บทความ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : โปรดหยุดการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน

โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

 

ถ้าเราเชื่อว่า "สภาวะปกติ" ทางการเมืองของไทยนั้น "มีจริง" และจำเป็นจะต้อง "กลับคืน" อย่างรวดเร็ว เหมือนกับการกล่าวอ้างของคณะรัฐประหาร และคณะผู้ปกครองของระบอบภายหลังการรัฐประหาร ผมเห็นว่าเราไม่มีความจำเป็นจะต้อง "เงียบ" และ "รอ" ให้คณะรัฐประหารและคณะผู้ปกครองหลังรัฐประหารครอบงำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "คล้ายๆ 2540"

 

ผมมีเหตุผลสองประการ

 

1. คณะรัฐประหารและคณะผู้ปกครองภายหลังการทำรัฐประหารไม่ให้ความสำคัญกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างจริงจัง กลับใช้กลไกรัฐสภาแบบปลอมๆ ในการลากตั้งพรรคพวกของตัวเองและหยิบยื่นอำนาจให้กับกลุ่มพลังที่คัดค้านทักษิณ เข้ามาอยู่ในสภาแต่งตั้ง และครอบงำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแสวงหาความชอบธรรมในการรัฐประหารและการปกครองภายหลังรัฐประหารไปเรื่อยๆ

 

2. การคัดค้านการทำรัฐประหารจำต้องดำเนินต่อไปไม่มีการประนีประนอม เพราะเป็นการละเมิดหลักการการปกครองระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องความเห็นที่มีต่อประสิทธิภาพและความเลวร้ายของระบอบทักษิณนั้นเป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละคนที่จะมีมุมมองต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ผมยอมรับว่าระบอบทักษิณนั้นทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ แต่การสนับสนุนหรือการยอมให้คณะรัฐประหารปกครองประเทศนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม การคัดค้านการทำรัฐประหารนั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นโดยการรอคอยให้เกิดการทำรัฐประหารซ้อน หรือใช้ความรุนแรงในการต้านรัฐประหาร เพราะจะนำไปสู่วังวนของการสนับสนุนการทำ "รัฐประหารที่ดี" เพื่อหยุดยั้งการทำ "รัฐประหารที่เลว" โดยไม่สนใจว่าการทำรัฐประหารเป็น "วิธีการที่ผิด" และเป็น "บาปกรรม" ต่อการพัฒนาประชาธิไตยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

ความผิดพลาดประการสำคัญของการสถาปนา "ระบอบการเมืองสมานฉันท์ที่ไร้การตรวจสอบด้วยมนุษย์ด้วยกัน" ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน (1) ก็คือการผลักดันให้เกิดการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมาแทนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว "ไม่มีความรัดกุมและยืดหยุ่น" ต่อสภาวะทางการเมืองในปัจจุบันที่มีพัฒนาการในทางสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการตรวจสอบอำนาจระหว่างองค์กรทางการเมืองอยู่โดยนัยสำคัญ (2)

 

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีเงื่อนปัญหาที่สำคัญสองประการ

 

1. ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงเป็นเพียง "คำสั่งของคณะรัฐประหาร" ที่ต้องการกำหนดทิศทางการเมืองไปตามที่ตัวเองต้องการ รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รองรับต่อสภาวะทางการเมืองได้ หากไม่รวมถึงการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญ อาทิ การยกเลิกกฏอัยการศึกและประกาศ/คำสั่งคณะรัฐประหารที่ยังอยู่ในมือของคณะรัฐประหาร

 

2. รีบร้อนนำพาสังคมไปสู่การปฏิรูปการเมืองด้วยการกำหนดทิศทางและตัวแทนคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวคณะรัฐประหารเอง ซึ่งแม้ว่าจะกำหนดว่าให้มีการลงประชามติในขั้นสุดท้าย แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะ "ศักดิ์สิทธิ์และไม่ถูกย่ำยี" ทั้งจากทหารและนักการเมืองทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวไม่มีหลักการและเหตุผลใดๆ เลยที่จะยืนยันว่าคณะรัฐประหารนั้นมีความรู้และความสามารถในการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าประชาชน

 

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ รวมทั้งบทบัญญัติที่ว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองที่ทำให้คณะรัฐประหารสามารถกุมสภาพการนำต่อไปเรื่อยๆ ด้วยการแสวงหาพันธมิตรมาแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ที่ยึดจากประชาชนไปอีกหนึ่งปี และนับวันยิ่งจะมีการพูดถึงการอิงกรอบรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มากขึ้น ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นไม่ได้มีความศักดิ์ สิทธิ์หรือมีเนื้อหาสาระอันใด และยิ่งลดทอนความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมในการทำรัฐประหารด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ทางออกต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่คือการยุติบทบาทของคณะรัฐประหารโดยเร็วเพื่อให้สมเจตนารมณ์ของคณะรัฐประหารเองที่ประกาศไว้กับทุกๆ ฝ่าย และทำให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

 

ดังนั้นสิ่งที่จะต้องรีบกระทำก็คือการผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญ สถาบันตุลาการ คณะกรรมการเลือกตั้ง และตัวแทนประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณและระบอบสมานฉันท์ที่ไร้การตรวจสอบด้วยมนุษย์ด้วยกัน เข้ามาเสนอทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ให้เปิดกว้างขึ้นโดย

