒนาเอกชน สมอ้างเป็น "ตัวแทนภาคประชาชน" แต่แท้จริงเป็นพวก "ขุนนางใหม่" ในระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้น


 


ปัญญาชนชั้นกลางกลุ่มนี้ต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยของกลุ่มทุนใหม่เพราะฐานพลังชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ของกลุ่มทุนใหม่นั้นเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางและต่อสถานะ "ขุนนางใหม่" ของพวกตน นี่คือสาเหตุที่พวกเขาสร้างแล้วก็ดูดซับวาทกรรม "ระบอบทักษิณ" เข้าไปได้ง่าย รวดเร็ว ปลุกปั่นขึ้นเป็นอารมณ์เกลียดชังสุดขั้ว ร่วมกับชนชั้นจารีตนิยม-ขุนนางก่อตัวขึ้นเป็นแนวร่วมอำนาจนิยม เพื่อโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยและฉีกรัฐธรรมนูญ


 


คนพวกนี้พูดได้ถูกต้องที่ว่า รัฐประหาร 19 กันยายนแตกต่างจากรัฐประหารทั้งปวงในอดีตแต่ไม่ใช่เพราะนี่เป็น "รัฐประหารที่ดี" หรือ "รัฐประหารเพื่อปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตย" ตามที่คนพวกนี้อ้าง หากแต่เป็นรัฐประหารครั้งแรกที่ปัญญาชนขุนนางใหม่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้นก่อวิกฤตการเมืองกลางปี 2548 จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 และก็ได้รับส่วนแบ่งกันถ้วนหน้า เราจึงได้เห็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติและองค์กรการเมืองต่าง ๆ ภายหลังรัฐประหารที่เต็มไปด้วยนักวิชาการ อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน "ตัวแทนภาคประชาชน" และคนเดือนตุลาเข้าไปนั่งกันอย่างภาคภูมิใจ


 


วันที่ 19 กันยายนจึงเป็นรัฐประหารร่วมของพันธมิตรจารีตนิยม-ราชการ-ปัญญาชนขุนนางใหม่เพื่อสถาปนาสิ่งที่บางคนเรียกว่า "ประชาธิปไตยภูมิปัญญาไทย" แต่เนื้อแท้เป็นระบอบอภิสิทธิ์ชน ที่สำคัญคือ นี่อาจเป็นรัฐประหารร่วมครั้งสุดท้ายของพวกเขาด้วยเมื่อ "ระบอบประชาธิปไตยมหาชน" มาถึง


 


ทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้กล่าวถึงปัญญาชนชั้นกลางอีกส่วนหนึ่งซึ่งในคืนวันที่ 19 กันยายน ได้แสดงอาการรู้สึกว่า "โล่งอก" "วิกฤตการณ์ได้จบสิ้นลงเสียที" และ "ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ก็เป็นไปแล้ว มาช่วยกอบกู้บ้านเมืองกันดีกว่า" เรายังต้องอธิบายธาตุแท้และอาการป่วยของปัญญาชนกลุ่มนี้ในโอกาสต่อไป


 


 


 


 


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net