เวทีสัมมนา "เครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดี ภาคเหนือ" : คุณธรรมไม่ใช่แค่เรื่อง "สวดมนต์ไหว้พระ"

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน

 


 

วานนี้ (27 พ.ย.2549) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ได้จัดเวทีสัมมนากระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดี : ระดับภาคเหนือขึ้น ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ ถ.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยเวทีดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2549

 

โดยในวันแรกของเวทีสัมมนาเป็นการชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการโดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากวิทยาลัยการจัดการทางสังคม และตัวแทนเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดีในแต่ละจังหวัดภาคเหนือได้นำเสนอ "ผลการสัมมนาในการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมในแต่ละจังหวัด"

 

เผยยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม--สังคมที่ "ไม่ทอดทิ้งกัน"

ในช่วงบ่าย ก่อนการสนทนากลุ่มย่อยของตัวแทนเครือข่าย นายเอนก นาคะบุตร ที่ปรึกษากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำเสนอ "ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม" โดยระบุว่า อารยธรรมของท้องถิ่นภาคเหนือ ทั้งกลุ่มล้านนา กลุ่มสุโขทัย นับเป็นพลังที่ขยายตัวมากขึ้น สามารถเป็นพลังสร้างสรรค์เครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดีได้ เป็นสังคม "ไม่ทอดทิ้งกัน" ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มีมานานแล้วในภาคเหนือ เช่น การทำขวัญข้าว ธนาคารข้าว โครงการออมวันละบาท นี่คือ "ของหน้าหมู่" (สมบัติส่วนรวม) ซึ่งเป็นประเด็นของชุมชนท้องถิ่น ของกลุ่มชาติพันธุ์เช่น ชาวปกาเกอะญอ จากภาคเหนือก็พัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนในระดับประเทศ ส่วนในเรื่องของการจัดการขยะที่ จ.พิษณุโลก ก็ได้มีการเอา อบต. และกลุ่มธุรกิจมาร่วมมือกัน กลายมาเป็นการจัดการขยะที่ดีที่สุดของประเทศ โรงงานแยกขยะเข้าไปก็ไม่มีกลิ่นเหม็น เป็นตัวแบบของการจัดการขยะแบบใหม่ และสามารถแยกขยะที่มีมูลค่านำไปขายประเทศอินเดียและจีนได้

 

"สิทธิชุมชนนี้เป็นการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน เป็นการจัดการรวมหมู่ ให้สิทธิของคนที่มารวมกัน แต่ในขณะนี้ทรัพยากรส่วนร่วมหลายอย่างกลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลไปแล้วทั้งดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจก็ไปหมดแล้ว" นายอเนกกล่าว

 

นอกจากนี้"ของหน้าหมู่" ยังนำไปใช้จัดการเชื้อโรคได้อีก เช่น เกิดการวมกลุ่มของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี มาร่วมกลุ่มจัดการปัญหาร่วมกัน แต่ทุกวันนี้ผู้คนถูกตัดตอนจากการเป็นสมาชิกหน้าหมู่ ตัดตอนจากการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะถูกสื่อ ถูกโลกานุวัตรกระแทก

 

"อยากปลุกทุกคนในทีนี้ว่าคุณธรรมไม่ใช่ไปตามกรุงเทพฯ แต่คุณธรรมความดีของท่านเป็นรากฐานอารยธรรมของท่าน ถ้าท้องถิ่นหยิบขึ้นมาใช้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างที่เห็น ไม่ต้องไปรอการศึกษาของกระทรวง หรือของส่วนกลาง"นายเอนกกล่าว

 

ปีหน้าฟ้าเปิด ชูปฏิรูปการเมือง-ทำเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศ

ที่ปรึกษากระทรวงพัฒนาสังคมฯ กล่าวอีกว่า ปี 2550 จะเป็นปีที่ฟ้าเปิด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้หลายสิ่งที่อยู่ในรัฐสภาและองค์กรอิสระหลายองค์กรอย่าง กกต. ควรมีการเสนอองค์กรประชาธิปไตยท้องถิ่น ภาคการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้มแข็งการจัดการตัวตนของเราเอง พื้นที่สาธารณะของประชาชนไม่ใช่รัฐสภา แต่เป็นลุ่มน้ำของเขา เครือข่ายเยาวชนของเขา ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของเขา

 

"ท่านเห็นว่าโอกาสไหนสำคัญกว่ากันในการสถาปนาสร้างความเข้มแข็งในการจัดการตัวตนของท่านเองร่วมกับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรท้องถิ่น ร่วมกับจังหวัด หรือเราจะเอาเป็นเอาตายในการเลือกตัวแทนร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปในสภา ปีหน้าฟ้าเปิดอีกครั้ง ท่านมีสิทธิแทงหวยสองเบอร์ หวยตัวบน และหวยตัวล่าง คือรัฐธรรมนูญให้ท่านแทงหวยอีกครั้งหนึ่ง ข้างล่างคือท้องถิ่น ทำอย่างไรจะเสนอเจตนารมณ์ เสนอสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณ เสนอสิ่งที่เป็นการจัดการองค์กร ทำอย่างไรจะสร้างกลไก องค์กรความร่วมมือ คิดกองทุนไว้ที่จังหวัด"

 

อเนกกล่าวต่อว่า "ส่วนข้างบนคือโอกาสที่จะให้จิตวิญญาณรวมศูนย์อยู่ที่พระองค์ท่าน เป็นทั้งสถาบัน เป็นทั้งตัวบุคคล ท่านบำเพ็ญชีวิตมาอย่างไรให้คนทั้งประเทศ ถ้าเราจะปฏิบัติบูชาขนานใหญ่ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านบอกตั้งแต่ พ.ศ.2541 แต่เราท่องแค่พอเพียง ตอนนี้พระองค์ท่านไม่ได้บอกคนเดียว รัฐบาลก็บอก ทำอย่างไรจะปรับทิศทางประเทศให้มีสมดุล เท่าทันโลก ถามว่าเราจะอยู่ในโลกใบใหม่อย่างเท่าทัน อย่างมีภูมิคุ้มกัน อย่างพอเพียงได้ไหม"

 

"ตอนนี้รัฐบาลนี้เข้าใจว่าทำอย่างไรจะเปลี่ยนให้ทิศทางเศรษฐกิจฐานรากให้เต็มไปทั้งท้องถิ่น คำถามอยู่ที่ล้านนาของท่าน ลูกพ่อขุนรามของท่านจะพลิกกับมาทำแบบพอเพียงที่เป็นรากเหง้าของเราอย่างไร แต่พอเพียงไม่ใช่ไม่รวยนะ รวย ... แต่รวยอย่างไรไม่ให้เครียด และไม่ใช่รวยจากการเอา แต่รวยจากการให้" นายเอนกกล่าวกับตัวแทนเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดีภาคเหนือในช่วงหนึ่งของการเสวนา

 

 


การประชุมกลุ่มย่อยในช่วงบ่ายเพื่อระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์ พัฒนาความร่วมมือด้านเครือข่ายคุณธรรมความดีของแต่ละจังหวัดในภาคเหนือ

 

อนึ่ง เวทีสัมมนาดังกล่าวเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการจัดประชุมพันธมิตรประชาคมเพื่อคุณธรรมขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พ.ค.2549 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 5 องค์กร เข้าร่วมประชุม คือ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.)  สำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) และ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2547

 

ที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีการประสานงานต่อมายังระดับจังหวัดและภาคเพื่อเชื่อมประสานกลไกให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนคุณธรรมที่มีพลังนำไปสู่สังคมคุณธรรม โดยในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) จึงเป็นผู้ประสานงานจัดเวทีภาคเหนือขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเรื่องกระบวนการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมในระดับจังหวัด โดยมีตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านคุณธรรมกว่า 100 คน

 

สำหรับความคืบหน้าของเวทีสัมมนากระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดี : ระดับภาคเหนือ วันสุดท้าย (28 พ.ย. 49) ทาง "ประชาไท" จะได้นำเสนอยังท่านต่อไป

 

 

 






คุยกับชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้จัดงาน  "ความดีไม่ใช่แค่เรื่องสวดมนต์ไหว้พระ แต่เป็นวิถีชีวิตที่รวมตัวกันเพื่อทำสิ่งดีๆ"

 

 

 

อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม

 

ระหว่างการสัมมนา "ประชาไท" มีโอกาสสอบถามอาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ผู้ประสานการจัด "เวทีสัมมนากระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดี : ระดับภาคเหนือ" เกี่ยวกับเป้าหมายและความคาดหวังต่อเวทีสัมมนาดังกล่าว

 

ประชาไท - การสัมมนากระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมความดีหนนี้ มีเป้าหมายร่วมกันของแต่ละเครือข่ายอย่างไร

วัตถุประสงค์คราวนี้จริงๆ ก็คือแต่ละจังหวัดก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกันว่าแต่ละจังหวัดมีปัญหา หรือมีวิกฤตทางด้านคุณธรรมอะไรบ้าง แล้วก็เขาก็คุยกันว่าที่สำคัญคือเขาจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมคุณธรรมอย่างไร เป็นประเด็นใหญ่สองประเด็นที่จะพยายามทำร่วมกัน นี่คือเป้าหมาย

 

ประชาไท - ในส่วนของความคาดหวัง ต่อการที่องค์กรชาวบ้านแต่ละจังหวัดมาคุยกัน เหมือนกับ เอาคุณธรรมลงมาทำงานเชิงปฏิบัติ เกิดกลุ่มเรียนรู้ เกิดกลุ่มกิจกรรมอะไรต่างๆ อันอันนี้คือสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว

 

จากแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลาย แต่พอมารวมกัน ในเป้าใหญ่ ในระดับที่เขามารวมกลุ่มจะเป็นอย่างไร

 

คือจริงๆ แล้ว ในความหมายของคุณธรรมที่นิยามกันในกลุ่ม ก็คงไม่ใช่เรื่องแค่สวดมนต์ไหว้พระ หรือถือศีล 5 แค่นั้นคงไม่ใช่ แต่เป็นคุณธรรมที่อยู่ในวิถีชีวิต คุณธรรมที่อยู่ในการปฏิบัติจริงของชีวิต

 

ถ้าเราสำรวจเราจะพบว่าจริงๆ แล้ว โดยพื้นฐานวัฒนธรรม โดยศาสนา โดยการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่ผ่านมา เราก็จะพบว่าคนดีมีคุณธรรมก็มีอยู่เยอะ มีการรวมตัวกันเพื่อทำสิ่งดีๆ ก็มีมาก เช่น รักษาป่า ดูแลแม่น้ำ ช่วยเหลือกันด้วยกลุ่มออมทรัพย์ สวัสดิการ ทำเกษตรที่ไม่เบียดเบียนใคร หรือช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย มันมีอยู่แล้ว

 

แต่ทีนี้มันกระจาย มันต่างคนต่างทำ มันไม่ได้มามองภาพใหญ่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นคราวนี้ อย่างน้อยก็เหมือนกับการประสานคนที่ดี คนทำสิ่งที่ดี คนที่ทำอะไรต่อมิอะไรที่ดีๆ ในแต่ละจังหวัดมามีโอกาสมาพูดคุยกัน เพื่อที่จะเพิ่มพลังในการขับเคลื่อน เพื่อทำให้สิ่งที่ดีงามเกิดเป็นมรรคผล เกิดเป็นสังคมที่น่าอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีคุณธรรม

 

ในขณะเดียวกันในระดับชาติก็จะมีการผลักดันให้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะว่าถ้าเราดูในระดับชาติหรือในระดับสังคมไทยเอง สังคมไทยเองก็มีปัญหาทางด้านคุณธรรมหรือวิกฤตคุณธรรมหลายเรื่องที่ผ่านมา เรืองคอรัปชั่น การโกงกิน การตกอยู่กระแสวัฒนธรรมบริโภค การแก่งแย่งชิงดี การแข่งขันกัน การฆ่ากัน  มันเป็นเรื่องที่รุนแรงขึ้นเรื่อย เพราะฉะนั้น คล้ายๆ กับว่ามันถึงเวลาที่เราอยากจะเห็นคุณธรรมเป็นกระแสหลักของสังคม ก็มีความพยายามที่จะมีการขับเคลื่อน อาจจะมีการจัดสมัชชาคุณธรรมระดับชาติ อาจมีการเสนอเรื่องราวต่างๆ กับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ผลักดันกับกระทรวงศึกษาฯ และผลักดันให้สังคมได้ตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมคุณธรรมร่วมกันมากขึ้น

 

ประชาไท - ศูนย์คุณธรรมนี้เป็นองค์กรมหาชน

เป็นองค์กรมหาชน อยู่ภายใต้สถาบันองค์ความรู้แห่งชาติ

 

ประชาไท - ในขณะที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล มีผลต่อองค์กรมหาชนแห่งนี้ไหม ยังเป็นองค์กรอิสระเหมือนเดิม

ยังเป็นองค์กรที่อิสระเหมือนเดิม แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคงไม่ใช่อยู่ที่ศูนย์คุณธรรม แต่ที่เราคุยกันวันนี้มันอยู่ที่การปฏิบัติการของชุมชน ของภาคประชาชนว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร ไม่มีทางเลยที่อยู่ๆ จะมีคนมาทำสิ่งที่ดีๆ อย่างนั้น อย่างนี้ให้ คือสิ่งที่ดีๆ อาจจะมีนะแต่ขั้นปฏิบัติอาจมีปัญหา

 

เพราะฉะนั้นเนี่ย คำตอบอยู่ที่ชาวบ้าน อยู่ที่ชุมชน อยู่ที่ภาคประชาชนในท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติการ สร้างสังคมที่มีคุณธรรม ปฏิบัติการสังคมคุณธรรม แล้วก็ร่วมมือผนึกกำลังกัน แล้วก็ขับเคลื่อนไป

 

อันนี้แหละกระบวนการสร้างสังคมคุณธรรมที่แท้จริง

 

ฝ่ายอื่นๆ ที่เหลือคือฝ่ายที่จะต้องมาคอยทำหน้าที่สนับสนุน จะสนับสนุนได้มากได้น้อยก็แล้วแต่เงื่อนไข แล้วแต่ปัจจัย แล้วแต่นโยบายหลายๆ อย่าง ซึ่งจะหวังแค่ตรงนั้นคงไม่ได้

 

ประชาไท - เมื่อกี้ในวงคุยมีการพูดกันว่า ปี 2550 "ฟ้าจะเปิด" หมายถึงว่าเงื่อนไขการมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะมากขึ้น อันเป็นผลมาจากปฏิรูปการเมือง ในส่วนของอาจารย์เองมีความคาดหวังต่อการปฏิรูปการเมืองหนนี้ไหม

ไม่ได้มีความคาดหวังตรงนั้น แต่มีความคาดหวังว่าจังหวะนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ภาคประชาชนได้เรียนรู้ ได้เข้าใจเรื่องการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปสังคมด้วยตัวเอง

 

อันนี้น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ภาคประชาชนได้มาเรียนรู้เรื่องนี้ได้มากขึ้น เกิดการตื่นตัว เกิดความพยายามในการเคลื่อนไหว จากฐานตัวเอง จากความรู้ตัวเองให้มาก และก็ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองให้มาก

 

ประชาไท - เหมือนอาจารย์กำลังจะบอกว่าเราจะไปรอให้ใครเอามาให้เราไม่ได้ เราต้องทำเอง

อันนั้นไม่มีความหวังอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ซึ่งตรงนั้นถือว่าเป็นปัจจัยรอง จะได้มากได้น้อย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้

 

แต่การที่ภาคประชาชนได้คุยกัน ได้เรียนรู้กัน เติบโต ขับเคลื่อนร่วมกัน ขยายผลเชื่อมโยงกันได้กว้างขวางเมื่อไหร่ อันนี้น่าจะเป็นของจริง น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะทำให้สังคมเกิดความดีงาม เกิดความเป็นธรรมได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท