Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย ซาเสียวเอี้ย


 


เมื่อครั้งที่หนังเรื่อง Jarhead ของผู้กำกับ Sam Mendes เจ้าของผลงาน American Beauty และ Road to Perdition เข้าฉายในบ้านเราเมื่อปีก่อน ไม่ได้เป็นหนังที่สร้างกระแสหรือทำเงินสักเท่าไหร่ แต่พอถูกจับมาทำเป็นหนังแผ่นให้เช่าตามร้านทั่วไป หนังว่าด้วยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 กลับกลายเป็นหนังยอดฮิตที่ถูกเช่าไปดูติดอันดับต้นๆ


 


ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะกระแสสีเขียวในบ้านเรามาแรงเป็นพิเศษในปีนี้หรือเปล่า ถึงทำให้เรื่องราวของเหล่า "ทหารหาญ" ของฮอลลีวู้ดพลอยขายดิบขายดีไปด้วย แต่ถ้าใครคาดหวังจะเห็นฉากสู้รบในสงครามกลางทะเลทรายก็คงต้องผิดหวัง เพราะหนังเรื่องนี้ไพล่ไปพูดถึงการฝึกหนักของเหล่าทหารใหม่ ที่วันๆ ได้แต่ฝึกซุ่มยิง เตรียมตัวหนีแก๊สพิษ ดื่มน้ำ รีดน้ำออกจากตัว พอนอกเวลาฝึกก็พนันกัดแมงป่องแข่งกัน หรือไม่ก็ดูรูปแฟนสาวไปพร้อมๆ กับการช่วยตัวเอง


 


...แต่ไม่มีใครได้ปฏิบัติภารกิจเด็ดชีพข้าศึกจริงๆ เลยสักคน...


 


  


 


"แอนโธนี สวอฟฟอร์ด" ที่รับบทโดย Jake Gyllenhal ถูกโจมตีในเวบไซต์ของอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ อยู่บ้าง ด้วยข้อหาที่เกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่การรับบทบาทในหนังเรื่อง Brokeback Mountain ซึ่งเสนอภาพของชายรักชายให้เห็นกันจะจะ ข้อความที่อยู่ในเวบบอร์ด blackfive.com บางส่วนจึงจิกกัดว่าเจค จิลเลนฮาลนั้นออกจะแหยและขี้บ่นราวกับผู้หญิง ไม่เหมาะกับบทนาวิกโยธินที่แสนจะเข้มแข็งกล้าหาญ ซึ่งนัยยะแห่งการเหยียดเพศอย่างอ่อนๆ ประเภทนี้ (แบบที่คนพูดก็ไม่ทันรู้ตัว) ทำให้ภาพสะท้อนของค่านิยมในกองทัพยิ่งชัดเจนมากขึ้น


 


คำศัพท์สแลง "จาร์เฮด" ที่พูดถึงทหารใหม่ จึงน่าจะหมายถึงคำว่า "ไอ้เณร" ในบ้านเรา แต่อาจต่างกันบ้างตรงที่คำว่า Jar มีนัยยะแห่งความกลวงตามติดมาด้วย เพราะภาชนะกลมมนอย่างโอ่งหรือไห (ที่มีลักษณะคล้ายหัวเกรียนของทหารใหม่) ไม่มีอะไรอยู่ข้างใน-จนกว่าจะมีใครเติมวัตถุลงไปในนั้น


 


ความนัยของการเป็นจาร์เฮดในกองทัพอเมริกัน จึงไม่ได้หมายถึงไอ้หัวเกรียนเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการเป็นเด็กใหม่ในกองทัพที่ไม่รู้อะไรเลย และ "รุ่นใหญ่" ที่เข้าไปก่อนหน้าก็มีหน้าที่อัดความรู้ในกองทัพให้อย่างเต็มที่


 


ท่ามกลางสมรภูมิรบ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทหารต้องมีระเบียบวินัย มีหัวใจที่กล้าหาญ มีร่างกายที่แข็งแกร่ง มีความพร้อมรบอยู่เสมอ ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดน่าจะคือการร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ของเพื่อนร่วมกองทัพ ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยการแบ่งลำดับขั้นด้วยยศและระบบอาวุโส


 


การฝึกหนักและการรับน้องที่แสนจะโหดหิน ทำให้บรรดาทหารใหม่ หรือ Jarhead คิดวนเวียนซ้ำซากว่าการตัดสินใจเข้าร่วมกองทัพมันผิดหรือถูกกันแน่ แต่การฝึกซ้อมที่หนักหน่วงจากครูฝึกบ้าพลังไม่ได้เปิดโอกาสให้ทหารใหม่เหล่านี้ทันคิด ตั้งตัว หรือรับมือกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้


 


ใครที่ไม่ผ่านการฝึกอบรม จึงไม่แคล้วโดนข้อหา "ใจตุ๊ด" หรือ "ไอ้ลูกแหง่" เพราะภาพลักษณ์ที่ต้องรักษายิ่งชีพของเหล่านาวิกโยธินก็คือความเข้มแข็งห้าวหาญในฐานะหน่วยสู้รบแนวหน้ากล้าตาย


 


เมื่อสวอฟฟอร์ด หรือ "สวอฟ" ฝึกสำเร็จ เขาก็ถูกส่งไปประจำการที่อิรัก และเหตุการณ์ในปี 1990 ที่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกก็ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของเขา


 



 


ความจริงในสงครามอ่าวจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ "แอนโธนี สวอฟฟอร์ด" มีตัวตนอยู่จริง และเขาคือพลแม่นปืนที่ประจำการในสงครามอ่าวครั้งที่ 1 ที่กลับมาเขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง


 


เรื่องราวหลายๆ ประการที่เกิดขึ้นในหนังสือชื่อเดียวกับหนัง พูดถึงความเบาหวิวและไร้สาระของกองทัพที่เหมือนจะมีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ พูดถึงการสร้างความชอบธรรม ประชาธิปไตย การช่วยเหลือมนุษยชาติ แต่ดูเหมือนว่าทหารที่ปฏิบัติภารกิจเหล่านั้นไม่เคยได้รับในสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังว่าต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มันมาเลยแม้แต่นิดเดียว


 


อาวุธและเครื่องป้องกันที่กองทัพส่งให้ทหารแนวหน้าใช้ ถ้าไม่ชำรุดเสียหาย ก็ขาดแคลนไม่พอดีคน ดังที่เห็นได้จากฉากการซ้อมรบที่ทหารหนุ่มวัยกำลังห้าวประชดประชันครูฝึกต่อหน้านักข่าวสาวที่มาสัมภาษณ์ หรือแม้กระทั่งการใช้อำนาจและยศที่เหนือกว่าสั่งให้ทหารใหม่เซ็นสัญญาว่าจะไม่ติดใจเอาความหรือให้ครอบครัวเรียกร้องใดๆ จากรัฐบาล หลังจากที่มีการสั่งให้พวกเขาลองกินยาแก้พิษที่ยังไม่ผ่านการทดลองที่ไหนทั้งสิ้น


 


บรรยากาศที่รุนแรงเหล่านี้ปรากฏอยู่ในการฝึกตลอดเวลา ท่ามกลางเสียงปืนและระเบิด ทำให้เราเห็นได้ว่า "ทหารกล้า" ต้องอยู่กับสภาพที่ย่ำแย่และไม่มีหลักประกันใดๆ ให้ยึดเหนี่ยว เพียงเพื่อจะให้ได้มาซึ่งเกียรติยศลมๆ แล้งๆ จากสมรภูมิรบ...


 


ทหารที่ถูกจับมาอยู่ในหน่วยเดียวกันกับสวอฟ มีทั้งทหารละตินอเมริกันอย่าง "คอร์เตซ" (Jacob Vargaz) และ "เอสโคบาร์" (Laz Alonzo) ที่อาสามารบเพื่อประเทศชาติ เพราะหวังว่าการเข้าร่วมกองทัพจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ มีทหารลูกไล่ที่เก็บตัวและไม่ค่อยเข้าพวกกับใครอย่าง "เฟอร์กัส"


(Brian Geraghty) หรือ "ฟาวเลอร์" (Evan Jones) ทหารบ้าบิ่นที่กระเหี้ยนกระหือรือจะออกรบเพื่อทดสอบความกล้าของตัวเอง


 


รวมถึง "ทรอย" (Peter Sarsgaard) ทหารช่างคิดที่มีอดีตต้องปกปิด และ "ครูเกอร์" (Lucas Black) ทหารเพียงคนเดียวที่กล้าตั้งคำถามเอ่ยความสงสัยของตัวเองออกมาดังๆ ว่าสงครามอ่าวเกิดขึ้นเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อปกป้องประเทศที่อ่อนแออย่างคูเวต? หรือว่าปกป้องแหล่งน้ำมันที่จะส่งไปยังบริษัทค้าน้ำมันของประธานาธิบดีในขณะนั้น ซึ่งก็คือจอร์จ บุช ซีเนียร์...


 


ส่วนคนที่กุมบังเหียนควบคุมหน่วยที่สวอฟประจำการก็คือ "ซีคส์" (Jamie Foxx) นาวิกโยธินเดนตายที่รักการเป็นทหารยิ่งชีพ และเป็นคนที่ไม่เคยบ่นถึงความเลวร้ายของสงครามเลย


 


ซีคส์เป็นคนเดียวที่ไม่ตั้งคำถามกับสภาพความเป็นอยู่อันขาดแคลนหรือภาวะกดดันที่ต้องเผชิญหน้าในสมรภูมิรบ เพราะเขาสามารถหาความพึงพอใจจากการใช้ชีวิตวนเวียนในสนามรบได้อย่างลงตัว เหมือนอย่างที่ซีคส์ชี้ชวนให้สวอฟมองไปยังไฟสีส้มลุกโชนท่ามกลางทะเลทราย ในขณะที่ฝนสีดำอันเกิดจากการกลั่นตัวของน้ำมันดิบที่ถูกเผาไหม้...คือความงามประหลาดตาที่เป็นรางวัลให้ชีวิตและเป็นหมุดหมายแห่งประสบการณ์ล้ำค่าของซีคส์


 


แต่ใช่ว่านาวิกโยธินทุกคนจะมองเห็นความงามและยอมรับสภาพในกองทัพได้อย่างซีคส์ ความเสื่อมของกองทัพในอิรักที่สวอฟพูดถึง จึงมีตั้งแต่ข้อหาเบาๆ เช่น การด่าประจานภรรยาและแฟนสาวของทหารในหน่วยที่นอกใจไปมีคนอื่น ดูออกจะไม่แมน แต่ก็พอเข้าใจได้ว่านั่นคือการเยียวยาความเจ็บปวดในรูปแบบหนึ่งของคนที่สูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่เป็นที่รักไป (หรือเปล่า?)


 


ส่วนเรื่องหนักๆ ที่สวอฟฟอร์ดถูกโจมตีว่าเป็นการนำเรื่องวงในของกองทัพมาขยายอย่างไร้สำนึกก็คือการพูดถึงชีวิตประจำวันอันไร้สาระที่ว่ามาแล้วตอนแรกๆ ซึ่งก็ได้แก่การฝึกซุ่มยิง เตรียมตัวหนีแก๊สพิษ ดื่มน้ำ รีดน้ำออกจากตัว พนันกัดแมงป่องแข่งกัน และการดูรูปแฟนสาวไปพร้อมๆ กับการช่วยตัวเอง


 


...แต่ไม่มีใครได้ปฏิบัติภารกิจเด็ดชีพข้าศึกจริงๆ เลยสักคน...


 



 


การที่สวอฟฟอร์ดมีตัวตนอยู่จริง ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขียนขึ้นในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาจะต้องเป็นความจริงทุกประการ (เพราะต้องดูด้วยว่าเป็นความจริงจากมุมมองของใคร) แต่สิ่งที่ได้รับการยืนยันก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าทหารอเมริกันที่ไปรบในสงครามอ่าว (หรือสงครามอิรัก) มากกว่าครึ่ง ไม่ได้สู้รบกับใครทั้งนั้น แต่เป็นการฝึกเพื่อเตรียมตัวป้องกันพลเรือนและฐานที่มั่นของตัวเอง...


 


สิ่งที่หนังบอกเราโดยไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ คือการตั้งคำถาม (แบบไม่ต้องการคำตอบ) ถึงความคุ้มค่าในการก่อสงครามแต่ละครั้ง


 


ไม่ว่ามันจะคุ้มค่ากันหรือไม่ แต่ชีวิตของทหารที่ผ่านเข้าไปในสงครามที่ขับกล่อมจิตใจด้วยเสียงปืนและความคิดว่าคนที่คิดต่างจากพวกเราคือศัตรู ย่อมไม่มีวันจะเหมือนเดิมได้อีก... เพราะสงครามได้เปลี่ยนสายตาในการมองโลกของพวกเขาไปเสียแล้ว


 


ชีวิตหนึ่งของทหารที่เฉียดผ่านไปใกล้ความตายและการเข่นฆ่า ทำให้ความหมายและคุณค่าของการมองชีวิต "อื่นๆ" ที่แตกต่างจากพวกเขา "มีปัญหา" บ้างหรือไม่ และเมื่อถูกฝึก-ถูกกรอกหูอยู่ทุกวันว่าจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด จนถึงขั้นต้องรักษามันด้วยชีวิต แนวคิดนี้จะทำให้ความสามารถในการแยกแยะเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวเองของทหารเหล่านี้ลดลงไปหรือเปล่า?


 


จากหนังสือและถูกนำมาเขียนบทใหม่เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง ไม่มีใครรู้ว่าส่วนที่เป็นจินตนาการของ Jarhead ทำหน้าที่ของมันในสัดส่วนประมาณไหน แต่หนังที่สร้างจากหนังสือของสวอฟฟอร์ดก็ทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าภายใต้หัวเกรียนๆ ของทหารไม่ได้ว่างเปล่า แต่ข้างในนั้นยังมีจิตใจ มีความรู้สึก และความนึกคิดอยู่ด้วย...


 


000


 


ประโยคเริ่มต้นและปิดท้ายของหนังเรื่องนี้บอกเราว่า "ต่อให้พลแม่นปืนใช้มือของเขาทำอะไร ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ สร้างบ้าน หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก แต่มือของเขาก็ยังจำปืนไรเฟิลคู่กายได้เสมอ"


 


ถึงที่สุดแล้ว ชีวิตของสวอฟฟอร์ดไม่เคยหลุดพ้นจากอดีตที่เคยไปร่วมในสงครามเลย ทั้งเขาและเพื่อนร่วมสงครามยังคงติดอยู่ในทะเลทราย รวมกับคำถามถึงความมีคุณค่าของชีวิต และช่วงเวลาก่อนที่จะเหนี่ยวไกปืนไรเฟิลอันแสนจะกดดันนั่นด้วย


 


แต่ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะดูเหมือนว่าจะมีทหารอีกมากมายที่หนีไปไม่พ้นจากอดีตของตัวเอง บางคนอาจยึดติดกับขั้วอำนาจ หรือบางคนอาจยึดติดกับพวกพ้องที่ต้องรักษา แต่น่าเสียดายที่เราพิสูจน์ไม่ได้ว่า "ความจริง" และ "อุดมการณ์" ประเภทไหนที่ซ่อนอยู่ใน Jarhead เหล่านั้น


 


....................................................................................................................................


 


หมายเหตุ: Jarhead เป็นหนังที่ออกฉายในปี 2548 กำกับโดย แซม เมนเดส สามารถหามาดูได้ตามร้านเช่าวีซีดีทั่วไป


 


คำเตือน: อาจเป็นหนังที่ไม่เหมาะกับการชมเพื่อความบันเทิงภายในที่พักอาศัยในช่วงวันหยุด แต่ถ้าจะดูเพื่อการคิดต่อ หนังเรื่องนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net