นานาทัศนะกระจอกข่าวภาคสนามกรณี คมช. "ขอร้อง" งดเสนอข่าวทักษิณ

บนสถานการณ์ทหาร "ขอร้อง" สื่องดเสนอข่าวทักษิณ สื่อภาคสนามคิดเห็นอย่างไร จะสวนทาง "ผู้ใหญ่" ต้นสังกัดกันอีกครั้งหรือไม่ ฟังคำตอบจากนักข่าวภาคสนาม เนชั่น ผู้จัดการและ ไทยโพสต์

ประชาไท - 12 ม.ค. 2550 กรณีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ขอความร่วมมือสื่อมิให้แพร่ภาพและกระจายเสียงข้อความหรือแถลงการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำของพรรครัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในชาตินั้น สื่อผู้ปฏิบัติการภาคสนามมองเรื่องนี้อย่างไร

 

 

คมช.น่าจะชอบให้สื่อเล่นเรื่องทักษิณมิใช่หรือ

 

นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา นักข่าวสำนักข่าวเนชั่นกล่าวว่า เวลานี้นักข่าวในสนามยังไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรจากคำขอของ คมช.ที่ไม่ให้สื่อนำเสนอข่าวทักษิณ คงต้องรอดูทิศทางข่าวไปสักอาทิตย์หนึ่ง ทั้งนี้ นักข่าวส่วนหนึ่งมีท่าทีเห็นด้วย เพราะถือเป็นการให้เวลา คมช.จัดการแก้ไขปัญหาของประเทศ

 

ในส่วนของเขาเอง จากคำขอของ คมช. ทำให้เกิดคำถามว่า ต่อจากนี้ หากมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ความเคลื่อนไหวของครอบครัวชินวัตร เช่นในกรณีการชี้แจงเรื่องหุ้นชินคอร์ปต่อ คตส. นักข่าวจะต้องวางตัวอย่างไร หรือนั่นแปลว่า ต่อจากนี้เวลาจะทำข่าวอะไร นักข่าวต้องขอความเห็นชอบจากคมช.เสียก่อน ซึ่งคำถามที่ผุดขึ้นมาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับการทำงานของสื่อเลย

 

"นักข่าวถูกครอบงำ ทำให้การทำงานในเวลานี้เกิดคำถาม ว่าจะเสนอได้ไหม เสนอไปแล้ว คมช.จะว่ายังไง" นายเสถียรกล่าว

 

เขายกตัวอย่างว่า อย่างกรณีหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ตีพิมพ์จดหมายฉบับเต็มของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่นไม่ได้แปลว่าไทยโพสต์เชียร์อดีตนายกฯ และเสนอความเห็นว่า การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ พูดถึงครอบครัวและการซื้อขายหุ้น แท้ที่จริงแล้วน่าจะเป็นสุดยอดของสิ่งที่ คมช.ต้องการเสียด้วยซ้ำ เพราะทำให้สังคมเรียนรู้

 

อย่างไรก็ดี นายเสถียรกล่าวว่า จากที่คุยกับบรรณาธิการ คาดว่าการนำเสนอข่าวของเครือเนชั่นคงไม่ต่างจากเดิม เวลานี้ยังไม่เห็นผลกระทบจากคำสั่ง คงต้องรอดูทิศทางไปสักอาทิตย์หนึ่ง แต่ด้านสื่อกระแสหลักที่เป็นของรัฐ คงต้องถูกแทรกแซงโดยธรรมชาติ

 

"สมัยทักษิณ สื่อถูกแทรกแซง เราต้องทำงานหนัก มาวันนี้ ทีวีและสื่อกระแสหลักถูกสั่ง เราจะยิ่งทำงานหนักเพื่อให้เสียงถูกสะท้อนออกไป ซึ่งไม่ใช่การกลัวเสียพื้นที่พ.ต.ท.ทักษิณ" นายเสถียรกล่าว

 

เขายังทิ้งท้ายว่า หากมีสถานการณ์การครอบงำสื่อเช่นนี้ อาจทำให้ในอนาคต นักข่าวภาคสนามที่มีความเห็นหลากหลายต่อสถานการณ์การเมือง กลับมายืนในหลักเดิมเดียวกัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงสื่อ เหมือนสมัยก่อนหน้านี้ที่นักข่าวไม่ชอบพ.ต.ท.ทักษิณอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งก็เพราะการแทรกแซงสื่อของรัฐบาลที่แล้ว

 

 

 

                                                                                             

ไม่ว่ายุคไหนก็มีการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นลำดับแรกอยู่แล้ว

 

นักข่าวภาคสนามจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กล่าวว่า เป็นข้อสะท้อนว่า คมช. หรือรัฐบาลไม่สามารถกุมสภาพหรือนโยบายหลังการรัฐประหารให้มีความั่นคงปลอดภัยได้ เป็นการสะท้อนความอ่อนแอของ คมช.เองที่เน้นย้ำว่าสิทธิในประชาธิปไตยกับการยึดอำนาจไปด้วยกันไม่ได้จึงเป็นการทำลายตัวเองของคมช.

 

แต่นักข่าวคนเดิมก็กล่าวว่าส่วนตัวแล้วไม่แปลกใจเลยกับเรื่องแบบนี้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะคณะรัฐประหารจะต้องเจอแรงสะเทือนจากผู้เสียอำนาจซึ่งเป็นผู้ที่มาจากการเลือตั้ง ก็ไม่แปลกที่จะต้องเผชิญหน้ากับทั้งกลุ่มทักษิณและกลุ่มมวลชนแบบทั้งใต้ดินและบนดิน คือโดยโครงสร้างแล้วก็ต้องเดินไปแบบนี้ คณะรัฐประหารต้องรักษาอำนาจจึงใช้อำนาจไปละเมิดประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงก็เท่ากับ คมช.ทำลายความชอบธรรมตัวเอง

 

สำหรับในมุมมองของผู้สื่อข่าวภาคสนามมีรูปแบบการทำงานปกติ คือ สามารถเขียนทุกอย่างได้ ส่วนการลงตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเรื่องของหัวหน้าโต๊ะข่าว หรือกองบรรณาธิการ ที่จะพิจารณาประเด็นว่าจะนำเสนอหรือไม่ เดิมทีเป็นแบบนี้ แม้ตอนนี้นักข่าวกระจอก(หมายถึงนักข่าวภาคสนาม)ก็ยังทำเหมือนเดิม อะไรคิดว่าเป็นข่าวก็เขียน

 

"แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจคือไม่ว่ายุคทักษิณหรือยุค คมช.แม้ไม่ต้องมีการบังคับจะทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือการบังคับด้วยคำสั่งหรือการขอร้องของนักการเมือง หัวหน้าข่าวจะมีการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นลำดับแรกอยู่แล้ว"

 

ดังนั้น การแสดงท่าทีของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ หรือสมาคมสายฟ้า (สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย) ต่อกรณีนี้คิดว่าเป็นการฉวยโอกาสในช่วงกระแสขาลงของรัฐบาลและ คมช. ที่ปากว่าตาขยิบ ทั้งที่ผู้ใหญ่เหล่านั้นเคยให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร แต่ในทางปฏิบัติผู้ใหญ่หรือหัวหน้าโต๊ะไม่รู้ว่าเซ็นเซอร์ตัวเองไปแค่ไหนแล้ว แค่ช่วงบรรยากาศอึมครึมหลังรัฐประหารใหม่ๆ พวกนี้ก็พร้อมเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว ในสมัยนักการเมืองใหญ่ เรื่องแบบนี้ก็มีคำครหาไม่ต้องได้เงินหรือคำสั่งก็มีการเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว

 

"ในส่วนตัวแล้ว การทำข่าวที่ไปกระทบนักการเมืองที่มีอำนาจจะไม่ได้ลงข่าวเป็นเรื่องปกติ หลายคนวิจารณ์ในทางนิยมคมช.ว่ามีอำนาจ กล้าหาญ เปิดเผยแต่ในบางมุมล่าช้า พล.อ.สพรั่ง (กัลยาณมิตร) ขอร้องให้ทำตามและขู่ด้วยประกาศ คปค.มาตรา 10 และกฎอัยการศึกมาตรา 11 แบบนี้ ถ้า คมช.เปิดเผยจริงก็ประกาศไปเลยว่าจะเช็คบิลใคร อยากรู้เหมือนกันว่าสื่อจะตอบรับเอาจริงเอาจังหรือไม่"

 

 

 

 

สมานฉันท์ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอนุญาตให้รู้ด้านหนึ่งแล้วปิดอีกด้าน

 

ฟ้ารุ่ง ศรีขาว นักข่าวภาคสนาม หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แสดงความเห็นว่า การออกมาตรการแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม สิ่งที่ควรจะเป็นคือ การเปิดข้อมูลทุกด้านให้คนตัดสินใจเอง มาตรการอย่างนี้ยิ่งทำให้คมช. เสียเปล่าๆ เพราะท้ายที่สุด คนก็เลือกที่จะเชื่อในสื่งที่ตัวเองอยากจะเชื่ออยู่ดี

 

โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าความเป็นกลางจะปฏิบัติได้จริง เพราะสื่อแต่ละสำนักแต่ละองค์กรมีแนวทางของตัวเอง และด้วยความแตกต่างข้อนี้เองที่ทำให้สื่อมีความหลากหลาย คนสามารถรับรู้ได้ เลือกได้ว่า สำนักไหน ฉบับไหนให้ความสำคัญกับอะไร แต่หากรัฐบาลมาจำกัดการรับรู้ โดยจะทำให้สื่อทั้งหมดเลือกนำเสนอบางสิ่งได้และบางสิ่งต้องห้าม ก็เท่ากับต้องการทำให้สื่อเหมือนกันภายใต้การกำกับของรัฐ ผู้รับสื่อไม่มีทางเลือก 

 

"มาตรการนี้หากบังคับใช้จะเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นโดยไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะความสมานฉันท์ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอนุญาตให้รู้ข้อเท็จจริงด้านหนึ่งแล้วปิดอีกด้านหนึ่ง" ฟ้ารุ่ง กล่าว

 

บางคนบอกว่า น่าจะปิดปากสื่อมานานแล้ว เพราะไม่ควรให้ทักษิณมาใช้สื่อฟรีๆ แต่คำถามคือ เราควรตระหนักถึงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อ หรือต้องหวาดกลัวอดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดยอมให้หลักการที่ใหญ่กว่าถูกละเมิดกันแน่? 

 

นอกจากนี้ เมื่อบอกให้ใช้ "วิจารณญาณ" คำถามคือใครจะเป็นคนตัดสินว่า แบบไหนเรียกว่าเสนอข่าวอย่างมีวิจารณญาณหรือไม่มี หากเสนอข่าวโดยไม่ได้เชียร์รัฐบาลจะแปลว่าไม่มีวิจารณญาณและไม่ควรเสนอข่าวหรือเปล่า

 

หน้าที่ของสื่อไม่ใช่การเชียร์หรือปกป้องรัฐบาล คนที่ทำหน้าที่แบบนั้นควรเป็นโฆษกรัฐบาลหรือ โฆษกคมช. มากกว่า ฟ้ารุ่ง กล่าวและว่า "ถ้าคิดว่า สื่อใช้วิจารณญาณไม่เหมาะสม คำถามคือใครจะเป็นคนตัดสินว่าการนำเสนอแบบไหนใช้วิจารณญาณเหมาะสมแล้ว ...คมช. หรือ ประชาชน?"

 

 

 

 

 

 

อ่านข่าวย้อนหลัง

คมช.เรียกสื่อพบ ขออย่าเสนอข่าวทักษิณ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท