Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (21 พ.ย.2549)  ครม. เห็นชอบนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ   แนวทางกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ  การขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว  และอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. ... ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่กระทรวงพลังงานเสนอมา


 


ทั้งนี้  กระทรวงพลังงานรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ  ได้มีการประชุม ครั้งที่  4/2549 (ครั้งที่  107)  เมื่อวันที่  6 พฤศจิกายน 2549  พิจารณาเรื่องสำคัญรวม 4 เรื่อง  โดยมีสาระสำคัญดังนี้


 


1. นโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ  แบ่งออกเป็น 2 ระยะ


             1.1 ระยะสั้น  โดยให้เริ่มดำเนินการทันทีภายในรัฐบาลนี้ ได้แก่  การปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม  การจัดหาพลังงาน  ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ  กำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน  กำหนดมาตรการด้านพลังงานสะอาด   ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย  และพัฒนาด้านพลังงาน


             1.2 ระยะยาว  ให้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อวางรากฐานการบริหารจัดการพลังงานแบบยั่งยืน  และสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ได้แก่  จัดหาพลังงานพัฒนาพลังงานแบบยั่งยืน  ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  และส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน 


 


2. แนวทางการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ  มีสาระสำคัญดังนี้


             2.1 เห็นควรให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ... โดยให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ  เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการพลังงานมีประสิทธิภาพผลสูงสุดในระยะยาวต่อไป 


             2.2 เห็นควรให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2548  และให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน


             2.3 เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกา  กำหนดอำนาจ  สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544  และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการต่อไป 


 


3. การขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว  มีสาระสำคัญดังนี้


             3.1  เห็นชอบในหลักการให้มีการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์  เป็น 5,000 เมกะวัตต์  ภายในปี  2558


             3.2  เห็นชอบในหลักการร่าง Memorandum of Understanding  (MOU) และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศปรับปรุงแก้ไขร่าง MOU  และหากไม่มีประเด็นการแก้ไขที่เป็นสาระสำคัญ  ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการลงนามใน MOU ดังกล่าวต่อไป  โดยไม่ต้องนำกลับมาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอีก  และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ลงนามใน MOU


 


4. ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เป็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียม  พ.ศ. 2514 ให้มีมาตรการที่เหมาะสม  สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  และคล่องตัวในการดำเนินการเพิ่มขึ้น  เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก  มีสภาพทางธรณีวิทยาที่ยุ่งยากซับซ้อน  ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงมาก  และแหล่งปิโตรเลียมหลายแหล่งเริ่มมีกำลังการผลิตลดต่ำลง  ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงสูง  จึงไม่จูงใจให้ทำการสำรวจหรือพัฒนาเพิ่มเติม  ทำให้ประเทศเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในการนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาทั้งสิ้น 25 มาตรา 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net