ต่างชาติสงสัยการทำงานกระทรวงวัฒนธรรมไทย ใช้มาตรฐาน "โขน" บีบศิลปินแก้บท "โอเปร่า"

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ แปล/เรียบเรียง

 

 

 

โปสเตอร์อุปรากรโอเปร่าชุด "อโยธยา"  (ที่มา : http://www.bangkokopera.com)

 

ตามที่ได้มีการแสดงอุปรากรโอเปร่าชุด อโยธยา ซึ่งเป็นการแสดงอุปรากรร่วมสมัยที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวของรามเกียรติ์ของมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ กำกับโดย Hans Nieuwenhuis เจ้าของเนเธอร์แลนด์ สตูดิโอ ประพันธ์โดยนายสมเถา สุจริตกุล ศิลปินวัย 53 ปี ซึ่งมีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ ภายใต้นามปากกา เอส.พี.โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประพันธ์ และนำทูลเกล้าฯ ถวาย

โดยเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากบทกวีเรื่อง "รามเกียรติ์" ตามตำนานของเอเชียอาคเนย์

 

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การดนตรีที่มีผู้นำเสนอ "รามเกียรติ์" ในรูปแบบสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากล และยังมีการดำเนินเรื่องในมุมมองของนางสีดา ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดนำเสนอมาก่อนด้วย โดยทีมนักแสดงที่มีทั้งชาวไทย, รัสเซีย, อเมริกัน, ดัตช์, และจีน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสครองสิริราชสมบัติ 60 ปี โดยได้ขอใช้สถานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดการแสดงมหาอุปรากรระหว่างวันที่ 16, 18, 19 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ในเวลา 20.00 น.

 

ต่อมามีข่าวว่า เนื่องจากฉากจบของโอเปร่าเป็นฉากความตายของทศกัณฐ์ที่มีความรุนแรง จนกระทรวงวัฒนธรรมต้องออกโรงมากล่าวว่า ฉากที่พรรณนาถึงความตายนั้นเป็นข้อห้ามของการแสดง "โขน" เพราะจะเป็นลางไม่ดี

 

ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมจึงเจรจาให้มีการปรับแก้ฉากการตายของทศกัณฐ์นั้น เพียง 2-3 วันก่อนการแสดงรอบแรกในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 จนตกเป็นข่าวเกรียวกราวในหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทย และในต่างประเทศนั้น

 

กระทรวงวัฒนธรรมเผยเหตุแบนฉากจบทศกัณฐ์ "รุนแรงและอัปมงคล"

จากการเปิดเผยของนางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงฉากสุดท้ายของโอเปร่าชุด "อโยธยา" ว่าจากการตรวจบท (Script) สุดท้ายอันเป็นตอนที่หนุมานไปหลอกเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์มาจากพระฤษีอาจารย์ของทศกัณฐ์มาให้พระรามฆ่าตายโดยการทำลายหัวใจ

 

ในการซ้อมบทดังกล่าวได้ทราบว่า มีการจำลองหัวใจทศกัณฐ์ใส่ในภาชนะที่มีน้ำแดง ที่ทำเสมือนว่าเป็นเลือด แล้วจะจับมาโยนทิ้งกลางเวทีพร้อมใช้พระขรรค์แทงซ้ำจนทศกัณฐ์ตายนั้น ทางสวช.ได้เรียนปรึกษาอาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ และนายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านถึงความเหมาะสมในการนำเสนอการแสดงข้างต้นว่าเหมาะสมหรือไม่-เพียงใด ปรากฏว่าทางท่านผู้ใหญ่ได้ทักท้วงมาว่า ฉากสุดท้ายดังกล่าวนี้แม้จะนำเสนอในลักษณะร่วมสมัย แม้ต้องการแสดงวรรณกรรมเดิมในรูปแบบใหม่ แต่ก็มีลักษณะที่แสดงออกถึงความรุนแรง ก้าวร้าว

 

ยกธรรมเนียมไทย ไม่แสดงตอนทศกัณฐ์ตายบนเวที

"สำคัญที่สุดก็คือ ขนบของการแสดงโขนนั้นเราจะไม่แสดงตอนทศกัณฐ์ตายบนเวที เพราะเชื่อว่าจะเป็นเรื่องอัปมงคล และนำความวิบัติมาสู่ประเทศ และสำหรับนาฏศิลป์ไทย ทศกัณฐ์ได้รับการยกย่องอย่างสูง เพราะเป็นทั้งเทพและครูของนาฏศิลป์" นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกล่าวผ่านหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