 

1. เรียกร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตีความสถานะและการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของ/มาจากปวงชนชาวไทย โดยมีสถาบันหลักที่เกี่ยวข้องทางการปกครองได้แก่ รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรี ศาล และพระมหากษัตริย์ เท่านั้น

 

ทั้งนี้ภารกิจแรกก็คือการตีความรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มีบทบัญญัติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้โดยองค์กรที่ไม่ใช่คณะรัฐประหาร และให้สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน และกระบวนการได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วโดยไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของคณะรัฐประหารเหมือนที่เป็นอยู่

 

2. การมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะเป็นการระงับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเริ่มขึ้นซึ่งเป็นกระบวนการที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของคณะรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อเนื่องจากการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540

 

3. รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันควรตระหนักว่า ตนเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ และไม่สามารถริเริ่มนโยบายใหม่ได้ตราบใดที่การเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ถูกประกาศใช้

 

ถ้าอยากทำงานเพื่อบ้านเมืองก็ให้ลงเลือกตั้ง หรือควรใช้บารมีและอิทธิพลเพื่อกดดันให้นักเลือกตั้งไปเชิญมาเป็น ภายหลังการเลือกตั้งในครั้งหน้า

 

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะสามารถใช้กรอบทางกฏหมายเดียวกับรัฐบาลรักษาการณ์ในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมาได้ และจะมีความเหมาะสมยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะชั่วคราว ควรจะทำงานกับรัฐบาลรักษาการณ์ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญชั่วคราวทำงานกับรัฐบาลที่ริเริ่มนโยบายใหม่ๆ โดยไม่มีกรอบแห่งการรับผิดใดๆ ดังที่เป็นอยู่ นอกจากทำงานไปด้วยความหวังดีและความเชื่อว่ายิ่งมีอำนาจยิ่งแก้ปัญหาได้

 

ถึงเวลาที่สังคมควรจะถกเถียงกันถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่ปล่อยให้กระบวนการปฏิรูปการเมืองตกอยู่ภายใต้ความกลัวและการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารอีกต่อไป

 

การปฏิรูปทางการเมืองต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ไม่ใช่รอปีหน้า

 

ถ้าไม่กล้าคิดอะไรซับซ้อนบนแนวทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่สร้างขึ้นมา ก็แค่ออกประกาศคณะรัฐประหารสักสองฉบับ ฉบับแรก ยกเลิกสัญชาติของทักษิณ แล้วฉบับที่สองระบุว่า อีกหนึ่งปีจะนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้ก็แล้วกัน ... (3)

 

ตอนนี้ก็แค่ขำๆ กันไป ... เพราะอย่าว่าแต่จะพูดถึงประชาธิปไตยในอนาคตเลยครับ แค่จะหาทางลงดีๆให้กับคนที่ทำรัฐประหารและฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารและการปกครองภายหลังการทำรัฐประหารนั้นยังยากเต็มที

 

 

 

เชิงอรรถขยายความ:

 

1. หมายถึงระบอบสมานฉันท์ที่ไม่สนใจว่าผู้ที่มีอำนาจนั้นจำต้องรับผิดต่อประชาชนในประเทศในทางตรง ผ่านสถาบันที่ประชาชนเลือกเข้ามา รัฐบาลปัจจุบันรับผิดต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มาตรฐานทางศีลธรรมที่ขาดองค์กรตรวจสอบ (มิฉะนั้นก็ควรตั้งพระเถระผู้ใหญ่ในฐานะผู้รู้ในเรื่องศีลธรรมมากำกับดูแล) และประธานองคมนตรีที่ออกมารับรองคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

 

รัฐบาลและคณะรัฐประหารไม่ต้องรับผิดชอบต่อสื่อ แต่ขอความร่วมมือจากสื่อให้ประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล และตั้งตัวแทนสื่อไปอยู่ในสภานิติบัญญัติ ดังที่เห็นอยู่

 

2. ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วในงานชิ้นก่อนๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังทำให้บทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ในเรื่องการสืบราชสมบัติหายไปทั้งหมด

 

3. จะว่าไปแล้ว การรัฐประหารโดยคณะ รสช เมื่อ 2534 ยังมีความกล้าหาญมากกว่า เพราะมีการระบุชื่อของผู้มีอิทธิพลและมีการยึดทรัพย์ในเบื้องต้น ซึ่งแม้ว่าการยึดทรัพย์จะไม่สำเร็จ แต่การทำรัฐประหารในครั้งนั้นก็มีความชัดเจนในการยึดอำนาจรัฐด้วยวิถีทางนอกประชาธิปไตย โดยไม่ก่อให้เกิดความสับสนในบทบาทของทหารในการเมืองแบบไทยๆ และกระบวนการปกครองด้วยกฏหมาย (rule of law) ที่กฏหมายนั้นไม่สามารถถูกใช้ตามอำเภอใจของคณะรัฐประหารได้ในท้ายที่สุด

 

 

............................................................................................

ตีพิมพ์ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2549 หน้า 4 ภายใต้ชื่อ "การกลับสู่สภาวะปกติโดยการไม่ทำรัฐประหารซ้อนและไม่ถูกหุบปากไปอีกหนึ่งปี"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท