บทความ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : ฉันทามติ "จารีตนิยม" ของปัญญาชนเดือนตุลา

 

 

เราได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า ปัญญาชนชั้นกลางที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งรัฐประหาร 19 กันยายนนั้น มีทั้งพวกขวาจัดที่มีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้วก็ร่วมส่วนแบ่งอำนาจอย่างเปิดเผย และก็มีพวกตีสองหน้าซึ่งอ้างว่า "ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร" แต่แอบสมยอมกับรัฐประหาร ยอมรับการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 สนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้อำนาจรัฐประหาร

 

คำถามคือ "ปัญญาชนเดือนตุลา" อยู่ตรงไหน?

 

ปัญญาชนเดือนตุลาหมายถึงกลุ่มปัญญาชนที่มีส่วนร่วมและได้รับผลสะเทือนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเริ่มต้นด้วยความคิดทางการเมืองที่หลากหลาย เป็นแนวร่วมปัญญาชนที่มีทั้งกลุ่มฝ่ายขวานิยมเจ้า พวกเสรีนิยม ไปจนถึงฝ่ายซ้ายสังคมนิยม เพื่อขับไล่เผด็จการทหารในเวลานั้น แต่ในที่สุด กลุ่มฝ่ายซ้ายก็เข้ากุมการนำขบวนการนักศึกษาไว้ได้ กระทั่งเกิดการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ปัจจุบัน ปัญญาชนรุ่นนั้นมีกระจายอยู่ทุกวงการ ทั้งครู อาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง สื่อมวลชน แต่จากจุดเริ่มต้นความคิดที่หลากหลายเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในวันนี้ พวกเขาได้บรรลุถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในทางอุดมการณ์การเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนบางคนเรียกว่า เป็น "ยุคแห่งฉันทามติ" ของปัญญาชนไทย

 

การเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ฉันทามติ" ทำให้ดูคล้ายว่า มีประเด็นหรือจุดร่วมบางอย่างที่ปัญญาชนกลุ่มต่างๆ ได้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าหากัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ ปัญญาชนฝ่ายขวานิยมเจ้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างมีนัยสำคัญ หากแต่ปัญญาชนเสรีนิยมและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาชนฝ่ายซ้ายต่างหากที่ได้เคลื่อนย้ายจุดยืนของตนไปทางขวา นับแต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จนถึงวันนี้ พวกเขามีอุดมการณ์และผลประโยชน์เหมือนกับปัญญาชนฝ่ายขวาอย่างแนบแน่น ซึ่งก็คือ อุดมการณ์จารีตนิยมและอำนาจนิยม

 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิเคราะห์ไว้อย่างแหลมคมในบทความเรื่อง "ชัยชนะของปัญญาชน 14 ตุลา" โดยเรียกฉันทามติดังกล่าวว่า เป็น "จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย" ของปัญญาชนไทยปัจจุบัน ซึ่งสรุปได้เป็นสามประเด็นใหญ่

 

ประเด็นแรกซึ่งสำคัญที่สุดคือ "การคืนดีกับสถาบันกษัตริย์" ซึ่งมีทั้งทำอย่างเปิดเผยและอย่างอ้อมๆ ผลพลอยได้จากประเด็นนี้คือ "การคืนดีกับทหาร" โดยมองว่า ทั้งสถาบันกษัตริย์และทหารไม่ใช่ "ประเด็นหลัก" ของสังคมการเมืองไทยอีกต่อไป

 

ประเด็นที่สองคือ การปฏิเสธการเมืองแบบเลือกตั้ง ข้อนี้ ปัญญาชนฝ่ายซ้ายปฏิเสธมานานแล้วในทางทฤษฎีการเมือง แต่ความแตกต่างในปัจจุบันคือ เป็นการปฏิเสธที่มีนัยเชิง "ดีชั่ว" เข้าไปด้วยว่า การเลือกตั้งและนักการเมืองนั้น "เลว สกปรก อัปรีย์"

 

ประเด็นที่สามคือการหันมาเน้นหรือเชิดชู "ชาวบ้านนิยม" "ท้องถิ่น ชุมชน" "เศรษฐกิจพอเพียง" กระทั่งลัทธิชาตินิยม เน้น "ความเป็นไทย" "แบบไทยๆ"

 

สรุปคือ "จิตสำนึกปัญญาชน" ดังกล่าวประกอบด้วย กษัตริย์นิยม อำนาจนิยม และชาตินิยม ซึ่งด้านตรงข้ามของเหรียญเดียวกันก็คือ เป็นอนุรักษ์นิยม ปฏิเสธประชาธิปไตย และคลั่งชาติ คลั่งความเป็นไทย

 

แต่คำถามคือ ปัญญาชนกลุ่มใหญ่นี้ได้เคลื่อนตัวไปทางขวาสุดได้อย่างไร? และสามประเด็นดังกล่าวเกี่ยวโยงกันทางตรรกะและอุดมการณ์อย่างไร?

 

คำตอบคือ ทั้งสามประเด็นมีจุดกำเนิดทางตรรกะและอุดมการณ์หนึ่งเดียวคือ "ปฏิเสธทุนนิยมและต่อต้านโลกาภิวัฒน์" ซึ่งเป็นนำไปสู่ประเด็นที่สอง (ปฏิเสธการเมืองแบบเลือกตั้ง) และประเด็นที่สาม (ชาตินิยม ชาวบ้านนิยม) แต่ทั้งสองประเด็นนี้ต้องอาศัยประเด็นแรก (กษัตริย์นิยม) เพื่อให้เป็นพลังทางการเมืองที่เป็นจริง

 

ในเมื่อพวกเขาปฏิเสธทุนนิยมและต่อต้านโลกาภิวัฒน์ พวกเขาจึงต่อต้านชนชั้นนายทุนที่สนับสนุนและใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ ซึ่งก็คือกลุ่มทุนใหม่ พวกเขาปฏิเสธประชาธิปไตยและการเมืองแบบเลือกตั้งเพราะเป็นระบบการเมืองที่เอื้อให้กลุ่มทุนใหม่ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและฐานเสียงสนับสนุนจากชนชั้นล่างในเมืองและชนบท เข้ามาสู่อำนาจแล้วดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไทยไปตามแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัฒน์

 

ในเมื่อพวกเขาปฏิเสธทุนนิยมและต่อต้านโลกาภิวัฒน์ รวมถึงความคิดเสรีนิยมที่มากับโลกาภิวัฒน์ พวกเขาก็ต้องเสนอทางเลือกอื่น ซึ่งก็คือ ในทางอุดมการณ์ ชูธงลัทธิชาตินิยม ความเป็นไทย ภูมิปัญญาไทย ในทางเศรษฐกิจก็เสนอแนวทางเศรษฐกิจชุมชน-พอเพียงเป็นทางออกที่ไม่เอาทุนนิยม ไม่เอาโลกาภิวัฒน์

 

แต่ทั้งพลังทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์ กระแสความคิดเสรีนิยม และกลุ่มทุนใหม่นั้นทรงพลังใหญ่หลวงนัก ปัญญาชนพวกนี้จึงหันไปสนับสนุนพลังในสังคมไทยที่เป็นอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมที่มีอุดมการณ์เหมือนกับพวกตนคือ ปฏิเสธทุนนิยม ไม่เอาโลกาภิวัฒน์ คัดค้านประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง และเป็นศัตรูกับกลุ่มทุนใหม่ ซึ่งพลังอนุรักษ์นิยม-อำนาจนิยมที่พวกเขาเข้าไปเกาะอาศัยก็คือ กลุ่มจารีตนิยม-ราชการ นัยหนึ่ง พวกเขาไปสนับสนุนอำนาจนิยมของกลุ่มจารีตนิยม-ราชการเพื่อต่อต้านกลุ่มทุนใหม่และทุนโลกาภิวัฒน์ โดยใช้ "ชาวบ้าน" "ชุมชน" "ประชาชน" เป็นข้ออ้าง

 

ปัญญาชนเดือนตุลาจึงเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวประท้วงขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยมาตั้งแต่ต้น บางคนเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีรัฐประหาร และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้ว พวกเขาบางส่วนที่กลายเป็นขวาจัดก็เข้าไปทำงานรับใช้อำนาจรัฐประหารในองค์กรการเมืองต่างๆ ขณะที่อีกบางส่วนยังคงแก้เกี้ยวว่า "ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร" แต่กลับสนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และ "ปฏิรูปการเมือง" ภายใต้อำนาจรัฐประหารต่อไป


ส่วนพวกที่เป็นนักวิชาการหรืออดีตนักวิชาการก็กำลังขะมักเขม้นเสนอแนวคิดทฤษฎีใหม่ขึ้นมาผัดหน้าทาแป้ง สร้างความชอบธรรมให้กับการฟื้นระบอบจารีต-อำนาจนิยมด้วยการตั้งชื่อให้ว่า
"ประชาธิปไตยแบบไทย" "ประชาธิปไตยภูมิปัญญาไทย" "ประชาธิปไตยสามส่วน (สมดุลระหว่างสถาบันประเพณี-อภิชนคนเมือง-ประชาชนชั้นล่าง)" "ประชาธิปไตยจากเนื้อดินไทย" เป็นต้น ซึ่งเป็นระบอบการเมืองที่อาจมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง มีรัฐสภา พรรคการเมือง และรัฐบาลพลเรือน แต่มีเนื้อในที่อำนาจรัฐถูกกุมไว้อย่างเด็ดขาดเหนียวแน่นโดยกลุ่มจารีตนิยม-ราชการ-ทุนเก่า ใช้อำนาจบงการรัฐบาล ระบบราชการ และระบบการเมืองอย่างทั่วถึง ดำเนินนโยบายผูกขาดทั้งเศรษฐกิจการเมืองภายในกลุ่มจารีตนิยม-ราชการ-กลุ่มทุนเก่าตลอดไป

 

นอกจากจะสวามิภักดิ์ต่อจารีตนิยมและอำนาจนิยมแล้ว ปัญญาชนเดือนตุลากลุ่มนี้ยังโบกธงชาตินิยมกันอย่างคึกคัก ลักษณะเด่นของบางคนในกลุ่มนี้คือ เกลียดชัง "ต่างชาติ" โดยเฉพาะต่างชาติตะวันตก ทั้งค่านิยม ความเชื่อ กระแสความคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรม และระบอบการเมือง คนพวกนี้อุปโลกน์ตนเองขึ้นเป็นนักต่อสู้ผู้พิทักษ์ "ความเป็นไทย" "ภูมิปัญญาไทย" "ชุมชนชนบท ชาวบ้านไทย"

 

พวกที่เป็นนักวิชาการก็ผูกขาดความเป็นผู้รู้ใน "วัฒนธรรมไทย" "ประวัติศาสตร์ไทย" "ภูมิปัญญาไทย" ยิ่งบางคนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา กระทั่งเศรษฐศาสตร์ ยิ่งโอ้อวดตนมาก ดูถูกดูแคลนคนอื่นว่า ไม่รู้ไม่เข้าใจความเป็นไทยเท่ากับพวกตน มิเพียงเกลียดชังนักวิชาการต่างชาติที่บังอาจมาวิเคราะห์สังคมการเมืองไทยเท่านั้น แม้แต่นักวิชาการไทยด้วยกันที่เห็นแตกต่างก็ยังถูกด่าทอว่า "ตามก้นฝรั่ง" "หมกมุ่นในทฤษฎีตะวันตก" "ไม่เข้าใจคนไทยและวัฒนธรรม" "ประชาธิปไตยฝรั่ง" "ประชาธิปไตยเฟ้อ" คนพวกนี้ ทั้งที่เป็นนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนจึงเอาแต่โอ้อวดว่า พวกตนเท่านั้นที่เข้าถึง "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" เข้าใจ "ชาวบ้าน" รู้จัก "ชุมชนไทย" ลึกซึ้งยิ่งกว่าใครทั้งหมด บางคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวถึงกับอ้างตัวเป็น "ตัวแทนภาคประชาชน" เป็น "ปากเสียงต่อสู้เพื่อชาวบ้านและชุมชน"

 

แต่ถ้าเราพิจารณาดูทัศนะของคนพวกนี้เมื่อพูดถึง "ชาวบ้าน" แล้วจะพบว่า เขาเหล่านี้ก็เป็นเพียงพวกหอคอยงาช้างที่ไม่ได้เข้าใจ "ชาวบ้าน" อะไรเลย แท้จริง มีทัศนะที่เหยียดหยามชาวบ้าน โดยเห็นได้จากท่าทีของพวกเขาที่คัดค้านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและภาคธุรกิจที่เข้าไปถึงชาวบ้าน เช่น คัดค้านการแปลงเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้เป็นโฉนดเต็มรูปเพราะ "ชาวบ้านจะขายที่ดินให้นายทุน แล้วใช้จ่ายเงินที่ได้จนหมดตัว" คัดค้านระบบที่เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรภายใต้สัญญากับบริษัทเอกชนว่า "เป็นสัญญาทาสที่ทุนผูกมัดขูดรีดเกษตรกร" และยิ่งเห็นชัดในกรณีนโยบาย "ประชานิยม" ของรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งคนพวกนี้ตั้งหน้าด่าทอมาเป็นแรมปีว่า "ประชานิยมเทียม" "กระตุ้นทุนนิยม-บริโภคนิยมในหมู่ชาวบ้าน" ภาพที่คนพวกนี้วาดไว้คือ ชาวบ้านได้รับเงินจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล แล้วก็ใช้เงินนั้นไปบริโภคฟุ่มเฟือยกันอย่างหน้ามืดตะกรุมตะกราม จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว "ติดกับดักเสพย์ติดประชานิยม" ที่หวังพึ่งรัฐบาลตลอดไป

 

นี่เป็นทัศนะที่ดูถูกชาวบ้านอย่างยิ่งว่า "คิดสั้น คิดไม่เป็น" ไม่มองอนาคต ไม่รู้จักใช้ที่ดินและเงินที่ได้มาไปวางแผน ลงทุนการผลิต ประกอบอาชีพ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนและครอบครัวให้ดีขึ้น เหล่านี้เป็นทัศนะเหยียดหยามชาวบ้านที่มีอยู่ทั่วไปในหมู่นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่อ้างตัวเสมอมาว่า "เข้าใจชาวบ้านและเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น" แต่แท้จริงแล้วเป็นทัศนะที่ไม่แตกต่างไปจากพวกชนชั้นปกครองที่ดูถูกดูแคลนชาวบ้านว่า "คิดไม่เป็น โง่เง่า ไร้การศึกษา ไม่รู้จักผลประโยชน์ตนเอง ต้องให้คนอื่นที่มีการศึกษาและสถานะสังคมสูงกว่ามาตัดสินใจแทน" เอาเข้าจริง นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนพวกนี้ก็มอง "ชุมชนและชาวบ้าน" ด้วยการ "สวมแว่นตาสีน้ำเงิน" เช่นเดียวกับพวกจารีตนิยม และนี่ก็คือพื้นฐานตรรกะที่พวกเขาใช้ปฏิเสธการเลือกตั้ง โดยอ้างว่า เสียงข้างมากนั้น "ขาดความชอบธรรม" เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่โง่และถูกซื้อเสียงด้วยประชานิยม

 

คนพวกนี้ยังชูคำขวัญ "เป็นอิสระจากรัฐและทุน" ซึ่งก็คือ ให้ชุมชนชาวบ้านพึ่งตัวเองในระบบเศรษฐกิจชุมชน-พอเพียงที่เกี่ยวพันกับระบบตลาด ระบบทุน และระบบรัฐราชการน้อยที่สุด แต่ความจริงแล้ว คำขวัญนี้มีลักษณะหลอกลวงอย่างที่สุด ด้วยชุมชนที่ว่านั้นไม่อาจอยู่ได้ในสุญญากาศ เพราะการเมืองที่ไม่เอาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งกับเศรษฐกิจที่ไม่เอาทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์นั้นจะอยู่ได้ก็ต้องพึ่งพาระบอบจารีตนิยม-ราชการที่เป็นอำนาจนิยมและถอยหลังเข้าคลองเป็นเกราะคุ้มกันเท่านั้น

 

เนื้อแท้ทางการเมืองของคนพวกนี้ที่เป็นนักวิชาการยังแสดงออกผ่านงานเขียนของพวกเขาซึ่งเต็มไปด้วยการด่าทอนักการเมือง ปฏิเสธและดูถูกการตัดสินใจของคนส่วนข้างมากในการเลือกตั้ง แต่กลับสุภาพอ่อนน้อม หมอบคลานและพินอบพิเทาต่อพวกจารีตนิยม-ราชการ คอลัมน์หนังสือพิมพ์และบทความทางวิชาการบางชิ้นของคนพวกนี้อ้าง "พระราชดำรัส" ไปจนถึงข้อคิด ปาฐกถา สุนทรพจน์ของปัญญาชนอนุรักษ์นิยมเพื่อมาสนับสนุนแนวคิดและข้อถกเถียงของตน ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากหนังสือและบทความที่ผลิตเผยแพร่โดยหน่วยราชการ

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่า ปัญญาชนเดือนตุลาถึงวันนี้ได้เดินทางมาไกลขนาดไหน! คนพวกนี้จะเรียกตัวเองว่าเป็นอะไรก็ได้ แต่ที่แน่นอนคือ พวกเขาไม่ใช่ "นักประชาธิปไตย"

 

เมื่อเราได้ชำแหละธาตุแท้ของพวกขวาจัด ฉีกหน้ากากของพวกตีสองหน้า เปิดโปงความล้มละลายทางอุดมการณ์ของ "ปัญญาชนเดือนตุลา" ไปแล้ว คำถามต่อไปคือ จากนี้ ใครเล่าที่จะต่อสู้และนำมาซึ่ง "ระบอบประชาธิปไตยมหาชน" ที่ปฏิเสธอำนาจจารีตนิยม-ราชการ?

 

 


...............................................................................

อ่านบทความก่อนย้อนหลัง

 

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : มายาคติ "ประชาธิปไตย" ของปัญญาชนชั้นกลางไทย

 

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : มายาคติของ "ปัญญาชนตีสองหน้า"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท