จัดการน้ำท่วม จัดการให้มี "ผู้เสียสละ" คือคำตอบสุดท้าย

เบญจา ศิลารักษ์

สำนักข่าวประชาธรรม

 

ข่าวกรณีที่ชาวนา ชาวสวนอยุธยาอดรนทนไม่ไหวกับการระบายน้ำของชลประทานเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ  จนต้องทำลายประตูระบายน้ำเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  แม้เป็นข่าวเล็กๆ  ท่ามกลางกระแสข่าวใหญ่การจัดตั้งสมัชชาประชาชนแห่งชาติ  การร่างรัฐธรรมนูญใหม่   แต่ข่าวดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นเล็กน้อยที่เราควรมองข้ามเลย  เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการน้ำท่วมของรัฐบาลไทยที่เป็นปัญหามาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีมานี้  นับตั้งแต่กรุงเทพฯ เริ่มทรุดตัวต่ำลงเรื่อยๆ  และภัยธรรมชาติเริ่มรุนแรงขึ้น

 

ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น อยุธยา  สิงห์บุรี  อ่างทอง  สุพรรณบุรีต้องกลายเป็นผู้เสียสละมานาน  เพื่อทำให้กรุงเทพฯ ปลอดจากภัยน้ำท่วม  ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลส่วนกลางมักจะอ้างเสมอมาว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ  หากปล่อยให้น้ำท่วมก็จะเสียหายหนัก  ดังนั้น  นาข้าว  เรือกสวนไร่นาของชาวนา  ชาวสวนในจังหวัดใกล้เคียงจึงต้องกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำไปอย่างเสียมิได้ 

           

มหกรรมผันน้ำเข้าทุ่ง ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ

 

แผนการผันน้ำเข้าทุ่งของกรมชลประทานนั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา  ทั้งนี้เหตุผลที่กรมชลประทานชี้แจงกับสื่อมวลชนคือเนื่องจากระดับน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ลงเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทมีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ 5,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ดังนั้นจึงเตรียมแผนการผันน้ำเข้าพื้นที่จำนวน 1,380,000 ไร่ใน จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี และบางส่วนของ จ.ปทุมธานีความสูงโดยเฉลี่ย 20 เซนติเมตร (ในความเป็นจริงเกือบ 2 เมตร -ตามข่าว)  เพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำไม่ทำให้ต้นข้าวเสียหาย  และเหตุผลสำคัญที่กรมชลประทานระบุคือเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน จ.นนทบุรี  ปทุมธานี และกรุงเทพฯ  ได้ประมาณ 518,000,000 ลูกบาศก์เมตร  ก่อนที่จะถึงช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 23-25 ตุลาคม 

 

ที่ผ่านมาเกษตรกร  ชาวสวน ชาวไรในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางต้องเผชิญกับปัญหาการระบายน้ำของกรมชลประทานเพื่อป้องกันไม่น้ำไหลทะลักเข้ากรุงเทพฯ   พืชผล  ไร่นา ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างหนัก ที่ จ.อ่างทอง เกษตรกรเจ้าของฟาร์มหมูต้องกู้เงินมาลงทุน 116 ล้านบาท   น้ำท่วมจนหมูลอยตายเป็นแพ  จนถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าเขาจะใช้หนี้ ธกส.หมดเมื่อไหร่ ?

 

ในส่วนของ จ.อยุธยาที่ถือเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนที่น้ำจะไหลบ่าท่วมกรุงเทพฯ  การจัดการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของกรมชลประทานที่นำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงขั้นที่ชาวสวน  ชาวนาอดรนทนไม่ไหวจนต้องทำลายประตูระบายน้ำเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  และเป็นเหตุให้ต้องฟ้องร้องกรมชลประทานนั้น  ก็เนื่องมาจากการชี้แจงของกรมชลประทานไม่ตรงกับความเป็นจริง  เช่นบอกว่าจะระบายน้ำมาแค่ 20 เซนติเมตร  แต่ความเป็นจริงกลับระบายน้ำเข้าทุ่งสูงถึง 2 เมตร   ทำให้ชาวนา  ชาวสวนไม่ได้เตรียมการป้องกันไว้

 

ข่าวจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมารายงานว่า เกษตรกรใน จ.อยุธยาฯ กำลังเตรียมการล่ารายชื่อเพื่อที่จะฟ้องร้องกรมชลประทานอันเนื่องมาจากผันน้ำมามากจนทำให้ไร่นาเสียหาย  นางปรีชาวรรณ กองสงฆ์  เจ้าของสวนหยก  ไม้ประดับชวนชม ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา  เธอเล่าว่า  สวนหยก และชวนชมของเธอถูกน้ำท่วมตายนับแสนต้น  แต่ได้ค่าชดเชยจากทางราชการเพียงไร่ละ 960 บาท  รวมแล้วได้เพียง 2,880 บาท ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมอย่างมาก

 

ปัจจุบันชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยาในนามสมาคมชาวนาไทยเตรียมที่จะยื่นหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอเจรจาเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยนาข้าวที่เสียหายจากน้ำท่วมในราคาไร่ละ 1,700 บาทเป็นอย่างต่ำ เนื่องจากค่าชดเชยที่กรมชลประทานให้เก่ชาวนา ชาวสวนในราคาไร่ละ  960 บาท นั้นไม่คุ้มทุน  เพราะหากมีการประเมินตัวเลขต่ำสุด  ค่าปลูกข้าว หรือพันธุ์ข้าว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าบำรุงดิน บำรุงกล้า และค่ากำจัดวัชพืช  หากเป็นข้าวนาปีจะไม่ต่ำกว่า 1,700 บาท/ไร่  ข้างนาปรังจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีกถึงไร่ละ 2,500

 

ส่วนชาวสวนนั้นนับว่ายิ่งหนักขึ้นไปอีก  เพราะกู้เงินมาลงทุนทำสวนเป็นจำนวนหลายสิบล้าน  น้ำท่วมทำให้สวนเสียหาย  แต่ละรายขาดทุนนับสิบล้าน เช่น กรณีของนายมานิตย์  แย้มประยูร เจ้าของสวนกล้วยไม้แย้มประยูร  บริเวณอ.เสนา จำนวน 120 ไร่  สวนกล้วยไม้จมน้ำเสียหายไปกว่า 120 ล้านบาท  แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดออกมารับผิดชอบ      

 

ถึงวันนี้ยังไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าตัวเลขภาพรวมความเสียหายของเกษตรกรรายย่อย  เจ้าของเรือกสวนไร่นาในภาคกลางต้องสูญเสียไปเป็นจำนวนเท่าไหร่  และการชดเชยจะมีความเป็นธรรมมากน้อยเพียงไร ?  แม้ว่าน้ำจะเริ่มลดระดับลง  แต่ก็มิได้หมายความว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านจะหมดสิ้นไป  การฟื้นฟู  เยียวยาปัญหาของชุมชน ชาวนา ชาวสวนผู้ประสบภัยน้ำท่วมก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ  นอกจากถุงยังชีพ  ส้วม  และอาหารแห้ง 

 

จัดการน้ำท่วม จัดการให้มีผู้เสียสละ

 

ถึงวันนี้อาจกล่าวได้ว่า วิสัยทัศน์การจัดการน้ำของกรมชลประทานยังคงย่ำเท้าอยู่กับที่  นั่นคือ เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและเป็นธรรม   ยังคงเลือกที่จะจัดการน้ำเพื่อเอื้อให้กลุ่มผู้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ  ไม่ว่าจะคนในกรุงเทพฯ หรือภาคส่วนอุตสาหกรรม เป็นต้น   ไม่ว่าจะจัดการน้ำท่วม หรือภัยแล้งก็ไม่ต่างกัน  หากยังจำกันได้เมื่อสองปีที่แล้ว  มีปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอย่างหนักในภาคตะวันออก  เดือดร้อนไปถึงภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ขาดแคลนน้ำด้วย   เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอทำให้บริษัทจัดการน้ำและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรืออีสต์วอเตอร์ไม่สามารถจ่ายน้ำให้ได้   การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลครั้งนั้นก็แก้ไขด้วยการดึงน้ำที่มีน้อยอยู่แล้วไปให้แก่ภาคอุตสาหกรรม  จนกระทั่งผู้ใช้น้ำรายย่อย และเกษตรกรในจ.ระยองต้องเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้   ด้วยเหตุผลว่าต้องสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด   

 

การที่ประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ  ต้องทนรับวิบากกรรมน้ำท่วมแทนคนกรุงเทพฯ  ก็ไม่ต่างกัน   และไม่ต่างจากการอ้างเหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าตอบสนองการใช้พลังงานของประเทศ  คนที่อยู่ในพื้นที่ต้องเสียสละพื้นที่ ต้องย้ายถิ่นฐาน  ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าสำหรับคนส่วนใหญ่  และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ   จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง เช่นกรณีเขื่อนปากมูล  เป็นต้น  

 

หากทิศทางการจัดการน้ำของกรมชลประทานยังเป็นอยู่อย่างนี้  ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ- ประชาชน   ประชาชน-ประชาชน  กลุ่มทุน-ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็จะดำรงอยู่ต่อไป  เพราะเป็นการจัดการน้ำที่ไม่ได้เฉลี่ยทุกข์  เฉลี่ยสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท