กระทรวงต่างประเทศซุ่มส่ง เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เข้า ครม. ไม่สนประชาพิจารณ์

ประชาไท - 17 ธ.ค.49 แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ในวันอังคารนี้ (19 ธ.ค.) คณะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีนายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะเจรจา จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยจะให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างความตกลงฉบับภาษาไทย จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมการลงนาม และอนุมัติส่งร่างความตกลงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดส่งเอกสารความตกลงภาษาอังกฤษมีความหนา 900 หน้า และร่างความตกลงฉบับภาษาไทยในรูปแบบซีดีให้รัฐมนตรีต่างๆ ไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งที่ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ กระทรวงการต่างประเทศจะร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชาพิจารณ์ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดสถานที่จัด

 

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาส่งเรื่องนี้เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะหลังการปฏิรูปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำหนังสือถึงสภาที่ปรึกษาฯ ให้ช่วยให้ความเห็นกรณีการทำเอฟทีเอ และการแปรรูปซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในประเทศอย่างยิ่ง

 

โดยสภาที่ปรึกษาฯ ได้ทำความเห็นว่า ให้ยุติการเจรจาและลงนาม  พร้อมเสนอให้ทบทวนการเจรจาทั้งหมด จนกว่าจะมีกฎหมายประกอบการเจรจาระหว่างประเทศ และการพิจารณาทุกเอฟทีเอต้องผ่านรัฐสภา เนื่องจากเป็นเรื่องผูกพันประชาชนทั้งประเทศโดยมีการกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนเอฟทีเอที่ลงนามไปแล้วต้องทบทวนและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น ล่าสุด ทางสภาที่ปรึกษาฯ ได้ทำหนังสือถึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ขอร่างความตกลงฯ ไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

 

"อยากบอกนายกฯ ว่า เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก เรื่องนี้เป็นเหตุผลของการยึดอำนาจ สร้างความขัดแย้งในสังคมมาก ถึงกับส่งหนังสือมาปรึกษาสภาที่ปรึกษาฯ แล้ว อยู่ๆ รัฐบาลนี้จะผลักดันให้เดินหน้าต่อ ประชาชนคงรับไม่ได้"

 

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศส่ง เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เข้า ครม.อย่างเร่งด่วนตัดหน้าการประชาพิจารณ์ ถือว่า การประชาพิจารณาครั้งนี้ไม่มีความจริงใจโดยสิ้นเชิง

 

"กระทรวงการต่างประเทศอ้างว่า การแก้ไขความตกลงฯ ทำไม่ได้เลย ยกเว้นเป็นการแก้ไขของคณะรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นถ้ามีการนำเข้าคณะรัฐมนตรีก่อนการประชาพิจารณ์ เราขอเสนอให้ยกเลิกการประชาพิจารณ์ เพราะประชาพิจารณ์ไปก็เหมือนสักแต่ว่าทำ ทำแค่พอเป็นพิธีให้ครบๆ ตัดหนทางที่ประชาชนจะตรวจสอบ ทั้งนี้ เราเห็นใจนักวิชาการที่ช่วยทำประชาพิจารณ์ให้ และกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ก็ได้ตัดสินใจร่วมเวทีประชาพิจารณ์ครั้งแรกของกระทรวงการต่างประเทศ แต่กระทรวงต่างประเทศกลับดักหน้าเอาเข้า ครม. ปิดหนทางแก้ไขข้อเสียหายในความตกลงฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การยอมรับการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต, การรับขยะสารพิษจากญี่ปุ่น และผลกระทบต่อการบริการทางการแพทย์ ดังนั้น เราหวังว่า คณะรัฐมนตรีจะมีหูมีตากว้างไกลพอที่จะปฏิเสธการนำความตกลงฯมาเข้าพิธีกรรมการอนุมัติครั้งนี้"

 

 

ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องการคอรัปชั่นทางนโยบาย หรือกล่าวได้ว่า ร่างความตกลงฉบับนี้เป็นมรดกจากรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลปัจจุบันจะเดินหน้าผลักดันการลงนามต่อไปตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นผู้รับผิดชอบการเจรจาจะกลายเป็นว่า รัฐบาลชุดนี้ไปสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่รัฐบาลทักษิณสร้างปัญหาเอาไว้

 

"สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ควรทำ คือ ต้องตรวจสอบรายละเอียดร่างความตกลงอย่างถี่ถ้วน ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้อ่านได้ศึกษาร่างความตกลงฯ ครม.ไม่ควรผ่านเรื่องนี้ไปอย่างรวบรัด มิเช่นนั้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ย้อนกลับมาทำลายรัฐบาลนี้เสียเอง ทำลายจุดยืนของรัฐบาลและคณะปฏิรูปฯ ที่ต้องการเข้ามาสะสางปัญหาของรัฐบาลทักษิณ ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจมีส่วนเติมพลังให้กลุ่มอำนาจเก่า เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแฝงอยู่ในความตกลงฯ"

 

ทั้งนี้ กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์เคยนำเสนอข้อมูลในเนื้อหา เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นว่า เปิดโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย โดยช่วงการเจรจานั้น โรงพยาบาลเอกชนที่มีความเกี่ยวโยงกับรัฐบาลเก่าเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาและการโรดโชว์ทุกครั้ง และขณะนี้ทำให้เกิดภาวะสมองไหลอาจารย์แพทย์ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆไปยังโรงพยาบาลเอกชน, มีการลดภาษีขยะสารพิษจากญี่ปุ่นเกือบทุกประเภท เหลือ 0% รวมถึงขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และทำลายสุขภาพประชาชนอย่างยิ่ง, นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหน่วยราชการไทยผ่านอนุญาโตตุลาการ ในบทคุ้มครองการลงทุน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท