Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม


29 พฤศจิกายน 2549


 


 


นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงต่างประเทศและหัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจัดเวทีประชาพิจารณ์ในวันที่ 22 ธันวาคม 2549 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่ายตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนที่จะนำร่างความตกลงเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนมกราคม 2550


 


ทั้งนี้ การจัดประชาพิจารณ์ดังกล่าวจะเปิดให้ภาครัฐอธิบายผลและกระบวนการการเจรจาความตกลงฯ มีการอภิปรายโดยจะเชิญผู้แทนจากกลุ่มนักวิชาการ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม (FTA Watch) และเปิดให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นรวมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดทางวิทยุซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ทางเวบไซต์ www.mfa.go.th/jtepa



นายพิศาล ชี้แจงถึงกรณีที่มีข้อเรียกร้องให้เปิดร่างข้อตกลงต่อสาธารณะว่า กระทรวงการต่างประเทศได้นำร่างความตกลงฯบทที่เกี่ยวกับความร่วมมือทันทีเจรจาเสร็จให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2546 (หนังสือกระทรวงต่างประเทศเลขที่ กต 0200.7/13879) และเมื่อการเจรจาเสร็จสิ้นก็ได้นำร่างความตกลงฯทั้งฉบับให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งแต่ 2 มิถุนายน 2549 ส่วนขั้นตอนต่อไปกระทรวงต่างประเทศจะนำร่างความตกลงทั้งฉบับรวมทั้งคำแปลอย่างไม่เป็นทางการ(ภาษาไทย) เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนมกราคม

ทั้งนี้ ได้จัดทำหนังสือ "เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น" โดยสรุปสาระสำคัญของร่างความตกลง เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายรวมทั้งรวบรวมคำถามที่มักได้รับเป็นประจำพร้อมคำตอบเพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจเพื่อให้พิจารณาข้อดีข้อเสียของการจัดทำความตกลงฯนี้บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเหตุผล และผลประโยชน์ส่วนรวม

ส่วนการว่าจ้างให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศึกษาร่างเอกสารความตกลงฯ โดยเฉพาะผลกระทบ โอกาสและเสียงสะท้อนจากสังคมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงต่างๆที่เจรจาเสร็จสิ้นไปหรือไม่นั้น นายพิศาล ระบุว่าจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ คณะผู้วิจัยเห็นว่าความตกลงฯเป็นก้าวสำคัญในการสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นไม่พบบทบัญญัติที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากบัญญัติในประเด็นต่างๆ ที่มีความอ่อนไหว อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีภาคบริการ การลงทุนการแข่งขันทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีเนื้อหาสอดคล้องกับความตกลงที่มีอยู่แล้วในองค์การการค้าโลกหรือขยายความเล็กน้อย

"อย่างไรก็ดี หากผลพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสาธารณชนส่วนใหญ่เห็นว่าความตกลงฯ มีผลกระทบอย่างมาก ไทยก็สามารถขอเจรจาแก้ไขได้แต่ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาที่ญี่ปุ่นจะขอเจรจาในส่วนที่ญี่ปุ่นประนีประนอมในระหว่างการเจรจาซึ่งคณะเจรจาฝ่ายไทยได้ปกป้องผลประโยชน์ไว้"

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นที่ต้องการให้ลดกำแพงภาษีการจัดการขยะหรือพัฒนากรอบความร่วมมือในการกำจัดขยะดังเช่นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น(JPEPA) หัวหน้าคณะเจรจาฯ กล่าวว่า ความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงไม่รวมถึงความร่วมมือการกำจัดขยะ ไทยจะลดภาษีให้ญี่ปุ่นจากร้อยละ 1 เป็น 0ทันที สำหรับขี้แร่และเถ้าอื่นๆ รวมถึงเถ้าสาหร่ายทะเล(เคลป์) เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล ส่วนขยะผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น ขยะเทศบาลตะกอนจากน้ำเสียของเสียอื่นๆ จะลดลงจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0 ทันที หรือภายใน 3 ปี

อย่างไรก็ดี การลดภาษีข้างต้นไม่ได้หมายความถึงการเปิดเสรีนำเข้าขยะจากญี่ปุ่น เพราะการนำเข้าวัตถุใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมจะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครองของวัตถุเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด หรือต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการดังกล่าว
หรือต้องได้รับใบอนุญาตในการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง หรือห้ามมิให้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันและระงับอันตรายที่อาจมีแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อสัตถุอันตรายพ.ศ.2546 จัดให้ขยะหรือของเสียเคมีวัตถุเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่การผลิต การนำเข้าการส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมก่อนจึงจะสามารถนำเข้าผ่านด่านของกรมศุลกากรเข้าประเทศได้

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นักวิชาการของกลุ่ม FTA Watch และผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า จากคำข้อชี้แจงต่างๆ ของหัวหน้าคณะเจรจาฯ คาดการณ์ได้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อตกลงทั้งฉบับในเวทีประชาพิจารณ์ในวันที่ 22 ธันวาคมอย่างแน่นอน ฉะนั้นเมื่อไม่เปิดเผยเนื้อหาข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญจริงๆ การทำประชาพิจารณ์จึงเป็นปัญหาในแง่ข้อมูลและเมื่อทำประชาพิจารณ์ไปแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขได้หรือไม่หากปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้มันก็กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการเจรจาและไม่มีผลดีต่อประเทศแต่อย่างใด

นายบัณฑูร ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การระบุว่าร่างข้อตกลงฯไม่มีความร่วมมือการจัดการขยะกับประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่ได้หมายความว่ากรอบข้อตกลงทั้งหมดจะไม่มีเรื่องนี้ เพียงแต่เลี่ยงตอบว่าไม่มีบทว่าความร่วมมือดังกล่าวในข้อที่อ้างถึงการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะโดยผ่านทางสภาผู้แทนและรัฐสภาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2549 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวรัฐสภาก็ถูกยุบไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นหนังสือยังถูกลงประทับว่า "ลับ"จนไม่สามารถเปิดเผยได้ และส่วนการจ้าง TDRI ให้ทำศึกษาก็กำหนดโจทย์การศึกษาวิจัยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเพียงเรื่องเดียวไม่ครอบคลุมประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม สาธารณสุขและการเปิดเสรีการบริการจึงไม่แปลกที่จะได้คำตอบว่าไม่กระทบระบบเศรษฐกิจเลย

"ข้อเสนอของFTA Watch คือต้องเปิดเผยข้อตกลงการเจรจาเปิดเวลาให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษารายละเอียดทั้งหมด ส่วนประเด็นอำนาจการตัดสินใจจะลงนามนั้นไม่ควรยกให้แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนที่มีความชอบธรรมเพียงพอ ควรจะรอผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยหรือหากจะอ้างว่ามีความจำเป็นลงด่วนต้องเร่งลงนามก็ใช้ประชาธิปไตยทางตรง ก็ให้ประชาชนออกเสียงประชามติก็ได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของกลุ่มเอฟทีเอจะเปิดเวทีคู่ขนานเพื่อหยิบยกประเด็นที่น่าตั้งคำถามมาพิจารณาและจะไม่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ดังกล่าวด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น" นักวิชาการกลุ่ม FTA Watchกล่าวอย่างหนักแน่น

ต่อเรื่องเดียวกันนี้ น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมระบุว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาขยะจากการบริโภคจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบอาหารตัวบรรจุภัณฑ์ที่มุ่งตอบสนองความสะดวกซื้อสะดวกใช้ เช่น โฟม เครื่องดื่มกระป๋อง นอกจากนี้ยังมีขยะอิเลคทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ซึ่งมีอายุการใช้งานของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ สั้น อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของคนญี่ปุ่นที่ต้องการความสะดวกและความเร็ว ความสวยงาม และคุณภาพได้เพิ่มปริมาณขยะอันตรายมหาศาล

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นที่รองรับขยะจำกัดและมีกฎหมายควบคุมขยะอย่างเข้มงวดทำให้ปัญหาขยะไม่มีทางออก และมีต้นทุนการจัดการสูง ยกตัวอย่างมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะจากครัวเรือน ในด้านหนึ่งได้ผลักดันให้เกิดปัญหาการลักลอบนำขยะ เช่น ทีวี ตู้เย็น รถยนต์มาทิ้งในที่สาธารณะอย่างผิดกฎหมายจนกองเป็นภูเขาหรือตามท่าเรือก็มีสินค้าขยะตสาหกรรมอยู่ ท้ายสุดขยะจากการบริโภค และขยะประเภทอื่นๆทั้งหมดจึงถูกส่งไปกำจัดด้วยเตาเผาขยะซึ่งนิยมใช้กันในญี่ปุ่น

น.ส.เพ็ญโฉม ให้ข้อมูลต่อไปว่า ขี้เถ้าที่ได้จากเตาเผาขยะดังกล่าวก็คือมลพิษรูปแบบหนึ่งที่ปนเปื้อนโลหะหนักหากนำไปฝังก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ดินญี่ปุ่นจึงมองหาทางแก้ไขขยะล้นประเทศและส่งออกขยะอย่างชอบธรรมด้วยการนำมาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาต่อรองทางเศรษฐกิจหรือการช่วยเหลือทางวัฒนธรรมและสังคมกับประเทศที่มีพลังต่อรองทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่า

"นี่จึงเป็นประเด็นที่น่ากลัวมากเพราะข้อตกลงนี้แฝงเร้นถึงความไม่รับผิดชอบต่อประเทศที่กำลังทำความตกลงทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในวันข้างหน้าในขณะที่คนญี่ปุ่นไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติในการบริโภคและคนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าประเทศของตนกำลังโยนทิ้งปัญหาไปทั่วโลกการทำเอฟทีเอมันบิดเบือนให้การส่งออกขยะอันตรายเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายโดยหาข้อบกพร่องของอนุสัญญาบาเซลหรือจุดอ่อนทางกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ"

น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวอีกว่าถ้ามีการตกลงเรื่องเอฟทีเอไทยญี่ปุ่น ต้องตัดข้อนี้ออกไปเพราะเป็นความไม่ยุติธรรม เป็นการหลอกลวง
หากมองในแง่การตกลงระหว่าง 2 ประเทศนั่นคือญี่ปุ่นกำลังเอาขยะมาทิ้งบ้านเรา ซึ่งเป็นขยะพิษไม่ใช่ขยะเศษอาหารที่นำมาเป็นปุ๋ยได้และกำลังเอาเปรียบประเทศคู่ค้าต่างๆ หากมองในแง่จริยธรรมทางการค้าก็ถือว่าผิดอย่างมหันต์ญี่ปุ่นควรจัดการให้ประชากรภายในประเทศลดการสร้างขยะและเพิ่มความรับผิดชอบในการบริโภค

"ไม่ว่าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นจะมีข้อดีหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อตกลงการยอมรับขยะจากประเทศญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และไม่มีการประนีประนอม ต้องตัดออกไปไม่อย่างนั้นไทยจะเป็นถังขยะอันตรายของประเทศญี่ปุ่นที่ทำลายสภาพแวดล้อม สุขภาพที่ดีของคนไทยเอง เพราะปัจจุบันไทยยังมีปัญหาขยะที่จัดการไม่ได้จนทำให้หลายชุมชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ หากนำขยะจากญี่ปุ่นเข้ามาคือการเพิ่มปัญหาซ้ำเติมวิกฤติเดิม"

น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวเสริมว่าศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการขยะจัดการขยะอันตรายขยะอุตสาหกรรมอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ขยะประเภทนี้เพียงร้อยละ20 เท่านั้นที่จะถูกจัดการอย่างถูกต้องส่วนที่เหลือก็ถูกจัดการแบบผิดกฎหมาย หรือลักลอบนำไปทิ้ง ซึ่งประเด็นนี้แง่มุมทางกฎหมายก็ไม่สามารถจัดการและเอาผิดกับผู้ลักลอบหรือโรงงานต่างๆที่ก่อขยะพิษได้ ดังนั้นจึงอ้างไม่ได้ว่าไทยมีกฎหมายจัดการขยะอันตรายที่จัดการและการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.บ.วัตถุอันตรายก็ควบคุมเฉพาะสารอันตรายเท่านั้นแต่ไม่รวมในรูปแบบของขยะที่สำคัญประเทศญี่ปุ่นกำลังสร้างนิยามใหม่ในการแปรรูปขยะอันตรายให้อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์อย่าง เช่น เปลี่ยนขี้เถ้าอันตรายให้เป็นก้อนอิฐหรือผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอุตสาหกรรมอื่นๆซึ่งจะรอดพ้นอนุสัญญาบาเซล และกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ

"เรื่องจะละเมิดอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียข้ามพรมแดนซึ่งไทยและญี่ปุ่นเป็นภาคีหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเพราะการที่เมืองไทยจะเป็นถังขยะของญี่ปุ่นคนไทยในฐานะเจ้าของประเทศจะต้องรับรู้ข้อตกลงทั้งหมดสามารถพิจารณาเงื่อนไขที่พ่วง หรือแฝงมาในข้อตกลงและมีสิทธิแสดงความเห็นที่นำไปสู่การแก้ไขข้อตกลงได้"น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net