Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (7 ธ.ค.2549) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งกระทู้ถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศสงครามปราบยาเสพติด ช่วง 3 เดือนของการดำเนินนโยบายตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์- 30 เมษายน 2546 มีการฆาตกรรมถึง 2,838 ราย เกิดกรณีฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อีกทั้งยังมีการใช้วาทะกรรมพิธีกรรมต่างๆ ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในสังคม 


 


โดยนายประพันธ์ได้นำคำพูดระหว่างการมอบนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณต่อข้าราชการมาเป็นตัวอย่างประกอบการอภิปรายด้วยว่า  "สำหรับคนที่ค้า ท่านต้องใช้ไอออนฟิสต์ หรือกำปั้นเหล็ก ใช้ความเด็ดขาดอย่างชนิดไม่ปราณี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เคยกล่าวไว้ว่า ภายใต้แสงอาทิตย์ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องยาเสพติด ผมมั่นใจว่าตำรวจไทยจัดการได้"


 


เขาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังกล่าวด้วยว่า "การทำงานหนักช่วง 3 เดือน ถ้าจะมีผู้ค้ายาตายไปบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ บางทีถูกยิงตายแล้ว ต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย ผมคิดว่าเราต้องเหี้ยมพอกัน เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญอันตรายต่อความมั่นคงของชาติที่เราต้องทำสงครามสู้รบให้แตกหัก และเป็นเรื่องจำเป็นที่มีการบาดเจ็บบ้าง ที่อยู่ของขบวนการค้ายาเสพติดจึงมีอยู่ 2 ที่ คือถ้าไม่ไปคุก ก็ไปวัด"


 


นอกจากนี้ อดีตนายกฯยังทำพิธีประกาศสงครามขั้นแตกหัก ที่ลานพระราชวังดุสิต จัดพิธีเผาหุ่นสาปแช่งคนค้ายาเสพติด โดยประกาศตัวเป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามนี้ด้วย 


 


"ในทางกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เป็นหนึ่งใน ฐานความผิดที่สามารถนำขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศได้ เพราะมีการจัดทำแผนมีผู้นำมีการปฏิบัติต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง มีองค์กรรับผิดชอบ รัฐบาลจะสามารถนำอาชญากรดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ(ไอซีซี) ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกแล้ว เหลือการให้สัตยาบัน รัฐมนตรีจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้สภารับรองให้สัตยาบันหรือไม่" นายประพันธ์ กล่าว 


 


สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ยอมรับว่านโยบายดังกล่าวทำให้ประชาชนถูกฆ่าจำนวนมาก จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคนถูกฆ่าถึง 2,596 คน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่เกี่ยวกับยาเสพติดถึง 1,432 คน และที่น่าเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มี 1,164 คน 


 


"ผลการดำเนินนโยบายปราบยาเสพติดที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ใช้วิธีรุนแรง เน้นปริมาณไม่มีการตรวจสอบ ทำให้มีช่องว่าง และมีการขึ้นบัญชีดำไม่ถูกต้อง ผมทราบปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด และได้ขอคำพูดหรือคำอภิปรายของอดีตนายกฯ จากสำนักงานปราบปรามยาเสพติดฯว่า มีคำกล่าวใดที่พอจะนำมาเป็นหลักฐานดำเนินคดีได้หรือไม่ ซึ่งได้รวบรวมมาหลายฉบับแล้ว" นายชาญชัยกล่าว


 


เขาระบุด้วยว่า ขณะนี้มีประชาชนเข้าร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรมพบ 4 รายที่มีหลักฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตัดตอน ตนจะนำคดีเหล่านี้เข้าคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานที่จะมีการประชุมวันที่ 14 ธันวาคม เพื่อรับคดีเหล่านี้เข้าสู่การสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนแนวทางดำเนินคดีนั้นประชาชนที่ได้รับความเสียหายมาร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรมได้ โดยจะมีกรมคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพคุ้มครองพยาน ถ้ามีข้อสงสัยว่าตำรวจเป็นผู้ต้องหา ยังสามารถร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้อีกด้วย 


 


รมว.ยุติธรรมยังกล่าวถึงข้อเสนอให้สภารับรองการลงสัตยาบัน เพื่อให้สามารถดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ(ไอซีซี)ได้ว่า ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าเราให้สัตยาบันแล้วประชาชนในประเทศไทยทุกคนอาจถูกดำเนินคดีในศาลเหล่านี้ได้ ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเคยหารือในเรื่องดังกล่าวแล้ว และให้กระทรวงต่างประเทศดูแล ตนคงตอบไม่ได้


 


 


 


ที่มา: http://www.naewna.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net