Skip to main content
sharethis

จากเวที "เรียนรู้ปัญหาวิกฤตพลังงาน และการยกระดับการจัดการป่าชุมชนสู่เส้นทางพลังงานทางเลือก" เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2549 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งพูดถึงประเด็นวิกฤตพลังงานที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในทุกระดับของสังคม เพื่อแสวงหาแนวทาง หรือวิธีการเพื่อบรรเทาวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน อีกทั้งการผลิตพลังงานกลับทำลายป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมไปเป็นจำนวนมหาศาล ประเทศชาติ หรือใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ คนในสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนกันอย่างจริงจังเพื่อแก้วิกฤตได้อย่างไร


 


ศุภกิจ นันทะวรกาญจน์ : มูลนิธินโยบายเพื่อสุขภาพ


 


การรักษาป่า สุดท้ายก็เกี่ยวข้องกับสุขภาพของชุมชนและสังคมโดยรวม งานหลักๆ ของพลังงานที่ทำส่วนแรกคือเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงานที่กรุงเทพฯ รวมกลุ่มเอ็นจีโอและนักวิชาการ ตามเรื่องนโยบายปัญหาพลังงานต่างๆ เรื่ององค์กรผู้บริโภค ปัจจุบันก็มีการตื่นตัวเรื่องพลังงานในเกือบทุกภาค ภาคใต้ก็มีการริเริ่มมาเป็นปีโดยมีคุณศยามล ไกรยูรวงศ์ เป็นผู้ประสานงานอยู่


 


ในภาคอีสานก็มีหลายจังหวัด สุรินทร์ ขอนแก่น อุบล มหาสารคาม หลายชุมชนเริ่มมา 4-5 ปีแล้ว ที่นครปฐมก็เริ่มคิด ชาวบ้านก็พัฒนาภูมิปัญญาที่เหมาะสมขึ้นมา งานส่วนที่สองคือการวิเคราะห์นโยบายพลังงานในภาพรวมพร้อมทั้งพัฒนาทางเลือก และล่าสุดที่ทำ คือเรื่องอนาคตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และนโยบายเรื่องการสร้างเหมืองและท่อก๊าซและการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการใช้พลังงานไฟฟ้า


 


อีกทั้งปัจจุบันนี้ เราจะเห็นวิกฤติพลังงานหลายเรื่อง เวลามองวิกฤติพลังงาน เราอาจเริ่มมองจากชุมชนตัวเอง ด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานของชุมชน ในแต่ละวัน เดือน ปี เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ในตำบลขนาดกลางแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งมี 11 หมู่บ้าน 1,090 ครัวเรือน ซึ่งมีค่าใช้ไฟฟ้าเดือนละประมาณ 90 บาทต่อบ้าน ต่อเดือน ซึ่งก็มีแนวโน้มที่สูงมากขึ้น ส่วนก๊าซหุงต้มถัง 15  กิโลกรัมก็ใช้ประมาณ 3-4 เดือน ถ่าน-ฟืน 30 กิโลกรัมต่อเดือน หรือประมาณวันละ 1 กิโลกรัม


 


ยังรวมถึงน้ำมันดีเซลที่ใช้ในรถบรรทุก รถส่งน้ำที่ใช้ในการเกษตรอีก น้ำมันเบนซินก็ใช้กับมอเตอร์ไซด์ เฉลี่ยทั้งครอบครัว ในแต่ละบ้านก็ประมาณ 2 ลิตร หากเฉลี่ยทั้งตำบลก็ประมาณวันละ 2 พันลิตร หากดูตามข้อมูลนี้ ลองคำนวณดูซิว่า ตำบลนี้ปีหนึ่งใช้พลังงานไปเท่าไร ซึ่งจากข้อมูลปี 45 พบว่าตำบลเดียว ตำบลในภาคอีสานแห่งนี้ ใช้พลังงานคิดเป็นประมาณ 15 ล้านบาทต่อปี


 


ในขณะที่รายได้ต่อครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 12,500 บาทต่อครัวเรือน ต่อปี และปัจจุบันราคาพลังงานก็เพิ่มสูงมากขึ้น ราคาน้ำมันก็แพงขึ้น ปัจจุบันมีการใช้พลังงานประมาณ 18 ล้านบาทต่อตำบลต่อปี ในขณะที่รายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้น...


 


ซึ่งความเป็นจริงชุมชนทั่วประเทศไทยมีทรัพยากรพลังงานอยู่มากมาย เศษกิ่งไม้ใบไม้ ลำน้ำ น้ำตก ขยะ น้ำมันพืชใช้แล้ว ฟาร์มหมู โรงงานขนาดเล็ก เป็นพลังงานทั้งสิ้น ความรู้ที่จะนำพลังงานเหล่านี้กลับมาหมุนเวียนใช้มีการพัฒนาอยู่ในหลายชุมชนและพื้นที่


 


วิกฤติพลังงานที่ผ่านมาตั้งแต่การพัฒนาของเรา มันเป็นเรื่องที่คนอื่นจัดการให้เราตลอด ถึงเวลาเราก็จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า พลังงาน น้ำมัน ต่างๆ มีกระทรวง ราชการ หน่วยงานต่างๆ จัดการให้เราแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเรา


 


กำไรหลักๆ ของ ปตท.พุ่งสูงขึ้นทุกปี ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ที่ ปตท.เอามาผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟส่วนใหญ่ที่เราจ่ายไปเข้าสู่ ปตท.เป็นค่าเชื้อเพลิงและค่าก๊าซธรรมชาติ ผลกระทบจากโครงการพลังงาน โรงไฟฟ้าที่แม่เมาะ โรงงานถ่านหิน


 


นอกจากนี้ก็เรื่องเขื่อนมีการขับเคลื่อนถกเถียงกันเยอะ ทั้งเขื่อนน้ำเทินที่ลาว ตอนนี้กำลังมีเขื่อนน้ำเทิน 2 และเขื่อนสาละวินที่พม่า ท่วมพื้นที่ป่าประมาณ 120,000 ไร่เฉพาะในไทยและในพม่าอีกไม่รู้กี่แสนไร่ โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ไทย-พม่า ที่วางท่อผ่านป่าชั้น 1 เอ และโครงการพลังงานอื่นๆ อีกมากมายที่ก่อให้เกิดวิกฤต


 


อาจารย์สัญชัย สูติพันธ์วิหาร : มหาวิทยาลัยมหิดล


 


เรื่องพลังงานเราผูกโยงเรื่องพลังงานในการดำเนินชีวิตของเราตั้งแต่เกิด เมื่อวานอ่านหนังสือพิมพ์มีการจัดค่ายเยาวชนเรื่องพลังงานทางเลือก แต่เขาพาไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ระยอง ฉะนั้น บางทีเราพูดคำเดียวกัน แต่อาจจะคนละความหมายกันก็ได้


 


อะไรเป็นแรงจูงใจให้เราพูดเรื่องพลังงานทางเลือก สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นตัวฟ้อง เราใช้ไฟ แอร์ เพราะเราต้องการสนองความต้องการ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง อีกตัวหนึ่งธรรมชาติมันฟ้องเรา สมัยนี้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น น้ำท่วมในภาคเหนือหนักขึ้นทุกปี เราใช้พลังงานมากๆสิ่งต่างๆก็ถูกปลดปล่อยออกมา อากาศพิษ ฝุ่นละอองต่างๆ ถูกปลดปล่อยออกมา ถ้ามองโดยส่วนตัวก็เพื่อความอยู่รอด เราจะไม่มีอะไรใช้เราก็ต้องขวนขวายเป็นสัจธรรม เรารักษาป่าเพื่ออะไร เราไม่ได้มองพลังงานเป็นแค่พลังงาน ท่านไม่ได้รักษาป่าเพื่อป่า


 


โอกาสสูญเสียพื้นที่ป่าไปทุกปีนั่นคือโอกาสที่เราต้องทำงานเรื่องพลังงานทางเลือกมากขึ้น เรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและมันก็กระทบกับวิถีชีวิตของเรา สะท้อนผ่านสุขภาพ อาชีพ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่พัฒนาพลังงานทางเลือกอะไรจะเกิดขึ้น ที่เราไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพราะเรามีกิเลสเรามีความต้องการ สิ่งที่เราต้องการมันแลกมาด้วยการที่เราต้องใช้พลังงานมากขึ้น อย่างเรื่องน้ำ มีการวิจัยเรื่องแนวโน้มอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น มีการคาดการณ์อีก 50 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 3-5 องศา ซึ่งมันมีผลกระทบมากกับสิ่งมีชีวิตในโลก


 


เราจะทำอะไรในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเริ่มจากสิ่งที่เรามีเล็กๆ ในพื้นที่ หลายพื้นที่มีการริเริ่มแล้ว แต่ก็ไม่ง่ายในสถานการณ์โลกาภิวัตน์ปัจจุบัน พลังงานมาจากไหน รากฐานก็มาจากธรรมชาติ แต่กว่าที่เราจะได้ใช้มันสะสมมาเป็นพันๆปี แต่เราใช้ในช่วงชีวิตมนุษย์ไม่กี่ปี ปรากฏการณ์เอลนิญโญ สึนามิจะถี่มากขึ้น


 


ท้ายที่สุดเราอาจจะได้แผนปฏิบัติการ ประการแรกที่น่าคิด คือ ใครทำแผน เป้าหมายที่เราทำคือตอบสนองสิ่งที่เราใช้ที่เราเคยใช้เงินแลกมา ที่เราจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน เวลาเราทำอาจจะต้องทำเป็นกลุ่มเป็นก้อนถึงจะมีพลัง อย่างที่อีสานเอาค่าน้ำมาดูทั้งหมู่บ้าน แล้วก็มาดูทรัพยากรน้ำในหมู่บ้านเพื่อทดแทน สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา เราจับจ่ายใช้สอย


 


ประการแรกตัวเราลองไตร่ตรองว่าเราจะซื้ออะไรสักอย่างนั้นมันสูญเสียพลังงานไปเท่าไหร่ จะทำอย่างไรให้เราจ่ายน้อยลง และนึกถึงความสูญเสียในอนาคตเรื่องสุขภาพและเรื่องสิ่งแวดล้อม ในระดับครอบครัวลองมาทำบัญชี เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องที่ดิน ถ้าวันใดวันหนึ่งอ่าวไทยที่เราใช้ก๊าซธรรมชาติมันหมดไปเราจะทำอย่างไร ดังนั้นพลังงานเป็นยุทธศาสตร์หลักที่จะต้องพัฒนา ต้องปรับแผนการผลิตเพื่อไปสู่การพึ่งพาตัวเอง...


 


สำนักข่าวประชาธรรม/local talk

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net