ทหารกับการเมืองในอุษาคเนย์ ตอนที่ 1 ทหารกับการเมืองไทย

วันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จัดเสวนาครั้งที่ท้าทายบรรยากาศการเมืองไทยอย่างยิ่ง ภายใต้หัวข้อ "ทหารกับการเมืองในอุษาคเนย์" โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์-การเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ....

วันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จัดเสวนาครั้งที่ท้าทายบรรยากาศการเมืองไทยอย่างยิ่ง ภายใต้หัวข้อ "ทหารกับการเมืองในอุษาคเนย์" โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์-การเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สุ่มเสียงต่อการรัฐประหารอย่างไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศที่ไม่มีความเสี่ยงต่อรัฐประหารเลยแต่อาจจะไมมีพื้นที่ให้กับการเมืองภาคพลเมืองอย่างพม่า

 

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เปิดประเด็นทหารกับการเมืองไทย วิทยา สุจริตธนารักษ์-กองทัพอินโดนีเซีย, สีดา สอนศรี - บทบาททหารในฟิลิปปินส์, พรพิมล ตรีโชติ กองทัพพม่า และสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้จับประเด็นทหารกับการเมืองไทยมาโดยตลอด

 

ตอนที่1 นี้ ว่ากันด้วย ทหารไทยแบบเต็มๆ และโปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 เหลียวมองดูกองทัพประเทศเพื่อนบ้าน

 

000

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

หนึ่งศตวรรษของทหารกับการเมืองไทย เมื่อมีการยึดอำนาจวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองระบอบปประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ไม่เพียงแต่นักการเมือง นักการทหาร และนักสังเกตการณ์ทั้งไทยและเทศจะงงงวยประหลาดใจเท่านั้น ในหมู่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ทั่วไปก็ตกอยู่ในภาวะตีบตันทางวิชาการไม่น้อย เพราะในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์พฤษภาเลือดเมื่อปี 2535 การได้นายกรัฐมนตรีที่มาจาการเลือกตั้ง การได้มาซึ่ง รธน. ปี 2540 ทำให้เราทั้งหลายทั้งปวงคาดคิดกันว่า หรือเข้าใจว่าประเทศไทยก้าวพ้นการเมืองในระบอบการทหารมาแล้ว ไทยมีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าที่สุดในอุษาคเนย์ เลยหน้าฟิลิปปินส์ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงพม่าที่ล้าหลังสุดๆ ของภูมิภาคอาเซียน

 

นักวิชาการด้านไทยศึกษาท่านหนึ่งถึงกับกล่าวว่า ตำรับตำราฝรั่งว่าด้วยทหารกับการเมืองไทยแทบไม่มีเลย และอุทานออกมาเป็นภาษาอังกฤษว่า "I wished a fews books on Thai politic in the past some year, none of them talk about the military. Wow! things have changed so quickly and suddenly changed back"

 

นักวิชาการเทศส่วนใหญ่หันไปเล่นกับประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่นโลกาภิวัตน์ เศรษฐีใหม่ กลุ่มทุน บรรษัทข้ามชาติ นิเวศวิทยา หรือการก่อการร้าย เช่นกรณีแม่น้ำโขงหรือสามสี่จังหวัดภาคใต้

 

ส่วนในตำราภาคภาษาไทยเอง ดูเหมือนเล่มล่าสุด คือทหารกับการเมืองวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดย กนลา สุขพานิช และวุฒิชัย มูลสิงห์ เป็นบรรณาธิการเมื่อ 2523 ซึ่งเก่าแก่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ต้องไปปัดฝุ่นแล้วเอามาสอน แต่จะว่าไปโดยสถิติแล้ว การแทรกแซงของทหารในการเมืองไทยดูจะปกติเสียยิ่งกว่ากิจกรรมการเมืองอื่นๆ ด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกตั้ง การเปลี่ยนรัฐบาลโดยไม่ต้องใช้กำลังอาวุธบังคับ

 

หากคำนวณจากปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่เรียกว่ากบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป ทั้งซ้ำและซ้อน ซึ่งหมายความโดยรวมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กองทัพและอาวุธในการยึดอำนาจนั้นมีถึง 23 ครั้ง คิดโดยเฉลี่ย 3 ปีกว่าต่อหนึ่งครั้ง อันเป็นผลให้มีรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองถึง 17 ฉบับ เท่ากับว่าใช้รัฐธรรมนูญ 4 ปีกว่าต่อรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ

 

"ทหารกับการเมืองเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มาหลังการปรากฏตัวของรัฐชาติ"

 

โดยทั่วไป ผู้คนมักคิดว่าทหารกับการเมืองเป็นเรื่องปกติและเก่าแก่ มีมานมนามตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา พระมหากษัตริย์ก็เป็นทหาร ขุนนาง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินชายก็เป็นทหารกันทุกคน แต่ในแง่ของวิชาการรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทหารกับการเมืองเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มาหลังการปรากฏตัวของรัฐชาติ

 

คำว่าระบอบทหาร หรือ Militarism ก็เพิ่งเกิดเมื่อทศวรรษ 1860 หรือ 150 ปีมานี้เอง ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาสำหรับปรากฏการใหม่นี้คือ ปรูดอง ซึ่งเป็นนักทฤษฎีทางสังคมชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนตำราว่า What is Property เจ้าของวลีทองว่า ทรัพย์สินคือ โจรกรรม และเป็นศัตรูอันร้ายการของคาร์ล มาร์กซ์ เพราะฉะนั้นคำว่า Militarism หรือระบอบทหารนั้นก็เกิดขึ้นมาทีหลังคำว่า Liberalism, Socialism, Communism…นี่คือปรากฏการณ์ของโลกสมัยใหม่ ที่ต้องมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ มีการคิดสิ่งประดิษฐ์ที่ทันสมัย เรือรบ รถถัง เครื่องบิน ปืนกล ลวดหนาม กับระเบิด ไปจนกระทั่งสารเคมี สารพิษ ระเบิดปรมาณู มีบรรษัทค้าอาวุธ และผลิตอาวุธในโลกอุตสาหกรรม แต่ไม่มีในโลกเกษตรกรรม และที่สำคัญก็คือต้องมีกองทัพประจำ มีการเกณฑ์ทหาร มีอาชีพทหาร มีสถาบันหรือโรงเรียนโดยเฉพาะที่จะทำหน้าที่ให้การศึกษาเล่าเรียนฝึกฝนควบคุมระบอบใหม่ และการถืออาวุธสมัยใหม่นี้

 

ดังนั้นระบอบทหารหรือ Militarism จึงเริ่มขึ้นในโลกเก่าของยุโรปตะวันตก แล้วแพร่ไปยังโลกใหม่ในละตินอเมริกา ขึ้นสู่จุดสุดยอดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังจะเห็นได้จากระบอบทหารในรูปลักษณ์ของนาซี ฟาสซิสม์ ของเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลมายังไทยในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่จะสืบต่อมาโดยจอมพลอีกหลายคน เช่น ผิน ชุณหวัณ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร

 

ระบอบทหารหรือ Militarism นี้จะแพร่ต่อไปอีกยังประเทศต่างๆ ในเอเชียและแอฟริกาซึ่งได้รับเอกราชหลังสงครามและหลังการสิ้นสุดของลัทธิอาณานิคม และก้าวสู่จุดสุดยอดในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 หรือ 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งด้านหนึ่งเป็นสมัยของการแข่งขันกันของสองค่ายมหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต อีกด้านหนึ่งเป็นยุคทองของบรรษัทที่ผลิตและค้าอาวุธยุทโธปกรณ์

 

ทีนี้หันมาดูบริบทของสังคมไทยว่าอยู่ในบริบทสากลของ Militarism นี้อย่างไร ในฐานะของประเทศเอกราช สยามหรือไทยก็เข้าสู่ระบอบทหารก่อนหน้าหลายๆ ประเทศในเอเชียและแอฟริกา สยามหรือไทยสามารถสร้างการทหารสมัยใหม่ที่รวมทั้งกองทัพประจำ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อหรือได้รับบริจาคมา สร้างโรงเรียนทหาร อาชีพทหารและสถาบันทหารมาได้กว่า 100 ปี

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2430 สถาปนาสิ่งที่เรียกว่า Cadet School ซึ่งต่อมาจะวิวัฒนาการเปลี่ยนชื่อเรื่อยมาเป็นโรงเรียนทหารสราญรมย์ เป็นรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในที่สุด และก็มีกองทัพที่จะกลายมาเป็นกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2448 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ก็มีพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารครั้งแรก มีกองทัพประจำอย่างประเทศของโลกสมัยใหม่

 

ทหารสัญญาบัตรหรือทหารอาชีพ ที่ถูกฝึกฝนให้เล่าเรียนเป็นอาชีพเฉพาะได้พัฒนากลายเป็นระบอบใหม่หรือสถาบันใหม่อย่างรวดเร็ว และภายในระยะเวลาเพียง 24 ปี หรือ 1 ชั่วอายุคน ก็เข้ามาเกี่ยวพัน แทรกแซงทางการเมือง กลายเป็นคู่แข่งของระบอบเก่าหรือสถาบันกษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่เราเรียกว่า กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งเป็นความพยายามของนายทหารรุ่นหนุ่ม หนุ่มรุนใหม่ที่วางแผนยึดอำนาจจากราชสำนักของรัชกาลที่ 6

 

กบฏ ร.ศ. 130 บางแห่งก็เรียกว่ากบฏหมอเหล็งนะครับ เกิดขึ้นเมื่อปี 2454 หรือ 96 ปีมาแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงตั้งหัวข้อของผมว่า 1 ศตวรรษทหารกับการเมืองไทย และนี่อาจจะเป็นกลุ่มทหารที่มีอายุน้อยที่สุด มียศต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยก็ว่าได้ เพราะหัวหน้ากลุ่มคือขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือ เหล็ง ศรีจันทร์ มีอายุเพียง 28 ปี มียศเป็นร้อยเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ส่วนทหารอื่นๆ ที่ถูกจับได้เกือบ 100 คนนั้น ก็มีอายุทั้งต่ำกว่า 20 ปี และสูงกว่านั้นเพียงเล็กน้อย นึกภาพดูนะครับว่ากลุ่มที่พยายามจะยึดอำนาจนั้นเป็นใคร

 

ทหารเหล่านี้ต้องการจะยึดอำนาจทำไม คำตอบก็คือต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือ Absolute Monarchy ให้เป็น Limited Monarchy หรือสถาบันกษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจโดยจำกัด ความบันดาลใจในรูปแบบหรือโมเดลของคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นความสำเร็จจากการปฏิรูปเมจิ

 

ความพยายามของกบฏ ร.ศ. 130 มาประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ 24 มิ.ย. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งก็นำโดยนายทหารบกอีกเช่นกัน มีหัวหน้าที่เรารู้จักกันดีก็คือพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งก็ถือว่าอาวุโสที่สุด มีนายทหารระดับรองทั้งอายุและยศ เช่น นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม โดยเฉลี่ยแล้วนายทหารกลุ่มนี้มีอายุประมาณกว่า 30 และนอกเหนือจากระดับนำที่เป็น "พระยา" เพียง 3 คนแล้ว ส่วนใหญ่เป็น "หลวง" อันนี้เป็นปฏิวัติของคุณหลวงนะครับ กล่าวได้ว่าอายุ ยศ และบรรดาศักดิ์ขยับขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจาก 20 เป็น 30 และจากขุนเป็นหลวง ที่น่าจะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยยุคนั้น การแข่งขันช่วงชิงระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ที่คละเคล้าอยู่กับระบอบกษัตริย์ ระบอบทหาร และระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตย

 

"ระบอบทหารนั้นดูจะมีความเป็นชั่วคราว โดยลักษณะและธรรมชาติของตัวเอง ไม่มีการยึดอำนาจครั้งใดของทหารที่จะบอกว่าจะอยู่ตลอดไป และจะสถาปนาตนให้เป็นระบบหรือระบอบทางการเมืองอย่างถาวร"

 

คณะราษฎร ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ จำกัดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และนี่ก็เป็นความแตกต่างจากการยึดอำนาจโดยทั่วๆ ไปของทหาร คือเป็นการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมากกว่าเป็นการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ดังนั้นจึงมีการใช้ศัพท์เรียกการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า "ปฏิวัติ" แม้ว่าจะมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าไทยยังไม่เคยมีการปฏิวัติในความหมายของ Revolution แต่อย่างใด ไทยมีเพียงแต่ Coup แต่ถูกเรียกในภาษาไทยต่างๆ นานา ว่าปฏิวัติ รัฐประหาร และปฏิรูป

 

สิ่งที่คณะราษฎรทำไม่สำเร็จคือการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเมื่อเกิดการแตกแยกขั้วระหว่างปีกซ้ายและขวาของคณะราษฎร ระหว่างกลุ่มพลเรือนของนายปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกกระแทกอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 การเข้ามาใช้ดินแดนประเทศไทยของญี่ปุ่น ก็ทำให้มีการปรับขั้วการเมืองใหม่ ที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกษัตริย์นิยมสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ ผ่านพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์ และกลุ่มราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ

 

และในการรัฐประหาร 2490 ก็นำมาซึ่งระบอบทหารอย่างแท้จริงและยาวนานโดยฝังรากลึกในแผ่นดินไทย สิ้นสุดยุคคณะราษฎร และส่งต่อไปยังยุคอันยาวนานของระบอบทหารของคณะปฏิวัติ

 

ช่วง 2490-2500 และช่วง2501-2516 ภาพลักษณ์ของการเมืองไทยกลายเป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า เป็นวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย Vicious Circle แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า ระบอบทหารนั้นดูจะมีความเป็นชั่วคราว โดยลักษณะและธรรมชาติของตัวเอง ไม่มีการยึดอำนาจครั้งใดของทหารที่จะบอกว่าจะอยู่ตลอดไป และจะสถาปนาตนให้เป็นระบบหรือระบอบทางการเมืองอย่างถาวร ไม่เหมือนระบอบกษัตริย์ ระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบสังคมนิยม แต่ความเป็นชั่วคราวนี้ดูเหมือนจะถาวรไปอย่างน่าพิศวง และนี่คือการที่ต้องสร้างวาทกรรมหรือการอธิบายที่อาจจะเป็นข้ออ้าง แรงจูงใจ หรือการประชาสัมพันธ์ ที่ด้านหนึ่งหนึ่งเสมือนว่า ทหารนำมาซึ่งความทันสมัย Military = Modernization โดยมากข้อเสนอนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ กับการที่บอกว่าทหารเป็นเครื่องประกันเสถียรภาพและความมั่นคง และ Law and Orderโดยมากข้อเสนอนี้จะเป็นของทหารเอง เราจะเห็นคำอธิบายแบบนี้ในงานเขียนของนักวิชาการทั้งไทยและเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1960 1970 นักวิชาการเหล่านี้ยังอยู่กับเราให้เห็นหน้าแต่ผมขาวแล้ว

 

ในอีกประเด็นหนึ่งก็จะมีการอธิบายว่าระบอบทหารเหมาะกับสังคมไทยเพราะคู่เคียงกับสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานกับสังคมไทยตั้งแต่สุโขทัย และอยุธยา เพราะพระมหากษัตริย์ก็เป็นทหาร ขุนนาง ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินชายทุกคนก็เป็นทหารดังที่กล่าวมาแล้ว และก็ยังเข้ากับระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 

ในอีกด้านหนึ่ง ก็อธิบายว่าระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบรัฐธรรมนูญก็เป็นเทศ ที่ผ่านมานั้น ใจร้อนหรือชิงสุกก่อนห่าม ถ้าจะต้องเอาประชาธิปไตยหรือระบอบรัฐธรรมนูญก็จะต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยไทยเสียก่อน ซึ่งก็แปลว่าจะต้องใช้เวลา 1 ปีหรือ 12 ปีหรือไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนก็ตาม และนี่เป็นภารกิจของทหาร

 

 

ทหารจะต้องมีผู้ร่วมมือร่วมคิด ซึ่งน่าสนใจว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักนิติศาสตร์ เป็นนักกฎหมาย

แต่ทหารสมัยใหม่ ในแง่การศึกษาเล่าเรียนนั้นประสบการณ์ของทหารเป็นประสบการณ์ในแง่ของการรบ การสงคราม และอาวุธยุทโธปกรณ์ ดังนั้นในการแทรกแซงทางการเมืองทหารจะทำเองไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ในรอบ 100 ปี ก็จะเห็นว่า ทหารจะต้องมีผู้ร่วมมือร่วมคิด ซึ่งน่าสนใจว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักนิติศาสตร์ เป็นนักกฎหมาย อย่างในกรณีของทหาร กบฏ ร.ศ. 130 ก็มีผู้ร่วมมือเป็นทนายความ การประชุมวางแผนจะยึดอำนาจกันก็ทำที่สำนักงานทนายความที่มีชื่อว่า อนุกูลคดีกิจสถาน อยู่ข้างวังบูรพา ในกรณีของคณะราษฎรก็มีนักกฎหมายอย่างนายปรีดี พนมยงค์ เป็นมันสมองที่ร่วมกระบวนการกัน

 

และถ้าเราจะศึกษาการยึดอำนาจทุกครั้ง การร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งก็จะมีผู้ร่วมมือเหล่านี้เป็นสำคัญ บางครั้งบุคคลเหล่านี้ก็มีสถานะเท่าเทียมกับทหาร แต่ในบางครั้งก็เป็นเพียงลูกมือ ดังนั้น ในระยะหลัง ๆ สถานะของมันสมองก็จะกลายเป็นเพียงเนติบริกร หรือรัฐศาสตร์บริการดังที่เห็นดาษดื่นในยุคหลังๆ ของปลายหนึ่งทศวรรษของทหารกับการเมืองไทย

 

"ทหารที่ไม่สามารถอ้างและอิงสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่สามารถจะสร้างวาทกรรมว่าเป็นของชาติและเป็นของพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ"

 

ข้อสังเกตประเด็นสุดท้ายก็คือ ระบอบทหารเท่ากับระบอบเผด็จการเสมอไปหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ใช่ แต่ว่าโดยปกติแล้วระบอบทหารจะถูกเอามาใช้สำหรับระบอบเผด็จการ หรือไม่ก็ถูกนำมาใช้ในการรักษาสถานะเดิม ดังที่เราจะเห็นได้จากกรณีที่สุดโต่งของเยอรมันนี อิตาลี ญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งพม่าในปัจจุบัน รวมทั้งในหลายๆ ประเทศในละตินอเมริกา ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือชิลี และอาร์เจนตินา รวมทั้งสเปน แต่ในขณะเดียวกันระบอบทหารก็สามารถจะเดินไปในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน อย่างในกรณีของโปรตุเกส หรือในกรณีของทหารไทยในกบฏ ร.ศ. 130 กับทหารผู้ก่อการ 2475 หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการนำความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาสู่สังคมในรูปของการปฏิวัติหรือ Revolution อย่างถอนรากถอนโคน เช่น กองทัพของทหารจรยุทธ์ของจีนคอมมิวนิสต์หรือของเวียดนามเป็นต้น

 

ในปัจจุบัน ทหารไทยอาจจะมิได้อ้าง หรือมีความบันดาลใจอย่างรุ่น ร.ศ. 130 หรือ ปฏิวัติ 2475 อีกต่อไป และปรากฏการณ์ใหม่ของการสถาปนาพระราชอำนาจนำขึ้นในรัชกาลปัจจุบันในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา และที่สำคัญที่สุดก็คือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมทั้งวาทกรรมการถวายพระราชอำนาจคืนและการเสนอใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 อันเป็นผลพวงของปรากฏการณ์ สนธิ-สนธิ ก็ทำให้ระบอบและสถาบันทหารต้องอ้างและอิงกับสถาบันกษัตริย์เป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการยึดอำนาจเรื่อยมานับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ตลอดจนการยึดอำนาจที่ประสบความสำเร็จในการรัฐประหาร 2500 การปฏิวัติ 2501 การปฏิวัติ 2514 การปฏิรูป 2519 และการปฏิวัติ 2534 และท้ายที่สุดการปฏิรูป 2549

 

ในทางกลับกัน ทหารที่ไม่สามารถอ้างและอิงสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่สามารถจะสร้างวาทกรรมว่าเป็นของชาติและเป็นของพระมหากษัตริย์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ ดังในกรณีของความพยายามในการก่อกบฏ 2520 กบฏ 1 เม.ย. 2524 การกบฏ 2528 และ นี่ก็คือมิติใหม่ของการเมืองไทยที่จะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

 

000

 

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ปีที่แล้วเป็นวาระครบรอบ 30 ปี 6 ตุลาผมไม่รู้ว่าสุดท้ายคนเดือนตุลาเขาจะบอกกับตัวเองว่าอย่างไร แต่ 30 ปี 6 ตุลา เราหวนกลับมาสู่เหตุการณ์เดิมก็คือการรัฐประหาร อาจารย์ชาญวิทย์พูดถูกที่สุดว่าในวงวิชาการต่างประเทศงงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ผมเชื่อว่าวงวิชาการต่างประเทศเมื่อ 30 ปีที่แล้วก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็งงไม่ต่างกัน และปีนี้ก็เกิดความรุนแรงอีกแบบหนึ่งและเราก็ถอยกลับไปสู่เรื่องเก่าๆ ก็คือเรื่องทหารกับการเมืองไทยซึ่งไม่ค่อยมีคนสนใจมากนานแล้ว

 

ปัญหาดูเหมือนว่าวันนี้ เราเริ่มหวนกลับไปสู่การเมืองที่เราคิดทหารแก้ปัญหาได้

ในมุมหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับผมก็คือว่าคนที่ออกมาสนับสนุนการปฏิวัติจำนวนมากเป็นคนเดือนตุลา เกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายซ้าย ปัญญาชนและสื่อ ไม่ต้องพูดถึงคนชั้นสูง เพราะเป็นเรื่องปกติของชนชั้นสูงอยู่แล้ว

 

เราเคยถามตัวเองไหมว่าตกลงเหตุการณ์นี้เราตอบตัวเองอย่างไร เราฉลองเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างไร แต่เราก็ไม่ได้ตอบอะไรเลย และเราก็ดูเหมือนกับเราสนุกกับการรัฐประหารที่ unique มาก อย่างสื่อฝรั่งรายงาน มีการเอาดอกไม้ไปให้ทหาร แต่ก็ไม่เคยถามว่า ดอกไม้นั้นถูกจัดตั้งไปหรือเปล่า สื่อก็ไม่ถาม

 

ปัญหาดูเหมือนว่าวันนี้ เราเริ่มหวนกลับไปสู่การเมืองที่เราคิดทหารแก้ปัญหาได้ ผมคิดว่าทหารในภูมิภาคสุดยอดที่สุดในวงการ เราถือว่ากองทัพอินโดนีเซียนี่ที่สุดแล้วในภูมิภาค 32 ปีของซูฮาร์โตถือว่าเป็นรัฐบาลทหารที่ยาวนานที่สุดของโลกเท่าที่เราเคยมี ผมยังสงสัยว่าถ้าไม่เป็นเพราะค่าเงินบาท พิษต้มยำกุ้ง แล้วซูฮาร์โตจะล้มไหม

 

สำหรับพม่านั้น เราพูดกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า เราก็พูดแล้วพูดอีก แต่ถ้าถามว่า ทหารไทยไปไกลขนาดซูฮาร์โต หรือพม่า คำตอบก็ชัดว่าทหารไทยทำไม่ได้ขนาดนั้น แต่ทหารไทยจะเป็นอาชีพแบบฟิลิปปินส์ได้ไหม ก็ไม่ได้ สุดท้ายก็คือเราเป็นแบบไทยๆ คือก้ำ ๆกึ่งๆ

 

ในความก้ำๆ กึ่งๆ ถ้าเราสังเกตดูช่วงปลายสงครามเย็น มีคำหนึ่งที่ผมเคยล้อเล่นๆ ก็คือคำว่า "TIP" ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็น 3 ประเทศที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง แต่สังเกตได้ว่าไทยหลุดออกมาก่อนและก้าวไปได้ไกลมาก ในมุมมองของรัฐศาสตร์ ในวงวิชาการต่างประเทศ ประเทศไทยเป็นด้านบวกของผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม

 

คำถามที่น่าสนใจคือชนชั้นกลางไทยจะเอาประชาธิปไตยหรือเอาเผด็จการ เราไม่ได้ตอบเลย อดีตของปัญญาชนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยเคลื่อนไหวต่อต้านทหารอย่างหนักในปี 2535 แต่วันนี้เข้าไปทำงานรับใช้ทหาร

 

"เราไม่สนใจกลไกรัฐธรรมนูญว่าจะเอื้อต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพได้หรือไม่ ปัญหาระหว่างทหารกับการเมืองจึงเป็นปัญหาที่ตกค้างแต่ไม่เคยตกผลึก"

 

 

ประเด็นเรื่องทหารกับการเมืองไทยไปไกลมากแล้ว แซมมวล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์อเมริกันเคยพูดว่า ถ้าสังคมจะเป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจต้องเป็นทุนนิยม แต่ทุนนิยมไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าโมเดลไทยนั้นตอบฮันติงตัน เพราะว่าในความเป็นประชาธิปไตยไทยเราเห็นพัฒนาการเศรษฐกิจไทยที่เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง

 

เมื่อย้อนกลับไปปี 2535 ชัดมากถึงบทบาทชนชั้นกลางที่ไม่เอาทหาร เราสามารถตั้งเป็นสมมติฐานใหญ่ๆ ว่าโลกยุคโลกาภิวัตน์มันสวนกระแสปฏิวัติ สวนกระแสของทหารที่เข้ามาอยู่ในการเมืองแต่พอถึง 2549 ถ้ามองอย่างนี้เราพายเรือในอ่าง

 

ผมพยายามจะไม่มองอย่างโหดร้าย แต่ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วการเมืองไทยมีมุกมีประเด็นของตัวเอง ปีนี้หมอดูฟันธงกันทั้งนั้น แล้วฟันธงคล้ายๆ กันทั้งนั้นแต่ถ้าเราตัดตอนการมองอีกแบบหนึ่ง ผมกำลังสงสัยว่าชีวิตการเมืองพลเรือนไทยมีวงจรหรือรอบของมัน

 

การยึดอำนาจชุดแรก การยึดอำนาจของสฤษดิ์ 2500-2501

การยึดอำนาจชุดที่ 2 รับประหาร 2514 ยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง ต่อด้วย 25162519 และ 2520 และจบด้วยรัฐประหารเกรียงศักดิ์ 2520

การยุดอำนาจชุดที่ 3 ปี 2534 จบลงในปี 2535

ชุดที่ 4 ปี 2549 ไม่รู้จะจบเมือไหร่

 

ไม่รู้ว่าวงรอบอีก 14 ปีข้างหน้า ถ้าหวนกลับมาอย่างนี้ ก็คือชีวิตพลเรือนมีแค่ 14 ปี ก็ต้องดูว่าอีก 14 ปีข้างหน้าหวนกลับมาที่วงรอบเดิมหรือไม่ ถ้าหากหวนกลับมาอย่างนี้ก็แสดงว่า วงรอบของประชาธิปไตยของพลเรือนไทยมีอยู่เพียงแค่ 14 ปี เพราฉะนั้นนโยบายการลงทุนในก็จำกัดรอบไว้แค่ 14 ปี ไม่ต้องไปคิดมาก และไม่ต้องนับปีนี้ที่ทุนหนีไปเวียดนามหมดแล้ว

 

ถ้าเป็นอย่างนี้ จากปี 2534 เราเชื่อว่าเราหลุดแล้วจากความเป็น TIP ตอนเปลี่ยนรัฐบาลในจาการ์ตามาเป็นพลเรือนเราเชื่อว่า นักวิชาการถึงกับเชื่อว่าไทยเป็นโมเดลของการเรียนรู้ของอินโดนีเซียเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย

 

แต่วันนี้เรากลายเป็นเหมือนชื่อขนม M&M เรากลายเป็น T-&M คือไทย-พม่า การเป็นการเมืองที่อยู่มนสถานะเดียวกันคืออยู่ในระบบการปกครองที่ทหารคุมอำนาจ ถ้าเราไม่วิตกมาก เพื่อความสบายใจเราลองคิดไปไกลสักนิดดีไหมครับว่าถ้าเราต้องคิดถึงโมเดลของไทยในวันข้างหน้า ตกลงสังคมไทยจะวางพิมพ์เขียวของตัวเองอย่างไรในการจัดความสัมพันธ์กันระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ เราไม่เคยตอบเรื่องนี้ และเราไม่คิดถึงขนาดที่จะออกแบบโครงสร้างการเมืองของตัวเอง เราพูดกันแต่กลไกรัฐธรรมนูญ

 

เราไม่สนใจกลไกรัฐธรรมนูญว่าจะเอื้อต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพได้หรือไม่ ปัญหาระหว่างทหารกับการเมืองจึงเป็นปัญหาที่ตกค้างแต่ไม่เคยตกผลึก

 

หลังปี 2535 เราปล่อยประเด็นนี้ค้างไว้ สุดท้ายเมื่อเราไม่ออกแบบโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ผมคิดว่ามันสะท้อน 3 ส่วนของสังคมไทย ก็คือ

 

1 สะท้อนความอ่อนแอของประชาสังคมไทยที่ทั้งไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจกับความสัมพันธ์กับกองทัพ

2 สะท้อนความไม่ตระหนักของฝ่ายการเมืองเมื่อได้อำนาจ คือมองว่ากองทัพไม่มีอะไรแล้ว หลังพ.ค. 2535 ทุกคนก็พูดเหมือนกัน ว่าการรัฐประหารครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้าย

3 ยังมีผู้คนในสังคมไทยมากพอสมควรที่มีความคิดความเชื่อทางการเมืองว่าเมื่อเกิดปัญหาการเมืองต้องให้ทหารมาจัดการ พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อการเมืองตัน ต้องให้ทหารล้างท่อ ทหารกลายเป็นเทศลาลการเมือง

 

ผมไม่รู้ว่าอนาคต วงรอบ 14 ปี จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ถ้าเราไม่ออกแบบโครงสร้าง ไม่คิดถึงการสร้างพิมพ์เขียว ผมคิดว่าปัญหานี้หวนกลับมาเกิดอีกแน่ๆ

 

แต่ถ้ามองสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง มองการเมืองในภูมิภาค มองการเมืองในเอเชีย หรือมองกรเมืองโลก หลังสงครามเย็นยุติพร้อมๆ กับเหตุการณ์ในบ้านเรา ช่วงปี 2534 เริ่มด้วยสงครามอ่าวเปอร์เซีย แล้วทหารก็ยึดอำนาจเมื่อ พ.ค. 2534 เราเห็นอย่างหนึ่งว่า หลังสงครามเย็น จะพบว่าประเทศที่ยังถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารนั้นมีน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปี 1960, 1970 เราจะเห็นได้ว่าการเมืองในโลกสวนทางกับการที่รัฐบาลถูกปกครองโดยทหาร แต่เราจะยังเห็นการรัฐประหาร อัฟกานิสถาน เนปาล ไทย และฟิจิ เราจะเห็นว่าทหารกับการเมืองไม่ได้หายไปจากวงจรชีวิต

 

กรณีของประเทศเกาหลีใต้ทหารก็เคยมีอำนาจเข้มแข็งมากแล้วสุดท้ายวันหนึ่งก็เปลี่ยนทุกวันนี้ถ้าเราดูการประท้วงในเกาหลีใต้ ทุกครั้งต้องตีกัน เลือดไม่ออกไม่มี แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ทหารไม่อออกมาทำรัฐประหาร และแม้แต่ในวันที่ในกรุงเทพฯ มีการยึดอำนาจ ก็เป็นวันเดียวกับที่ฮังการีมีการประท้วงใหญ่ มีการปาระเบิดโนโนตอฟกัน แต่ก็ไม่มีการรัฐประหาร

 

ถ้าในอดีตเราเชื่อว่าการรัฐประหารเกิดเพราะประเทศถูกภัยคุกคามทางทหารของข้าศึกที่น่ากลัวและมีความรุนแรง ตอนนี้ วันนี้เกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์ แต่ทำไมทุนในเกาหลีใต้ไม่กลัวภัยคุกคาม สังคมในเกาหลีใต้ก็ไม่กลัวหรือสังคมการเมืองในเกาหลีใต้นั้นผ่านขั้นตอนการเปลี่ยนวุฒิภาวะแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องถอยกลับมาให้ทหารมาเป็นผู้แก้ปัญหา

 

วันนี้ ถ้าเราต้องเขียนพิมพ์เขียวของสังคมไทยเราคาดหวังอะไร อดีตคนที่เคยชักธงเขียววันนี้เขาไปหนุนปฏิวัติ หนักยิ่งกว่ายุค 14 ตุลาเสียอีก เมื่อการเมืองไทยถอยกลับไปสู่โลกเก่า ต้องจับตาดูว่าอียูจะกดดันพม่าอย่างไร เพราะถ้าจะกดดันพม่าอย่างไรเพราะถ้ากดดันก็ต้องกดดันไทยด้วย

 

ผมจะรอดูว่ากองบัญชาการกลาโหมจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับคอบบร้าโกลด์ ถ้าปีนี้ยังจัดคอบบร้าโกลด์ได้แปลว่าอเมริกดับเบิ้ลแสตนดาร์ด

 

ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยนั้นนักรัฐศาสตร์เอาเกณฑ์ว่าคนในสังคมถือเอาประชาธิปไตยเป็นหลักเดียวและผมคิดว่าเราก้าวไปสู่จุดนั้นแล้วนะ แต่วันนี้เรากลับถอยกลับไป

 

การปฏิรูปการเมืองต้องทำพร้อมๆ ไปกับการปฏิรูปกองทัพ ถ้าเราเชื่อว่าจะปฏิรูปการเมืองโดยให้ทหารยึดอำนาจผมคิดว่าคณะรัฐศาสตร์ทั้งจุฬาและธรมศาสตร์ต้องยุบทิ้ง และผมไม่แน่ใจว่าบรรดาผู้อาวุโสทั้งหลายคิดอย่างไรเรื่องการปฏิรูปที่พูดกันมาตั้งหลายปี

 

ถ้าเราไม่ปฏิรูปการเมืองโดยมองเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ตกค้าง และไม่ตกผลึก ประชาธิปไตยจะดีหรือไม่ดีผมคิดว่ามันคือการสร้างและการพัฒนา ถ้าเราหวังว่าประชาธิปไตยคือทุกอย่าง เราคงหวังอย่างนั้นไม่ได้ และสุดท้ายการเมืองมันหนีการเลือกตั้งไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท