Skip to main content
sharethis

"หมอพลเดช" เสนอใช้โมเดลองค์กรอิสระแก้ปัญหาภาคใต้ ตั้ง "ทบวงกิจการ 3 จังหวัด และคณะกรรมการกอส.ภาค 2" ดึงชุมชนท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการแก้ปัญหาไฟใต้ และเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีการสื่อสารระหว่างคนในพื้นที่และสังคมเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ระบุเฉพาะหน้าหากจะหยุดความรุนแรงต้องอาศัยพระบารมีในหลวง

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
 

 

"หมอพลเดช" เสนอใช้โมเดลองค์กรอิสระแก้ปัญหาภาคใต้ ตั้ง "ทบวงกิจการ 3 จังหวัด และคณะกรรมการกอส.ภาค 2" ดึงชุมชนท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการแก้ปัญหาไฟใต้ และเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีการสื่อสารระหว่างคนในพื้นที่และสังคมเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ระบุเฉพาะหน้าหากจะหยุดความรุนแรงต้องอาศัยพระบารมีในหลวง ชี้การต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นขบวนการชาวบ้าน มั่นใจขบวนการฯ ไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ย้ำอุปสรรคใหญ่คืออคติของคนในชาติ ต้องหาทางออกเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่การปราบปราม พร้อมเสนอตั้งทบวงกิจการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในขณะที่ "พิภพ ธงไชย" ร่วมสนับสนุน กระตุ้นรัฐบาลชุดนี้สามารถใช้ สนช. ทำได้ในทันที

 

เช้าวันนี้ (14 ..) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวที "ราชดำเนินเสวนา" ในหัวข้อ "คิดเพื่อ 3 จังหวัดใต้" โดยมี รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), นายพิภพ ธงไชย อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส ) และ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ร่วมการเสวนา

 

"ผมคิดถึงการสร้างนวัตกรรมรูปแบบการบริหารเพื่อแก้ปัญหาแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ ศอ.บต. ผมคิดถึงทบวงกิจการ 3 จังหวัดชายแดนใต้" นพ.พลเดช  กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อตั้งทบวงกิจการ 3 จังหวัด 1ใน 4 ข้อเสนอสำหรับทางออกจากปัญหาภาคใต้ โดยที่ทบวงดังกล่าวต้องมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ต้องเชื่อมโยงชุมชนได้ ยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ได้ ชุมชนต้องมีส่วนร่วม และไม่ไปรื้อกลไกที่มีอยู่เดิม

 

"ผมเสนอว่า กลไกที่ทบวงนี้น่าจะมีคือ หนึ่ง สภาผู้ชำนาญการศาสนาอิสลามท้องถิ่น ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของชุมชนโดยตรง ไม่ใช่มาจากผู้นำมัสยิด ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการปกครองท้องถิ่นทุกระดับ นอกจากนี้สภาผู้ชำนาญการศาสนาอิสลามท้องถิ่นยังต้องดูแลเรื่องการจัดการศาสนาอิสลามขั้นสูง รวมทั้งเป็นกลไกในการกลั่นกรองรัฐมนตรีของทบวงที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ด้วย"

 

"ส่วนกลไกที่สองที่น่าจะมี คือ สภาที่ปรึกษาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และกลไกที่สาม คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูในลักษณะองค์การมหาชน ซึ่งทบวงฯ จะยึดโยงทั้งสามหน่วยนี้ไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ ทบวงฯ ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ต้องมีความเป็นอิสระ ถ้าเราสร้างนวัตกรรมแบบนี้ได้และประกาศความมุ่งมั่นออกไป จะส่งผลในทันที แต่คำถามคือ รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีใจและมีภูมิปัญญาแค่ไหน" เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว

 

นอกจากนี้ เลขานุการรมว.พัฒนาสังคมฯ ซึ่งคร่ำหวอดในงานด้านประชาสังคมยังเห็นว่า สำหรับสังคมใหญ่ จำเป็นต้องส่งสัญญาณหยุดการต่อสู้ไปจากนอกพื้นที่ โดยบุคคลที่มีบารมีสะสมจริงๆ มีพลังคุณธรรมที่มากพอ จึงจะสามารถบอกสังคมใหญ่ให้เย็นลงและมีสติได้

 

"ซึ่งผู้ที่จะส่งสัญญาณนี้ได้  ผมคิดว่ามีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว หรือเป็นกลุ่มคนที่มีบารมีมากพอ อาจจะต้องใช้ถึงร้อยพลเอกเปรม พันหมอประเวศ หรือมิเช่นนั้นก็อาจจะต้องใช้ลักษณะกลุ่มที่เป็นองค์กรบวกด้วยอำนาจรัฐและการสื่อสารสาธารณะ ซึ่งผนเสนอให้มีองค์กรอิสระเพื่อความสมานฉันท์ คล้าย กอส. แต่ต้องคิดใหม่ หรือคิดให้เป็น กอส. Episode 2"

 

ส่วนข้อเสนอที่สามนั้น นพ.พลเดช ย้ำว่าต้องเริ่มทำวันนี้ในทันทีเช่นกัน เพื่อผลในระยะยาว นั่นคือใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องออกแบบการปกครองท้องถิ่นที่สอดคลองกับภูมิวัฒนธรรม โดยอาจจะเรียกว่าเทศาภิบาล หรือมณฑล ซึ่งต้องเสนอให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อทำทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

และข้อสุดท้าย ต้องสนับสนุนพลังสายกลางในพื้นที่ ทั้งในส่วนงบประมาณและการสนับสนุนด้านอื่นๆ ให้พลังสายกลางในพื้นที่สามารถสร้างความเคลื่อนไหว เปิดพื้นที่ในการสานเสวนา สร้างทางเลือกในการอยู่ร่วมกันได้

 

 

ชี้คิดเอาชนะด้วยกำลังต้องสูญเสียอีกเยอะ
นพ.พลเดชกล่าวว่า จากประสบการณ์การพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เห็นว่าการต่อสู้ที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ในรูปแบบที่เป็นความรุนแรง แต่ถึงจะเป็นการต่อสู้ด้วยความรุนแรง ก็ยังมองว่าเป็นคนไทยด้วยกัน คือเป็นร่างกายเดียวกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะกัน แต่เป็นการหาทางออกเพื่อการอยู่รอดด้วยกันทั้งหมด



"แท้ที่จริงแล้วการต่อสู้ที่เกิดขึ้นเป็นแค่การต่อสู้ของชาวบ้านเท่านั้น เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราหาทฤษฎีชี้นำไม่เจอ การต่อสู้ของชาวบ้านไม่มีทฤษฎีรองรับเลย เทียบการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ได้ แล้วเขาต่อสู้เพื่อธงอะไร นั่นคือธงแยกดินแดง โดยอาศัยประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา เป็นเครื่องมือปลุกชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง" นพ.พลเดช สรุป และว่า

 

"เมื่อไม่มีทฤษฎีการต่อสู้ จึงเป็นการต่อสู้ที่ขมขื่น มันมีความขมขื่น ความคับแค้นร่วม คล้ายๆ เด็กนักเรียนอาชีวะที่ลุกขึ้นมาร่วมกันสู้ ถ้ายิ่งสังคมไม่เข้าใจ ไม่ละเอียดอ่อน จะยิ่งแย่ การต่อสู้แบบนี้เป็นเหมือนการอาละวาดของเด็กเกเร ถ้าสังคมใหญ่ยิ่งไม่เข้าใจ เขาจะยิ่งอาละวาดสุดๆ และบังเอิญว่าการต่อสู้ของชาวบ้านนี้มันเป็นขบวนการต่อสู้ขนาดใหญ่ที่เป็นพันชุมชน หมื่นครอบครัว แสนเกือบล้านคน และการต่อสู้ในรูปแบบนี้ ชาวบ้านเขาไม่กลัวตาย"

 

นพ.พลเดช กล่าวต่อไปว่า ตนเชื่อว่า ขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านรู้ทั้งรู้ว่าแยกดินแดนไม่สำเร็จ และลึกๆ ในใจก็ไม่ได้อยากแยกตัวออกไป เขารู้สึกว่าเป็นครอบครัวใหญ่ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ ยิ่งอยู่ยิ่งทุกข์ และเกิดความรังเกียจกัน มันจึงต้องมีสองทางเลือกคือ แยกตัวหรือตายจากกันไป โดยที่ในขณะนี้ กำลังพลของขบวนการฯ กำลังฮึกเหิมจากผลงานในช่วงสามปี แต่ตนมองว่าแกนนำขบวนการฯ ก็รู้สึกอ่อนล้า จากการกดดันอย่างหนักของฝ่ายรัฐในตลอดเวลาที่ผ่านมา

 

"ส่วนฝ่ายอำนาจรัฐเองนั้นก็กำลังพยายามควบคุมสถานการณ์การอาละวาด ดูจากฝีมือ ผมว่ารัฐเอาไม่อยู่ กองกำลังฝ่ายรัฐไม่น่าที่จะเข้าขย่มแล้วจัดการด้วยความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามความสะใจของสังคมใหญ่ได้ ดังนั้นผมจึงเป็นห่วงว่า สังคมใหญ่ในปัจจุบันกำลังปฏิเสธชาวบ้านกลุ่มนี้ แยกเขาไปเป็นอื่นแล้ว มีความรู้สึกเกลียดกันไปแล้ว เมื่อสังคมใหญ่เป็นเช่นนี้ ผลก็คือการเชียร์ให้รัฐส่งกำลังทหารลงไปจัดการ ในขณะที่ฝ่ายขบวนการชาวบ้านก็คิดว่า ไหนๆ ก็เกลียดกันแล้ว ก็สู้กันไปอย่างนี้ แล้วใครก็ตามที่เข้าไปห้ามมวย ก็เสี่ยงต่อการถูกถล่มจากทั้งสองฝ่ายอย่างมาก" นพ.พลเดช กล่าว

 

อดีตคณะทำงานเรื่องเยียวยาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้นี้ ยังวิเคราะห์ทางออกซึ่งแบ่งเป็น 4 ปัจจัย อันได้แก่ ขบวนต่อสู้ของชาวบ้านในท้องถิ่น อำนาจรัฐ สายกลางของประเทศ และสังคมใหญ่ โดยเห็นว่า

 

หนึ่ง ขบวนต่อสู้ของชาวบ้านในท้องถิ่น ถึงแม้จะปักธงแบ่งแยก แต่ขบวนการฯ ก็รู้ว่าเขาไปไม่ถึง ถึงเขาจะร้ายสุดๆ แต่เขาก็กุมมวลชนได้มาก เขาอาจจะถูกเด็ดไป ตายไป ในการต่อสู้ แต่กำลังหนุนเนื่องก็มีมาตลอด ใครจะมากำราบโดยใช้กำลังเข้าหัก ก็อาจจะยึดพื้นที่ได้ แต่ยึดคนไม่ได้ ฆ่าคนได้ แต่ฆ่าความคิดไม่ได้ ถ้าสู้กันไปแบบนี้ ด้วยฐานมวลชนแบบนี้ ตนคิดว่าในเวลานาน 5 ปี เขาจะยืนสู้กับรัฐได้

 

สอง อำนาจรัฐ ตนคิดว่าฝ่ายรัฐมืออ่อน ภูมิปัญญาการจัดการมีข้อจำกัดมาก การทำงานในช่วงที่ผ่านมาของฝ่ายความมั่นคงมันบ่อนเซาะตัวเอง การข่าวหมดสภาพ ศอ.บต.เหมือนยาเฉพาะที่ที่ดูเหมือนได้ผล แต่มันจะไม่ได้ผลอย่างที่ใจเราคิด เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไป เมื่อประมวลดูแล้ว ตนคิดว่าอำนาจรัฐเอาชนะเด็ดขาดขบวนการของชาวบ้านไม่ได้ จะมีลูกหลานไทยจาก 73 จังหวัดถูกส่งไปแล้วล้มตายกันมากขึ้น ความเกลียดชังจะมากขึ้น ปัญหาจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น

 

"ปัจจัยที่สาม พลังสายกลาง ผมคิดว่าน่าจะเป็นทางออก แต่โชคไม่ดี พลังสายกลางในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งผมหมายถึงภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว พลังเขาอ่อนแอมากและเสี่ยงภัยสูง ไม่มีระบบสนับสนุนที่เป็นเรื่องราว ส่วนพลังสายกลางนอกพื้นที่ก็ยังไม่มีบารมีพอที่จะทำให้สังคมใหญ่ซึ่งกำลังเพาะความเกลียดชังได้สติ

 

ส่วนปัจจัยที่สี่ คือ สังคมใหญ่ ขณะนี้ก็เป็นปัจจัยที่จะแก้ไขปัญหาได้ยากมาก เพราะสังคมใหญ่ตอนนี้ตกอยู่ในกระแสความเกลียดชังแบบเหมารวม" นพ.พลเดช วิเคราะห์

 

 

อดีตกอส.รับสถานการณ์แย่ลง

นายพิภพ ธงไชย อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของ นพ.พลเดช และวิจารณ์ว่าเป็นทางออกที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดถึงการนำข้อเสนอไปปฏิบัติแล้วมองไปสู่อนาคตข้างหน้า ตนยังไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเข้าใจเรื่องจังหวัดชายแดนใต้แค่ไหน ซึ่งหากนายกฯ คนใหม่ไม่เข้าใจก็จะถูกข้าราชการครอบงำ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาข้าราชการทำงานแบบแบ่งฝ่าย และล้มเหลว

 

นายพิภพ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ขณะนี้การเผชิญหน้ากำลังจะพัฒนาไปเป็นแบบค่านิยมมากขึ้น ระหว่างผู้นับถือพุทธกับอิสลาม และความขัดแย้งจะออกมานอกพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ตนก็กลัวว่าจะกลายเป็นแบบศาสนานิยมมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะพยายามสร้างให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

 

"สิ่งที่น่าวิตกต่อไป นอกจากความคิดแบบชาตินิยมก็คือ งานสังคมสงเคราะห์เริ่มทำงานไม่ได้แล้ว ขณะนี้คนทำงานสงเคราะห์หรือพลังสายกลางเข้าพื้นที่ไม่ได้ งานช่วยเหลือคนในพื้นที่ไปช้า กองทุนจากรัฐบาลที่เคยมีก็หายไปแล้ว ซึ่งเรื่องของกองทุนนั้นจำเป็นมาก เพราะมันแสดงว่ารัฐบาลกลางใส่ใจพวกเขาโดยเท่าเทียมกัน" เขากล่าว

 

นายพิภพ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือ ปัจจุบันนักรบจรยุทธ์ในพื้นที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ความคิดขยายตัวเร็วมาก ถ้าความคิดความรุนแรงแบบนี้ขยายไป จะเป็นอันตรายมาก ในขณะที่เราเชื่อกันว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ถ้าสถานการณ์เป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ มันก็อาจจะเป็นไปได้ โดยตนมองว่า การก่อการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ขบวนการฯ ทำโดยไม่นึกถึงความรู้สึกของคนภาคอื่น อันจะนำมาสู่การตั้งคำถามของประชาชนทั่วไปว่ารัฐไม่สามารถดูแลประชาชนได้ ซึ่งสะท้อนว่าอำนาจอธิปไตยมีปัญหา

 

"ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งนำมาสู่การตั้งรัฐบาลใหม่ ดูเหมือนว่าจะมีคนพร้อมทำงานมากสุด เก่งที่สุด มาร่วมกันมากที่สุด แต่ผมคิดว่ายังมีข้อจำกัดที่ทำให้เราแก้ปัญหาไม่ได้ในระบบแบบไทย เช่น ความซ้ำซ้อนของระบบราชการไทยในการจัดการกับสถานการณ์ การสืบสวนที่ไม่สามารถไปถึงต้นตอผู้นำหรือข้าราชการที่มีอิทธิพล 

 

นอกจากนี้ กรอบคิดในกระบวนการยุติธรรมก็ยังเป็นแบบราชการ อีกทั้งงบประมาณต่างๆ ที่ลงไปก็มีการคอรัปชั่น เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคใหญ่ในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้"

 

นายพิภพ กล่าวต่อไปถึงประเด็นการตีความศาสนาที่นำไปสู่ความรุนแรงว่า จริงๆ แล้วมีคนมุสลิมจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย แต่เขามีพื้นที่ไม่มากพอ เราจึงต้องมีพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เช่น การที่ กอส.กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือ พิมพ์แห่งประเทศไทยจัดตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้นมา เป็นการเปิดพื้นที่ข่าว แต่น่าเสียดายที่ศูนย์ข่าวอิศราไม่สามารถใช้พื้นที่ในสื่อทีวีได้ จึงไม่มีพลังมากพอที่จะสื่อสารไปยังผู้คนทั่วประเทศ

 

"ความน่าวิตกอีกประการ คือแม้แต่ชนชั้นนำไทยก็ยังไม่เข้าใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้ชัดเจนเมื่อ กอส. เสนอให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาใช้งาน ก็มีชนชั้นนำไทยออกมาสวนกลับทันที ฉะนั้นถ้าแม้แต่ชนชั้นนำไทยซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายยังไม่เข้าใจ จึงยากที่จะแก้ไขปัญหา" เขาแสดงความกังวล

 

ทั้งนี้ เพื่อการแก้ไขปัญหา นายพิภพ เสนอว่า การจัดกำลังโต้ตอบฝ่ายก่อการต้องมีประสิทธิภาพ และต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมายไทย ส่วนเรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้นก็ต้องใช้ลักษณะพิเศษ โดยต้องมีความชอบธรรมและสนใจความรู้สึกของคนในพื้นที่ ภายใต้ขอบเขตกฎหมายที่มีอยู่ด้วย

 

ข้อเสนอต่อไปคือ การฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัยความรุนแรงในพื้นที่ต้องทำขนาดใหญ่ แบบเดียวกับที่ทำในกรณีสึนามิ ซึ่งจะได้ใจคนมาก ส่วนการจัดตั้ง ศอ.บต. ขึ้นมาใหม่นั้น ตนเห็นด้วยว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะสุดท้ายจะไปอยู่ในระบบราชการ โดยตนเห็นด้วยกับ นพ.พลเดช ที่เสนอที่ให้มีการตั้งองค์กรอิสระในลักษณะคล้าย กอส. ขึ้นมาพร้อมกระบวนการคิดใหม่

 

นายพิภพ ยังเสนอว่า น่าจะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระในการแก้ไขปัญหาของกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระในการแก้ปัญหาทุจริต นอกจากนี้ก็ต้องมีการเปิดพื้นที่เสรีภาพให้คนสายกลาง มีการออกแบบการบริหารการจัดการชุมชนใหม่ มีการใช้กระบวนการกฎหมายในการแก้ปัญหาแทนความรุนแรงหรือใช้รัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหา

 

โดยท้ายที่สุดนั้น อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติกล่าวว่า ข้อเสนอในการจัดตั้งทบวงฯ ของ นพ.พลเดชนั้นมีแนวทางเดียวกันกับข้อเสนอของ กอส. โดยในส่วนของพ...ดับไฟใต้ที่ กอส. เคยเสนอนั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันสามารถให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ออกมาเป็นกฎหมายได้เลย นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้และน่าจะทำ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net