มือปืน 2 สาละวิน : เขื่อน ความรุนแรง กับความทรงจำแช่แข็ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สิบสามปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่องมือปืน 2 สาละวิน นำเสนอเรื่องราวของความขัดแย้งทางการเมืองและธุรกิจบริเวณชายแดนไทย-พม่า ภาพและเรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงปัญหาทางชนชาติที่ยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้น มาวันนี้เขื่อนสาละวินกำลังคืบคลานเข้ามาเป็น ปมปัญหาใหม่ ในฉากเดิม และโศกนาฏกรรมเดิมที่มนุษยชาติไม่ยอมจำ

เรื่อง : สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ภาพ: Ersnt Choy

.................................................................................................................................

 

แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำสายหลักแห่งสุดท้ายในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างขวางกั้นแม่น้ำ

 

สิบสามปีที่แล้ว (พ.ศ.2536) ภาพยนตร์เรื่องมือปืน 2 สาละวิน นำเสนอเรื่องราวของความขัดแย้งทางการเมืองและธุรกิจผิดกฎหมายบริเวณชายแดนไทย-พม่า ภาพและเรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงปัญหาของชนชาติกะเหรี่ยง ที่ยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้น แต่กระนั้นนัยยะสำคัญอันเป็นสารัตถะของภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งประเด็นไปที่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ(ผิดและเหนือการควบคุมของกฎหมาย) ที่ซ่อนเงื่อนและผูกปมอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของทั้งไทย-กะเหรี่ยง-พม่า

 

ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ปรากฏภาพของนายพลโบ เมี๊ยะ อดีตผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติ (Karen National union—KNU) ผู้ซึ่งเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสถานที่นั้น คือฐานที่มั่นของกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติ ใน "มอนอปลอว์"

 

ในยุคนั้นประเด็นเรื่องการลักลอบตัดไม้ในเขตป่าสาละวินเป็นที่มาของปมเงื่อนขัดแย้งทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ชนชาติกะเหรี่ยงต้องเสียฐานที่มั่นในหลายส่วนให้กับรัฐบาลพม่า พร้อมกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียไปให้กับรัฐบาลทหารพม่าไปในเวลาเดียวกัน และแน่นอนที่สุดแนวทางและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อพม่าอันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงบริเวณชายแดนนี้จึงต้องถูกปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้สามารถได้ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ผมได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ อีกครั้งเมื่อไม่กี่่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่นายพลโบเมี๊ยะจะเสียชีวิต ฉากเดิม เรื่องเดิม แต่ด้วยสถานการณ์ว่าด้วยการก่อสร้างเขื่อนที่กำลังเกิดขึ้นบริเวณชายแดนฝั่งแม่น้ำสาละวินแห่งนี้ ทำให้สารที่ได้จากภาพยนตร์มือปืน2 สาละวิน มันช่วยให้กรอบความเข้าใจบริบทของยุคสมัยปัจจุบันถูกกระชับแน่นมากยิ่งขึ้น ผมนั่งชมภาพยนตร์พลางอ่านบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

 

แม่น้ำเมย อำเภอ ท่าสองยาง แม่น้ำสายรอง ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

"เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามใน Memorandum of Understanding (MOU) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลพม่าเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทบนแม่น้ำสาละวินและตะนาวศรี MOU นี้เป็นกรอบใหญ่สำหรับการศึกษาการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทั้งลุ่มน้ำสาละวินและตะนาวศรี ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ามีโครงการทั้งหมด 6 แห่งที่กำลังเร่งดำเนินการ ได้แก่ ท่าซาง ยวาติ๊ด เว่ยจี ดา-กวิน ฮัตจีและตะนาวศรี โดย เขื่อนฮัตจีที่จะถูกสร้างขึ้นในรัฐกะเหรี่ยงบริเวณตรงข้ามกับจังหวัดตาก(เขื่อนตั้งอยู่ท้ายน้ำจากชายแดนที่สบเมยลงไปในประเทศพม่าประมาณ 40-50 กิโลเมตร) เป็นโครงการที่มีการผลักดันมากที่สุดในขณะนี้ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA)กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำพม่า ในการร่วมทุน และล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท Sinohydro รัฐวิสาหกิจของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ รายงานข่าวระบุว่า กฟผ. จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากประเทศจีนเพื่อลงทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 38,000 ล้านบาท"

 

ฉากในภาพยนตร์ ได้เดินมาถึงตอนที่ฉายภาพให้เห็นถึงลักษณะภูมิประเทศของแม่น้ำสาละวินบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดตาก เรื่องราวในบทความชิ้นนั้นก็บรรยายให้เห็นถึงภาพแม่น้ำสาละวิน ณ บริเวณเดียวกัน

 

"นับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๘ กองทัพพม่าเปิดศึกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๑๐ ปี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยเฉพาะเขตทางตอนบนไม่ไกลจากเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ปินมะนา มีรายงานว่าประชาชนอย่างน้อย ๑๖,๐๐๐ คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น เนื่องจากหมู่บ้านถูกเผาทำลายโดยหารพม่า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งสามารถเอาชีวิตรอดมาถึงริมแม่น้ำสาละวิน ข้ามมาอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยที่ อ.สบเมย ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวซึ่งดูแลโดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์ภายใต้กองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง และชาวบ้านที่เหลือจำนวนมากยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า"

 

แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันที่บ้านแม่สามแลบ ก่อนจะไหลเข้าเขตที่มั่นของกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติ เขตประเทศพม่า

 

ฉากในภาพยนตร์เดินมาถึงตอนที่กองกำลังกะเหรี่ยงได้หนีการไล่ยิงของทหารพม่า พวกเขาพยายามหนีข้ามแม่น้ำมายังฝั่งไทย บทเพลงภาษากะเหรี่ยงอันมีเนื้อหาปลุกเร้าความเป็นหนึ่งเดียวของชนชาติกะเหรี่ยงดังก้องกังวาลและกลบเสียงชองห่ากระสุนบนแม่น้ำสาละวิน

 

เพราะกระสุนปืนและความเหี้ยมโหดของสงครามที่ผลักดัน และในความเป็นจริงที่ไม่ใช่บนแผ่นฟิล์ม มันได้ปรากฏเป็นจำนวนผู้อพยพหนีภัยสงครามจำนวนเรือนแสนในค่ายผู้อพยพต่างๆตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า จากภาคเหนือสุดภาคตะวันตกของไทย ซึ่งจำนวนผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นไปตามดีกรีความรุนแรงและความลำบากในการดำรงชีวิต ที่เพิ่มสูงขึ้น

 

มีรายงานว่าปีนี้กองทัพพม่าเพิ่มกองกำลังอีก ๖ กองร้อยในเขตรัฐกะเหรี่ยงที่ติดแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่าใน "พื้นที่สีดำ" หรือพื้นที่ซึ่งยังมีกองกำลังกู้ชาติเคลื่อนไหวอยู่ และมีแผนว่าจะตีฐานที่มั่นของ KNU ที่ริมสาละวินให้ได้ภายในปีนี้

 

 

เบื้องหน้าคือ จุดบรรจบกันของแม่น้ำเมยกับแม่น้ำสาละวิน ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนแล้ว ลักษณะภูมิประเทศบริเวณนี้จะเปลี่ยนไป

 

จากการถูกใช้เป็นพื้นที่หาประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในครั้งนั้น สาละวิน ณ ดูเหมือนว่าวันนี้มันกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์สำหรับการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

 

จากวันนั้นที่ผลประโยชน์จากการตัดไม้+ความขัดแย้งทางการเมือง+ความสัมพันธ์(ทางการเมือง)ระหว่างประเทศ = ความรุนแรง สู้รบ การอพยพของผู้หนีภัยสงคราม มันเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นสมการเดียวกันของวันนี้ ที่ ผลประโยชน์อันจะได้จากการสร้างเขื่อนเพื่อขายไฟฟ้า+ความขัดแย้งทางการเมือง+ความสัมพันธ์(ทางการค้า)ระหว่างประเทศ = ความรุนแรง การอพยพของผู้คน การไร้ที่อยู่อาศัย ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามที่ตกค้างหลังชมภาพยนตร์และอ่านบทความจบก็คือ ว่า ไม่ว่าวันไหนๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน  เหตุใดทั้งรัฐบาลทหารพม่าและรัฐบาลไทยจึงดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ ตามชอบใจบนพื้นที่แห่งบริเวณนี้ได้อย่างเสรี การเข้าปราบกองทัพชนชาติกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง นั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ชนชาติกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานในพม่า แต่ดูเหมือนว่าผลกระทบอันจะเกิดจากการสร้างเขื่อนนั้น จะไม่ใช่ผลข้างเคียงเฉกเช่นผลกระทบจากความรุนแรงแห่งภัยสงครามดังที่ผ่านมา ต่อชนชาติกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานในฝั่งไทยด้วย หมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน จะจมอยู่ใต้น้ำ อีกทั้งเขื่อนนั้นจะก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ และแน่นอนที่สุดวิถีชีวิตในอนาคตที่ไม่ได้เลือกจะถูกยัดเยียดเข้ามาแทนที่

 

เด็กๆ ชาวกะเหรี่ยง ณ หมู่บ้านริมแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำชายแดนที่ไม่ได้กั้นการมีอยู่ของชนชาติกะเหรี่ยง

 

วิถิชีวิตที่พึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งภาพลักษณะนี้ไม่อาจจะรับประกันได้ว่าจะได้เห็นอีกหรือไม่ หากมีการสร้างเขื่อน

 

ความรู้สึกที่ว่า สาละวินเป็นแม่น้ำอื่น เป็นแม่น้ำชายแดน เป็นแม่น้ำที่ไกลตัว ไม่ใช่ของเรา นับว่าเป็นวิธีคิดที่อันตรายอย่างยิ่ง ต่อผู้คนที่อยู่ภายใต้รัฐไทย ณ บริเวณดังกล่าว เอาเข้าจริงแล้ว แม่น้ำสาละวินไม่ได้แบ่งแยก ชนชาติกะเหรี่ยง แต่อย่างใด แม่น้ำสาละวินถูกจินตนาการภายใต้กรอบรัฐชาติให้เป็นพรมแดนกั้นระหว่าง วิธีคิดที่ใช้กำหนดพรมแดนของรัฐตามแนวพรมแดนธรรมชาตินั้น เป็นตรรกะที่รับใช้จากพื้นฐานแห่งจินตนาการต่อภูมิศาสตร์ ทั้งที่จริงแล้ว แม่น้ำสาละวินหาได้กั้น การมีอยู่ของ ชนชนกะเหรี่ยงไม่

 

ห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา เพราะลัทธิล่าอาณานิคมและการสร้างชาติภายใต้จินตนาการแห่งรัฐชาติ ชนชาติกะเหรี่ยงทางแบ่งออกเป็นสองฝั่งพร้อมกับเงื่อนไขทางความขัดแย้งที่ก่อเกิดเป็นพื้นที่ระหว่างกลาง กั้นกลางระหว่างสองฝั่ง และในขณะเดียวกันมันกลายเป็นพื้นที่ที่เหนือการควบคุม เป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการหาผลประโยชน์ โดยคนเดินเกมส์ที่แสดงความเป็นเจ้าของรัฐชาติของทั้งสองฝั่ง

 

มือปืนสองสาละวิน อาจจะเป็นภาพยนตร์การเมืองเพียงไม่กี่เรื่องที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศไทย ในยุคที่ประชาธิปไตยถูกอ้างว่าเบ่งบานถึงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ดูเหมือนว่าภาพยนตร์การเมืองที่มีน้อยลง ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความสนใจของสังคมต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆประเทศไทย ที่รวมถึงพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ก็เจือจางและเบาบางลงไปเรื่อยๆ ข่าวการเสียชีวิตของนายพลโบเมี๊ยะเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็เงียบเหงาและซบเซาพอๆกับการรับรู้ถึงปัญหาการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินของคนไทย

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า บทวิเคราะห์ทางการเมืองต่อการเสียชีวิตของนายพลโบเมี๊ยะส่วนใหญ่จะมุ่งประเด็นไปที่ความเข้มแข็งของKNUนับจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ไม่มีการวิเคราะห์ถึงประเด็นว่า มันจะมีผลเชื่อมโยงอย่างไรต่อกรณีการสร้างเขื่อน

 

ซึ่งการวิเคราะห์การเมืองที่เกลื่อนกลาดเหล่านั้น ล้วนแล้วเป็นผลผลิตจากต้นตอความคิดความเข้าใจเรื่อง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติกะเหรี่ยงกับรัฐบาลทหารพม่านับที่เกิดขึ้นเมื่อห้าสิบปีที่แล้วเป็นสำคัญ ทำให้ดูเหมือนความเข้าใจเหล่านั้นจะหยุดนิ่ง และแช่แข็งมันไว้กับการกาลเวลาที่ผ่านไป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมา ที่ชนชาติกะเหรี่ยงจะต้องเผชิญนั้นมันมีพลวัตรแห่งความเปลี่ยนแปลงในตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น แน่นอนที่สุดว่า เงื่อนไขและแรงผลักดันของปัญหาต่างๆจึงปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

 

แม่น้ำสาะลิน ที่วันนี้บรรยากาศการท่องเที่ยวมาช่วยกลบกลิ่นไอสงคราม แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรได้อย่างไรหากวันหนึ่งจะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายนี้ขึ้นมาจริงๆ

 

หากมีการสร้างเขื่อนจริงๆ ผลได้เสียของมันจึงอาจไม่น่าแปลกใจว่า จะมีความสลับซับซ้อนในเชิงความรุนแรงมากกว่าภัยสงครามที่ชนชาติกะเหรี่ยงได้เผชิญตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมามากมายเพียงใด

 

พูดอีกทาง นี่อาจจะเป็นการที่ปัญหาถูกบูรณการผ่านการสั่งสมของเงื่อนไขแห่งการเวลา ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง มันเป็นลักษณะการบูรณการเพื่อผลิตเป็นอาวุธที่มากับสายน้ำ ซึ่งจะว่าเป็นแล้วอาวุธนั้นมีความรุนแรงมากกว่าความรุนแรงโดยตรงจากปากประบอกปืนเสียอีก เพราะการไหลบ่า เข้าท่วมของน้ำจากเขื่อน คือ การจมหายไปของแหล่งถิ่นฐานของผู้คน ที่ไม่อาจจะย้อนคืนกลับมาได้อีกต่อไป การสร้างเขื่อนจึงเป็นที่มีของการลี้ "วาตภัย" ที่เป็นการลี้หนีภัยจากน้ำไปชั่วนิรันดร์ ที่ไม่อาจจะกลับไปยังจุดเดิมได้อีก ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันภัยชั่วคราว แต่มันอาจจะเป็นค่ายลี้ภัยนิจนิรันดร์ที่ไหลไปกับสายน้ำที่ไม่ย่อนกลับมา

 

ในการชมภาพยนตร์แต่ละครั้งนั้น มันเริ่มและจบลงด้วยเงื่อนไขแห่งเวลาบนหน้าปัดเครื่องเล่น แต่ชีวิตจริงยังคงเดินไป ภาพเคลื่อนไหวในอดีตอาจจะไม่ช่วยอะไร หากตัวของมันเองถูกทิ้งร้างและไม่ถูกฉายซ้ำ กลายเป็น "ความทรงจำแช่แข็ง" ซึ่งมันคงม่ต่างอะไรจากประวัติศาสตร์และความเข้าใจต่อเรื่องบางเรื่อง ที่ถูกความคิดบางจำพวกแช่แข็งและปล่อยให้ทิ้งร้าง ไปกับความไม่แยแสใยดี

 

ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ฉายครั้งเดียวแล้วจบไป คงอาจจะไม่ต่างไปจากปัญหาใดปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ถูกทบทวนและทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง และที่สุดแล้วปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันจึงถูกหลงลืมแง่มุมที่สำคัญของตัวมันเองไป ปัญหาของนายพลโบเมียะอาจจะไม่ได้ตายตามนายพลโบเมียะไป แต่ปัญหานั้นอาจจะกำลังมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่า และกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้คนรุ่นหลังต่อไป

 

 

………………………………………………

หมายเหตุ : ผู้เขียนปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษโครงการการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งภาพและเรื่องนั้นถูกเก็บรวบรวมและเรียบเรียง ภายหลังการเดินทางไปยังแม่น้ำสาละวิน เขตอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนกับคณะเดินทางของผู้ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง  "แม่น้ำโขง สาละวิน ผู้คน ผืนน้ำ และสุวรรณภูมิของอุษาคเนย์ ที่มีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 -  วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน  2549  ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของงานสัมมนาครั้งนี้ ได้ที่ www.textbooksproject.com และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอันเกี่ยวเนื่องกับกรณีปัญหาการสร้างบนแม่น้ำสาละวินได้ที่ www.searin.org

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต.สรุปข้อมูลความคืบหน้าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน. สิงหาคม 2549 http://www.searin.org/Th/SWD/swd_info1.html

 

  • โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต .เขื่อนสาละวิน : โศกนาฏกรรมแห่งสายน้ำและชาติพันธุ์ .กันยายน 2549 htt.p://www.searin.org/Th/SWD/swd_a28.html

 

  • อาทิตย์ ธาราคำ."ลักไก่" สร้างเขื่อนสาละวินในพม่า??อาทิตย์ ธาราคำ.มติชนรายวัน 22  มกราคม 2548  http://www.searin.org/Th/SWD/swd_a18.htm

 

·         อาทิตย์ ธาราคำ.สาละวิน : เขื่อนใต้ปลายกระบอกปืนอาทิตย์ ธาราคำ. เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ http://www.searin.org/Th/SWD/swd_a15.htm

 

  • "โบเมี๊ยะ" อดีตผู้นำกะเหรี่ยง KNU เสียชีวิตแล้ว.ประชาไท 24 ธันวาคม 2549

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6395&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท