"สถาบัน" ที่ออกแบบเองไม่ได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตติกานต์ อุดกันทา

 

2-3 วันที่ผ่านมา ข่าวคราวจากแดนไกล ว่าด้วยการ "ตั้งใจ" จะให้ลูกไม่มีพ่อของผู้หญิงคนหนึ่งลอยเข้ามากระทบประสาทการรับรู้

 

ในจังหวะเดียวกันนั้น เมืองไทยยังอยู่ในห้วงแห่งความปีติยินดีของการเฉลิมฉลองวันพ่ออยู่เลย...

 

ทั้ง 2 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ทำให้การมองบทบาท หน้าที่ และบริบทของคำว่า "พ่อ" ถูกนำมาตีความในสมองตัวเองอีกครั้งตามประสาคนอยู่ไม่สุข...

 

000

 

ภาพจาก www.usnew.com

 

"แมรี เชนีย์" ลูกสาวคนกลางของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ "ดิ๊ก เชนีย์" เพิ่งตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อเธอรับอาสาจะตั้งครรภ์ให้กับคู่รักที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งเราอาจจะให้คำจำกัดความรสนิยมทางเพศของเธอด้วยคำว่า "เลสเบียน" ก็คงได้

 

ฟังดูน่าจะเป็นเรื่องดีที่แมรีได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่การกระทำของแมรีกลับถูกโจมตีว่าเป็นเรื่องที่ "สิ้นคิด" จากกลุ่ม Concern for Women อันเป็นองค์กรหนึ่งซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกา โดยทางกลุ่มเห็นว่ามันคงเป็นเรื่องแย่มากที่เด็กคนหนึ่งต้องเกิดมาแล้วไม่มีพ่อไปตลอดชีวิต และแมรีก็ไม่ยอมเปิดเผยด้วยว่าผู้ชายที่ให้สเปิร์มแก่เธอคือใคร ซึ่งหมายความว่าผู้ชายคนนั้นอาจเสี่ยงต่อการไม่มีสิทธิ์ในการดูแลรับผิดชอบลูกตัวเองไปตลอดชีวิต

 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ต้องนับรวมไปถึงเสียงคัดค้านจากพรรครีพับลิกันที่รอง ปธน.ดิ๊ก เชนีย์ ผู้เป็นพ่อของแมรีได้สังกัดอยู่ด้วย

 

พวกอนุรักษ์นิยมทั้งเก่าและใหม่ในรีพับลิกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับรสนิยมของแมรีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ นโยบายต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกันจึงถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในแวดวงการเมือง และการตัดสินใจของแมรีก็ถูกลากมาเป็นตัวอย่างในการชำแหละข้อดี-ข้อเสียของการเป็นคนรักเพศเดียวกัน (ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดถึงข้อเสียมากกว่า)

 

การที่แมรีจะทำให้ลูกของตัวเอง "ไม่มีพ่อ" คือประเด็นใหญ่ที่พวกอนุรักษ์นิยมยกมาโจมตี เพราะเห็นว่าการที่ครอบครัวหนึ่งมีแต่ "แม่+แม่" หรือ "ผู้หญิง+ผู้หญิง" เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ และจะทำให้เด็กที่เกิดมาขาดแบบอย่างในการเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของพ่อ (หรือเพศชาย) ซึ่งหลายฝ่ายวิตกไปล่วงหน้ากันแล้วว่าลูกของแมรีที่เกิดมาจะต้องมีรสนิยมทางเพศเหมือนกับเธอแน่ๆ

 

000

 

ป่วยการที่จะมาเถียงกันในประเด็นว่า "หญิงรักหญิง" หรือ "ชายรักชาย" เป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ เพราะคงหาข้อสรุปที่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจไม่ได้แน่ๆ

 

แต่นัยยะสำคัญของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่คำถามว่าเพราะเหตุใดแมรีจึงไม่มีสิทธิ์ออกแบบสถาบันครอบครัวของตัวเอง และบทบาทหน้าที่ของ "พ่อ" มีความจำเป็นแค่ไหน?

 

ในสังคมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย การเกิดขึ้นของ "ซิงเกิลมัม" หรือ "ซิงเกิลแดด" กลายเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไป พอๆ กับที่เด็กคนหนึ่งอาจจะโตมากับปู่ย่าตายายโดยไม่เคยเจอหน้าพ่อแม่ตัวเองเลย

 

ขณะเดียวกัน เด็กอีกเป็นจำนวนมากที่มีครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งพ่อและแม่ แต่พวกเขาก็อาจจะซึมซับบทบาทหน้าที่ตามเพศสภาพของ "ผู้ชายและผู้หญิงที่เป็นต้นแบบ" มาอย่างผิดพลาดก็ได้ และอาจจะมีเหตุผลต่างๆ นานาที่เป็นปัจจัยภายนอกมากระทบให้พวกเขาเติบโตมาเป็นคนอีกประเภทหนึ่งซึ่งต่างจากพ่อและแม่โดยสิ้นเชิงก็ได้อีกเช่นกัน

 

000

 

บทสรุปชะตากรรมของแมรียังไม่จบลงง่ายๆ เหมือนกับที่การตั้งคำถามกับสถาบันที่หยั่งรากลึกในสังคม (เช่น สถาบันครอบครัว) ไม่เคยมีการถกเถียงกันอย่างจริงจังเสียที

 

จำเป็นหรือไม่ที่ครอบครัวหนึ่งจะต้องมี "พ่อ" เป็นองค์ประกอบตลอดเวลา เพราะก็เห็นๆ กันอยู่ว่าครอบครัวที่มีพ่อก็ไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะเป็นครอบครัวที่ดี ซึ่งคำถามนี้ก็ต้องรวมถึงการทักท้วงถึงการมีอยู่ของ "แม่" ในสถาบันครอบครัวเช่นกัน

 

สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนแมรีในเรื่องนี้ ทิ้งคำถามที่แสบๆ คันๆ ให้คิดต่อด้วยว่า การที่แมรีเลือกให้ลูกของตัวเองเกิดมาโดย "ไม่มีพ่อ" อาจเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของพ่อ รวมถึงทำให้เด็กมีปมด้อยเพราะแปลกแยกจากคนส่วนใหญ่

 

แต่ในทางกลับกัน เด็กคนไหนบ้างมีสิทธิ์เลือกผู้ให้กำเนิดด้วยตัวเอง?

 

ในเมื่อไม่เคยมีเด็กสักคนเลือกได้ว่าจะมีพ่อแม่แบบไหน เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้ว พวกเขาก็น่าจะมีสิทธิ์เลือกได้ว่าตัวเองจะเป็นพ่อแม่หรือสถาบันครอบครัวแบบไหนให้กับลูกของตัวเองในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท