Skip to main content
sharethis

 

คืนนี้ ที่นี่ ไม่เกี่ยวว่าคุณ

จะเป็นใคร มีชื่อเสียงหรือไม่

คืนนี้ ที่นี่ ไม่ต้องมีพิธีการมากมายให้วุ่นวาย

คืนนี้ ที่นี่ ไม่มีความคิดของใคร ถูกปัดทิ้งไปเพียงเพราะมีคนเห็นว่าไม่เข้าท่า

ไม่มีกรอบอะไร ที่นี่ ในคืนนี้…

 

ค่ำคืนหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ฤดูหนาวแต่อากาศอุ่น คนธรรมดาๆ อย่าง ศิลปิน ช่างภาพ คนทำหนัง นักประดิษฐ์ นักเขียน คนทำหนังสือ นักออกแบบ สถาปนิก ฯลฯ ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ ทั้งมืออาชีพมือสมัครเล่น มารวมตัวกันเล่าความคิดสร้างสรรค์ เราเรียกคืนนั้นว่า "เพะชะคุชะไนท์ (Pecha Kucha Night)"

 

Pecha Kucha (อ่านออกเสียงว่า เพะชะ คุชะ) เป็นเสียงจำลองการพูดคุยของชาวญี่ปุ่น โดย Astrid Klien และ Mark Dytham ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Klien Dytham Architects (KDA) ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมแบบเพะชะคุชะไนท์ ด้วยอยากหาโอกาสให้คนที่ทำงานกับความคิดสร้างสรรค์แขนงต่างๆ มาเล่าความคิดของตัวเอง เรียนรู้ความคิดผู้อื่น เป็นปาร์ตี้สนุกบรรยากาศสบายๆ ที่มีเสียงพูดคุย "จอแจ" เพราะแลกเปลี่ยนความเห็นกันและกัน

 

หลังจากที่ริเริ่มงานเพะชะคุชะไนท์ในญี่ปุ่นแล้ว 3 ปี รวมจำนวน 36 ครั้ง (เฉลี่ยจัดทุกเดือน) และขยายไปจัดในเกือบ 30 เมืองทั่วโลก ค่ำคืนเม้าท์แตกแบบนี้ก็ได้มาเริ่มขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือของ BIOSCOPE (นิตยสารภาพยนตร์) try2benice (กราฟฟิคดีไซน์ เฮ้าส์) และ HOUSE RAMA (โรงภาพยนตร์) สถานที่จัดงานสบายๆ นี้ มีขึ้นที่โรงภาพยนตร์ เฮ้าส์ รามา อาร์ซีเอ

 

เพียงคอมพิวเตอร์ที่ต่อกับจอขนาดใหญ่ บวกกับไมโครโฟนอีกตัว แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับปาร์ตี้ไอเดียกระฉูด ผู้คนมาร่วมงานกันแน่นขนัดเพื่อฟังคนที่อาจจะยังไม่รู้จัก นำเสนอไอเดียแบบ 20x20 ซึ่งแปลว่า...

 

งานนี้เริ่ม 20.20 น.

มีคนมาโชว์ไอเดีย 20 คน

ไอเดียนั้น ถูกนำเสนอผ่านสไลด์ 20 ภาพ

ภาพแต่ละภาพถูกแช่นาน 20 วินาที โดยเจ้าของไอเดียยืนอธิบายประกอบด้วย

 

ยี่สิบเหล่านั้น จะเป็นอะไรก็ได้ อาจเป็นผลงานที่ยังไม่เคยโชว์ อาจเป็นระหว่างทางของความคิด อาจเป็นมุมมองพิเศษ อาจเป็นความทรงจำที่ประทับใจ และอยากจะอธิบายมันออกมา

 

ตัวอย่างบางส่วนของ 20 ไอเดียที่ทำให้หัวใจเปื้อนยิ้ม เช่น

 

"ซีดีเพื่อเกษตรกร" : คนเขาบอกกันมานานแล้วว่า ถ้าสัตว์น้อยในฟาร์มได้ฟังดนตรี จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ดีขึ้น ถ้าเช่นนั้น ก็ทำจริงเสียเลยสิ 20 สไลด์ขั้นตอนการคิดค้นและสร้างซีดีเพื่อเกษตรกรจึงเกิดขึ้น โดยผ่านการทดลองและศึกษาจนได้รู้ว่า เพลงแบบไหน ที่ไก่ วัว หรือต้นไม้ จะชอบ นั่นคือ ในเมื่อเราสร้างความรื่นรมย์ให้สิ่งรอบตัวได้ ทำไมเราจะไม่ทำมันล่ะ? (ปวลี จิระกรานนท์)

 

"แพงถูกคุณเลือก" : แค่คิดสักนิดว่า เรามีทางเลือกรอบๆ ตัว ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน หากได้ผลลัพธ์เหมือนๆ กัน แล้วเราจะเลือกแพงกว่าทำไม? (พงศ์ธร วชิรโภคา)

"20 ทางแปลงร่างกระดาษ" : ทำอย่างไรที่จะทำลายหลักฐานที่เป็นกระดาษ ทางเลือกมีมากมายตั้งแต่พับกระดาษนั้นให้เป็นเครื่องบินแล้วร่อนมันออกไปให้ไกล เอามันไปตากฝน เอาปากกาเขียนทับหรือขีดฆ่า... ก็แหงล่ะ วิธีเหล่านี้ คุณคิดไม่ถึงใช่ไหม? (ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล)

 

"สิ่งประดิษฐ์ต่อเติม" : แค่ลองปรับเปลี่ยนของใกล้มือใกล้ตัวอย่างง่ายๆ ตะเกียบไม่ใช่แค่ตะเกียบ (เป็นเมนูเซียมซี!!!) พวงมาลัยรถก็ไม่ใช่แค่พวงมาลัยรถ (แต่เป็นกลอง!!!) นอกจากสนุกดีแล้ว ยังสนองการใช้งานให้พึงพอใจเรามากขึ้น (คันถ์ชิต วณิชดิลกกุล)

 

"20ภาพจากงานซอยมิวสิค 2005 โยโกฮามา" : เราคุ้นเคยกับฉากหลังคอนเสิร์ตแสงสีแบบเดิมๆ มานานแล้ว มาคราวนี้ นอกจากจะได้ดูดนตรีสดๆ แล้ว ฉากหลัง ยังได้เห็นมิวสิควิดีโอสดๆ ด้วยผู้สร้างใช้วิธีวาดภาพลายเส้นขึ้นมาสดๆ แล้วยิงภาพที่กำลังวาดนั้นขึ้นไปยังฉากหลังของเวที (นึกภาพเหมือนเวลาเรียนหนังสือแล้วคุณครูปิ้งแผ่นใส) ลายเส้นเหล่านั้น เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราวและอารมณ์ของดนตรีที่กำลังดำเนินอยู่ เพิ่มความเก๋ด้วยการเขียนสคริปต์แล้วใส่เทคนิคแอนนิเมชั่นช่วยเล็กน้อย แล้วยิงภาพซ้อนไปที่จอเดียวกัน เพียงเท่านี้ ก็ได้มิวสิควิดีโอสดๆ ที่สมบูรณ์ (พีรพัฒน์ กิตติสุวรรณ)

 

"ภาพถ่ายเดินทาง" : ย่างก้าวของคนสองคนที่ผูกพันต่อกัน, มิตรภาพและความปรารถนาดี, ภาพสะท้อนชีวิตและตัวตนของคนคนหนึ่ง, สิ่งต่างๆ เหล่านี้มากกว่าที่ตามองเห็น แต่ถูกถ่ายออกมาเป็นภาพได้ ภาพถ่ายต่างๆ ไม่ใช่แค่ภาพนิ่ง แต่กรุ่นไปด้วยกลิ่นอายของความประทับใจในผู้คน สถานที่ ดูแล้วสัมผัสถึงรายละเอียดที่ "รู้สึก" ได้ (ธัญสก พันสิทธิวรกุล)

 

 

ความน่าประทับใจที่สุดของงานนี้ คือ การเชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งที่จะบ่มเพาะผลักดันความคิดสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด ก็คือ ความไร้กรอบและอคติใดๆ

 

เวลาที่เราอยู่ในสังคม ในชีวิตประจำวัน หลายความคิดที่เราคิดเอาไว้ บางครั้งได้แต่เก็บเอาไว้ในใจ บอกคนอื่นไม่ได้ อาจเพราะกลัวถูกหาว่าเพ้อ ไร้สาระ หรือไม่เข้าสถานการณ์ แต่กรอบจำกัดเหล่านี้ถูกทำแท้งก่อนจะปฏิสนธิเสียอีกในงานเพะชะคุชะไนท์ เพราะที่นี่ ทุกคนใจกว้าง เปิดรับ ตัวตนถูกทำลายไป เหลือแต่เมล็ดพันธุ์ความคิดสร้างสรรค์

 

เพะชะคุชะไนท์น่าจะมีบ่อยๆ เพื่อให้คนไม่ลืมว่า คนเราไม่ว่าอาชีพไหน อายุเท่าไร ฐานะอะไร ต่างก็ดำรงอยู่ได้ ด้วยยังมี "ความคิดสร้างสรรค์"

 

01: ภาพงานเพะชะคุชะ KDa โปรเจคต์ โตเกียว - Astrid Klein

 

 
02: ไดอะแกรมกิจกรรม - สุรชัย เอกภพโยทิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ

 

 


03: ซีดีเพื่อเกษตรกร - ปวลี  จิระกรานนท์

 

 


04: 20 ภาพจากงานซอยมิวสิค 2005 โยโกฮามา - พีรพัฒน์ กิตติสุวรรณ

 

 


05: 20 สิ่งที่ผิดที่ผิดทาง - เศรษฐพงศ์ โพวาทอง

 

 


06: พิมพ์ใหม่ - ธรรมนูญ ใหม่พิมพ์

 

 


07: เล่นกับงานในกรุงเทพฯ : 6 เดือนแรก - David Elliott

 

 


08: สะท้อน - กอบกิตต์ ตั้งพานทอง

 

 


09: (ก)ลวง - ดร.เถกิง พัฒโนภาษ

 

 


10: 20 ทางแปลงร่างกระดาษ - ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล

 

 


11: เพื่อนของเราชื่อความเหงา - ตรัย ภูมิรัตน

 


12: แอคชั่นฟิกเกอร์อารมณ์ดี - ธวัช พันธุ์เจริญลักษณ์

 


13: เสียงบางกอก - นนทวัฒน์ นำเบญจพล

 

 

 

14: 20 เงางาม - ชลธร โพธิ์ทอง

 


15: แพง ถูก คุณเลือก - พงศ์ธร วชิรโภคา

 

16: หน้า - จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร

 


17: สิ่งประดิษฐ์ต่อเติม - คันถ์ชิต วณิชดิลกกุล

 

 


18: ความผิดพลาด - จักรกฤษณ์ อนันตกุล 

 

19: ภาพถ่ายเดินทาง - ธัญสก พันสิทธิวรกุล

 

20: 20 เพลงไทยไม่น่าลืม - คมสัน นันทจิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net