Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐบาลที่แล้วมีโครงการขยายปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่ "มาบตาพุด" ขณะที่การศึกษาของหลายหน่วยงานชี้ชัดว่าผู้คนที่นั่นสุดสะบักสบอมจากมลพิษ จึงมีข้อเสนอให้ประกาศเป็น"เขตควบคุมมลพิษ" แต่ล่าสุด เมื่อ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ยังคงให้ตั้งอนุกรรมการศึกษาเรื่องนี้อีก 1 ปี... "เดชรัตน์ สุขกำเนิด" รวบรวมภาพรวมความบอบช้ำนำเสนอสำหรับอีก 1 ปีที่แสนยาวนาน

 

เดชรัตน์  สุขกำเนิด

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

มาบตาพุดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย ทั้งในแง่ของความใหญ่โตของเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในแง่ของมลพิษที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนที่อยู่รอบข้าง

 

ภาพของครูและนักเรียนที่ต้องปิดปากปิดจมูกในช่วงเวลาเรียน และภาพของนักเรียนที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ในปีพ.ศ.2540 เป็นสิ่งที่บอกสังคมไทยถึงความรุนแรงของมลพิษจากอุตสาหกรรม และในที่สุดในโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารก็ต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมเพื่อหนีมลพิษอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ดี นับจากนั้นเป็นต้นมา มาบตาพุดก็ค่อยๆ เลือนไปจากความสนใจและความห่วงใยของสังคมไทย ราวกับว่า ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมนั้นได้บรรเทาไปแล้ว ดังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามพร่ำบอก

 

แต่ความเป็นจริง ม่านควันมลพิษไม่เคยเลือนหายไปจากพื้นที่และชีวิตของชาวมาบตาพุด ตรงกันข้าม อุตสาหกรรมที่เป็นแห่ลงกำเนิดมลพิษในพื้นที่ยังคงเพิ่มขึ้น  และเพิ่มขึ้น จนภาวะมลพิษได้เกินขีดมาตรฐานที่จะยอมรับได้ และส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อสุขภาพของประชาชน

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 (พ.ศ.2547-2561) ของรัฐบาลทักษิณก็กำลังจะกลายเป็นการซ้ำเติมให้ภาวะมลพิษที่รุมเร้าชาวมาบตาพุดและชาวเมืองระยองยิ่งรุนแรงหนักข้อขึ้น

 

บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลล่าสุดของภาวะมลพิษ และผลกระทบทางสุขภาพของคนในพื้นที่ เพื่อเชิญชวนให้สังคมไทยช่วยกันพิจารณาว่า เราจะมุ่งขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้ จนไม่สนในถึงทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่กันเลยหรือ

 

 

มลพิษทางอากาศ

บทความนี้จะเริ่มกันจากปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด ส่วนใหญ่ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงงานและโรงไฟฟ้าในพื้นที่ และกลิ่นที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และสารเคมีที่ใช้ในการผลิต

 

จากการเก็บอากาศที่มาบตาพุดของกรมควบคุมมลพิษ ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน พ.ศ.2548 สำรวจพบสารอินทรีย์ระเหยกว่า 40 ชนิด โดยเป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด และในจำนวนสารก่อมะเร็ง 20 ชนิดนี้ พบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าเกินกว่าระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US-EPA) ถึง 19 ชนิด

 

และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับเฝ้าระวังของสหรัฐฯ พบว่า สารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งหลายตัวมีค่าสูงกว่ามาตรฐานมาก เช่น Acrolein (2-propenal) พบสูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 693 เท่า  Trichloroethylene พบสูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 498 เท่า  Ethylene Dichloride พบสูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 256 เท่า  Chloroform พบสูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 238 เท่า  Vinyl Chloride พบสูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 45 เท่า และ Benzene พบสูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 60 เท่า

 

สารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งเหล่านี้เกือบทั้งหมดก็สัมพันธ์กับการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ต้นน้ำของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งในแต่ละปีพบว่า โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จะมีการใช้ Vinyl Chloride รวมกันถึง 610,000 ตัน ใช้ Benzene รวมกันมากกว่า 600,000 ตัน ใช้ Ethylene Dichloride รวมกันมากกว่า 250,000 ตัน และใช้ตัวทำละลาย (หรือ Solvent) เช่น Hexane มากกว่า 2 ล้านลิตรต่อปี

 

นอกจากสารอินทรีย์ระเหยที่เกินกว่าระดับเฝ้าระวังแล้ว มลพิษที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จากการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษทางอากาศในพื้นที่มาบตาพุด โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่า หากโรงงานทั้ง 64 โรงในพื้นที่มาบตาพุดระบายมลสารออกในอัตราสูงสุดตามค่าที่ได้รับอนุญาตในรายงาน EIA จะมีผลทำให้ความเข้มข้นของมลสารบางตัว เช่น ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศ ดังนั้น หากการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่คุณภาพอากาศในพื้นที่มาบตาพุดจะมีมลสารเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดไว้

 

 

มลพิษทางน้ำและการกัดเซาะชายฝั่ง

ถึงแม้ว่า นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดจะมีระบบบำบัดน้ำเสียภายในนิคมฯ แต่เนื่องจากโดยส่วนใหญ่โรงงานต่างๆ จะบำบัดน้ำเสียเอง ประกอบกับปริมาณน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรมมีมาก ดังนั้น สภาพแหล่งน้ำธรรมชาติจึงมีความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ทั้งในส่วนของคุณภาพน้ำผิวดิน และคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ปริมาณความสกปรกในรูปอินทรีย์สาร (BOD) และปริมาณความเข้มข้นของโลหะหนัก มีค่าสูงเกินมาตรฐาน โดยโลหะหนักที่พบเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ทองแดง แมงกานีส นิเกิล สารหนู เป็นต้น

 

ส่วนคุณภาพน้ำทะเลในบริเวณมาบตาพุด พบว่า แนวโน้มของคุณภาพน้ำทะเลในบริเวณนี้มีความเสื่อมโทรมลง ซึ่งจะก่อให้เกิดการสะสมโลหะหนักในสัตว์หน้าดิน หอยและปลา รวมถึงการเกิดปัญหาแพลงค์ตอนบูมด้วย

 

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดหนองแฟบ และหาดตากวน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของชายฝั่ง เช่น การถมทะเลเพื่อเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ทำให้ชายฝั่งระยะทางเกือบ 5 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะในอัตรา 5-10 เมตรต่อปี โดยที่ผ่านมาพื้นที่ชายฝั่งได้หายไปแล้ว 35-60 เมตร จนแทบไม่เหลือสภาพชายหาดให้เห็นในปัจจุบัน และถือเป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งที่วิกฤตที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

 

ข้อมูลทั้งมลพิษทางอากาศและมลพิษทางน้ำบ่งชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาบตาพุดได้สร้างรอยบอบช้ำให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างสาหัส

 

 

ผลกระทบทางสุขภาพ

ผลต่อเนื่องจากภาวะมลพิษที่รุมเร้าก็คือ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็มีทั้งผลที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น การเพิ่มขึ้นของการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ด้วยโรคทางผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และโรคระบบทางเดินหายใจ อันเนื่องจากการสัมผัสมลพิษและผลกระทบที่ใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนแสดงอาการ เช่น มะเร็ง โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวคือ การได้รับสาร Benzene เป็นต้น

 

จากการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทยของจังหวัดระยองในปี 2540-2544 พบว่า สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukaemia) ที่ปรับค่าอายุของอำเภอเมืองระยอง (ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) เท่ากับ 182.45 และ 6.25 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอำเภออื่นๆ ในจังหวัดระยอง โดยในกรณีของโรคมะเร็งทุกชนิด สถิติการเกิดโรคมะเร็งของอำเภอเมืองสูงกว่าอำเภอนิคมพัฒนาถึง 3 เท่า ส่วนในกรณีของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว สถิติการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของอำเภอเมืองจะสูงกว่าอำเภอวังจันทน์ถึง 5 เท่า

 

หากวิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยนอกโรคเนื้องอกและมะเร็งของจังหวัดระยองในช่วงปี พ.ศ.2540-2548 จะพบว่า อัตราผู้ป่วยนอก โรคเนื้องอกและมะเร็งของจังหวัดระยองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 444.3 คนต่อประชากรแสนคนในปีพ.ศ.2540 เป็น 1,263.5 คนต่อประชากรแสนคน ในปีพ.ศ.2548 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ภายในเวลาเพียง 8 ปี

 

เช่นเดียวกับอัตราผู้ป่วยนอกอันเนื่องมาจากรูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด การพิการจนผิดรูปแต่กำเนิดและโครโมโซมผิดปกติในจังหวัดระยอง ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มจากเดิมที่มีอัตราผู้ป่วยนอก 48.2 คนต่อประชากรแสนคนในปีพ.ศ.2540 เป็น 163.8 คนต่อประชากรแสนคนในปีพ.ศ.2548 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในระยะ 8 ปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอาการรูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด การพิการจนผิดรูปแต่กำเนิดและโครโมโซมผิดปกติก็มีความสัมพันธ์กับการได้รับมลสารประเภทสารอินทรีย์ระเหยเช่นกัน

 

นอกเหนือจากผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อมแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็มีผลทางลบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า อัตราผู้ป่วยด้วยโรคภาวะแปรปรวนทางจิตในจังหวัดระยองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น โรคหนองใน พบว่าจังหวัดระยองมีอัตราผู้ป่วยโรคนี้ 30.10 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือเป็นพื้นที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 3 ของทั้งประเทศ และมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศประมาณ 4 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น รายงานสถิติโรคในระบบเฝ้าระวังโรคพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในจังหวัดระยองมีอัตรา 72.17 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในประเทศไทย และสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศถึง 11 เท่า

 

ดังนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดกลายเป็นการ "เบียดเบียน" ประชาชนในพื้นที่ จนสุขภาพทรุดโทรมลง และเกิดเป็นภาวะ "อยู่ร้อนนอนทุกข์" อย่างชัดเจน

 

 

การขยายปิโตรเคมีระยะที่ 3

แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 (พ.ศ.2547-2561) เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์พลังงานเพื่อการแข่งขันของประเทศไทยในยุครัฐบาลทักษิณ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มการส่งออกปิโตรเคมี โดยจะเป็นการลงทุนแบบครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย โดยเลือกใช้มาบตาพุดเป็นพื้นที่หลักและขยายสู่พื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากเห็นว่า พื้นที่มาบตาพุดมีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว

 

แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ต้องการพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานใหม่อีกประมาณ 3,000 ไร่ ต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 350 เมกกะวัตต์ และจำเป็นต้องใช้น้ำเพิ่มอีก 42.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยคาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 5,600 อัตรา

 

ปัจจุบันนี้ ฝ่ายต่างๆ ก็กำลังเตรียมตัวและเตรียมพร้อมกับการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่สามอย่างคึกคัก เช่น ภาครัฐมีการเตรียมความพร้อมในการถมทะเลเพิ่มขึ้นอีก 1,450 ไร่ และการขยายท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีแผนจะสร้างโรงงานแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ขนาดกำลังการผลิต 1,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน พร้อมกับร่วมมือกับบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินโครงการเอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 410,000 ตันต่อปี และโรงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำขนาด 300,000 ตันต่อปี

 

ส่วนบริษัท อะโรมาติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก็มีแผนก่อสร้างโรงอะโรมาติกส์แห่งที่ 2 โดยมีกำลังการผลิตพาราไซลีน 600,000 ตันต่อปี และเบนซีน 300,000 ตันต่อปี และบริษัทไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.ก็มีแผนขยายกำลังการผลิตโพรพีลีน โพรเพน และ Mix C4 อีกประมาณ 40,000  20,000 และ 6,600 ตันต่อปี ตามลำดับ

 

เช่นเดียวกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนหลายรายก็เล็งพื้นที่มาบตาพุดไว้เป็นฐานสำหรับการสร้างการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ สำหรับการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรอบใหม่ ในต้นปีหน้าด้วยเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.บ้านฉางกับเทศบาลเมืองมาบตาพุดก็กำลังเดินหน้าขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีบนพื้นที่กว่า 2,500 ไร่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนในอ.บ้านฉาง เนื่องจากตามผังเมืองเดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่สีเหลืองเพื่อการพักอาศัย แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วงเข้มสำหรับเขตอุตสาหกรรมแทน และประชาชนก็หวั่นเกรงว่า ภาวะมลพิษจะขยายวงจากมาบตาพุดมาสู่อ.บ้านฉางในที่สุด

 

เป็นที่คาดกันว่า หากมีการเดินหน้าตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ก็จะมีผลให้มีโรงงานปิโตรเคมีเกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว และแน่นอนที่สุดว่า ภาวะมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดก็จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

 

ฤา จะเป็นการเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุด

หลักการสำคัญประการหนึ่งในสามประการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นหัวใจของการทำงานนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน คือ ความพอประมาณ

 

"ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป

หรือไม่สุดต่างไปข้างใดข้างหนึ่ง และต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น"

 

ไม่แน่ใจว่า การประกาศให้มาบตาพุดเป็นพื้นที่รองรับการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 จะได้คำนึงถึงหลักความพอประมาณตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงข้อนี้หรือไม่

 

เพราะสภาวการณ์มลพิษที่รุมเร้าชาวมาบตาพุดอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจะเกินความพอดีไปมากแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาจากดัชนีทางสิ่งแวดล้อมหรือดัชนีด้านคุณภาพ

 

เพราะการเลือกที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่มาบตาพุด โดยไม่สนใจความอยู่ร้อนนอนทุกข์ของผู้คนและผืนแผ่นดิน ย่อมเป็นการพัฒนาที่สุดโต่ง มุ่งเน้นแต่อุตสาหกรรมจนไม่เห็นถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชีวิตของประชาชน

 

เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมาในพื้นที่มาบตาพุด ทำให้ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาดังกล่าวจึงถือเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างชัดเจน

 

ดังนั้น การขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 โดยไม่สนใจถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นเสมือน "การเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุด" ซึ่งไม่น่าจะไปด้วยกันได้กับหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลน้อมนำมาเป็นหลักการทางนโยบาย

 

 

เขตควบคุมมลพิษคือ จุดเริ่มต้นของทางออก

ไม่มีประชาชนในพื้นที่คนใดที่ต้องการการพัฒนาที่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ประชาชนในพื้นที่ทราบว่า อุตสาหกรรมในพื้นที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจังหวัดระยองและต่อประทศเพียงใด ดังนั้น ประชาชนจึงไม่มีการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่เลิกดำเนินการ ถ้าไม่ก่อให้เกิดมลพิษจนสุดที่จะทานทนจริงๆ

 

แต่แนวคิดที่จะขยายอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นมาอีกในพื้นที่ ทั้งๆ ที่มลพิษในปัจจุบันก็เกินกว่าค่ามาตรฐาน  และสร้างผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจนอยู่แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยากจะรับได้เช่นกัน

 

ทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สำหรับการพัฒนาที่พอประมาณ และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น คือ การแก้ไขและควบคุมปัญหามลพิษ และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่การขยายอุตสาหกรรมที่ก่อผลเสียร้ายแรงอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

 

การประกาศเขตควบคุมมลพิษเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะประกาศให้ท้องถิ่นใดที่ "มีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มจะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม" เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ทั้งเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษในพื้นที่ดังกล่าว

 

การประกาศเขตควบคุมมลพิษจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของทางออกดังกล่าว เพราะการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีกลไกในการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันควบคุมและลดมลพิษภายในพื้นที่ โดยมีการจัดทำแผนดำเนินการและมีเป้าหมายการดำเนินการร่วมกันอย่างชัดเจน

 

และเมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว การแก้ปัญหามลภาวะจะเป็นไปอย่างมีระบบและมีเป้าหมายมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเช่นกัน โดยควรมีการจัดทำแผนการปฏิบัติการในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ภาวะความอยู่ร้อนนอนทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ได้ลดทอนลง

 

สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ การประกาศเขตควบคุมมลพิษมิใช่การห้ามมิให้มีการขยายโงงานอุตสาหกรรมใดๆ ในพื้นที่ แต่การขยายอุตสาหกรรมในอนาคตจะต้องผ่านการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างถี่ถ้วน เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังที่แล้วมา

 

การประกาศเขตควบคุมมลพิษจึงเป็นหานทางแห่งความพอประมาณ ที่พยายามจัดสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ มิให้สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง และมิให้มีการเบียดเบียนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจนเกินควร

 

 

หยุดการเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุด

ในเมื่อรัฐบาลน้อมนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐบาล แนวคิดการเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลชุดก่อนก็ควรจะยุติลงเช่นกัน

 

ในเมื่อข้อมูลต่างๆ ก็ออกมายืนยันว่า ระดับมลพิษที่มาบตาพุดในปัจจุบันมีแนวโน้มจะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม การประกาศเขตมลพิษจึงน่าจะเป็นทางออกที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะสำหรับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

 

ในเมื่อการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นอำนาจโดยชอบธรรมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมีคุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ขุนพลเศรษฐกิจพอเพียง ทำหน้าที่เป็นประธานในขณะนี้ ก็ควรจะใช้อำนาจโดยธรรมในการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ และเป็นแกนประสานให้เกิดการควบคุม การลดและการขจัดมลพิษอย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้เกิดการขยายอุตสาหกรรม โดยไม่สนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

 

หวังว่า "การเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุด" จะไม่เกิดขึ้นในยุค "เศรษฐกิจพอเพียง"

 

 

000

 

 

 

ข่าวประกอบบทความ

 

สวล.ยื้อประกาศ 'มาบตาพุด' เขตคุมมลพิษ

 

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สั่งยืดเวลาศึกษาการประกาศ "นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" เป็นเขตควบคุมมลพิษ อีก 1 ปี พร้อมมีมติห้ามขยายนิคมระยะที่ 3 หากยังไม่สามารถลดสารอินทรีย์ระเหยที่กระทบสุขภาพชาวบ้าน เหตุงานวิจัยชี้ชัดไอระเหยมีสารก่อมะเร็ง ด้านชาวบ้านโวยรัฐไม่กล้าประกาศ ห่วงกระทบลงทุนปิโตรเคมี

 

จากปัญหามลพิษนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมปัญหาที่ชัดเจน

โดยก่อนหน้านี้ องค์กรกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำการศึกษาพบว่า มีสารเคมีอันตรายร้ายแรงบางชนิดที่ปล่อยจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างต่อเนื่อง และสารสำคัญที่ตรวจพบคือ เบนซีน (Benzene) สารไวนิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride) คลอโรฟอร์ม (Chloroform) สารก่อมะเร็ง ที่มีปริมาณที่เกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐ (USEPA)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ส่งผลให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นสมควรให้มีการดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ขณะที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ประกาศมีการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากเกรงจะส่งผลให้ต้องมีการลงทุนเพิ่ม เพื่อปรับระบบให้สอดรับกับมาตรการในการควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงจะส่งผลให้ไม่สามารถขยายนิคมอุตสาหกรรมตามแผนที่วางไว้

 

ล่าสุด ได้มีการนำเสนอประเด็นดังกล่าว ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดย นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2550 (นัดพิเศษ) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญ ในเรื่องของการประกาศเขตควบคุมมลพิษนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยคณะกรรมการมีมติให้ยืดเวลาศึกษาไปอีก 1 ปี

 

บอร์ด สวล.เส้นตาย1ปีแก้สิ่งแวดล้อม

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษยังเป็นข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจึงมีมติให้แบ่งออกเป็นเรื่องการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม บริเวณพื้นที่มาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง, การประเมินผลกระทบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และแนวทางการจัดการศักยภาพการรองรับมลพิษทางอากาศบริเวณพื้นที่มาบตาพุด

โดยมีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินการปรับปรุงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ให้มีความถูกต้อง รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการจัดซื้อเครื่องมือตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยา โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้กระทรวงพลังงานและกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ไปหารือกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในการปรับลดการระบายซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในการรองรับโรงงานอุตสาหกรรม

 

ตั้งกรรมการ2ชุดศึกษาผลกระทบ

เลขาธิการ สผ.กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษในบริเวณพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ดังนี้

 

ชุดแรก มอบหมายให้ นายปริญญา นุตาลัย เป็นประธาน โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สผ. ทำหน้าที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด กับปริมาณสารอินทรีย์ระเหย ที่ปล่อยจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กำหนดค่ามาตรฐานที่ปลอดภัยของสารอินทรีย์ระเหย ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในบรรยากาศ และปล่องของโรงงาน รวมทั้งให้กำหนดแผนงาน ระยะเวลา และระบบติดตามประเมินผล เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน

 

"ส่วนคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 มอบหมายให้ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัด ทส.เป็นประธาน โดยมี คพ. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไปร่วมกันหารือกับภาคเอกชนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อสร้างความเข้าใจกับภาคเอกชน ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการลดสารอินทรีย์ระเหยอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะพิจารณานำมาตรการ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ มาบังคับใช้ต่อไป" นายเกษมสันต์ กล่าว

 

เอ็นจีโอข้องใจรัฐไม่กล้า

ด้านนายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาลจะให้ความสนใจกับปัญหามลพิษของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ไปยื่นหนังสือกับ นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แต่จากมติบอร์ดสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังไม่พอใจ เนื่องจากยังขาดมาตรการรับรองที่ชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น จะห้ามไม่ให้ขยายโรงงานปิโตรเคมีในเฟส 3 ในระหว่างที่ศึกษาหรือไม่ และเมื่อศึกษาแล้ว สุขภาพชีวิตของประชาชนจะดีขึ้นอย่างไร ต้องใช้กรอบเวลาอีกนานเพียงใด รัฐบาลจึงจะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะหากเทียบกับพื้นที่เขตอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ และภูเก็ต ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว จะพบว่า มลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสูงกว่าทั้งสองแห่งอย่างชัดเจน

 

"เชื่อว่า การที่รัฐบาลยังกล้าๆ กลัวๆ ส่วนหนึ่งเป็นห่วงผลกระทบเรื่องการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะถ้ามีเงื่อนไขที่หยุมหยิมมาก เอกชนอาจจะไม่กล้ามาลงทุนที่นี่ ขณะที่ข้อกฎหมายที่ควบคุมโรงงานในนิคมฯ ก็อยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะเกิดปัญหาต่อเนื่องหลายปี แต่ทั้ง คพ.และ ทางจังหวัดระยองก็ทำอะไรไม่ได้"

 

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เครือข่ายฯ เชื่อว่า แม้การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหา แต่จะสามารถควบคุมโรงงานที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ให้ไม่กล้ามาลงทุนที่นี่ได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ในวันที่ 19 มกราคม นี้ เครือข่ายฯ จะมีการแถลงข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (คปร.) อีกครั้ง โดยเครือข่ายฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า การตั้งอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ควรมีตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ และสถาบันการศึกษาเข้ามีส่วนร่วมด้วย

 

 

 

ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (13 ม.ค.2550)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net