Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้(10 ม.ค.) ที่โรงแรมวิสต้า ณ คุ้มแก้วพาเลซ จ.เชียงใหม่ คณะคณะอนุกรรมการด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย และศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) นำเสนอกิจกรรมนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ และแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีตัวแทนผู้นำชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และอคติทางชาติพันธุ์ร่วมนำเสนอ


นายภากร กังวานพงค์ นายก อบต.แม่ยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน นำเสนอประสบการณ์ของการจัดการป่าชุมชน และความขัดแย้งกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐโดยระบุว่า กรณีของป่าชุมชนที่มีความขัดแย้งในรายละเอียดแนวคิดและวิธีการจัดการนั้น ตนพยายามให้จัดให้เกิดเวทีประชาคมโดยนำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่หารือร่วมกันถึงเหตุผลและความจำเป็นของการจัดป่าชุมชน รวมถึงการแบ่งพื้นที่ทำกินและพื้นที่อนุรักษ์ให้มีความชัดเจน ซึ่งหลังจากการพูดคุยก็ทำให้เกิดข้อตกลงในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งในอนาคตคาดหวังให้เกิดข้อบัญญัติระดับตำบลที่รองรับป่าชุมชน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายป่าไม้ในปัจจุบันยังเป็นอุปสรรคอยู่ ส่วนชาวบ้านก็ถูกใส่ร้ายมาโดยตลอดว่าเป็นผู้ทำลายป่า ทั้งที่พื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลถูกทำลายจากการให้เอกชนสัมปทานตัดไม้


นายภากร กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการแสวงหาความร่วมมือแล้วประชาชน และเครือข่ายยังมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ยกตัวอย่าง กรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่อาศัยมติครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2535 ที่อนุญาตให้ประโยชน์จากสวนป่า ที่ควรเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศ ซึ่งรัฐได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานตัดไม้ต้องปลูกป่าทดแทน โดยในพื้นที่อบต.แม่ยวมก็เกิดความขัดแย้งขึ้น หลังจากออป.อ้างสิทธิเข้าไปตัดไม้สักทองอายุกว่า 30 ปี บนพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ เมื่อชาวบ้านพบเห็นก็พยายามทักท้วง พร้อมทั้งส่งหนังสือร้องเรียนไปยังภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการหาข้อยุติทางกฎหมาย


"ทำนองเดียวกับกรณีโครงการเขื่อนสาละวินตอนล่าง ผลการศึกษาระบุว่าไม่มีประชาชนอยู่ในพื้นที่รับผลกระทบเลย ทั้งที่ความจริงมีชุมชนกว่า 60 แห่ง จะถูกน้ำท่วมภายหลังสร้างเขื่อนหรืออาจต้องถูกอพยพโยกย้าย ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือการละเมิดสิทธิ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม พลังงานทดแทน ที่จะสูญหายไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้พลังงานของเครือข่ายและความร่วมมือในการขับเคลื่อนและป้องกันการละเมิด" นายก อบต.แม่ยวม กล่าว


นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า กรณีเขื่อนสาละวินและประสบการณ์ของแม่เมาะยืนยันว่าองค์กรเดียวที่มักจะสร้างปัญหาคือภาครัฐและกฟผ. ที่แปลว่าการไฟฟ้าฝ่ายผิด เพราะจากอดีตจนถึงปัจจุบันคนแม่เมาะก็ยังคงถูกกระทำถูกละเมิดจนถึงขั้นเสียชีวิต อยู่อาศัยไม่สะดวกสบาย ต้องผวากับเสียงดัง และใช้ปอดของตนเองเป็นเครื่องกรองซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้กับโรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหินที่อยู่ติดชุมชน


ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ผลักดันให้เกิดการพูดคุยในเครือข่ายว่าจะขยายการรับรู้ไปสู่คนอื่นๆ ในท้องถิ่นว่าคนแม่เมาะถูกละเมิดอย่างไร จะปกป้องอย่างไร ท้ายสุดจึงเกิดแผนการเสริมสร้างความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยหน่วยงานสนับสนุนหลักคาดว่าจะขอความร่วมมือจากกสม. พร้อมทั้งมีหน่วยงานหนุนเสริมจากสภาทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ และสื่อมวลชน เพื่อฝึกอบรมให้ชาวบ้านมีความรู้ในด้านกฎหมาย มีทักษะการสื่อสาร การเผยแพร่กับสาธารณะ หรือสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นที่ถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานต่างๆ เพื่อเปลี่ยนจากรอรับการช่วยเหลือ มาเป็นการช่วยตัวเองก่อน


นางมะลิวรรณ กล่าวว่า วันที่ 14 ม.ค.ที่จะถึงนี้จะมีการประชุมใหญ่เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด อาทิ จำนวนผู้ป่วยทั้งที่ได้และไม่ได้รับการรักษา จำนวนผู้อพยพตามมติครม. และผู้รอการอพยพ ผู้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของเหมืองลิกไนต์เฟส 5 และเฟสอื่นที่คาดว่าจะเปิดใหม่ในอนาคต ทั้งหมดต้องอยู่ในฐานข้อมูล และขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยเพื่อสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ด้วยเหตุที่การสู้กับองค์กรใหญ่ๆ จะต้องร่วมเดินไปด้วยกันไม่ใช่ให้ใครขึ้นมานำ


"กรณีของแม่เมาะจะต้องมีการเสริมสร้างความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยประเด็นที่จะผลักดันต่อไปคือ หนึ่ง การอพยพอย่างเป็นธรรม สอง จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูผู้ป่วยของแม่เมาะ ซึ่งเราผลักดันเรื่องนี้กว่า 10 ปีเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลด้านอาชีวะเวชศาสตร์ที่แม่เมาะ แต่กลับไปตั้งที่สมุทรปราการ เห็นได้ว่าเขาพยายามเบี่ยงเบนทุกรูปแบบและสะท้อนความไม่รับผิดชอบ ประเด็นที่สามคือการลดใช้พลังงานจากถ่านหิน และสร้างเครือข่ายป้องกันการละเมิดสิทธิด้านพลังงานขึ้นมา" นางมะลิวรรณ กล่าวย้ำ


ด้านนายวิวัตน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) กล่าวว่า ปัญหาของชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์มีหลายระดับ โดยเรื่องอคติเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก คนชนเผ่าถูกมองเป็นคนตัดไม้ทำลายป่า หรือค้ายาเสพติดตลอดเวลา ซึ่งอคติเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ รวมถึงการข่มขู่คุกคามคนทำงานด้านสิทธิ หรือมองว่าเป็นผู้ยุยุงก่อปัญหาความมั่นคงของประเทศ


อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนในการทำงานสรุปได้ว่า การเตรียมข้อมูลพื้นที่ และความพร้อมของกลุ่มคนที่ถูกละเมิดสิทธิฯมีความสำคัญมาก ในพื้นที่ที่ไม่มีประสบการณ์จะมีความหวาดกลัว จนสยบยอมไม่สามารถช่วยตนเองได้ นอกจากนี้การส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานหนุนเสริมอย่างกสม.และสภาทนายความก็มีความจำเป็น เพราะไม่มีหน่วยงานอื่นที่สามารถพึ่งพาได้ อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลา และจำนวนของเจ้าหน้าที่ หรือคณะกรรมการสิทธิฯไม่เพียงพอกับปัญหาการละเมิดสิทธิฯที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ หากเรื่องไหนไม่เร่งด่วนกสม.ก็ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ ดังนั้นการมีกลไกหนุนเสริม หรือพัฒนาให้เกิดเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในระดับภาคก็จะทำให้ข้อเสนอแนะของพื้นที่แม่ยวมและแม่เมาะเป็นจริง


อนึ่ง การนำเสนอในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แนวคิดและการปฏิบัติต่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและการหารือการสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคเหนือ เพื่อสรุปบทเรียนการดำเนินงานนำไปสู่การขยายผลการทำงานเกี่ยวร้อยกับเครือข่ายอื่นๆ ต่อไป และเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ที่ถูกอพยพ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ต่อไป.


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net