Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การรัฐประหารก็คือการเป็นกบฏต่อคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจน เพราะเป็นการกระทำของบุคคลหรือคณะเพียงกลุ่มเดียว และมันมีปัญหาในตัวของมันเองทั้งในแง่ของเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ฯลฯ เพราะประชาชนคนทุกข์ยากได้เรียนรู้แล้วว่าจะไม่อนุญาตให้คณะบุคคลมากำหนดชีวิตเขาอย่างแน่นอน ดังนั้นประชาชนทั้งหลายย่อมมีสิทธิ ที่จะต่อต้านคณะเผด็จการ ได้ในทุกรูปแบบทั้งโดยสงบ สันติและเปิดเผย

ภูมิวัฒน์ นุกิจ ผู้เขียนและเรียบเรียง  

 

ประเทศเป็นของประชาชน อำนาจในการปกครองเป็นของประชาชน และอธิปไตยต่างเป็นของประชาชนเช่นกัน การรัฐประหารคือศัตรูของประชาชน  เนื่องจากการรัฐประหาร คือการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง  ซึ่งการรัฐประหารก็คือการประหารรัฐนั้นเอง โดยคณะผู้ก่อการทุกคณะต่างไม่เคยเชื่อมั่นในการแก้ไขการเปลี่ยนผ่านวิกฤติทางการเมืองโดยพลังของประชาชนเอง  การออกกฏ คำสั่งหรือประกาศต่างๆ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล และขัดต่อสิทธิความเป็นคนโดยธรรมชาติที่จะหายใจ ที่เคลื่อนไหว ที่จะคิด ที่จะเขียน ที่จะอ่าน หรือที่จะพูดคุยสื่อสารกันอย่างมีอารยะในหมู่ประชาชน  พึงตระหนักเถิดว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ปืนทุกกระบอก รถถังทุกคัน ระเบิดทุกลูก เสื้อผ้าที่คณะเผด็จการผู้ก่อการสวมใส่ หรือบ้านพักและรถประจำตำแหน่งฯลฯล้วนมาจากเงินและหยาดเหงื่อของประชาชน 

                               

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนไม่เคยได้อะไรจากการรัฐประหาร สิ่งที่ได้คือความอดอยาก ความหวาดกลัวและการถูกบังคับให้อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของคณะผู้ก่อการทุกยุคทุกสมัย และสิ่งที่ผู้ก่อการพยามทำให้สำเร็จก็คือการโฆษณาชวนเชื่อต่อประชาชน การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง เพื่อมอมเมาประชาชนให้เชื่อ  และสิ่งสำคัญที่คณะเผด็จการผู้ก่อการทุกคณะต้องทำคือการสืบทอดอำนาจของตนเอง เพื่อป้องกันการรัฐประหารซ้อน การถูกเอาคืนเนื่องจากหากการทำรัฐประหารผิดพลาดถือว่าเป็นกบฏต่อรัฐ

 

ในความเป็นจริงการรัฐประหารก็คือการเป็นกบฏต่อคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจน เพราะเป็นการกระทำของบุคคลหรือคณะเพียงกลุ่มเดียว และการรัฐประหารมันมีปัญหาในตัวของมันเองทั้งในแง่ของเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ฯลฯ เพราะประชาชนคนทุกข์ยากได้เรียนรู้แล้วว่าจะไม่อนุญาตให้คณะบุคคลมากำหนดชีวิตเขาอย่างแน่นอน  สิ่งสำคัญอีกประการที่คณะผู้ทำการรัฐประหารต้องทำ ก็คือแสวงหาผลประโยชน์แบ่งเค้กความสำเร็จกันในหมู่พรรคพวกผู้ก่อการ  ดังนั้นประชาชนทั้งหลายย่อมมีสิทธิ ที่จะต่อต้านคณะเผด็จการ ได้ในทุกรูปแบบทั้งโดยสงบ สันติและเปิดเผยดังต่อไปนี้

 

บัญญัติ ๑๔  ประการคัดค้านรัฐประหาร*

ทันทีที่มีการรัฐประหาร  ขอให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันดำเนินการดังต่อไปนี้

๑.      หากหยุดงานได้พร้อมใจกันหยุดงานทั่วประเทศโดยทันที เพื่อเป็นการไม่ให้ความร่วมมือกับคณะเผด็จการผู้ก่อการ

๒.      ออกมายืนตามท้องถนน ถ้ามีการปราบให้สลายตัวกลับเข้าบ้านหรือที่ทำงาน  แล้วจึงออกมาใหม่ หรือให้พยามหลบภัยเข้าไปยังสำนักงานสหประชาชาติ(ประจำประเทศไทย) ให้ได้

๓.      จอดรถ หรือนำสิ่งของทิ้งไว้กลางถนน เพื่อขวางการเคลื่อนย้ายกำลังพล และอาวุธของคณะเผด็จการผู้ก่อการ

๔.     ปฏิเสธคำสั่ง หรือประกาศใดๆ และไม่ให้ความร่วมมือทุกประการแก่คณะรัฐประหาร

๕.     พยายามเป็นมิตรกับทหารที่เป็นลูกหลานของเรา ซึ่งที่เขาไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและชักชวนเขามาร่วมคัดค้านรัฐประหาร

๖.      ยึดมั่นในสันติวิธี ผูกผ้าสีเขียวไว้ที่แขนเพื่อความสมานฉันท์ และเป็นสัญลักษณ์ของสันติวิธี ให้อดกลั้นต่อความโกรธ แม้จะถูกยั่วยุและปราบปราม

๗.     โทรศัพท์  โทรสาร อีเมล์หรือส่งข้อความ หรือใช้วิธีส่งข่าวอื่นๆเพื่อขยายการคัดค้านรัฐประหารให้กว้างขวางออกไปให้มากที่สุด

๘.     คณะผู้ก่อการรัฐประหารเดินทางไปที่ไหนให้ พี่น้องประชาชนที่อยู่ที่นั่น ช่วยกัน   

       ประณาม โดยการก่นด่าหรือตะโกน เพื่อแสดงออกอย่างชอบธรรมว่าประชาชนไม่  

       ยอมรับคณะผู้ก่อการ

๙.      ประณามองค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนหรือองค์กร หน่วยงานต่างๆที่สนับสนุนการ

                 รัฐประหาร

๑๐.  งด หรือไม่ซื้อสินค้าของกลุ่มทุนที่สนับสนุนการรัฐประหาร

 

หากมาตรการขั้นแรกไม่ได้ผลให้ดำเนินการต่อไปดังนี้

๑๑.  ถอนเงินออกจากธนาคารทุกแห่ง

๑๒.ขายหุ้นที่มีอยู่ออกให้หมด และขายเงินบาทไปซื้อเงินดอลล่าร์มาเก็บไว้

๑๓.ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ให้ลาออก หากทำไม่ได้ให้เลี่ยงงานหรือเฉื่อยงาน และช่วยกันส่ง

     ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีอยู่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารของคณะผู้ก่อการให้กับประชาชนที่

      ต่อต้านการรัฐประหาร

๑๔.งดจ่ายภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ

 

 

แนวทางเพื่อการต่อต้านรัฐประหาร

การต่อสู้เพื่อต้านรัฐประหารสามารถกำหนดแนวทางต่างๆที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นพื้นฐานขั้นต้นของยุทธวิธีต่อต้านรัฐประหารให้มีประสิทธิภาพดังนี้ 

            ๑.ไม่ยอมรับการรัฐประหารนั้น และประณามผู้นำกลุ่มรัฐประหารว่าไม่มีความถูกต้องชอบธรรม และสมควรได้รับการปฏิเสธหากก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล การก่นประณามผู้ก่อการนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำที่มีคุณธรรม, ผู้นำทางการเมืองและทางศาสนา,เจ้าหน้าที่รัฐและสมาชิกของสถาบันทางสังคมต่างๆทั้งหมด (อันได้แก่ สถาบันการศึกษา, สื่อมวลชน และการสื่อสาร) รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น ภูมิภาค หรือจังหวัด ตลอดจนประชาชนในภาคส่วนต่างๆ

            ๒. ปฏิเสธที่จะกระทำการใดๆ ที่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร  ทั้งนี้ รวมไปถึงการไม่พยายามให้ผู้นำทางการเมืองที่ถูกกฎหมายไปเจรจาประนีประนอมกับกลุ่มคนเหล่านี้

            ๓.ให้ถือว่าคำสั่งและประกาศต่างๆของคณะรัฐประหาร ที่ขัดแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ต้องให้ความเคารพเชื่อฟัง

            ๔.พยายามให้การต่อต้านทั้งหมดเป็นไปอย่างสันติวิธี เพื่อทำการต่อต้านรัฐประหารอย่างมีประสิทธิผลสูงที่สุด  อย่ากระตุ้นให้เกิดการกระทำอันรุนแรง หรือขาดความรอบคอบสุขุม

            ๕.ปฏิเสธและไม่เชื่อฟังกลุ่มรัฐประหารไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ที่เพื่อสถาปนาตนเองและเข้าควบคุมเครื่องมือของรัฐและสังคม

            ๖.ไม่ให้ความร่วมมือแก่ผู้ก่อการรัฐประหารทุกๆวิถีทาง ผู้จะดำเนินการเช่นนี้หมายรวมไปถึงประชาชนทั่วไป,ผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการทุกคน, ผู้นำทางการเมืองทุกคนของรัฐและพรรคการเมืองทุกพรรครวมทั้งพรรครัฐบาลชุดก่อน,หน่วยงานกลางและหน่วยงานทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง,ทบวง,กรม,กอง ระดับภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กลุ่มสาขาอาชีพและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ, พนักงานทุกคนขององค์กรประเภทสื่อและองค์กรด้านการสื่อสาร,พนักงานทุกคนของระบบขนส่ง, ตำรวจ,ทหารและกรมกองต่างๆในกองทัพ,ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ตุลาการทุกคน,พนักงานในสถาบันการเงินทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่และสมาชิกของสถาบันอื่นๆทั้งหมดของสังคม

            ๗.ไม่ยอมรับคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของคณะรัฐประหาร  แต่ยังคงรักษาหน้าที่ตามปกติของสังคม หากว่าภาระหน้าที่นั้นสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนเกิดรัฐประหาร รวมไปถึงกฎหมาย และนโยบายของรัฐและสถาบันทางสังคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ส่วนภาระหน้าที่ของประชาชนดังกล่าวควรจะดำเนินต่อไป จนกระทั่งและตราบเท่าที่ยังไม่ถูกถอดถอนอย่างชัดแจ้งออกจากสถานที่ทำงาน, สำนักงาน และศูนย์กิจกรรมต่างๆ แต่ถึงกระนั้นก็ควรพยายามดำเนินหน้าที่ในตำแหน่งอื่นๆต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ผู้จะทำตามข้อแนะนำนี้หมายรวมเฉพาะเจ้าหน้าที่ และพนักงานของกระทรวง กรม กองและหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล

            ๘.รักษาหน้าที่ของหน่วยงานด้านการปกครองและหน่วยงานทางสังคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย บางครั้งอาจต้องสร้างองค์กรสำรองที่จำเป็นขึ้นมา เพื่อสืบต่อหน้าที่ขององค์กรที่ถูกทำลาย  หรือถูกคณะรัฐประหารสั่งปิดไป

            ๙.ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่สำคัญแก่ผู้ก่อรัฐประหาร และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐประหาร ถ้าจำเป็นก็ให้ถอดป้ายบอกทาง ชื่อถนน สัญญาณการจราจร เลขที่บ้าน ฯลฯ  ทั้งนี้เพื่อระงับกิจกรรมของคณะรัฐประหารและปกป้องประชาชนไว้ไม่ให้ถูกจับกุม

            ๑๐. ไม่ให้วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่คณะผู้ก่อการ ถ้าเป็นไปได้อาจต้องเก็บซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย

๑๑. " มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์" ด้วยมิตรภาพกับหน่วยงานต่างๆ และกองกำลังทหารที่รับใช้คณะรัฐประหาร  พร้อมๆไปกับการต่อต้านอย่างแข็งขืน อธิบายเหตุผลต่างๆที่จำเป็นต้องต่อต้านรัฐประหารให้พวกเขาทราบ ยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อพวกเขา  พยายามบั่นทอนความเชื่อมั่น และโน้มน้าวให้พวกเขาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต่อต้าน โดยอาจจะเป็นไปในรูปแบบของการจงใจใช้วิธีที่ไม่บังเกิดผลในการปราบปรามประชาชน การส่งผ่านข้อมูลให้แก่ผู้ต่อต้านและอาจถึงขั้นรุนแรง ด้วยการที่เหล่าทหารละทิ้งจากคณะรัฐประหาร และหันมาร่วมต่อสู้เรียกร้องสันติภาพอย่างสันติวิธีกับกลุ่มผู้ต่อต้าน โดยพยายามชักชวนให้เหล่าทหารและหน่วยงานต่างๆที่จำเป็น หันมายึดมั่นในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายก่อนหน้านี้

            ๑๒.ปฏิเสธที่จะช่วยคณะรัฐประหารทำการเผยแพร่คำโฆษณาชวนเชื่อ

            ๑๓.บันทึกกิจกรรมและการปราบปรามประชาชนของคณะรัฐประหารทั้งในรูปเอกสาร เสียง และแผ่นฟิล์ม พยามยามรักษาหลักฐานเหล่านี้ไว้และแจกจ่ายข้อมูลออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งส่งให้แก่ผู้ต่อต้าน ส่งให้นานาประเทศ สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ และส่งถึงผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารนั้นด้วย

            ๑๔.จัดสัมมนาวิชาการหรือจัดอภิปรายในสถาบันการศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเริ่มจากเล็กๆและขยายไปใหญ่สู่สาธารณะชนในสังคม

            ๑๕.แจกจ่ายเผยแพร่ ใบปลิว ข้อความที่คัดค้านการรัฐประหาร และความไม่ชอบธรรมของคณะเผด็จการรัฐประหารรวมถึงส่งแฟกซ์ อีเมล์ ข้อความ สติ๊กเกอร์ หรือติดธง หรือสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารไว้กับเสารับสัญญาณวิทยุของรถหรือตามสี่แยกไฟแดงต่างๆ

            ๑๖.พยามอย่ารวมศูนย์การจัด การอภิปรายต้านรัฐประหารไว้ในที่เดียวกัน หรือที่ใดที่หนึ่ง การจัดอภิปรายต้านรัฐประหารควรเป็นไปอย่างดาวกระจาย กว้างขวางและเกิดขึ้นได้ทุกที่ เพื่อยากต่อการปรามปราบของคณะผู้ก่อการ

            ๑๗.ใส่เสื้อหรือสะพายกระเป๋า หรือติดเข็มกลัดที่มีข้อความแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหาร ไปในทุกที่ ที่เดินทาง

            ๑๘.หากมีเพื่อน หรือญาติพี่น้องอยู่นอกประเทศให้ช่วยกันกระจายข่าวออกไป และให้ช่วยกันต้านรัฐประหารในที่นั้นๆ

            ๑๙.ไม่ทำลาย สถานที่ราชการ และช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อนๆที่ต่อต้านรัฐประหารให้สำเร็จ

 

หยุด!เผด็จการรัฐประหาร  อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

 

*หมายเหตุ

-ข้อมูลบางส่วนเรียบเรียงจากหนังสือ "ต้านรัฐประหาร:ยีน ชาร์ป เขียน,นุชจรีย์ ชลคุป แปล"  และอีกบางส่วนมาจากการเข้าร่วมศึกษาและเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มคนจนที่ถูกรัฐ เอารัดเอาเปรียบ ในนามแห่งสงครามเพื่อการพัฒนาของรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net