Visible Man 2006#11 : ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า

เมื่อ "กฎหมาย" มากับการ "ตีความ" จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปีที่ผ่านมา เราจะมองเห็น "สุรพล นิติไกรพจน์" เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และล่าสุด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ที่ออกมาให้เหตุผลอธิบายตัวบทกฎหมายสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารได้อย่างชนิด "แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า"

 

 

 

โดย จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์

 

 

 

 

ในช่วงเวลาที่สังคมสับสนวุ่นวาย นักวิชาการนับว่าเป็นผู้ช่วยชี้ทาง ตั้งคำถาม ให้คำตอบ อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ กับประชาชนผู้มึนงงได้ (ในระดับหนึ่ง) ยิ่งในปีแห่งความชุลมุนทางการเมืองเช่นปีที่ผ่าน ปีที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียง ไม่ว่าเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาขององค์กรอิสระ ตลอดจนการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ยิ่งส่งผลให้นักวิชาการ โดยเฉพาะด้านกฎหมายมหาชนกลายเป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้น

 

และเมื่อ "กฎหมาย" มากับการ "ตีความ" จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปีที่ผ่านมา เราจะมองเห็น "ศ.สุรพล นิติไกรพจน์" เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และล่าสุด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ที่ออกมาให้เหตุผลอธิบายตัวบทกฎหมายสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารได้อย่างชนิด "แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า"

 

0 0 0

 

 

ภาพจากนิตยสารสารคดี

 

 

 

ก่อนที่สุรพลจะกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ "ขาประจำ" ของรัฐบาลทักษิณนั้น นิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ที่หนึ่งของรุ่น ผู้นี้ผ่านมาแล้วทั้งงานด้านวิชาการและงานบริหาร โดยถือเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนคนแรกของมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยหลายสิบชิ้น ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขานิติศาสตร์จากสภาวิจัยแห่งชาติ ที่ว่ากันว่าเป็นรางวัลสูงสุดของนักวิจัย นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกฉีกไปแล้ว มีส่วนในการก่อตั้งศาลปกครอง และเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. ด้วย

 

สำหรับบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น สุรพลเล่าเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร "สารคดี" ว่า ได้ทำมาตลอด โดยหลังจากจบปริญญาเอกจากฝรั่งเศสและกลับมาเมืองไทยแล้ว เกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 พอดี โดยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์แสดงความเห็นว่า กรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกตั้งขึ้นมาในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง ขัดกับหลักนิติธรรม

 

ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤติตุลาการ ในรัฐบาลอานันท์ 1 ที่รัฐบาลไม่แต่งตั้งศาลฎีกา เขาและอาจารย์นิติศาสตร์หลายคนก็ออกมาคัดค้าน เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงในแวดวงตุลาการ ตลอดจนออกมาให้ความเห็นกรณี ส.ป.ก.4-01 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย

 

และเคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการออกมาแสดงความเห็นทางวิชาการว่า "เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมรู้สึกว่า หลักการสำคัญทางกฎหมายถูกกระทบกระเทือน รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แนวคิดเรื่องนิติรัฐถูกกระทบ หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเลย ผมก็จะพูด" รวมทั้งคำพูดเท่ๆ จน "สารคดี" นำไปตั้งเป็นชื่อบทสัมภาษณ์อย่าง "เมื่อคุณไม่เคารพกฎหมายเสียแล้ว คนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเคารพอำนาจของคุณ"

 

ส่วนปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อสังคมต้องการคำอธิบายเรื่องความจำเป็นของมาตรา 7 สุรพลได้แสดงความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลา เพราะทุกอย่างก็ได้เดินอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนั้นอากาศจะยังไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย แต่สามวันจากอธิการบดีก็เป็นอื่น สุรพลเปลี่ยนจุดยืนกะทันหัน โดยออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกและให้ขอพระราชทานนายกฯ คนกลาง ขณะที่นักวิชาการบางคนที่อยู่ร่วมคณะเดียวกันออกมาคัดค้านการใช้มาตรานี้

 

ทำเอาคนไม่ค่อยประสากับภาษากฎหมาย งงเป็นไก่ตาแตก เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อการตีความของใครดี ขณะที่เสียงของสุรพลหนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเรียกร้องมาตรา 7 อยู่กลายๆ คาราวานคนจนก็ตบเท้าเข้าธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขู่โกนหัวประท้วงต่อ "ข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจากปากของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

 

และเมื่อรัฐประหารผ่านพ้น สุรพลได้รับเลือกจากคณะรัฐประหารให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนหนึ่งออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างตำแหน่งอธิการบดีกับ สนช.

 

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์คนนี้ก็ได้ให้เหตุผลผ่านเว็บไซต์ของ มธ. ว่า "ผมตั้งคำถามเพื่อให้เห็นประเด็นในสภามหาวิทยาลัยว่า การไม่ยอมรับคณะรัฐประหารจะรวมไปถึงการปฎิเสธ สภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารด้วยหรือไม่

 

"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะปฏิเสธการรัฐประหาร โดยการไม่ของบประมาณประจำปี 2550 ไปยังรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร และจะไม่เสนอร่างกฎหมายออกนอกระบบที่ยังค้างอยู่ไปให้สภานิติบัญญัติที่มาจากคณะรัฐประหารด้วยใช่ไหม หรือเราจะปฏิเสธรัฐมนตรีศึกษาหรือนายกฯที่มาจากการรัฐประหารและ ไม่ทำตามที่เขาสั่ง ไม่ของบประมาณ ไม่ขออัตรากำลัง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วยทั้งหมดเลยได้หรือ ถ้าเราไม่ปฎิเสธรัฐบาล ถามว่าเราจะปฏิเสธสภาไหม ออกกฎหมายอะไร ออกมาเราจะไม่ปฏิบัติใช่ไหม"

 

ชวนให้แปลกใจอย่างยิ่งว่า แล้วมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รวมของ "ขาประจำ" แห่งนี้อยู่มาได้อย่างไรในรัฐบาลที่ผ่านมา

 

มากกว่านั้น สุรพล ยกคำคมของโกวเล้ง "ถ้าหากเราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก" เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจของตัวเอง โดยยอมเปลืองตัวเข้าทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหวังแก้ไขให้อะไรๆ ดีขึ้น

 

"สำหรับประเด็นที่ว่า เข้าไปแล้วจะทำอะไรได้ไหม และจะได้อะไรคุ้มกับการเอาตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปเกี่ยวข้องด้วยไหม ผมขอเรียนว่า ผมเชื่อโดยสุจริตหรือจะพูดให้เท่หน่อยก็ขอบอกว่า ผมเชื่อในมโนสำนึกของผมว่า ทั้งในฐานะนักกฎหมายมหาชน และทั้งในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีน้ำหนักและศักยภาพที่จะผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย ไปให้ไปในทิศทางที่ผมยึดถือและเชื่อมั่นได้ ผมเป็นพวกชอบอ่านนิยายกำลังภายในและเชื่อที่ โก้วเล้งเขียนไว้ในหลายเรื่องว่า "ถ้าหากเราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก"

 

ต่อประเด็น "อมาตยาธิปไตยที่อาจกลับมา สุรพลให้ความเห็นผ่านเว็บไซต์ไทยโพสต์ว่า "จะเรียกว่าคณะทหารหรือข้าราชการประจำ หรือจะเรียกว่าพวกอมาตยาธิปไตยก็ตาม แต่บทบาทของคนเหล่านี้ที่ถูกขับออกจากเวทีการเมืองไปในช่วง 5 ปีหลังมานี้จะกลับมาอีก … ผมคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องกลับมา ผมคิดว่าคนเหล่านี้คือคนที่เป็นหลักของสังคม จะมากจะน้อยก็มีคนดี เป็นคนที่ห่วงใยประเทศชาติ"

 

ดังนั้น จากบทบาทตลอดปี คงไม่มากไปหากจะบอกว่า เราเห็นสุรพลในฐานะหนึ่งในนักวิชาการที่ต้องรับผิดชอบกับการบิดเบือนกฎหมายเพื่อรองรับความชอบธรรมของข้อเรียกร้องมาตรา 7 ตลอดจนรองรับความชอบธรรมของการก่อรัฐประหาร โดยยอมกระโจน "ลงนรก" ด้วยตัวเอง

 

เนื่องจากคำพูดของเขามีผลต่อสังคมไทยพอสมควร เพราะไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความเห็นในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย แต่ยังเพราะตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของสุรพลด้วย

 

ในฐานะนักวิชาการ สุรพลก่อให้เกิดคำถามไปยังนักวิชาการอีกหลายคนว่า ควรยึดหลักการของตัวไว้หรือไม่ เพื่อยืนยันหลักการและแสดงความกล้าหาญทางวิชาการ และหากการยืนยันหลักการครั้งนั้นจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยถูกตัดงบจริง ก็น่าลองดูสักตั้ง

 

และในฐานะนักวิชาการ การใช้อารมณ์ความรู้สึกเรื่องความดี-เลว เพื่อสร้างความกระจ่าง หรือชี้นำสังคมนั้นเป็นไปได้แค่ไหน

 

และกับ "ความเป็นธรรมศาสตร์" สุรพลทำให้สังคมตั้งคำถามกับจุดยืนต่อการรัฐประหารของมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้กับเผด็จการมายาวนานแห่งนี้ไปด้วย เพราะสุรพลไม่ใช่แค่สุรพล

 

 

......................

อ้างอิง

นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 240 ปีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548

 

อ่านข่าวย้อนหลัง

 

เว็บไซต์ไทยโพสต์

'ผมมีความหวัง' สุรพล นิติไกรพจน์

 

เว็บไซต์ประชาไท

อ่าน จม.เปิดผนึก: เหตุผลที่สุรพล "ควร" พิจารณาตัวเองในฐานะอธิการบดี มธ.

จาก อ.ดร. ถึง ศ.ดร. กรณีตำแหน่ง สนช.: "ถ้าคุณไม่ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี สำหรับผม ไม่มีปัญหาอันใด"

สุรพล นิติไกรพจน์ ตอบด้วยมโนธรรมสำนึก "ถ้าหากเราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก"  

อธิการบดี มธ. ไม่ขอตอบกรณี "ศิษย์มธ.ขอล้างครู"บอกยังไม่มีใครมายื่นหนังสือ

ศิษย์ มธ. ขอล้างครู ล่ารายชื่อเรียกร้อง ศ. สุรพล นิติไกรพจน์เลือกเอาจะเป็น สนช. หรือ อธิการบดี

คัดสรรอย่างดีสภานิติบัญญัติฯ "สุรพล" ปฏิเสธนั่งประธาน

บุก มธ. โกนหัวบีบ "สุรพล" เปลี่ยนท่าที ระบุทรยศจิตวิญญาณธรรมศาสตร์

อธิการบดี มธ. เรียกร้องรักษาการนายกฯ ลาออก พร้อมขอรักษาการนายกฯ พระราชทาน

อธิการบดี มธ. เบรคใช้มาตรา 7 - อ.จุฬาฯแนะ "แม้ว" เว้นวรรค

 

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

 

คือการมองย้อนหลังในระยะเวลา 1 ปี

และค้นหาคนที่เรา "ประชาไท" เห็นเด่นชัดที่สุด

 

Visibleman ของเรา ไม่ใช่ข้อสรุปจากผลการศึกษา มิใช่ผลงานทางวิชาการ หรือการวิจัยใดๆ

แต่เราปรารถนาให้ผู้อ่านเห็นถึงนัยที่เราเลือก

กระบวนการเลือก กระบวนการการทำงาน การถกเถียง ตลอดจนการหาข้อสรุปของเรา

 

เพราะเหตุนี้ เราจึงตระหนักดีว่า

ความน่าเชื่อถือและพลังของการเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็น Visibleman ของเรานั้น อยู่ที่เราแต่ละคน

ยิ่งเราแต่ละคนเติบโตขึ้นเท่าไร ลุ่มลึกมากเท่าใด

ความน่าเชื่อถือในโครงการ Visibleman ก็มากขึ้นเท่านั้น

 

เราปรารถนาให้โครงการ Visibleman ได้แสดงถึงความอ่อนด้อยของเรา

ตลอดจนการเติบโต ความรู้ของเรา และรายงานต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรง

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ

โครงการ Visibleman

ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสนอนัยของ "บุคคลที่เราเห็น" ในปีที่ผ่านมา

หากแต่ยังหมายถึงการรายงานพัฒนาการของเราต่อผู้อ่านด้วย

 

…………………………….

 

Visibleman 2006 ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ "ประชาไท" เสนอชื่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549

ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ความเห็น ข้อมูล เพื่อร่วมถกเถียงหาข้อสรุป

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549

และทยอยนำเสนอต่อผู้อ่าน

ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549

จนไปสิ้นสุดที่รายชื่อผู้ที่สมควรเป็น Visibleman 2006 ของ "ประชาไท"

ในวันที่ 4 มกราคม 2550

โดยมีรายชื่อพร้อมผู้เสนอ ดังนี้

 

รายชื่อ  Visibleman 2006  และผู้เสนอ

 

กษัตริย์ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ    เสนอโดย  พงษ์พันธุ์  ชุ่มใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์   เสนอโดย  ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข และ
    พิณผกา  งามสม
นวมทอง ไพรวัลย์ เสนอโดย  มุทิตา  เชื้อชั่ง
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอโดย  ภาพันธ์  รักษ์ศรีทอง
จูหลิง ปงกันมูล เสนอโดย  มูฮัมหมัด  ดือราแม
อังคณา นีละไพจิตร เสนอโดย  นัดดา  มะลี
น้องเดียว - ด.ช.พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เสนอโดย  เสาวภา  พุทธรักษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอโดย  อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา
ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เสนอโดย  องอาจ  เดชา
พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เสนอโดย  วิทยากร  บุญเรือง
สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอโดย  จิรนันท์  หาญธำรงวิทย์ 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอโดย  พิณผกา  งามสม

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

เสนอโดย  ตติกานต์  เดชชพงศ

 

……………………………..

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

ดำเนินการถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุป

โดย รุจน์ โกมลบุตร

คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการประชาไท

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท