คมช.เรียกสื่อพบ ขออย่าเสนอข่าวทักษิณ

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมลเตือน คำขอสื่อไม่ให้เสนอเรื่อง "ทักษิณ" ของคมช. ระวังจะทำเสียเพื่อน ย้ำเป็นพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากยุคทักษิณ เพียงแต่ไม่เนียนเท่า แถมยังจะกลายเป็นการสร้างความได้เปรียบของอดีตนายกฯ

ประชาไท - เมื่อช่วงสายของวานนี้ (10 ม.ค. 05) พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ เลขาธิการ คมช. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ เลขาธิการ คมช. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และ เลขาธิการ คมช. ได้รับมอบหมายตามมติ คมช. ให้ประชุมกับผู้บริหารสื่อทุกแขนง ทั้งสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ประมาณ 100 คน ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อขอความร่วมมือในการงดเว้นเสนอข่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

โดยประเด็นที่คมช.เป็นกังวล คือการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะทำให้เกิดความสับสน และกลายเป็นเครื่องมือในการตอบโต้คมช.

 

พล.อ.วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการ คมช. กล่าวว่า มีประกาศของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยขอความร่วมมือจากสื่อทุกแขนง ให้เสนอข่าวตามความจริงและสร้างสรรค์เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมามีหลายสื่อได้เพิกเฉย โดยภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา คมช.ใช้ความอดทนอย่างสูง เนื่องจากมีหลายสื่อได้ฝ่าฝืนประกาศ ฉ.ที่10

 

โดยเฉพาะที่มีการสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี การนำเอกสารมาแถลงและนำไปขยายความ โดยมีบางสื่อที่ชื่นชอบรัฐบาลที่แล้วก็ได้นำเอาเนื้อหาไปขยายความ ซึ่งถ้าหากมีวิจารณญาณที่ดีพอก็จะไม่ทำอย่างนั้น เพราะมีบางสื่อบางสถานีนำเอาข้อความมาออกอากาศทั้งตอนเช้า กลางวัน และตอนดึก ถ่ายทอดขยายความเพิ่มเติม ซึ่งตนคิดว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้

 

"ผมพูดเสมอว่า คมช.ไม่ได้มีอำนาจบริหารเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ขอเวลาถึงแค่ปลายปี 2550 ทุกอย่างจะเรียบร้อยโดยที่ คมช.ไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการที่เข้มงวดดูเป็นเผด็จการ ซึ่งคมช.ก็ไม่อยากทำ แต่ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ ทางคมช.ก็ไม่สบายใจ สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ อะไรที่จะทำให้ประชาชนสับสนไม่เข้าใจก็ไม่ควรนำเสนอ มีอย่างที่ไหน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารยึดอำนาจมีแถลงการณ์มานำเสนอตลอดทั้งวัน"

 

มีคำแถลงการณ์จากอดีตนายกฯ ว่าได้ให้เวลา คมช.และรัฐบาลชั่วคราวมากไปแล้ว คิดว่าคนที่มาเป็นกรรมการห้ามมวยไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย ทำไมถึงมีสื่อบางท่านไม่ช่วยกันสร้างจิตสำนึกที่ดีสร้างความสงบให้กับประเทศชาติ ถ้าไม่รับผิดชอบในวิชาชีพของท่าน จะเสนอนำอะไรก็เสนอไป แต่อย่าลงในรายละเอียด ถ้าจะแก้ตัวก็ให้คอยรัฐบาลหน้า ตอนนี้ต้องการความสงบเรียบร้อย องค์กรอิสระจะให้ความเป็นธรรม ถ้าอยากแก้ตัวให้ไปแก้ตัวในศาล อย่ามาแก้ตัวผ่านสื่อ เป็นการกระทำก่อให้เกิดความกดดัน ซึ่งถ้าเกิดความกดดัดต่อพวกผมมากๆ ก็จะไม่เป็นผลดี เพราะถือว่าพวกผมเสียสละเพื่อบ้านเมือง เมื่อมันไปต่อไม่ได้ก็ต้องลงมาแก้ไข เมื่อทำไปแล้วสังคมก็ต้องช่วยกัน จะมานั่งทำเป็นทองไม่รู้ร้อนแล้วเสนอข่าวทำงานเลี้ยงชีพตัวเองอย่างเดียวผมว่าไม่แฟร์

 

"ผมขอให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง วิทยุทุกสถานี ไม่แพร่ภาพกระจายเสียงข้อความหรือแถลงการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำของพรรครัฐบาลที่ผ่านมา และไม่ให้ผู้จัดรายการนำไปขยายความซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนโดยเฉพาะทีวี.และวิทยุ ขอให้ดูแลเป็นพิเศษ ให้ไปดูประกาศ คมค.ฉบับที่ 10 และมาตรา 11 ของกฏอัยการศึก และอำนาจของ คมช.

 

"ขอเวลาแค่ไม่ถึงครึ่งปี ต่อจากนั้นจะเล่นการเมืองให้ประเทศชาติล่มจมอย่างไรก็ไปว่ากันอีกที ทุกท่านที่มาน่าจะทราบดีว่าถ้าหากอดีตนายกตั้งตัวแทนมาแถลงการณ์ทุกวัน สังคมก็จะสับสน สื่อของราชการ ต่อไปนี้ถ้ามีการนำเสนอข้อความแถลงการในลักษณะลงรายละเอียด ขอให้ผู้บริหารถอดรายการนั้นๆออกจากผังรายการ ขอให้ไปชี้แจงกับผู้จัดรายการและสถานีต่างๆ ผมขอให้ทำงานปกติไม่ต้องช่วยใคร ขอแวลาแค่ 1 ปี"

 

พล.อ.วินัย ย้ำว่า "ถ้าไม่เชื่อฟังก็ให้ตัดรายการออกไปจากสถานี ถ้าท่านใช้วิจารณญาณไม่เหมาสม ผมจะใช้วิจารณาณของผมช่วยท่านบริหารงานเองถ้ามีความจำเป็นและถ้ามีเหตุการณ์อย่างกรณีวันที่ 31 ธันวาคม เราไเด้เตรียมการณืที่จะดำเนนการขั้นเด็ดขาดไว้แล้ว ใครจะว่าเผด็จการก็ว่าไป การที่คนทำผิดแล้วยังไม่สำนึกอีกก็ต้องใช้ไม้แข็ง"

 

ด้านพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช.แถลงว่า ปัจจุบันเรามีประกาศหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 10 เรื่องขอความร่วมมือในการเสนอข่าวสารในทางสร้างสรรค์ ฟื้นฟูความสามัคคีภายในชาติและทำให้ประเทศชาติกลับสู่ความสงบสุขโดยเร็ว เพราะประเทศไทยบอบช้ำมามากแล้ว จากช่วงก่อนที่จะมีการปฏิรูปการปกครองฯ ที่ประชาชนแตกแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเชียร์อดีตนายกฯ กลุ่มที่สองต่อต้าน

 

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า คมช.พยายามแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าในระยะเวลา 1 ปีที่ขอความกรุณาว่าเราจะอุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ ด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรอบเวลาดำเนินมาแล้วหนึ่งในสาม จึงเหลือเวลาอีกเล็กน้อย จึงขอความกรุณาทุกฝ่าย ถ้าปล่อยให้สื่อบางส่วนที่มีจำนวนไม่มากกระทำการในลักษณะเช่นนี้ ก็เชื่อว่าประชาชนที่ต้องการเห็นความสงบของบ้านเมืองคงรู้สึกไม่สบายใจ และเป็นภาวะกดดันต่อเนื่องมายังเจ้าหน้าที่ทุกส่วน รวมทั้ง คมช.ด้วย

 

"จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกภาคส่วนอย่าได้นำแถลงการณ์ใดๆ ของอดีตนายกฯ ผู้แทน หรืออดีตผู้นำในซีกพรรคการเมืองของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา มาชี้แจง และขยายเป็นประเด็นให้เกิดความสับสน ในชั้นต้นนี้คงไม่ได้เป็นการบังคับแต่เป็นการขอความร่วมมือจากทุกส่วน เชื่อมั่นว่าสื่อมวลชนทุกท่านเข้าใจสถานการณ์บ้านเมือง เมื่อได้ชี้แจงและสื่อความหมายให้ตรงกันแล้ว ทุกส่วนจะมีความเข้าใจ แต่หากยังมีสื่อกลุ่มที่ยังไม่สามารถใช้วิจารณญาณได้ตรงกับความต้องการของประชาชน และยังวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเช่นนี้อยู่ ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะใช้วิจารณญาณให้ในการดำเนินการในรูปแบบอื่นต่อไป คงจะเป็นมาตรการที่เริ่มจากเบาไปหาหนัก แต่ในชั้นนี้คิดว่าจะได้รับความกรุณาจากทุกภาคส่วน ยืนยันว่าเป็นการขอความร่วมมือ ไม่ได้เป็นการไปสั่ง ทุกอย่างที่ทำก็เพื่อให้เกิดความสงบในบ้านเมืองเพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งการระเบิด ปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อน ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ "

 

พ.อ.สรรเสริญ ยังกล่าวว่า มาตรา 11 ตามกฎอัยการศึกระบุว่า ทางทหารมีอำนาจหน้าที่ในการห้าม ไม่ให้มีการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสาร โฆษณา แจกจ่ายสิ่งพิมพ์ ภาพ คำประพันธ์ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ เนื่องจากเรามั่นใจในจรรยาบรรณความเป็นสื่อ

 

แต่มีสื่อบางส่วนที่มีจำนวนไม่มากนัก ใช้ดุลยพินิจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็ต้องสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา หากบางส่วนที่เข้าใจไม่ตรงกันก็จะเรียกชี้แจงเป็นรายๆ ไป คงไม่ชี้แจงเป็นส่วนรวม จะทำให้เกิดความอึดอัด

 

"ที่ผ่านมา เราก็พยายามสังเกตการณ์ออกมาให้ความเห็นของกลุ่มรัฐบาลเก่าที่ออกมากันอย่างต่อเนื่อง แต่จากนี้ไป แต่ละฝ่ายคงระมัดระวังบทบาทของตัวเอง และไม่อาศัยโอกาสซึ่งกันและกันในการให้ร้าย ยืนยันว่าเรารับฟังความเห็นของประชาชน แต่ไม่น่าจะเหมาะสมที่กลุ่มอำนาจเก่าใช้สื่อเป็นเวที แล้วโจมตีการปฏิบัติงานของคมช. และ รัฐบาล" พ.อ.สรรเสริญกล่าว

 

 

อดีตส.ว.เตือน ระวังคมช.จะเสียเพื่อน

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนักวิชาการผู้ผลิตสื่อ กล่าวว่า คณะมนตรีฯ ทำได้แค่เพียงบอกให้นำเสนอข่าวให้สมดุล เพราะนับแต่รัฐประหารที่ผ่านมา เวลามีข่าวจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ แม้แต่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ สื่อมักจะเสนอแค่ข้างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการไม่ให้โอกาสสองฝ่ายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะไอทีวีหรือแม้แต่อสมท.ก็ตาม

 

เขากล่าวว่า หากคณะมนตรีฯ จะสั่ง ก็ทำได้แค่ขอให้สื่อทำหน้าที่อย่างถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องพูดได้ แต่การจะสั่งสื่อในขณะที่กระแสโลกต้องมีความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารนั้น ไม่สามารถสั่งสื่อได้

 

"เหตุการณ์ในโลกนี้ สื่อมีหน้าที่นำเสนอ ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ หรือพลเอกชวลิตต้องการสร้างข่าว เขาก็ทำได้ สื่อก็มีหน้าที่ต้องกรอง การบอกให้สื่อใช้วิจารณญาณแบบนี้ ทำได้"

 

"แต่คำสั่งอย่างนี้มันขัดต่อจรรยาบรรณสื่อ ถ้าพล.อ.สพรั่ง บอกสื่อห้ามเสนอข่าวพ.ต.ท.ทักษิณเช่นนี้ มันก็ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้เปรียบ แล้วทำแบบนี้ คณะมนตรีฯ จะเสียเพื่อนหมด"

 

เขายังกล่าวอีกว่า วิธีการที่คมช.สั่งเบรคสื่อในครั้งนี้ ก็ซ้ำรอยกับพฤติกรรมที่อดีตนายกฯ เคยใช้ แต่ทว่าอดีตนายกฯ ทักษิณใช้วิธีการที่แยบยลและแนบเนียนกว่าเท่านั้นเอง

 

นอกจากนี้ จากกรณีที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงต่อคตส. กรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป เมื่อวานนี้ (10 ม.ค. 50) โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงรอทำข่าวและติดตามความเคลื่อนไหว และยังมีประชาชนที่อ้างว่ามาจากเขตคลองเตย, เขตหลักสี่, เขตดอนเมือง ประมาณ 150 คน พร้อมดอกไม้และชูป้าย 7777 (เลขทะเบียนรถพ.ต.ท.ทักษิณ)ว่า โอ๊คสู้ๆ มารอให้กำลังใจนายพานทองแท้ พร้อมร้องตะโกน"โอ๊คสู้ ๆ พ่อไม่อยู่ขอให้กำลังใจ" และยังมีกลุ่มของนายวรัญชัย โชคชนะ เดินทางมาให้กำลังใจด้วยจำนวนประมาณ 20 คน นั้น

 

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกรายงานสถานการณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า เมื่อคมช.ได้ทราบกรณีที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องนำรถโอบีถ่ายทอดสดการเดินทางไปชี้แจงกับ คตส.ของนายพานทองแท้ และน.ส.แพรทองธาร ที่ สตง. สร้างความไม่พอใจให้กับนายทหารใน คมช.พร้อมกับติงไปยังผู้บริหารสถานีโทรทัศน์บางแห่ง เพราะภาพที่ออกมามีประชาชนจำนวนมากมาให้กำลังใจนายพานทองแท้ รวมถึงการเข้าชี้แจงทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่า

 

กลุ่ม 19 กันยา ออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรง

ด้านกลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ออกแถลงการณ์ประณาม คมช. กรณีข่มขู่ บังคับการเสนอข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์ว่า ขอประณามอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมข่มขู่และแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

"สื่อมวลชนไม่เพียงแต่มีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงที่หลากหลายรอบด้านเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่ตรวจสอบ คมช. สนช. รัฐบาล และกลไกของรัฐทุกชนิด หากไม่ยอมรับการตรวจสอบก็ต้องยุติบทบาทและออกไปจากการเมือง" ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

 

ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า การสั่งห้ามของคมช. แม้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้นำรัฐบาลและแกนนำรัฐบาลเก่า แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่สามารถนำมาอ้างเพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือปิดปากสื่อมวลชนไม่ให้เสนอข่าวอีกด้านหนึ่งได้

 

"คมช.กำลังเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาที่กำลังรุมเร้าตนเองและรัฐบาลอยู่และหาทางออกไม่ได้ เช่น ข้อกล่าวหาเรื่องสืบทอดอำนาจ ปัญหาเรื่องงบทหาร งบลับ งบปฏิวัติ ปัญหาศีลธรรมจริยธรรมของประธาน คมช.และนายกรัฐมนตรี ปัญหาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด เป็นต้น จึงสร้างเรื่องขึ้นมากลบเกลื่อนโดยอ้างกลุ่มอำนาจเก่ามาเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อและของประชาชน

 

ในแถลงการณ์ ได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนและประชาชนช่วยกันจับตาพฤติกรรมของ คมช.และรัฐบาล ที่จะหาเหตุจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ออกกฎหมายให้อำนาจพิเศษแก่ คมช.และรัฐบาล การไม่ยอมยกเลิกกฎอัยการศึกและบังคับใช้อย่างเข้มงวด การนำเอาประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คปค.มาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นและอาจมีการประกาศหรือออกคำสั่งเพิ่มเติมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง

 

ปิดกั้นสื่อ โหมโรงความอึดอัด

นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นเพราะประเด็นเรื่องระเบิดป่วนเมือง ที่คมช.ไม่สามารถควบคุมทิศทางข่าวได้ จนทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจว่าคมช.อาจทำเอง แต่ที่เป็นเพราะอย่างนี้ เพราะ คมช. ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดเพื่อมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

 

ดังนั้นข้ออ้างของเลขาธิการคมช.เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ไม่สามารถรับฟังได้ เพราะโลกทุกวันนี้ไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้ รัฐที่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร นอกจากล้าหลัง หรือเผด็จการแบบสุดๆ แล้ว ยังถือว่ากีดกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเป็นการปิดกั้นทางการศึกษา ที่จะพัฒนาจิตสำนึกและวิจารณญานของพลเมืองด้วย เพราะข้อมูลทางเลือกที่หลากหลายจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของพลเมือง ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมถึงสิทธิในความเชื่อของตนเองด้วย

 

"ดังนั้นการกระทำของ คมช. ในครั้งนี้ อาจจะโหมโรงความอึดอัดของประชาชนอีกเท่าตัว แนวคิด คมช. ครั้งนี้จึงใช้ไม่ได้ นอกจากนี้การปิดกั้นสื่อ ยังละเมิดกติการะหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชนสากล ที่รัฐบาลและ คมช. อ้างเองตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 9 เรื่อง นโยบายต่างประเทศ ว่าจะยึดมั่นในหลักกฎบัตรสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ จะรักษาไว้ซึ่งสิทธิ และจะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญา หรือข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศ ภายใต้หลักเกณฑ์แห่งความเสมอภาคโดยเคร่งครัด ซึ่งเท่ากับว่า กำลังโกหกประชาคมโลก และมาตรา 11 ของกฏอัยการศึกนั้น เป็นมาตราที่เลวร้ายมากๆ" นายเมธากล่าว

 

ทั้งนี้ สิทธิเสรีภาพของสื่อและพลเมือง ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จะนำมาซึ่งการเป็นกระจกเงาสะท้อนให้รัฐบาลเดินไปตามครรลองที่ดี มากกว่าเป็นผลเสีย ซึ่งการอ้างว่ารัฐบาลเก่าเป็นสาเหตุในการรัฐประหารแต่ คมช. กลับมีพฤติกรรมเหมือนรัฐบาลเก่าเสียเอง เป็นเรื่องปากว่าตาขยิบ หรือว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง แม้จะไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นการถึงกับข่มขู่เลยทีเดียว

 

 

คมช.ไม่ต่างจากยุคทักษิณ

นายตุลสถิตย์ ทับทิม บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ในฐานะอุปนายกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบด้านสิทธิและเสรีภาพสื่อ กล่าวว่า พวกเราในฐานะสื่อมวลชนตระหนักและเห็นด้วยอย่างยิ่งในความจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองในชาติ แต่การที่คมช.พยายามที่จะควบคุมสื่อทีวีและวิทยุ อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นกับสื่อนั้น ถือเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

 

นายตุลสถิตย์ กล่าวว่า คมช.จะต้องไม่ละเมิดเจตนารมณ์ของตัวเองที่ประกาศไว้ว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประนามการปฏิวัติของคมช. เพราะเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ของคมช. และพวกเราเชื่อว่าคมช. มีความจริงใจที่จะสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในประเทศ

 

"ความพยายามที่จะควบคุมสื่อของคมช. มีแต่จะยิ่งทำให้ประชาชนสับสน เพราะในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยทำเช่นนั้น และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกล่าวหาจากสาธารณชนและคมช.เองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย" นายตุลสถิตย์กล่าว

 

การกระทำของคมช.ครั้งนี้รังแต่จะก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบต่อ คมช. และสิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือไม่มีใครรับประกันได้ว่าการควบคุมสื่อจะไม่ขยายลามมาถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย

 

"สิ่งที่คมช.ทำมีแต่จะยิ่งเพิ่มความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคมช.กับสื่อมวลชนเลวร้ายลงจนไม่ต่างอะไรกับสมัยรัฐบาลพ.ต.อ.ทักษิณ" เขากล่าว

 

 

ทักษิณคงจะหัวเราะแน่

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลและคมช.ทบทวน เพราะถ้าปิดกั้น ริดรอนเสรีภาพสื่ออย่างนี้ ก็จะเข้าล็อคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เชื่อว่า คงจะหัวเราะแน่ มาตรการนี้ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ ที่เข้ามาแทรกแซงสื่อ เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ทางที่ดี รัฐบาลและคมช. ควรจะให้อิสรภาพสื่อ และต้องรู้จักใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ในการตีแผ่ปัญหาของระบอบทักษิณ ว่ามีการทุจริต ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน หรือสร้างปัญหาให้เกิดความแยกในสังคมอย่างไร ถ้ารัฐบาลและคมช.ทำเช่นนี้ ก็จะไม่จากระบอบทักษิณ ซึ่งจากรัฐตำรวจก็กลายเป็นรัฐทหาร

 

"เรารู้ว่า โจรทำผิด แต่เราก็ไม่ควรฆ่า เราต้องทำให้สังคมเรียนรู้ว่า คนทำผิดอย่างไร วิธีการนี้เท่ากับว่า รัฐบาลและคมช. เลือกใช้วิสามัญฆาตกรรมโจรอยู่ ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลและคมช. ก็จะเสียภาพลักษณ์ทั้งในประเทศและต่างชาติ" นพ.นิรันดร์ กล่าว

 

นายวิทยากร เชียงกูล ประธานกรรมการอำนวยการการมีส่วนร่วมของประชาชน ศูนย์ปฏิบัติการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิธีการนี้ไม่เหมาะ และค่อนข้างละเอียดอ่อน รัฐบาลและคมช.ควรใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ด้วยการตีแผ่ปัญหาทุจริตในรัฐบาลที่แล้ว หรือนำเสนอให้ประชาชนเห็นทางเลือกอื่น ที่ต่างจากรัฐบาลทักษิณ เพราะแนวทางนี้จะเกิดการต่อต้าน และเข้าทางจากฝ่ายตรงข้าม สุดท้ายอาจถูกโต้กลับจากใบปลิว สื่ออินเตอร์เนต ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและคมช.

 

นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงกรณีที่ คมช.สั่งให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์งดเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่าว่า หากเป็นการห้ามนำเสนอเลยถือได้ว่าเป็นการแทรกแซง แต่หากเป็นการขอความร่วมมือถึงรูปแบบหรือวิธีการนำเสนอ เช่น ไม่ให้นำเสนอในเชิงประชดประชันระหว่าง คมช.กับขั้วอำนาจเก่า หรืออย่ายั่วยุ โดยให้สื่อใช้วิจารณญาณในการนำเสนอ เช่นนี้ก็พอรับได้

 

นายเจษฎ์กล่าวถึงเหตุผลที่ คมช.ทำเช่นนี้ว่า คมช.ไม่ต้องการถูกถามหรือถูกเสี้ยมจากสื่อให้ชนกับขั้วอำนาจเก่า ไม่ต้องการให้เกิดการถกเถียง ทะเลาะเบาะแว้ง เพราะจะก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่ง คมช.เองก็ไม่ชำนาญในการทะเลาะแบบการเมือง ที่มักมีฝ่ายอื่นเข้ามาแทรก ซึ่งทำให้ คมช.เสียรังวัด เพราะเมื่อคมช.เสีย รัฐบาลก็เสียด้วย ในขณะที่ขั้วอำนาจเก่าได้ประโยชน์แทน

 

 

 

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก

หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท