Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 ม.ค. 2550 วานนี้ (11 ม.ค.) คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดประชุมเรื่องเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือที่ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไท-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยมีคณะเจรจาจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงต่างๆ รวมทั้ง กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอว็อทช์) ร่วมให้ข้อมูล


 


เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ได้เจรจาเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 และเป็นฉบับเดียวที่คณะรัฐมนตรีเห็นควรว่าจะเดินหน้าต่อ โดยขั้นต่อไปจะนำเข้าสู่ สนช. เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ


 


เสนอรัฐบาลชั่วคราวอย่าลงนาม ไปทำกฎหมายสร้างกติกาเอฟทีเอดีกว่า


อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์มีข้อเรียกร้องให้เปิดเผยตัวบทข้อตกลงต่อสาธารณะเนื่องจากมีความกังวลใจในหลายประเด็นทั้งเรื่องสาธารณสุข สิทธิบัตร โดยเฉพาะขยะพิษที่จะไหลเข้ามาไทย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลชั่วคราวนี้ดำเนินการยกร่างกฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


 


ทั้งนี้ หน่วยงานที่กำลังยกร่างกฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในขณะนี้คือ กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ นำโดยเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำโดยสมเกียติ ตั้งกิจวานิชย์ และจันจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


การประชุมดำเนินไปกว่า 3 ชั่วโมง ในท้ายที่สุดนายณรงค์ โชควัฒนา ประธานในที่ประชุมได้สรุปมติของคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมในเบื้องต้นคือ 1.คณะเจรจาควรมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ เพิ่มเติมให้กว้างขวางกว่าเดิม 2. มีการเรียกร้องให้เปิดร่างข้อตกลง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมศึกษา 3. คณะกรรมาธิการจะทำหน้าที่แจกจ่ายผลการะประชุมโดยละเอียด โดยเฉพาะแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ส่วนจะมีการออกพ.ร.บ.เจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ คงต้องแล้วแต่รัฐบาล


 


สำหรับรายละเอียดการพูดคุยนั้น กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์มีข้อเสนอและความกังวลดังนี้


 


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าไม่มีส่วนพิจารณาและร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อตกลงเพื่อให้ช่วยกันคิดอย่างรอบด้านโดยอ้างเรื่องกฎหมายรักษาความลับอย่างไม่สมเหตุสมผล การทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.49 ก็เป็นไปเพียงสั้นๆ ไม่เปิดกว้าง และดูเหมือนการทำประชาพิจารณ์ในสถานการณ์ที่มีธงอยู่แล้วจะไร้ประโยชน์ควรหาเครื่องมืออื่นๆ ส่วนการให้เอฟทีเอว็อทช์ไปเปิดดูตัวบทได้ที่กระทรวงแต่ห้ามนำออกมาศึกษาและเผยแพร่นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสาธารณะ ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ อีกทั้งเอฟทีเอว็อทช์ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด


 


"การว่าจ้างให้ศึกษาผลกระทบตรงๆ ไม่เพียงพอ เพราะมันมีการทรานฟอเมชั่น หรือการเปลี่ยนรูปของผลกระทบในทางสังคมด้วย" เจริญ คัมภีรภาพกล่าว


 


เช่นเดียวกับจักรชัย โฉมทองดี นักวิชาการโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา จุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ปัญหาอยู่ที่กระบวนการเจรจาและการสร้างความตกลง ทั้งในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าจะใช้วิธีอะไร เมื่อไร ตลอดจนการศึกษาวิจัย เรื่องเหล่านี้น่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นที่จะทำให้ไทยไม่สามารถใช้มาตรการปกป้องภายในประเทศได้ ไม่ว่าปัญหาจะมาจากการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย


 


ห่วงเปิดช่องอนุญาตยุ่นจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ในข้อตกลงว่า แม้คณะเจรจาจะระบุว่าเรื่องนี้จะไม่เกินเลยจากกรอบของการค้าโลก และไม่ได้ให้อะไรญี่ปุ่นในเรื่องนี้ แต่ในมาตรา 130 ข้อ 3 นั้นกลับระบุว่าภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าจะไม่ปฏิเสธการขอจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ที่เกิดจากธรรมชาติ อย่างนี้เท่ากับบีบให้ไทยอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรยีนหรือสารสกัดอื่นใดของยีนจุลินทรีย์ตามธรรมชาติได้ ทั้งที่กฎหมายของเราไม่อนุญาต


 


เขายืนยันด้วยว่า เรื่องสิทธิบัตรจุลินทรีย์นี้ แม้แต่ข้าราชการเจ้าของเรื่องอย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน และมีความเห็นแตกต่างจากหัวหน้าคณะเจรจา โดยจากการหารือกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่ยืนยันกับเขาว่า การเขียนข้อตกลงเช่นนี้จะกระทบดุลยพินิจในการให้สิทธิบัตรแน่นอน


 


"เรื่องทรัพยากรชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญและการตีความข้อตกลงก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก อย่าลืมว่าทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐ มีศักยภาพในการวิจัยเรื่องนี้สูงมาก ในเมื่อเราบอกว่าไม่มีอะไรมากกว่าดับบลิวทีโอผมขอเสนอให้ตัดข้อนี้ทิ้งไปเลย" วิฑูรย์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างเปล้าน้อยและฤาษีดัดตนที่ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรไป รวมถึงกรณีมะละกอจีเอ็มโอซึ่งมีการใช้ไวรัสสายพันธุ์ไทยและนักวิจัยไทยร่วมวิจัยด้วย แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลของสหรัฐก็ได้จดสิทธิบัตรไปแล้วเช่นกัน


 


เปิดข้อมูลสารพัดขยะอันตราย กลายเป็น "สินค้า" ได้ลดภาษี


เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมกล่าวถึงประเด็นขยะพิษว่า ในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ได้ทำให้ขยะพิษกลายเป็นสินค้า ซึ่งในรายการสินค้าที่จะได้รับการลดภาษีนั้นมีขยะหลายประเภทไม่ว่า ขี้แร่ เถ้าอื่นๆ เถ้าสาหร่ายทะเล ขยะเทศบาล เศษน้ำมันตางๆ ของเสียทางเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์ที่เหลือหรือของเสียจากอุตสาหกรรมเคมีหรือุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ตะกอนจากน้ำเสีย ของเสียจากสถานพยาบาล เป็นต้น


 


ต่อคำถามที่ว่าทำไมจึงต้องห่วงว่าการลดภาษีเหล่านี้จะจูงใจให้ขยะพิษจากญี่ปุ่นไหลมายังไทย เพ็ญโฉมชี้ว่า เพราะปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาขยะเข้าขั้นวิกฤต มีพื้นที่ฝังกลบน้อยมากขณะที่มีขยะเทศบาลปีละ 50 ล้านตัน ขยะอุตสาหกรรมปีละ 400 ล้านตัน เปรียบเทียบกับไทยมีขยะอุตสาหกรรมเพียงปีละ 7 ล้านตัน โดยที่ญี่ปุ่นไม่มีแม้แต่คลังจะกักเก็บขยะเพื่อการแปรรูป ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นถูกชุมชนฟ้องร้องเกี่ยวกับที่ทิ้งขยะจำนวนหลายคดี


 


ขณะเดียวกันในกฎหมายระหว่างประเทศที่จะจำกัดไม่ให้มีการขนขยะอันตรายจากประเทศอุตสาหกรรมไปประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่นก็ไม่ลงนามและคาดว่าจะไม่มีการลงนามใดๆ เพราะญี่ปุ่น สหรัฐ และแคนาดาเป็นประเทศหลักที่คัดค้านเรื่องนี้ นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการผลักดันการค้าการลงทุนเรื่องขยะรีไซเคิลในเอเชียด้วย


 


สำหรับประเทศไทยเพ็ญโฉมกล่าวว่า แม้จะมีพ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมอยู่ ก็เป็นเพียงการดูแลของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ และยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายและปัญหาการบังคับใช้อยู่มาก หากจุดตรวจศุลกากรไม่แจ้งกรมโรงงานก็จะไม่มีการติดตามขยะนำเข้าไปจนถึงปลายทาง


 


"เราไม่ได้ต่อต้านทั้งหมด แต่มันจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมผลกระทบ และแนวโน้มเรื่องนี้อย่างจริงจัง" เพ็ญโฉมกล่าว


 


หัวหน้าคณะชี้เปิดข้อมูลที่สุดแล้ว เอ็นจีโอไม่เดินเข้ามาชี้แจงเอง


ในส่วนการชี้แจงของคณะเจรจานั้น พิศาล มาณพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจา JTEPA กล่าวว่า เรื่องการเปิดเผยข้อมูลนั้นได้ทำมาตลอดทั้งการจัดพิมพ์เอกสาร การชี้แจง และการเชิญให้ไปดูตัวบทที่กระทรวง โดยขณะนี้ได้จัดพิมพ์ตัวบททั้งหมดไว้แล้ว 500 เล่มเพื่อจะนำมาแจกให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติ แต่สมาชิกบางท่านแนะนำว่าควรแจกกรรมาธิการที่สำคัญๆ ก่อน นอกจากนี้ยังเปิดให้เอฟทีเอว็อทช์เข้าไปดูตัวบทฉบับเต็มได้ และยินดีพูดคุยแต่ทางกลุ่มก็ไม่เคยเข้าไปพูดคุย นอกจากการถกเถียงกันทางเวทีสาธารณะเท่านั้น


 


นอกจากนี้หัวหน้าคณะเจรจายังแสดงความสนใจที่จะจัดเวทีร่วมกันระหว่างอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา คณะเจรจาและเอ็นจีโอ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรชีวภาพเพื่อหาข้อยุติในเรื่องสิทธิบัตรจุลินทรีย์ด้วย โดยพิศาลระบุว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ลงนาม ก็ไม่มีอะไรบังคับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ยกเรื่องใดๆ กลับมาพิจารณาใหม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องตระหนักด้วยว่ามันจะเปิดโอกาสให้เขาได้ทบทวนสิ่งที่เขาเสียเปรียบด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เขาจึงเห็นว่าการเจรจาใหม่เพื่อทบทวนข้อตกลงเป็นช่องทางสุดท้าย เพราะยังมีช่องทางอื่นไม่ว่ากลไกทบทวนหลังจากลงนามแล้ว การจัดทำจดหมายแนบ หรือแม้กระทั่งการยกเลิกข้อตกลงหลังบังคับใช้แล้ว 1 ปี


 


"วีรชัย" ตอบข้อกังวล


ในส่วนการตอบข้อซักถาม วีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การที่ตัวบทข้อตกลงต้องเป็นความลับจนกว่าจะลงนามนั้น เนื่องจากเป็นประเพณีแนวปฏิบัติของไทยมาโดยตลอด ทั้งยังสอดคล้องกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ในโลก โดยมีเหตุผลทางการทูตว่าสองประเทศต้องไว้ใจซึ่งการและกัน ทางญี่ปุ่นเองก็ไม่มีการเปิดเผยข้อตกลงจนกว่าจะลงนามเช่นกัน


 


ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ข้อกังวลว่าจะมีผลต่อดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องเข้าใจผิด ข้อตกลงระบุเพียงขั้นตอนของการยื่นเท่านั้น ส่วนการรับพิจารณาอนุญาตให้จดหรือไม่ยังคงเป็นสิทธิของไทยเช่นเดิม ในเรื่องนี้เราไม่เสียอะไรเลยนอกจากที่เป็นพันธกรณีในองค์การการค้าโลกอยู่แล้ว


 


ส่วนเรื่องขยะ ความตกลงฉบับนี้ไม่ได้ให้สิทธิญี่ปุ่นในการส่งออกขยะมายังประเทศไทย และไม่ได้สร้างพันธกรณีใดให้ไทยต้องรับขยะจากญี่ปุ่น สิ่งที่ตกลงกันคือ หากไทยจะรับอะไรจะเก็บอากรเท่าไร


 


"ถ้าอันไหนเข้าไม่ได้ก็เข้าไมได้ ไม่ว่าภาษีมันจะเป็นเท่าไรก็ตาม การพิจารณาเป็นไปตามกฎหมายไทย กฎหมาย และกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงข้าราชการก็มีอำนาจเหมือนเดิมทุกประการ" วีรชัยกล่าวพร้อมระบุว่า นอกจากนี้ยังมีก๊อกที่สามคือข้อกำหนดของดับบลิวทีโอที่จะให้ยกเว้นจากพันธกรณีได้ หากพบว่ามันกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของพืช สัตว์และมนุษย์ ก็สั่งห้ามนำเข้าได้ทันที


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net