Skip to main content
sharethis

โดย  ปกป้อง พงศาสนองกุล

 

 

หลายคนคงเคยได้มีโอกาสได้เข้าไปอ่านข่าวไอทีผ่านทางเว็บไซต์ชื่อแปลก www.blognone.com "บล็อกนันดอทคอม" หรือที่หลายคนตั้งใจเรียกว่า "บล็อก-นั้น" เว็บไซต์รวบรวมข่าวสารวงการไอทีทุกแขนง และยังเป็นที่รวมของคนในวงการไอทีเกือบทุกกลุ่มของประเทศไทยก็ว่าได้

ตั้งแต่สิงหาคม 2547 ระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ บล็อกนันได้พิสูจน์ตัวเองได้อย่างสวยงามว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่เว็บไซต์รวมข่าวที่คอยไปคัดลอกจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลภาคภาษาไทยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่มีนโยบายทำตัวให้เป็นผู้นำทางด้านข้อมูลข่าวสารโดยมีการนำเสนอข้อมูลที่ทันสมัยสามารถนำไปอ้างอิงได้ ก้าวทันข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลก จากเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ เว็บไซต์ของผู้ผลิต หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ทดสอบการใช้งาน แต่วันนี้บล็อกนัน ทำหน้าที่มากกว่านั้น .......

 

ก้าวที่เริ่มต้น: สำนักข่าวด้านไอที เพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจสื่อ

บล็อกนันดอทคอมเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นจากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 คน อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ และ วสันต์ ลิ่วลมไพศาล โดยมีความตั้งใจจะให้เป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน slashdot.org เมืองไทย (คือเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากคนใช้งานทั่วโลก ที่สมาชิกมีส่วนร่วมในการโพสต์ข่าวเข้าไปรวมไว้ในเว็บไซต์  หลายคนเขียน slashdot.org ว่า /.)

วสันต์ เคยบันทึกสิ่งที่อยากให้บล็อกนัน "เป็น" ไว้ที่ lewcpe.exteen.com ว่า "[ผม]...เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงบล็อกนี้ไว้กับน้องแชมป์ (ผู้ทำ www.exteen.com เว็บไซต์ที่ให้บริการเว็บบล็อกอันดับต้นๆ ของเมืองไทย - ผู้เขียน) หลายๆ อัน อันหนึ่งที่ให้ไว้คือ Group Blogging การที่สมาชิกหลายๆ คนช่วยกันเขียนบล็อกได้

เว็บประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมสูงๆ ก็คงจะเป็น SlashDot ที่มีสมาชิกมาช่วยกันเขียนข่าวเป็นจำนวนมาก เว็บนี้เองเป็นต้นแบบของเว็บที่ผมอยากจะลอก ให้มาอยู่ในรูปแบบภาษาไทย

การรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งอาจจะสร้าง สำนักข่าวขนาดย่อมๆ ได้แล้ว นี่คือจุดที่โลกไอทีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ

"ผมอ่านข่าวไอทีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รู้สึกขัดใจที่ข่าวเหล่านั้นช้า ตื้น ขาดการวิเคราะห์ถึงผลกระทบโดยรวม อีกทั้งยังลอกข่าวตามเว็บต่างๆ มาโดยไม่ระบุที่มา"

"นานมาแล้วที่ข่าวคือหนังสือพิมพ์ และนิตยสารคือบทวิเคราะห์ ผมเชื่อว่ายุคตรงนั้นได้หมดลงแล้ว ......เว็บคือข่าว....... ผมใช้ RSS Reader ในการเช็คข่าวกว่ายี่สิบสำนัก มันถูกเช็คทุกสิบนาที หลังจากที่กูเกิล (www.google.com) ล่มได้เพียงห้านาที ผมได้รับรายงานข่าวจากสำนักข่าว C|Net .....นี่คือข่าว....... สิ่งที่ผมคาดหวังจากหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้นคือบทวิเคราะห์เชิงลึกว่าการล่มครั้งนั้นมีผลต่อกูเกิลอย่างไร ....แต่ก็ไม่มี..... ที่มีเป็นเพียงข่าวที่ถูกแปลมาอย่างลวกๆ พร้อมกับข้อมูลดิบเช่นราคาหุ้นที่ถูกรายงานในเว็บเดียวกัน เมื่อสิบสองชั่วโมงก่อน

ผมเชื่อว่าบล็อกจะเป็นทางออกสำหรับสื่อยุคใหม่ ที่สำคัญคือผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ที่ต้นทุนการดำเนินการมีราคาต่ำกว่าสื่อเหล่านั้นหลายขุม ......มาร่วมกันเปิดสำนักข่าวกับผมไหม......." นี่คือความคิดที่วสันต์ได้เริ่มต้นทำและบันทึกไว้(http://lewcpe.exteen.com/20040814/slash-news)

 

 

Blognone: ก่อร่างสร้างตัวตน ครองตลาดคนเขียนเพื่อเพิ่มคนอ่าน

จากการเริ่มต้นโดยการเขียนข่าวอย่างสม่ำเสมอจาก 2 คนในตอนแรก มีแนวทางในการพัฒนาเว็บไซต์ชัดเจน และด้วยแนวทางนี้ วสันต์ ได้เคยเขียนถึงความที่อยากให้ blognone เป็นศูนย์รวมของคนที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวข่าวสาร หรือบทความผ่านทางเว็บไซต์ให้มารวมตัวกันเขียน โดยรวมกันไว้ที่เว็บเดียวเพื่อเป็นแหล่งรวมของข่าวสารและสมาชิก

"สิ่งสำคัญนอกจากการที่จะมีคนเข้ามาอ่านมากๆ แล้ว คนเขียนก็สำคัญ ขณะที่เราเป็นเพียงเว็บเล็กๆ ที่ครองสัดส่วนตลาดคนอ่านเพียงเท่ามด แต่ผมกลับมองตลาดคนเขียนเป็นหลัก ผมหวังว่า Blognone จะซื้อใจคนเขียนจำนวนมากได้ โดยในมุมหนึ่งแล้วมันอาจจะสำคัญกว่าการที่ผมครองตลาดคนอ่านได้เยอะๆ เสียอีก

เรื่องหนึ่งที่ผมเคยเป็น คือการไปนั่งเขียนเรื่องที่ตัวเองสนใจอยู่เล็กๆ เงียบๆ คนเดียวสมัยที่เขียนอยู่ที่ Blogger สิ่งที่เกิดขึ้นคือพลังงานจำนวนมากที่ทุ่มลงไปมีผู้ได้รับประโยชน์จากมันเพียงหลักสิบ ขณะเดียวกันเมื่อผมหมดแรงเขียน เว็บที่ทำมาแรมเดือนก็จะสูญไปกับตา

เพราะฉะนั้นผมจึงมอง Blognone เป็นเหมือนตลาดนัดที่ทุกคนจะเอาเวลาบางส่วนมาแบ่งปันร่วมกัน ขณะที่คุณอาจจะมีแรงเขียนข่าวเพียงเดือนละข่าว แต่ข่าวนั้นของคุณจะมีคนอ่านนับร้อย โดยไม่ต้องมานั่งทำให้เว็บตัวเองดัง ขณะที่คุณอาจจะหมดอารมณ์เขียน คุณก็เพียงหยุดไป สังคม Blognone จะเดินต่อไปโดยมีคนอีกนับสิบช่วยให้มันขับเคลื่อนต่อไป"

"มันคือแนวคิดของการทำงานเป็นทีม ที่ให้ผลในระยะยาว มันอาจจะไม่ทำให้คุณดังขึ้นมาในช่วงข้ามคืน เพราะคุณจะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของ Blognone มากกว่าที่จะได้รับเครดิตไปเต็มๆ เพียงคนเดียว แต่ที่ Blognone ผมวางรากฐานการให้เครดิตไว้อย่างเต็มที่

ผมไม่หวังให้มีนักเขียนประจำมาร่วมกับผมและไอ้มาร์คเท่าไร การมีคนเขียนประจำเ็ป็นเหมือนของแถมมากกว่าจะเป็นอะไรที่หวัง แนวคิดคือมีคนเขียนสักสามร้อยคนเขียนกันเดือนละข่าว เราก็ได้วันละสิบข่าวแล้ว ขณะที่บางคนอาจจะเขียนสามเดือนข่าว คนหนึ่งอาจจะบ้าพลังเขียนวันละแปดข่าว แต่โดยรวมแล้วทุกคนกำลังขับเคลื่อนให้เว็บมันไปข้างหน้า และสังคมภายนอกได้รับประโยชน์สูงสุดจากแรงงานที่แต่ละคนสละมาให้"

"ผมเสียดายบล็อกดีๆ จำนวนมากที่คนเขียนสามารถเขียนได้น่าสนใจ แต่การเขียนอยู่เงียบๆ คนเดียวพร้อมกับการเลิกเขียนในสองเดือนต่อมา มันสร้างคุณค่าให้กับงานเขียนของเขาน้อยกว่าคุณค่าที่ผมมองเห็นหลายเท่านัก" วสันต์ เขียนเอาไว้ในบล็อกส่วนตัวของเขา (http://www.lewcpe.com/blog/archives/54)

 

เปิดพื้นที่โลกออนไลน์: ย้อนกลับสร้างชุมชมเรียนรู้บนโลกความจริง

การเปิดโอกาสให้ผู้อ่านที่สนใจ และต้องการจะเขียนข่าวสารสามารถเพิ่มข้อมูลในเว็บไซต์ได้ทันที โดยเงื่อนไขที่เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กับสมาชิก

"ตอนแรกที่เริ่ม Blognone ผมตั้งเป้าหมายคร่าวๆ อยากให้มันเป็น Slashdot เมืองไทย ส่วนวิธีการเขียนข่าวก็ขำๆ เพราะเขียนกับลิ่วสองคน มีอะไรก็ msn ด่ากันสดๆ ตอนนี้เวลาผ่านมาปีกว่า Blognone เติบโตขึ้นมาก มีสมาชิกเกินร้อย เพจวิววันละเกินพัน ซึ่งก็ถือว่าใช้ได้ทีเดียวกับเว็บที่ไม่ได้โปรโมทเลย เมื่อคนเยอะขึ้น ความลำบากในการดูแลก็เพิ่มขึ้นไปด้วย"

"ผมกำหนดกรอบสำหรับ Blognone แบ่งเป็นหลายระดับ ดังนี้"

"กฎ (บังคับใช้ มี enforcement), คำแนะนำ (ไม่บังคับ), ทิศทางที่อยากให้เป็นไป (ไอเดีย)"

"ในความคิดของผม ควรจะเขียนอย่างไร ... Blognone == เว็บข่าว อย่ายาว ให้เครดิต เคารพกฎหมาย กล้าปฏิเสธ การถกเถียงเป็นเรื่องดี ไม่เชื่อในความเป็นกลาง" นี่คือ "แนวทาง" ที่หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งคือ อิสริยะบันทึกไว้ (http://www.isriya.com/node/697)

จากลักษณะการจัดการดูแลเว็บไซต์ดังกล่าวทำให้ บล็อกนั้น มีความหลายหลายทางความคิด หลายหลายทางเนื้อหา คือไม่จำกัดเพียงแค่เจ้าของเว็บไซต์ืเท่านั้น

ทำให้ปัจจุบัน "บล็อก-นั้น" มีกลุ่มข้อมูลในเว็บไซต์มากกว่า 70 หัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ ฮาร์ตแวร์ นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงข่าวสารเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจ

โดยโครงการที่บล็อกนั้นกำลังพยายามผลักดันต่อคือ In-Depth เป็นหมวดหมู่ของบทความในลักษณะของการแลกเปลี่ยนเทคนิคเชิงลึก แถมยังมีคอลัมน์สัมภาษณ์คนดังในแวดวงไอทีอยู่เป็นระยะ จากเดิมที่เคยมีเฉพาะข่าวสารวางการไอทีเท่านั้น

ในช่วงเวลาที่ Blognone เป็นที่ครองใจของแฟนๆ ก็ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อทำความรู้จักคุ้นเคยกันในหมู่สมาชิกให้มากยิ่งขึ้นด้วยการจัดงาน Blognone Tech Day ครั้งที่ 1.0 และ 2.0 โดยได้รับการตอบรับด้วยดีทั้งสองครั้ง

 

มากกว่าเว็บข่าวสาร: สู่การรวมกลุ่มคือพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

และที่ผ่านมาบล็อกนันได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเว็บไซต์ชุมชนแห่งนี้มีพลังในการขับเคลื่อนความคิดเห็นของสมาชิก ไปยังผู้ที่สามารถกำหนดทิศทางนโยบายในภาครัฐได้ จนเกิดอาการหนาวๆ ร้อนๆ กันมาแล้ว

จากกรณีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากข่าว "รมว. ICT คนใหม่กับวิสัยทัศน์ต่อโอเพ่นซอร์ส" ที่นำเสนอว่า นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้สัมภาษณ์พิเศษกับนักข่าวชมรมไอทีโดยมีท่าทีไม่สนับสนุนการใช้ซอร์ฟแววร์เสรีหรือโอเพ่นซอร์ฟ ถึงกับมีผู้ชมเปิดอ่านข่าวนี้มากกว่า 4,000 ครั้ง มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่มาของจดหมายเปิดผนึกโดยคุณเทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์ หนึ่งในสมาชิกของบล็อกนัน

ด้วยเวลาเพียงแค่ 6 วัน ข่าว "จดหมายเปิดผนึก ถึง รมว. กระทรวง ICT" มีจำนวนผู้ชมที่เปิดอ่านมากกว่า 17,000 ครั้ง และมีผู้ร่วมลงชื่อมากถึง 800 ชื่อ แสดงให้เห็นถึงพลังของกลุ่มคนที่มีแนวทางร่วมกัน ในจำนวนนี้มีหลายคนที่มีชื่อเสียงในแวดวงไอทีรวมอยู่ด้วย

จากจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว พัฒนาไปสู่การนัดหมายตัวแทนของผู้ใช้งานโอเพ่นซอร์ส เข้าพบ รมว.ไอซีที เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 โดย เพื่อยื่นจดหมายและแนบรายชื่อที่รวบรวมได้จากเว็บไซต์บล็อกนัน และพร้อมกันนี้ได้อธิบายทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณประโยชน์และสิ่งที่อยากนำเสนอให้ รมว.ได้ทราบ โดย รมว.รับเรื่องไว้พิจารณา และเปลี่ยนท่าทีเป็นยินดีสนับสนุนการใช้งานโอเพ่นซอร์สอย่างเด็มที่ต่อไป

หลังจากได้ส่งจดหมายเปิดผนึกให้กับมือ รมว. ICT แล้ว ทาง "ชุมชน" จากblognone ยังมีความคิดร่วมกันในประเด็นการดำเนินไปของโอเพ่นซอร์ส โดยไม่ได้เพียงแค่หวังแต่การสนับสนุนจากทางภาครัฐเพียงอย่างเดียว การให้การสนับสนุนภาคประชาชนก็ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กันไปด้วย

 

การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้โอเพ่นซอร์ส

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทาง blognone และ TLUG (Thai Linux User Group) ได้กำหนดจัดการเสวนา TLUG หัวข้อ "อนาคตโอเพนซอร์สไทย" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในภาคประชาชน ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีนักพัฒนาและผู้ใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์สจำนวนมาก เข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น อุปสรรค และแนวทางในการดำเนินไปของโอเพ่นซอร์สในประเทศไทย

จากการเสวนาดังกล่าวได้เสนอแนวทางออกเป็นหลายภาคส่วน ทั้งผู้ใช้งาน นักพัฒนา ชุมชน และข้อเสนอไปยังภาครัฐที่จะมีผลต่อการกำหนดนโยบาย

ทั้งนี้ อนาคตและสถานการณ์ที่ควรจะเป็นเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สนั้น อัครวุฒิ ตำราเรียง นักพัฒนาโปรแกรมเว็บแอพริเคชั่น (CMS) ตัวแทนจาก Mambohub.com เห็นว่า  นักพัฒนาสามารถอยู่ได้ด้วยการสนับสนุน การให้เครดิตผลงาน ขณะที่ผู้ใช้งาน ต้องมีสำนึกในการให้มากกว่าการรับด้านเดียว รวมทั้งต้องยินดีสนับสนุนผู้พัฒนโปรแกรมในลักษณะนี้ ส่วนผู้ประกอบการ เมื่อได้ประโยชน์จากโอเพ่นซอร์ส ก็ควรจะสนับสนุนกลับไปเช่นกัน สำหรับชุมชนผู้ใช้งาน อุปสรรค์สำคัญคือการไม่สามารถรวมตัวกันได้

และนักพัฒนาโปรแกรมคนอื่นๆ ก็เห็นร่วมในทางเดียวกันว่า ยังต้องสร้างนักพัฒนาหน้าใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้นก็จะมีนักพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย โดยให้นักพัฒนาหน้าใหม่เห็นถึงประโยชน์จากการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส

ด้านปฏิพัทธ์ สุสำเภา ในฐานะผู้ใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์สเห็นว่า ผู้ใช้งานทุกคนน่าจะต้องเคารพสิทธิ์ในการใช้งานโปรแกรมต่าง คือไม่ใช้โปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ ใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์สทดแทนโปรแกรมที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น OOo (OpenOffice.org) แทน MS Office, Gimp แทน Adobe Photoshop, 7-zip แทน WinZip, VLC แทน Windows Media Player หรือ Inkscape แทน Adobe Illustrator ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องควรช่วยกันสร้างภาพลักษณ์การใช้งานโอเพ่นซอร์สให้เป็นแฟชั่น และน่าเข้าไปใช้งานมากกว่าเริ่มต้นด้วยการใช้โปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์

"อยากให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ เริ่มต้นด้วยการเปิดใจที่จะลองใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์ส โดยทดลองใช้จากโปรแกรมเล็กๆ เช่น โปรแกรมสร้างรูปภาพ ชุดโปรแกรมสำนักงาน จนถึงระบบปฏิบัติการที่เป็นโอเพ่นซอร์ส จากนั้นค่อยชักชวนให้ผู้ที่อยุ่รอบข้างได้รู้จักและความสำคัญของโอเพ่นซอร์ส" 

รวมทั้ง สมิทธ์ สาลิฟา ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของบ.วัชรพล หรือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บอกว่า ได้นำใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์สในหลายส่วนเช่น เว็บเซิร์ฟเวอร์ อีเมลเซิร์ฟเวอร์ ในฐานะผู้ใช้งานก็อยากสนับสนุนให้ผู้อื่นได้ใช้งานเหมือนเรา ส่วนอุปสรรค์ของการใช้ซอร์ตแวร์เสรีเหล่านี้คือ คนให้ความรู้สำหรับการแก้ปัญหายังมีอยู่น้อย

นอกจากนี้กานต์ ยืนยง มองเรื่องนี้ด้วยมุมเศรษฐศาสตร์ "ทิศทางของภาครัฐที่ผ่านมามองโอเพ่นซอร์สเป็นเพียงตัวต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ และที่ผ่านมาตลาดซอฟต์แวร์เมืองไทยมีขนาดเพียง 25,000 ล้านบาท แต่มีอัตราส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับไอซ์แลน์และอินเดีย มองได้ว่าตลาดยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก"

ในเวทีวันนั้น มีความเห็นที่หลากหลาย ครอบคลุมถึงการร้องขอให้สร้างชุมชนแบบคู่ขนาน สำหรับนักพัฒนาและผู้ใช้งาน โดยสร้างเป็นชุมชนที่เข้มแข้ง และอาจมีชุมชนย่อยๆ เพื่อคอยช่วยเหลือกันเองภายในกลุ่ม สามารถตอบคำถาม แนะนำการใช้งานได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น

ส่วนภาคเอกชนธุรกิจ บริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการนำโปรแกรมโอเพ่นซอร์สไปใช้ ต้องสนับสนุนกลับไปที่กลุ่มของนักพัฒนาและตัวโครงการของโอเพ่นซอร์สนั้นๆ และภาครัฐเองจะต้องมีนโยบายสนับสนุนการใช้งานโปรแกรมโอเพ่นซอร์นอย่างจริงจัง แม้จะไม่ใช่นโยบายหลักก็ตาม มีการขับเคลื่อนเป็นระยะตามความเหมาะสม ให้การสนับสนุนภาคเอกชน ประชาชน ในการจัดกิจกรรมเผยแพร่การใช้งานโอเพ่นซอร์ส

กรณีศึกษาข้างต้น  blognone ได้สร้างปรากฎการณ์ "ความเป็นสื่อทางเลือก" ที่เริ่มจากนักศึกษาเพียงสองคน และมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้นตามลำดับ โดยการให้สมาชิกเข้ามามีส่วนรวมเป็นเสมือนเจ้าของเว็บไซต์ ด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความคิดเห็น ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายสาธารณะได้

เป็นแนวทางสำหรับอีกหลายๆ ชุมชนที่ต้องการสร้างพลังเครือข่ายผ่านออนไลน์

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:

  • เสวนา TLUG หัวข้อ "อนาคตโอเพนซอร์สไทย" (http://www.blognone.com/node/3390)
  • จดหมายเปิดผนึก ถึง รมว. กระทรวง ICT (http://www.blognone.com/openletter)
  • http://www.openoffice.org
  • http://www.gimp.org
  • http://www.7-zip.org
  • http://www.videolan.org/vlc/
  • http://www.inkscape.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net