Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ธ.ค. 49 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่าง วธ. กรมประชาสัมพันธ์ และภาคสังคม ได้แก่ นักวิชาการ เครือข่ายครอบครัว เด็กและเยาวชน ที่ วธ.ว่า ขณะนี้การจัดเรตติ้งและคุณภาพสื่อให้เกิดขึ้นในสังคมได้มีการผนึกกำลังในการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยในระยะ 3 เดือนนี้จะเป็นการทดลองใช้เรตติ้งที่กรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ กำหนดไว้ตามสัญลักษณ์ตัวอักษร


 



อาทิ ด. (เด็ก) ท. (ทั่ว ไป) ฉ. (เฉพาะ) น (แนะนำ) โดยเครือข่ายนักวิชาการ เยาวชน ครอบครัว และภาคประชาสังคมจะทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบความเหมาะสมของเรตติ้งที่จัดไว้ หากพบว่ารายการใดมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมก็จะแสดงความคิดเห็นผ่านระบบ SMS โทรศัพท์มือถือ 4863333 และทางอินเตอร์เน็ต www.me.or.th มาให้ วธ.



 


"หลังจากนั้นจะมีการประมวลผลสรุปข้อเสนอด้านมาตรการในการจัดเรตติ้งสื่อ อาทิ การขอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.) มีมติให้การให้คะแนนโหวตและความคิดเห็นของประชาชน เผยแพร่บนจอโทรทัศน์ในช่วงเวลาที่นำเสนอรายการต่างๆของทุกช่องสถานี และ การขอให้มีการอนุมัติทุนสนับสนุนรายการดี มีสาระที่ประชาชนให้คะแนนโหวตมากที่สุด เป็นต้น โดยจะเสนอคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม เพื่อเสนอข้อความเห็นชอบจากที่ประชุมครม. ต่อไป" นายวีระ กล่าว



 


นางรัตนากร ทองสำราญ ผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์ เพียงแต่ทดลองการจัดเรตติ้งเท่านั้น จึงพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรายการต่างๆ ว่า ในแต่ละรายการมีการใช้สัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาหรือไม่ มีความรุนแรง ไม่เหมาะสมเด็กและเยาวชน และจะต้องจัดสรรเวลาออกอากาศที่เหมาะสมหรือไม่



 


นอกจากนี้กรมประชาสัมพันธ์มอบให้ทางสถานนีโทรทัศน์เป็นผู้กำกับดูแลรายการต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งถ้าประชาชนร้องเรียนหรือทางสถานีทำผิดกฎหมายอาทิ การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ ขัดต่อศีลธรรมอันดี ทางกรมประชาสัมพันธ์จะทำการตักเตือนให้ปรับปรุงเนื้อหาดังกล่าวให้เหมาะสม หากไม่ทำตามก็จะระงับออกอากาศรายการนั้นๆ ทันที



 


รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการทางสมองของเด็ก กล่าวว่า สัญลักษณ์ ก. ที่กำหนดว่า เป็นรายการที่กำหนดไว้สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-6 ปีนั้น ตามข้อมูลทางกุมารแพทย์ระบุว่า การให้เด็กรับชมโทรทัศน์ส่งผลกระทบต่อระบบการคิดที่มีเหตุผลของเด็กจะขาดหายไป เด็กมีสมาธิสั้นและพัฒนาการทางสมองลดลง จะเห็นได้จากระดับไอคิวต่ำลงมาก และปัจจุบันวัดระดับไอคิวเด็กไทยเฉลี่ยเพียงระดับ 88 เท่านั้น



 


ดังนั้น จึงขอให้ผู้ผลิตรายการและผู้ที่จัดผังรายการควรเรียนรู้ทฤษฏี 6+1 ให้เข้าใจและควรมีการนำเสนอสอดแทรกเนื้อหาตามทฤษฎีนี้ด้วย เมื่อตัวเลขออกมาอย่างนี้ทุกปี นักวิชาการก็มีความเป็นห่วงไอคิวเด็กไทย และรู้สึกสลลดจนไม่อยากวัดไอคิวเด็กไทยอีกแล้ว เพราะวัดเมื่อไหร่ก็มีระดับไอคิวที่ต่ำ



 


"พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าเมื่อลูกดูโทรทัศน์ในบ้านจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด แต่ทั้งที่จริงแล้ว การปล่อยให้เด็กก่อน 3 ขวบดูโทรทัศน์เป็นอันตรายอย่างยิ่ง สื่อโทรทัศน์เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับเด็กวัยนี้ มีแต่ความรุนแรง และไม่มีการควบคุมสื่อ ขณะนี้เด็กไทยมีพฤติกรรมโอ้อวดทางวัตถุ มีปัญหาทางจิตใจ มีนิสัยการมองโลกที่ผิดไปจากธรรมชาติของเด็กก่อนวัยเรียน สืบเนื่องจากเด็กการนำเสนอเนื้อหารายการต่างๆ ในโทรทัศน์ดูแล้วเกิดความสับสนระหว่างเนื้อหาในโทรทัศน์กับการดำเนินชีวิตจริงตามสภาพแวดล้อมของเด็ก ที่สำคัญเราไม่สามารถปลูกฝังพื้นฐานชีวิตที่ดีและคุณธรรมจริยธรรม ให้กับเด็กไทยได้ หากยังประสบภาวะเช่นนี้" รศ.ดร.สายฤดี กล่าว



 


ด้านนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ตัวแทนมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ในหมู่ของผู้ปกครองมีการพูดคุยเรื่องการนำเสนอเนื้อหารายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน บางรายการมีเนื้อหาไม่เหมาะสำหรับให้เด็กๆดู จนถึงขนาดมีการหารือร่วมกันว่าจะนัดกันปิดโทรทัศน์ในช่วงที่มีรายการไม่เหมาะสมกับเด็กออกอากาศ สัปดาห์ละ 1 วัน หรือ 1 ช่วง เพื่อชักจูงเด็กไปทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และป้องกันไม่ให้เด็กเรียนรู้สิ่งผิดๆ แม้ใครคิดว่าการปิดโทรทัศน์เป็นการปิดกั้นจินตนาการและการเรียนรู้ของเด็กก็ยอม เพราะหากเด็กจะมีจิตนาการที่ไม่เหมาะสมและเกินวัยของเขา ซึ่งเป็นไปตามการเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อโทรทัศน์ ไม่ให้ลูกๆ ได้เรียนรู้จุดนี้จะดีกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net