 

นางปริศนายังกล่าวอีกด้วยว่านับตั้งแต่มีการแสดงรามเกียรติ์มา ฉากทศกัณฐ์ตาย ส่วนใหญ่จะทำเป็นสัญลักษณ์ให้รู้เท่านั้น จะไม่มีแสดงการตายให้เห็นอย่างที่ปรากฏในเรื่อง "อโยธยา" ดังนั้นทาง สวช.จึงได้แจ้งให้ทางผู้จัดคือ คุณสมเถา สุจริตกุล ประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพได้ทราบ เพื่อขอให้ปรับเปลี่ยนบท และไม่อนุญาตให้แสดงตอนนี้บนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 

"ตอนแรกที่เราไปท้วง ทางทีมงานของเขายืนยันว่าจะเล่นให้ได้ ทางเราก็ได้แค่ขอร้องเขาว่าอย่าเล่น ขนาดทาง อ.เสรียังบอกว่าเล่นแบบนี้มีแต่ฉิบหายกันหมด แล้วยิ่งเป็นการแสดงที่ถวายในหลวงด้วยมันคงไม่ดี"

      

"ตอนแรกที่จะขอเปลี่ยน เขาไม่ยอมเปลี่ยน เราก็เลยอ้างว่าในเมื่อสัญญาระบุว่า ถ้าการแสดงได้สร้างความรู้สึกที่ไม่ดี เราก็มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกสัญญาได้ แล้วคุณจะเอาการแสดงคอนเทมป์ของคุณไปแสดงที่ไหนก็ได้ที่เขาคิดว่าดี แต่สำหรับเวทีนี้คงไม่ได้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่เขาท้วงติงกันเยอะ" นางปริศนากล่าว

 

ผู้จัดเปลี่ยนบทตาม กระทรวงวัฒนธรรม หลัง "คุณแม่ขอร้อง"

ที่สุดแล้วเรื่องของสงครามถ้อยคำระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับทางผู้จัด ก็ยุติลงด้วยการที่มารดาของสมเถา คือ "ถ่ายเถา สุจริตกุล" รองประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ได้ช่วยพูดให้ลูกชายและทีมงานผู้จัดโอเปร่าแก้ไขบทให้ทศกัณฐ์ตายนอกเวที

 

"ปรากฏว่าคุณถ่ายเถาก็ไม่เห็นด้วย คุณแม่ของเขาก็เลยต่อว่าทั้งคุณสมเถาและฝรั่งผู้จัดลั่นโรงเลย ว่าเรื่องแบบนี้ห้ามเล่น คนไทยเขาถือ ถ้าอยากเล่นก็ไปเล่นที่อื่น อย่ามาเล่นที่ประเทศไทย แล้วสั่งให้ไปเปลี่ยนบท ซึ่งสุดท้ายเขาก็ยอมเซ็น ซึ่งทางเราไม่ได้บีบบังคับทางเขาเลย ... อีกประเด็นที่เรากังวลก็คือ คำร้องบางอย่างที่เป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างสองแง่สองง่าม โดยเฉพาะท่านที่ถอดเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า "กลิ่นกายของนางสีดา เหมือนกลิ่นอวัยวะเพศของนางมณโฑ" ซึ่งเราก็คิดว่าไม่เหมาะ แม้จะขับร้องด้วยภาษาอังกฤษ" อมรรัตน์ เทพกัมปนาท ตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรมกล่าวผ่านผู้จัดการออนไลน์

 

"ในประเด็นนี้เราคิดว่า อะไรที่มันร่วมสมัยมันก็น่าจะปรับให้เข้ากันได้กับทุกฝ่าย แต่อะไรที่ร่วมสมัยแล้วทำร้ายจิตใจผู้อื่น เป็นที่ไหนเขาก็ไม่ยอมรับ คุณไปเรียนหนังสือหนังหาต่างประเทศมาแล้วลืมวัฒนธรรมไทยได้เหรอ ของเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องหัวโบราณ มันเป็นเหมือนกับขนบที่ผู้คนเขานับถือกันมานาน เหมือนฝรั่งที่ไม่ชอบเลข 13 อย่างนี้จะว่าเขางมงายไหม"

 

"ตามข่าวของเอพีที่ว่าเราไปขู่ว่าจะปิดการแสดงนั้น อย่างที่รู้ว่าคุณแม่ของเขาเป็นคนสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงฉากการแสดงเอง และถึงแม้คุณจะไม่เปลี่ยน คุณก็เอาไปแสดงที่อื่นก็ได้ ไม่มีใครห้าม ถ้าคิดว่าคอมเทมป์ของคุณดีพอ" อมรรัตน์ เทพกัมปนาทย้ำอีกครั้งหนึ่งถึงกรณีคุณแม่ขอร้องให้มีการแก้ไขบทโอเปร่าดังกล่าว

 

โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะอนุญาตให้มีการแสดงโอเปร่ารอบแรกในวันที่ 16 พฤศจิกายนได้ก็ต่อเมื่อภายหลังจากที่สมเถาลงนามในสัญญาว่าการแสดงจะไม่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมและศีลธรรม ไม่เช่นนั้นจะไม่มีการแสดงในรอบต่อไป

 

จากปากคำมารดาของสมเถา "เรื่องนี้ทำตามขนบธรรมเนียม เรื่องก็มีอยู่เท่านี้"

ด้าน ถ่ายเถา สุจริตกุล รองประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพกล่าวถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงบทโอเปร่า "อโยธยา" ผ่านผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมานี้ว่า "ตามธรรมเนียมไทยแล้ว เขากล่าวว่าจะไม่ให้ทศกัณฐ์ล้มหรือตายกลางเวที แน่นอนตรงนี้ในเมื่อมันเป็นขนมธรรมเนียม ตัวคนทำก็เป็นคนไทย คุณสมเถาก็เป็นคนไทย เรื่องมันก็มีอยู่เท่านี้เอง"

 

"ตามธรรมเนียม ในฉากนั้นทศกัณฐ์ต้องโซซัดโซเซไปเมืองลงกา จะไม่ตายบนเวที ซึ่งของเราก็ไม่ ของเราพอซวนเซใกล้จะตายก็มีคนประคองไปขึ้นรถไปส่งที่เมืองลงกา ไม่มีการล้มบนเวทีแต่อย่างใด และเราก็ไม่อยากมีปัญหาตรงนี้อยู่แล้วด้วย ดิฉันคิดว่าฝรั่งเข้าใจผิดกันไปเอง ไม่มีอะไรใหญ่โตหรอก"

 

"รอบปฐมทัศน์ (16 พ.ย. 49) สมเด็จพระเทพฯ ก็เสร็จมาทอดพระเนตรด้วย พระองค์ก็ทรงโปรดอย่างมาก สมเถาก็ได้เข้าเฝ้าระหว่างพักด้วย ท่านก็ว่าสนุกดี เป็นมิติใหม่ เป็นมหาอุปรากรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลย แต่อย่างไรเราก็ไม่คิดที่จะละเมิดกฎระเบียบของไทยเลย ดิฉันก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เคยเป็นภริยาเอกอักราชทูตไทยมาแล้ว สมเถาก็เป็นคนไทย"

 

เมื่อมีการถามถึงประเด็นที่สำนักข่าวเอพีนำข่าวไปลง นางถ่ายเถากล่าวว่า "มันมีแค่ว่าให้เราระวังตรงนี้น่ะ มันมีตรงนี้ แล้วเราก็ไม่ทำ มันก็เท่านั้นเอง"

 

"โอเปราชุดนี้นับเป็นครั้งแรกที่นำรามเกียรติ์มาถ่ายทอดในแบบโอเปรา ซึ่งสมเถาก็ไม่ได้นำแค่เนื้อหาจากรามเกียรติ์ฉบับไทยมาถ่ายทอดเท่านั้น แต่ยังเอารามเกียรติ์จากอินเดียและอินโดนีเซียมาสอดแทรกเอาไว้ด้วย โอเปราครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีของในหลวง ซึ่งเราได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลแล้วด้วย เราทำอย่างถูกต้องทุกอย่าง" ถ่ายเถา สุจริตกุล ผู้เป็นมารดาของสมเถา สุจริตกุลกล่าว

 

สมเถา สุจริตกุล (ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/สมเถา_สุจริตกุล)

 

สมเถา สุจริตกุล ระบุนักอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยจะเอาธรรมเนียมโขนมาใช้กับโอเปราไม่ได้

โดยช่วงวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา สมเถากล่าวกับผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่นถึงสิ่งที่เขาและผู้กำกับโอเปร่าเห็นว่าเป็นอุทาหรณ์และเป็นความรู้สึกที่เขามีต่อกรณีความห่วงใยของกระทรวงวัฒนธรรมดังกล่าว ซึ่งพวกเขาไม่แน่ใจว่างานโอเปร่าของเขาไปสร้างความขุ่นเคืองให้กับนักอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยได้อย่างไร

 

"เหตุธรรมเนียมใดๆ ที่ยกมาอ้างโดยกระทรวงวัฒนธรรม ไม่สามารถทำอะไรได้กับโอเปร่า ธรรมเนียมโขนไม่มีทางจะมาใช้ควบคุมโอเปร่าได้ในทุกกรณี" สมเถากล่าว

 

สมเถายังกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญโขนซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแสดงของเขาเป็นเรื่องต้องห้ามเพราะมีความตายของทศกัณฐ์บนเวทีนั้น สมเถากล่าวว่า นั่นเป็นธรรมเนียมโบราณหรือไม่เช่นนั้นก็เพิ่งกำหนดขึ้นในศตวรรษที่ 20 เท่านั้น

 

ไม่ใช่เรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงวัฒนธรรมจะกำหนดอะไรออกมาแล้วใช้ครอบจักรวาล ถ้าธรรมเนียมโขนสามารถประยุกต์ใช้กับโอเปร่า งั้นก็เอาธรรมเนียมโอเปร่าไปใช้บ้างสิ" สมเถากล่าว

 

กระทรวงวัฒนธรรมซ้ำรอยสตาลินนิสต์-ชี้วัฒนธรรมมีชีวิตเพราะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

"ปัญหาส่วนตัวของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้คือไม่สมควรที่จะมาทำอะไรกับบทเสียชีวิตของทศกัณฐ์ในโอเปร่า ทั้งผมซึ่งเป็นผู้ประพันธ์และผู้กำกับต้องมาลงนามในสัญญาอันยิ่งใหญ่ (กับกระทรวงวัฒนธรรม) ว่าจะต้องทำให้เหมาะสมกับขนบธรรมเนียม แต่ปัญหาส่วนตัวของผมในฐานะที่เป็นศิลปินก็คือกระทรวงวัฒนธรรมรู้สึกจะมีความถูกต้องชอบธรรมเหลือเดินในการเข้ามาจำกัด/ควบคุมผลงานทางศิลปะ ซึ่งทำให้น่าเบื่อและออกแนวศิลปะสกุลสตาลินนิสต์ (Stalinist)" สมเถากล่าว

 

"อารยธรรมของโลกเป็นสิ่งซึ่งต้องมองอย่างเป็นองค์รวม มันมีทั้งธรรมเนียมเก่าและมันยังมีธรรมเนียมใหม่ๆ ที่มีการค้นคิด/ค้นพบกันขึ้นมาด้วย วัฒนธรรมมันมีชีวิตเพราะมันเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ตลอดเวลา งานของพวกเราในฐานะที่เป็นศิลปินก็คือการเป็นกระจกสะท้อนสังคมและความเป็นมนุษย์ และมากไปกว่านั้นทั้งหมดต้องบอกเล่าถึงความจริงโดยไม่เกี่ยงราคาค่างวดใดๆ" สมเถากล่าว

 

เปิดจดหมายของสมเถา "ประเทศของเราคงจะมีภาพพจน์ที่ไม่ดีในสายตาชาวโลก ถ้าเข้มงวดกวดขันต่อศิลปะ"

นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ สมเถา สุจริตกุลในฐานะผู้ประพันธ์โอเปร่าเรื่อง "อโยธยา" ยังเขียนจดหมายมาลงยังหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเป็น "กรณีพิเศษ" ด้วย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน (อ่านจดหมายของสมเถาฉบับเต็ม ที่นี่) โดยมีใจความส่วนหนึ่งว่า

 

"...ตัวผมเองเชื่อว่า ผมเข้าใจวัตถุประสงค์ของกระทรวงวัฒนธรรมอย่างดี (กรณีให้แก้ฉากที่มีการตายของทศกัณฐ์บนเวที - ผู้แปล) ผมไม่ใช่ชาวต่างชาติที่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำลายวัฒนธรรมอย่างไม่ใยดี แต่ผมอยากบอกว่าอุปรากรโอเปร่านี้ ผมทำขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้กับชาติไทย ด้วยความรู้สึกจากก้นบึ้งภายในและโอเปร่าเป็นสิ่งที่เราในฐานะที่มีความเป็นมนุษย์ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างมากเพราะมันมีทั้ง ความรัก, การทรยศหักหลัง, ความอิจฉาริษยา และการชำระปลดเปลื้องอย่างถึงพริกถึงขิง

 

ผมอยากจะกล่าวว่า ผมถูกบังคับให้ลงนามในเอกสารของเจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งมีสิทธิในการเลิกการแสดงโอเปร่าในรอบกลางได้ ถ้าหากการแสดงโอเปร่าส่งผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมในมุมมองของพวกเขา ซึ่งทั่วโลกกำลังเฝ้าจับจ้องประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ เพื่อนร่วมงานและมิตรสหายของผมส่วนใหญ่เห็นว่าสื่อต่างประเทศมีปฏิกิริยาที่ไม่ค่อยยุติธรรมกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่เพิ่งผ่านพ้นไป แต่แน่นอนว่า ประเทศของเรา คงจะมีภาพพจน์ที่ไม่ดีเท่าใดนักในสายตาชาวโลก ถ้าเขาจะคิดว่าประเทศของเราเข้มงวดกวดขันต่อศิลปะ

 

ผมต้องการชวนพวกท่านทั้งหลายมาตัดสินด้วยตัวของท่านเอง อันที่จริงแล้วผมได้ตกลงที่จะแสดงบนเวที แต่จะมีบุคคลผู้ตัดสินชี้ขาดจะพิจารณาว่ามันควรหรือไม่ควรต่อขนบธรรมเนียม คำถามที่สำคัญก็คือ ในสายตาของพวกท่าน, ท่านมองเห็นอะไร และหัวใจของพวกท่านได้มองเห็นสิ่งใด? มีแต่ผู้ชมของผมเท่านั้นที่จะบอกจะได้ว่าผมประนีประนอมต่อความซื่อสัตย์ของตัวเองหรือไม่

 

ผมต้องการบอกพวกท่านว่าทำไมผมจึงดีใจที่ได้กลับบ้าน ผมรู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจ ผมขอบคุณแม้จะเป็นการขอบคุณต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผมรู้สึกภูมิใจที่ผู้คนคิดว่าสิ่งที่ผมพูดนั้นมีความหมายพอและมีความสำคัญพอ มากกว่าที่จะอยู่เงียบๆ หรือปล่อยให้ผลงานของผมได้ปลุกปั่นผู้คน และถ้ามันทำให้พวกเขาใปฏิกิริยาสะท้อนกลับและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นี่แหละถึงจะเป็นศิลปะอย่างแท้จริง..."

 

กระทรวงวัฒนธรรมแย้ง "คิดว่าเรื่องจบแล้ว ไม่รู้จะเสนอผ่านสื่อทำไม"

อย่างไรก็ตามด้านกระทรวงวัฒนธรรมคิดว่าข้อพิพาทนี้จบลงแล้ว

 

"ในการแสดงทั้ง 3 รอบ ฉากสุดท้ายได้มีการปรับปรุง (หลีกเลี่ยงให้ทศกัณฐ์ตายบนเวที) ก็คิดว่าน่าจะจบแล้ว แต่เราไม่คิดว่าจะมีปัญหาตามมา เราไม่เข้าใจว่าทำไมคุณสมเถาถึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอผ่านสื่ออีก" นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าว

 

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญชั่วคราวของไทยถูกใช้แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ภายหลังการยึดอำนาจของคณะทหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่มีข้อความใดๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้ปัจจุบันที่ระบุแน่ชัดรับรองซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่ง "เสรีภาพขั้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค"

 

ข่าวประกอบจากประชาไท

ชีวิตและการทำงานของสมเถา สุจริตกุลศิลปินระดับโลก, 28 พ.ย. 49

 

ที่มาของข่าว แปล/เรียบเรียงจาก

สวช.รับซ้อมโอเปร่า "อโยธยา" มีปัญหาจริง-ชี้สื่อนอกไม่เข้าใจ, ผู้จัดการออนไลน์, 22 พฤศจิกายน 2549 18:36 น.

 

สวช.ระงับฉากสุดท้าย การแสดงมหาอุปรากร "อโยธยา". ผู้จัดการออนไลน์, 22 พฤศจิกายน 2549 19:11 น.,

 

The importance of being earnest with Thotsakan's death, Chularat Saengpassa and Pakamard Jaichalard, The Nation, Tuesday, November 21, 2006  02:17

 

Why artistic freedom matters, The Nation, Thursday, November 16, 2006  02:17

 

Culture Ministry forces composer to alter opera's ending, Southeast Asian Press Alliance (SEAPA), 23 November 2006

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท