Skip to main content
sharethis

หลายองค์กรที่ได้รับบทเรียนจากการต่อสู้กับรัฐในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้โอกาสในการตั้งรัฐบาลชุดที่มาจากการรัฐประหาร ขอให้สะสางปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง


 


หนึ่งในนั้น คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน โดยเรียกร้องผ่านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ที่กำลังรวบรวมปัญหาภาคประชาชนเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน


 


เป็นข้อเรียกร้องที่ให้รัฐยึดที่ดินสวนปาล์มของเอกชน เฉพาะที่ดินเช่าจากรัฐที่หมดอายุสัญญาเช่า รวมทั้งที่ดินที่อยู่ในการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายกว่าแสนไร่ มาจัดสรรให้คนจน เพื่อยุติปัญหาคนจนบุกรุกป่าขยายพื้นที่การเกษตรอีก


 


ในหนังสือเรื่อง "เปิดโปงความจริงการตรวจสอบสัญญาเช่าสวนป่า" จัดทำโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ จัดพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 มีนางศยามล ไกยูรวงศ์ เป็นบรรณาธิการ ได้บันทึกและอธิบายเรื่องราวอันเป็นที่มาของข้อเรียกร้องดังกล่าวไว้ว่า เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และเครือข่ายองค์กรประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช เมื่อต้นปี 2546 คัดค้านการต่อสัญญาเช่าสวนป่าของกรมป่าไม้ ที่ให้นายทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเช่าทำสวนปาล์ม


 


ปฏิรูปที่ดิน-บทสะท้อนนโยบายรัฐล้มเหลว


จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะเข้าร่วมเป็นคณะทำงานแก้ปัญหาป่าไม้กับภาครัฐ ระหว่างปี 2544 - 2545 พบว่า สาเหตุการบุกรุกป่า มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ


 



  1. ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง
  2. ครอบครัวขยาย รายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว
  3. สูญเสียที่ดินจากการส่งเสริมการเกษตรตามนโยบายรัฐ ที่ขัดกับวิถีชีวิตดั้งเดิม นำมาสู่การล่มสลายของการประกอบอาชีพ


กรณีตัวอย่าง ชาวนาในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ล้มละลายต้องละทิ้งทุ่งนาถึง 3 ช่วง คือ ช่วงหลังปี 2500 ที่ราคาข้าวผันผวน จำต้องเปลี่ยนอาชีพและอพยพไปต่างถิ่น ช่วงปี 2529 เกิดกระแสการเลี้ยงกุ้งแบบอุตสาหกรรม ที่นาถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้ง ซึ่งทำรายได้เป็นกอบเป็นกำในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่ใส่ใจสภาวะแวดล้อมจะถูกทำลาย และช่วงปี 2535 เกิดภาวะขาดน้ำจืดทำเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเป็นผลจากการทำลายป่าต้นน้ำ และภาวะน้ำเค็มรุกเข้ามาหลายสิบกิโลเมตร แม้รัฐแก้ปัญหาตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง และส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้


 


เครือข่ายองค์กรประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช ได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ให้สำนักงานป่าไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ เปิดเผยข้อมูลพื้นที่เช่าป่า พบว่ามีพื้นที่สวนป่า และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่เปิดให้บริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเช่ากว่า 200,000 ไร่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกว่า 80,000 ไร่ในจังหวัดกระบี่


 


ตามกฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 เปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินแปลงใหญ่เกินกว่า 100 ไร่ และเพิ่มระยะเวลาการเช่าจาก 30 ปี เป็น 100 ปี นั่นหมายความว่าหากต่อสัญญาใหม่ ก็สามารถใช้เงื่อนไขนี้ดำเนินการได้


 


เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเห็นว่า การป้องกันการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเข้าไปในพื้นที่ป่า ไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวได้ แต่รัฐควรใช้มาตรการปฏิรูปที่ดินแบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมจึงเสนอมาตรการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า โดยการปฏิรูปที่ดิน จัดสรรให้กับคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร


 


"ขบวนการคนจน" ตรวจสอบที่ดินรัฐ


ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2545 โดยชาวบ้านประมาณ 3,000 คน จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและกระบี่ ประชุมหาทางแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดินทำกิน ณ สำนักสงฆ์บ้านคลองครามเหนือ ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเข้าชื่อแสดงความจำนงให้รัฐปฏิรูปที่ดินให้กับคนจน และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกร้องให้ยกเลิกการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ป่าแก่นายทุนที่เช่าพื้นที่ป่า เกินกว่า 200 ไร่ ทั้งที่หมดสัญญาแล้วและกำลังจะหมดสัญญา เพื่อนำมาจัดสรรให้กับคนจน


 


กระแสข่าวการเรียกร้องที่ดินทำกินจากรัฐแพร่สะพัด จนชาวบ้านหลายแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และชุมพร เปิดเวทีสาธารณะให้ความรู้เรื่องสิทธิในการแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดินทำกิน มีการรวบรวมรายชื่อผู้ไม่มีที่ดินทำกินกว่า 25,000 ราย ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอที่ดินทำกินจากรัฐ ผ่านเครือข่ายองค์กรประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี


 


อันนำมาสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธุ์ 2546 จนล่วงเลยมา 4 วัน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น จึงสั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหากรณีราษฎรชุมนุมเรียกร้องที่ดินทำกินจากรัฐบาล จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 โดยมีตัวแทนภาคประชาชน 14 คน ภาครัฐ 11 คน มีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเข้าตรวจสอบพื้นที่ป่า เพื่อนำพื้นที่หมดอายุสัญญาเช่ามาปฏิรูปให้คนจน


 


คณะทำงานฯ มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลการเช่าพื้นที่ป่าไม้ในภาคใต้ทั้งหมด ได้รวบรวมข้อมูลการเช่าพื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ 200 ไร่ขึ้นไป ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ เพื่อให้เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ปัญหา และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำที่ดินที่สิ้นสุดสัญญาเช่ามาปฏิรูปหรือให้เช่า และนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรรายย่อย


 


นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้การทำงานร่วมกับภาครัฐในการตรวจสอบที่ดินเช่าที่หมดอายุ เป็นไปอย่างครอบคลุมและสอดคล้องกับสภาพ จึงได้เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ อันประกอบด้วย ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีไม่เพียงพอต่อการครองชีพ มีถิ่นฐานเดิมมาจากเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพาราและสวนปาล์ม ภาคประมง และสมาชิกองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจังหวัดนครศรีธรรมราช


 


ทว่า หลังจากตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวเป็นเวลากว่า 2 เดือน กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่มีการประชุมคณะทำงานเกิดขึ้น


 


คณะทำงานฯ ในส่วนของภาคประชาชนจึงตัดสินใจเข้าตรวจสอบการถือครองพื้นที่เช่าของนายทุนในพื้นที่จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว


 


การตรวจสอบของคณะทำงานภาคประชาชนเกิดขึ้นหลายครั้ง มีการเจรจาต่อรองให้ชาวบ้านออกจากที่ดินสวนปาล์มที่เข้าไปตรวจสอบ เพื่อหลีกทางให้คณะทำงานของรัฐ ขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่า นายทุนที่เช่าที่ดินจะต้องออกไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากหมดสัญญาเช่าแล้ว จนกระทั่งเกิดการสลายกลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปปักหลักอยู่ในที่ดินที่เข้าไปตรวจสอบ ถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่15 ตุลาคม 2546 และวันที่ 30 ธันวาคม 2546


 


พบ 3 รูปแบบครอบครองที่ดินรัฐ


ข้อเท็จจริงที่คณะทำงานภาคประชาชนเข้าตรวจสอบที่ดินในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ พบว่ามีรูปแบบการครอบครองทำประโยชน์ที่ดินรัฐ 3 รูปแบบ คือ


 


1. บุกรุกหรือเข้าครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ


2. ทำประโยชน์เกินกว่าที่ขออนุญาตไว้


3. หมดอายุสัญญาเช่า แต่ยังคงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไป


 


เมื่อจัดแบ่งพื้นที่ที่ตรวจสอบ มีกรณีตัวอย่าง 4 กรณี ดังนี้


 


1. พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 19 ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาแก้วและควนยิงวัว และนิคมสหกรณ์อ่าวลึก มีการเช่าพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยบริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด และบริษัทเชียงแสนอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด รวมทั้งบริษัทอื่นๆ ในตำบลเขาใหญ่ อำเภออ่าวลึก และอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ พบรูปแบบการครอบครองที่ดินของรัฐทั้ง 3 รูปแบบ


 


2. กรณีสวนป่ากาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบรูปแบบการครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐรูปแบบที่ 2


 


3. กรณีบริษัท ชัยบุรีปาล์มทอง ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบรูปแบบการครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐรูปแบบที่ 2 และ 3


 


4. กรณีการจัดเช่าที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน สฎ. 848 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้บริษัท นำบี้พัฒนาการเกษตร จำกัด บริษัท กุ้ยหลิมพัฒนาการเกษตร(ไทย) จำกัด และบริษัท สามชัยสวนปาล์ม จำกัด เช่าประกอบกิจการสวนปาล์ม พบรูปแบบการครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐทั้ง 3 รูปแบบ


 


ต่อมา วันที่ 13 มกราคม 2547 มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหากรณีราษฎรเข้าครอบครองพื้นที่สวนปาล์มในพื้นที่ที่เอกชนขอใช้ประโยชน์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


 


ที่ประชุมมีมติให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ว่าราชการจังหวัด ตกลงกับผู้ประกอบการให้แบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมีจำนวนเนื้อที่ครึ่งหนึ่ง ให้ผู้ประกอบการได้รับการต่ออายุสัญญาเช่าต่อไปได้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้นำมาจัดแบ่งแปลงให้ราษฎรรายละไม่เกิน 10 ไร่


 


มติของที่ประชุมดังกล่าว สวนทางกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ที่ให้ยุติการอนุญาตต่ออายุสัญญาเช่า แล้วนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง อีกทั้งยังขัดกับเจตนารมณ์ในการเรียกร้องของเครือข่ายฯ ที่ขอให้รัฐบาลยุติการต่อสัญญาเช่ากับนายทุนในพื้นที่เกินกว่า 200 ไร่ เพื่อนำมาจัดสรรให้คนจนที่ไร้ที่ดินทำกิน หรือเกษตรกรที่มีที่ดินไม่เพียงพอ เพื่อป้องกันมิให้คนกลุ่มนี้บุกรุกป่าทำการเกษตร


 


จากนั้น สำนักงานธนารักษ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าไปจัดสรรสวนปาล์มเอกชน ที่หมดสัญญาเช่าที่จากราชพัสดุ ในอำเภอพุนพิน และอำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว นำมาแบ่งครึ่ง ส่วนแรกให้เอกชนรายเดิมเดิมเช่าต่อ ส่วนที่เหลือนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่มีปัญหาที่ดินทำกิน โดยแบ่งออกเป็นแปลงละไม่เกิน 10 ไร่ ให้ราษฎรเช่าเพื่อทำการเกษตร รวม 1,528 แปลง มีระยะเวลาเช่า 30 ปี และสามารถนำสัญญาเช่าเข้าโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้


 


สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินมี 362 คน เป็นเกษตรกรที่ได้ลงทะเบียนคนจนไว้แล้ว และผ่านการคัดเลือกโดยวิธีประชาคมหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นคนในพื้นที่ก่อน


 


ทำให้ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ มีข้อโต้แย้งว่า ในบางจังหวัดไม่มีที่ดินที่จะนำมาจัดสรรให้ราษฎร อีกทั้งกลุ่มคนจนที่ไร้ที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอ เป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินคนจนภาคใต้ และร่วมกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน มาจากหลายจังหวัด รวมประมาณ 20,000 ครอบครัว ดังนั้นรัฐบาลควรแก้ไขมติดังกล่าวด้วย


 


ระบุเอกชนครอบครอง120,523ไร่โดยมิชอบ


นอกจากนี้ ข้อมูลการสรุปผลการตรวจสอบพื้นที่ที่เข้าทำประโยชน์โดยไม่มีการขออนุญาตท้องที่จังหวัดกระบี่ โดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ และองค์กรประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐ จังหวัดกระบี่ พบว่ามีเนื้อที่ 120,523 ไร่ โดยประมาณ จำนวน 45 รายการ ในจำนวนนี้มี 6 รายการ ที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ขอให้มีการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน


 


สำหรับกรณีที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ และองค์กรประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐ จังหวัดกระบี่ ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ตรวจสอบนั้น ได้มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า


 


1. ที่ดินของบริษัท ไทยร่วมพัฒนาการเพาะปลูก จำกัด หรือ ไทย - มาเลย์ ท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกบางส่วน


 


2. ที่ดินบริษัท สหกาญจนอินดัสตรี จำกัด ท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก


 


3. ที่ดิน บริษัท เชียงแสนการเกษตร จำกัด ท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลเขาเขน และท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก


 


4. ที่ดินบริษัท ไพรสณฑ์ปาล์ม จำกัด ท้องที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก


 


5. ที่ดินของนางขจิต เพชรานนท์ ไม่มีข้อมูล หากอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ กรมที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบ


 


คนจนถูกจับ-นายทุนยังเก็บผลประโยชน์


กระบวนการตรวจสอบโดยภาคประชาชนยุติลง เมื่อถูกกองกำลังของรัฐเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546


 


นับแต่นั้นมา กระบวนการตรวจสอบโดยภาคประชาชน ถูกทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย คนจนบุกรุกและลักทรัพย์ของคนรวย โดยไม่มีการพูดถึงการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมายของบริษัทผู้ประกอบการ และไม่ยอมดำเนินการใดๆ กับผู้ประกอบการที่ละเมิดกฎหมาย แต่กลับปล่อยให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


 


มีเพียงนิคมสหกรณ์อ่าวลึกเท่านั้น ที่เข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ให้ดำเนินคดีกับ 4 บริษัทที่บุกรุกที่ดินนิคมสหกรณ์อ่าวลึก ได้แก่ บริษัท ไทยร่วมพัฒนาการเพาะปลูก จำกัด, บริษัท สหกาญจนอินดัสตรี จำกัด, บริษัท เชียงแสนการเกษตร จำกัด และบริษัท ไพรสณฑ์ จำกัด


 


ทว่า ยังไม่มีการจับกุมดำเนินคดี มาจนถึงบัดนี้...


 


ส่วนชาวบ้านที่เข้าตรวจสอบการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐ กลับถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว 43 ราย รวม 17 คดี ใช้เงินประกันตัวแล้ว 8 ล้านบาท อีก 14 คน ที่ถูกออกหมายจับและประสงค์จะเข้ามอบตัว ต้องใช้วงเงินประกันตัว 3,780,000 บาท ขณะนี้ยังไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้


 


นี่คือ ชะตากรรมจากการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้าน ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาสะสาง


 


หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ "เปิดโปงความจริงการตรวจสอบสัญญาเช่าสวนป่า" ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้, ศยามล ไกยูรวงศ์ บรรณาธิการ, กรกฎาคม 2549


 


000


 


บริษัทที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้จังหวัดกระบี่-สุราษฎร์ธานี


 


จังหวัดกระบี่


 






























































































 


บริษัท


วัตถุประสงค์


ปีที่หมดอายุ


เนื้อที่ (ไร่)


1


บริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด* 


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2543


13,950


2


บริษัท เจียรวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด 


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2556


20,000


3


บริษัท ยวนสาวการเกษตร จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


3,816


4


บริษัท ยวนสาวการเกษตร จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


4,390


5


นายประเสริฐ กิตติธรกุล


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


2,200


6


นายวิศิษฐ์ วุฒิชาติวานิช


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


1,500


7


หจก.กระบี่รวมภัณฑ์


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


1,000


8


บริษัท ฟูจูการเกษตร จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


9,500


9


นายสุบินท์ ฉายะบุระกุล


ปลูกปาล์มน้ำมัน


พฤษภาคม2546


1,844


10


บริษัท กรานี่การเกษตร จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


9,750


11


นายพัฒน์ ซ้ายเส้ง


ปลูกไม้ยืนต้นและมะม่วงหิมพานต์


2545


1,000


12


นายสุนทร เจียวก๊ก


ยางพาราและมะม่วงหิมพานต์


2545


500


13


หจก.ศรีปราณี


ยางพาราและมะม่วงหิมพานต์


ตุลาคม


2546


580


14


หจก.ศรีวิไลปาล์ม ปลูกปาล์มนำมัน


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2545


1,206


 


000


 


จังหวัดสุราษฎร์ธานี


 










































































































 


บริษัท


วัตถุประสงค์


ปีที่หมดอายุ


เนื้อที่ (ไร่)


1


บริษัท น้ำบี้พัฒนาการเกษตร*  


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2542


20,000


2


บริษัท กุ้ยหลิมพัฒนาการเกษตร*


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2542


20,000


3


บริษัท ประจักษ์วิวัฒน์ จำกัด


 


ปลูกปาล์มน้ำมัน,ยางพารา, มะม่วงหิมพานต์


2557


10,600


4


บริษัท ชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด*


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2543


15,500


5


บริษัท พันธ์ศรี จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2558


20,000


6


บริษัท พรทวีปาล์ม จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2560


5,543


7


บริษัท ภูสวัสดิ์ จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2567


700


8


บริษัท พรทวีปาล์ม จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2560


701


9


บริษัท ไทยอุตสาหกรรมและสวนปาล์ม จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2566


8,250


10


นางนันทนา บุญร่ม


ปลูกยางพารา


2544


375


11


บริษัท ไทยบุญทอง จำกัด*


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2543


3,000


12


บริษัท สุราษฎร์ปาล์มทอง จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2543


1,168


13


บริษัท ประมงวิชิต จำกัด


ปลูกยางพารา


2543


8,600


14


หจก.เหมืองแร่กมลา


ปลูกยางพารา


2560


4,302


15


บริษัท แสงสวรรค์ปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรม จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


2558


20,000


16


บริษัท สามชัยสวนปาล์ม จำกัด


ปลูกปาล์มน้ำมัน


กุมภาพันธุ์2546


1,850


 


หมายเหตุ : * เครือข่ายฯ เข้าตรวจสอบแล้ว


ที่มา : กรมป่าไม้, หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ฉบับที่ 304 ประจำวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2546


 


000



 


บันทึกประวัติศาสตร์คนจนเข้าตรวจสอบพื้นที่เช่าของรัฐ


 


























































9 พฤษภาคม 2546


คณะทำงานภาคประชาชนพร้อมด้วยชาวบ้าน 150 คน เดินสำรวจป่าบริเวณตำบลเขาต่อ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ และเข้ากั้นแนวเขตป่า เนื่องจากป่าบริเวณดังกล่าวถูกบุกรุกและปลูกปาล์มน้ำมัน ห่างจากหน่วยป้องกันรักษาป่า 500 เมตร


 


17 มิถุนายน 2546


คณะทำงานพร้อมชาวบ้าน 300 คน เข้าตรวจสอบที่ดินเช่าของบริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด บริเวณป่าเขาแก้ว ป่าควนยิงวัว ตำบลนาเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ หลังจากพบข้อมูลว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยขอให้บริษัทนำหลักฐานมายืนยัน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กลับยังถูกข่มขูคุกคามจากผู้ที่อ้างว่า เป็นผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่และตำรวจ จึงต้องรายงานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


23 มิถุนายน 2546


นายทองหล่อ พลโคตร โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนายจตุพร พรหมพันธ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของนายประพัฒน์ มาประชุมกับตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ข้อยุติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ตั้งคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับภาคประชาชน แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ


มีเพียงรายงานการตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่ของ บริษัท เชียงแสนการเกษตร จำกัด เนื้อที่ 972 - 1 - 95 ไร่ ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน แต่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก แต่ทางนิคมสหกรณ์อ่าวลึกไม่ยอมรับ ขอให้ตรวจสอบแนวเขตเอง ซึ่งก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ


 


ในช่วงเดียวกัน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนฯ จากอำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอสิชล และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมนุมเรียกร้องให้ตรวจสอบสวนป่ากาญจนดิษฐ์ เนื่องจากสงสัยว่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) บุกรุกเกินกว่าที่ขอใช้จากกรมป่าไม้ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงตั้งคณะทำงานตรวจสอบ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจาก ออป. ทำให้การตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ชาวบ้านต้องเรียกร้องให้ตรวจสอบอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าสวนป่ากาญจนดิษฐ์ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบ อ้างว่าจำนวนเนื้อที่และการกำหนดพิกัดในแผนที่มีความผิดพลาด


 


6 กรกฎาคม 2546


คณะทำงานพร้อมชาวบ้าน 400 คน เข้าตรวจสอบและกันแนวเขตที่ดินของ บริษัท จิตรธวัช สวนปาล์ม จำกัด แปลงที่ 2 โดยใช้เครื่องตรวจพิกัด หรือ จีพีเอส และส่งข้อมูลไปทำแผนที่ แต่ภาครัฐไม่ยอมส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมตรวจสอบและไม่ให้เอกสารใดๆ ตามที่ชาวบ้านร้องขอ


 


1 สิงหาคม 2546


ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ 400 คน เข้าอาศัยที่แคมป์ของกรมทางหลวง ที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมเข้าตรวจสอบที่ดินเช่าที่หมดสัญญา


 


13 สิงหาคม 2546


หม่อมหลวงประทีป จรูญโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีขณะนั้น แต่งตั้งคณะทำงานเข้าตรวจสอบที่ดินของบริษัทชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด อำเภอชัยบุรี โดยจะเข้ารังวัดใน วันที่ 18 สิงหาคม 2546 โดยมีชาวบ้านร่วมตรวจสอบด้วย 10 คน


 


14 สิงหาคม 2546


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ เปิดเวทีปราศรัยที่หน้าตลาดอ่าวลึก เนื่องจากถูกข้าราชการและผู้มีอิทธิพลข่มขู่ หลังจากเข้าตรวจสอบที่ดินหลายแปลง


 


15 สิงหาคม 2546


คณะทำงานภาคประชาชน เข้าตรวจสอบที่ดินของบริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด แปลงที่ 3 ในพื้นที่ตำบลปากน้ำ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่


 


17 สิงหาคม 2546


คณะทำงานภาคประชาชน เข้าตรวจสอบที่ดินของบริษัท นำบี้ พัฒนาการเกษตร จำกัด ในพื้นที่ตำบลตะปาน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้เช่าที่จากกรมป่าไม้ 20,000 ไร่ หมดอายุการอนุญาตเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 แต่บริษัทยังคงครอบครองและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จนถึงปัจจุบัน


นอกจากนี้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ พร้อมคณะทำงานภาคประชาชน ได้เข้าตรวจสอบที่ดินของบริษัท นำบี้ฯ เป็นชุดที่ 2 ด้วย


 


20 สิงหาคม 2546


สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ พร้อมคณะทำงานภาคประชาชนเข้าตรวจสอบพื้นที่สวนปาล์ม ริมถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ตำบลปากน้ำ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เบื้องต้นทราบว่า เป็นของนางขจิต เพชรานนท์ และที่สาธารณะทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ แต่มีต้นปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราปลูกเต็มแปลง


เวลา 20.00 น. วันเดียวกัน นายทองหล่อ และนายจตุพร มาประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แต่คณะทำงานฝ่ายเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ไม่เข้าร่วม เนื่องจากการประชุม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ส่วนนายทองหล่อเองก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจ


ขณะเดียวกันรัฐมนตรี 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหาทางแก้ปัญหาที่ดินสุราษฎร์ธานี - กระบี่


 


26 สิงหาคม 2546


คณะรัฐมนตรีมีมติปัญหากรณีราษฎรเข้าครอบครองสวนปาล์ม ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่เอกชนขอใช้ประโยชน์ ดังนี้


1. ให้เร่งรัดสำรวจพื้นที่ที่เอกชนขอใช้ประโยชน์ทุกพื้นที่ที่หมดอายุและยังไม่หมดอายุการอนุญาต โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ แต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้ได้รับอนุญาตให้เช่าและผู้แทนภาคประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับกัน และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 15 วัน


2. นำผลการดำเนินการในข้อ 1 มาพิจารณาวางกรอบและแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นธรรมต่อไป โดยมีหลักการและแนวทางดังนี้


2.1. พื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาตให้ยุติการอนุญาตต่อไว้ก่อน


2.2. พื้นที่ที่ยังไม่หมดอายุการอนุญาต หากผิดเงื่อนไขการอนุญาตก็ให้พิจารณายกเลิกการอนุญาตเข้าทำประโยชน์


2.3. พื้นที่ที่ยังไม่หมดอายุการอนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา มอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาทบทวนกรอบการดำเนินงาน กรอบเวลาของมการอนุญาต และกรอบอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ให้พื้นที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 มาจัดระเบียบการอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจะพิจารณาให้กับผู้ไม่มีที่ดินทำกินและเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก


 


27 สิงหาคม 2546


นายเสริมศักดิ์ พงศ์พานิช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้น ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน การประชุมครั้งนี้มีการรายงานข้อมูลตัวเลขที่ดินที่อยู่ในการครอบครองของเอกชนจำนวนมากที่ภาคประชาชนยังไม่ทราบมาก่อน และยังไม่มีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จริง


ที่ประชุม เรียกร้องให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ที่จะเข้าตรวจสอบ แต่ฝ่ายชาวบ้านยืนยันจะอยู่ต่อจนกว่าจะมีมาตรการการตรวจสอบที่ชัดเจน หรือถ้าจะให้ออกก็ต้องให้นายทุนที่ครอบครองที่ดินนานกว่าที่รับอนุญาตหลายปี ออกจากพื้นที่ไปด้วย 


 


7 กันยายน 2546


คณะทำงานภาคประชาชน และชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ 600 คน เข้าตรวจสอบสวนปาล์ม บริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด แปลงที่ 3


12 กันยายน 2546


นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการสวนปาล์มและตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ โดยมีการเจรจากันผลการเจรจา ได้มีการวางมาตรการแก้ปัญหาดังนี้


1. ไม่ต่อใบอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ


2. ให้มีการสำรวจข้อมูลการผิดเงื่อนไขการอนุญาต


3. นำพื้นที่ที่ไม่ได้ต่อใบอนุญาต มาจัดสรรกับเกษตรกรโดยพิจารณาคนในพื้นที่ก่อน


4. ให้ประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในแปลงที่ดินเดินทางกลับภูมิลำเนาภายใน 3 วัน เพื่อให้คณะทำงานเข้าไปแก้ไขปัญหาร่วม


5. พื้นที่สวนปาล์มที่หมดอายุการอนุญาต รัฐต้องส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปควบคุมทุกพื้นที่


ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ไม่ยอมรับเรื่องการออกจากพื้นที่ ภายใน 3 วัน ถ้าหากชาวบ้านาถอยออกจากพื้นที่ นายทุนต้องถอยด้วย เนื่องจากทุกแปลงที่ชาวบ้านเข้าไป เป็นแปลงที่มีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่าเป็นพื้นที่ ที่สิ้นสุดการอนุญาต


 


17 กันยายน 2546


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประพัฒน์ เดินทางลงมาที่จังหวัดกระบี่ครั้งที่ 2 โดยได้มีการเจรจากับตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้อีกครั้ง ได้ผลว่า ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และให้ผู้ประกอบการออกจากพื้นที่ หยุดเก็บเกี่ยวผลผลิต และให้ชาวบ้านที่อยู่ในแปลงตรวจสอบออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 21 กันยายน 2546 โดยรัฐจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลและดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน


หลังจากนั้นชาวบ้านทยอยออกจากพื้นที่แปลงตรวจสอบ มาปักหลักรอผลการตรวจสอบบริเวณริมถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ด อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่


เมื่อเวลาล่วงเลยมา 20 วัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากภาครัฐในการตรวจสอบดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านประมาณ 2,000 คน เข้าไปตรวจสอบการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินของ บริษัท ไทยร่วมพัฒนาการเพาะปลูก จำกัด (มาเลย์) หมู่ที่ 4 ตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ต่อไป


 


14 ตุลาคม 2546


เวลาประมาณ 13.00 น. ทางการใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวบริเวณสวนปาล์มไทยร่วมพัฒนาการเพาะปลูก จำกัด ให้ชาวบ้านออกนอกไปจากสวนปาล์ม ภายในเวลา 12.00 น. มิฉะนั้น จะใช้กำลังสลายการชุมนุม


ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. มีตำรวจกว่า 1,000 นาย เข้าปิดล้อมบริเวณปากทางเข้าสวนปาล์มบริษัท ไทยร่วมฯ และมีการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับชาวบ้านกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่ได้ข้อยุติ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจาอีกครั้งเวลา 10.00 น. ในวันต่อมา


 


15 ตุลาคม 2546


เวลา 09.00 น. ตำรวจท้องที่ ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัครรักษาดินแดน พ้อมอาวุธครบมือ เข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านในแปลงของบริษัท ไทยร่วมฯ ก่อนเวลานัดหมายเจรจา มีการล็อคตัวกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะมาร่วมเจรจาไว้ที่ที่ว่าการอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ มีการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน 11 คน เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนอีก 1 คน ส่านชาวบ้านที่เหลือได้ถูกสอบสวนจัดทำทะเบียนประวัติแล้วปล่อยตัวกลับบ้าน


 


30 ธันวาคม 2546


เวลาประมาณ 09.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 2,000 นาย เข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ที่แคมป์กลางบริเวณ จุดตัดถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ดกับทางหลวงหมายเลข 41 บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการดำเนินคดีกับชาวบ้าน 4 คน


 


 


ที่มา : ศยามล ไกยูรวงศ์ บรรณาธิการ, เปิดโปงความจริงการตรวจสอบสัญญาเช่าสวนป่า, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้, พีพีพรินท์ติ้ง & นกเช้าสำนักพิมพ์, กรกฎาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net