Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 2 ธ.ค.2549  สมาพันธ์เบาหวานสากลพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างโรคเบาหวานและการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร โดยระบุว่าประชากรประมาณ 230 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 350 ล้านคนทั่วโลกในปีพ.ศ.2568 และยังได้มีการคาดการณ์ว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนของประชากรที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในปี พ.ศ. 2568 ในประเทศไทย โรคเบาหวานนั้นเป็น 1 ใน 5 โรคที่กระทรวงสาธารณสุขจะใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อการป้องกันโรคในปีพ.ศ. 2550 เพื่อลดจำนวนของผู้ป่วยลง


 


เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทแกล็กโซสมิทไคลน์ (ประเทศไทย) จำกัดได้จัดการสัมมนากลุ่มย่อยขึ้น ในหัวข้อเรื่อง "โรคเบาหวานชนิดที่สอง: การป้องกันและการรักษา" เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานชนิดที่สอง และเนื่องในโอกาสวันเบาหวานโลกประจำปี พ.ศ. 2549 ทุกวันที่14 พฤศจิกายนของทุกปี  


 


โดยในการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์เทพ หิมะทองคำ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย มาร่วมบรรยายถึงโรคเบาหวานชนิดที่สองคืออะไร และข้อมูลภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่สอง อีกทั้งยังได้นายแพทย์เพชร รอดอารีย์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลวชิระ ที่มาร่วมบรรยายถึงการป้องกันและการรักษาโรคเบาหวานอีกด้วย


 


เทพ หิมะทองคำ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อที่อันตรายและควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจากข้อมูลสถิติประชากรโลกในปัจจุบัน พบว่าสาเหตุการตายอันดับหนึ่งมาจากการติดเชื้อของโรคไม่ติดต่อ ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปีและหนึ่งนั้นก็คือ โรคเบาหวาน ยิ่งไปกว่านั้นโรคเบาหวานยังนำมาซึ่งภาวะโรคแทรกซ้อนอันตราย นั่นก็คือ โรคหัวใจหลอดเลือด ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิต โดยมีมากกว่าร้อยละ 80 ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ และยังได้มีการศึกษาถึงจำนวนของผู้ป่วยที่เสียชีวิตเนื่องมาจากโรคหัวใจหลอด พบว่าเป็นจำนวนผู้ป่วยที่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานจำนวนร้อยละ 20 และอีกถึงร้อยละ 31 ที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็น ส่วนจำนวนที่ก็เหลือจัดอยู่ในกลุ่มประเภทมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเช่นกัน"


 


ส่วนใหญ่มักพบโรคนี้ในผู้ป่วยสูงอายุ หรือเป็นเนื่องจากกรรมพันธุ์ ซึ่งทั้งสองสาเหตุ ไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น ความอ้วน ความดันสูง การไม่กินนมแม่ การบริโภคอาหารที่มีไขมันมากเกินไป และการละเลยการออกกำลังกาย เป็นต้น นำไปสู่การดื้อของเชื้ออินซูลิน และหลังจากนั้นจะเกิดความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สองตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดโรคต่างๆ มากกว่าคนปกติถึง 2-3 เท่า


 


นายแพทย์เพชร รอดอารีย์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลวชิระ  กล่าวเสริมว่า "การตรวจรักษาโรคเบาหวาน เริ่มต้นจากการวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การวัดระดับน้ำตาลตอนเช้าซึ่งเป็นเพียงการวัดระดับน้ำตาลในขณะนั้น และอีกแบบคือการวัดระดับเปอร์เซ็นต์ของโมเลกุลฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นการวัดระดับน้ำตาลในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา วิธีหลังนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักละเลยที่จะรักษาความเคร่งครัดในการรักษาระดับน้ำตาล และมักปฏิบัติตนเคร่งครัดเฉพาะตอนที่จะไปพบแพทย์เท่านั้น ดังนั้น การวัดค่าระดับน้ำตาลในแบบหลังจึงสามารถวัดระดับความเคร่งครัดในช่วงเวลา 2-3 เดือน โดยได้กำหนดถึงระดับค่าน้ำตาลในเลือดควรจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 7  อย่างไรก็ตาม สำหรับในทวีปเอเชีย ADA ได้ออกมาประกาศว่า ประชากรในทวีปเอเชียควรมีระดับต่ำกว่าที่ร้อยละ 6.5"


 


การรักษาในปัจจุบัน พบว่าไม่สามารถควบคุมระดับ HbA1c ให้ถึงเป้าหมายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาล่าสุด พบว่าการรักษาด้วยวิธี 5+1 ขั้นตอน เพื่อก้าวสู่จุดมุ่งหมายในการควบคุมโรคเบาหวาน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ การควบคุมระดับน้ำตาล การดูแลปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ควบคุมค่าน้ำตาลสะสม ใช้ยาลดน้ำตาลที่ออกฤทธิ์ต่างกันตั้งแต่ระยะแรกของโรค และ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ เพื่อร่วมดูแลรักษาโรคเบาหวาน เพื่อกระตุ้นให้คนไข้มีความรู้ในการดูแลตัวเอง และ ขั้นตอนสุดท้ายคือ การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ตลอดช่วงเวลาการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตนให้เคร่งครัดต่อขั้นข้างต้นแล้ว การควบคุมระดับของปริมาณ HbA1c จะบรรลุถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า เพียงแค่การลดระดับน้ำตาลแค่ 1% สามารถลดความเสี่ยงการตัดขาได้ถึง 40% ลดโรคไต 30% และลดโรคหัวใจวาย 14-15% ซึ่งการรักษาเป็นไปแบบลุกลาม หรือ Aggressive treatment


 


การป้องกันดูแลตัวเองไม่ให้เกิดโรคเบาหวานนั้น กระทำได้ง่ายกว่าการรักษา เพระไม่ใช่แค่การที่ผู้ป่วยต้องหยุดงานเพื่อพักรักษาตัว แต่ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย โดยการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ สามารถทำได้โดยการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการใช้ยาเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ซึ่งการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว แต่ต้องเพิ่มยาที่รักษาและลดอัตราเสี่ยง ขั้นตอนที่สำคัญคือการให้ความรู้ต่อกลุ่มประชากรที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวาน หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังต้องมีการร่วมมือระหว่างกลุ่มแพทย์สาขาต่างๆ ในการทำงานร่วมกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net