Skip to main content
sharethis

คงไม่เชยเกินไป ถ้าเราจะย้อนมองกลับไปศึกษาเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในอดีต และการตัดสินใจแก้ปัญหาในครั้งนั้น รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ได้ศึกษาเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เปรียบเทียบสามประเทศคือ สวีเดนเมื่อคราว 1991 เม็กซิโกเมื่อคราว 1995 และประเทศไทยเมื่อคราว 1997

 

 

อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา

 

 

รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนงานวิจัยเรื่อง "วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในสวีเดน เม็กซิโกและไทย: สาเหตุและการตอบสนองของนโยบาย" และได้นำเสนอประเด็นสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ ในงานสัมมนาวิจัยหัวข้อ "วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่จัดโดยคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา

 

รศ.ดร.สมบูรณ์ออกตัวว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นงานที่ใช้เวลาเขียนยาวนานถึง 6 ปี อันเป็นเวลาที่ยาวนานจนเหมือนว่าข้อค้นพบที่ได้อาจจะล้าสมัยไปแล้ว ทว่า การได้ย้อนศึกษาที่มาที่ไปของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แนวนโยบายที่ใช้แก้ปัญหา ประกอบกับภาวะความไม่น่าเชื่อมั่นของเศรษฐกิจและการเมืองของไทยเวลานี้ ยิ่งเสริมหนุนว่าให้เราต้องย้อนทบทวนไปเรียนรู้เรื่องราวในอดีตอีกครั้ง

 

ในงานวิจัยเรื่อง "วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในสวีเดน เม็กซิโกและไทย: สาเหตุและการตอบสนองของนโยบาย" รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าวว่า สาเหตุของวิกฤติแต่ละประเทศอาจเกิดแตกต่างกัน แต่ละประเทศมีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมต่างกัน แต่ถ้าเราเข้าใจสาเหตุของประเทศหนึ่งแล้วก็อาจจะนำมาป้องกันได้

 

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับทั้งสามประเทศ ล้วนเกิดขึ้นนับแต่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา นั่นคือ ประเทศสวีเดนในปี 1991 ประเทศเม็กซิโกในปี 1995 และประเทศไทยในปี 1997

 

"ทำไมวิกฤตเหล่านี้จึงเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 20 ทำไมไม่เกิดก่อนหน้านั้น" รศ.ดร.สมบูรณ์ตั้งประเด็นพร้อมกล่าวต่อว่า วิกฤตทั้งสามประเทศ ล้วนเริ่มต้นที่วิกฤตการเงินก่อนทั้งสิ้น และมีมูลเหตุคล้ายๆ กัน คือ ทั้งสามประเทศเปิดเสรีทางการเงินในทศวรรษ 1990 เดินแบบภายใต้สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus)

 

รศ.ดร.สมบูรณ์เริ่มต้นมุ่งประเด็นไปที่ประเทศสวีเดน ซึ่งมีมุมให้น่าขบคิดอย่างยิ่ง ความน่าสนใจของประเทศสวีเดน คือ เป็นประเทศที่ถือว่ามีระบบธรรมาภิบาลที่ดี และดำเนินระบบเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ

 

โดยสวีเดนเป็นประเทศแรกในกลุ่มนอร์ดิกที่เปิดการเงินเสรี ซึ่งในเวลานั้นก็พบว่า ธนาคารต่างชาติค่อยๆ เข้ามาตั้งสาขาในประเทศ ผลที่น่าสนใจที่ตามมาก็คือ การปล่อยการเงินเสรีทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้อย่างมโหฬาร เป็นการปล่อยกู้โดยไม่ระมัดระวัง ไม่มีการกำกับที่ดีของสถาบันการเงิน และยังพบว่า เป็นการปล่อยกู้ให้กับความสัมพันธ์ส่วนตัว

 

แต่อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สมบูรณ์ย้ำว่า ก่อนที่ประเทศสวีเดนจะเปิดการเงินเสรี รัฐบาลได้ควบคุมการเงินอย่างเข้มข้นมาเป็นระยะเวลายาวนานประมาณ 40-50 ปี ทำให้ประเทศสวีเดนมีกำไรส่วนเกินจากการควบคุมการแข่งขันจากภายนอก

 

หลังจากการเปิดเสรีทางการเงิน อันนำไปสู่การให้กู้เงินอย่างมโหฬารนั้น แม้เงินที่กู้ในตอนแรกจะกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่หลังจากนั้น ธนาคารในประเทศสวีเดนก็กู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กิจการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ อันเป็นกิจการที่เฟื่องฟูมาก ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการรัฐสวัสดิการ ที่ต้องการให้ประชาชนมีความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย

 

เมื่อเกิดความอ่อนแอทางการควบคุมการเงิน กิจการบางอย่างทีปล่อยกู้ไป โดยเฉพาะกิจการอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งก็เกิดความอิ่มตัว เพราะเป็นกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

 

ทำไมสวีเดนจึงลงทุนเรื่องบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมหาศาล รศ.ดร.สมบูรณ์ตั้งประเด็นและกล่าวต่อว่า เพราะนโยบายรัฐที่สนับสนุน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้คนก็ไม่มีความต้องการซื้อ ราคาของมันก็ลดลง ส่งผลให้เริ่มมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ล้มละลาย และผลถัดมาคือ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปล่อยกู้จำนวนมาก ก็เริ่มล้มละลาย

 

"วิกฤติของสวีเดน มีเหตุหลักจากการเปิดเสรีทางการเงิน แต่นั่นไม่ใช่เหตุเดียว" รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าว "

สวีเดนเป็นประเทศที่ไม่ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว"

 

เมื่อปี ๑๙๙๑ ที่เกิดวิกฤตในช่วงปลายปี เพราะขาดความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เวลานั้น รัฐบาลสวีเดนก็มองไม่เห็นว่าจะเกิดวิกฤต เพราะมีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาหนุนมากมาย แต่วิกฤตเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศด้อยพัฒนา

 

และน่าสนใจที่ประเทศสวีเดน เริ่มวิกฤติจากสถาบันการเงิน นำมาสู่วิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน จนทำให้ต้องลดค่าเงินโครนลง และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่เรารู้กัน

 

"สวีเดน ดำเนินนโยบายผิดพลาด กดดอกเบี้ยไว้นาน พอแบงค์เสรีก็ปล่อยกู้อย่างไม่ระวัง"

 

แต่คำถามคือ ทำไมสวีเดนจึงไม่เดินไปหาไอเอ็มเอฟ รศ.ดร.สมบูรณ์ตั้งข้อสังเกต

 

วิกฤตคราวประเทศสวีเดนเมื่อเทียบกับไทยแล้วต่างกันมาก เพราะรัฐบาลสวีเดนสามารถแก้ปัญหาได้ภายในสองปี โดยสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลสวีเดนทำคือ ไม่พยายามอุ้มธนาคารพาณิชย์ ด้วยการแบกหนี้เสียแทน

 

 

ประสบการณ์จากเตอกีล่าเอฟเฟคส์

ในส่วนของวิกฤตเศรษฐกิจของเม็กซิโกที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1995 นั้น มีนักทฤษฎีวิเคราะห์ออกมาหลายสาเหตุ

 

ช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจมหภาคของเม็กซิโกดูเหมือนไม่น่ามีปัญหา แต่ประเทศเม็กซิโกมีปัญหาเรื่องการกู้เงินของธนาคารพาณิชย์ ที่กู้เงินจากต่างประเทศมาถ่วงดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก คือประมาณร้อยละ ๘

 

รัฐบาลเจอปัญหาว่า การขาดดุลดำเนินต่อไปเรื่อยๆ มีคำถามว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นต้นเหตุหรือไม่ บ้างว่าไม่ บ้างว่าเป็น เพราะเป็นการขาดดุลระยะยาว

 

ทั้งนี้ ประเทศเม็กซิโกมีเงินทุนไหลเข้ามหาศาล ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเปโซสูงค่าขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเปโซสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีปัญหาขาดดุลสูง นั่นทำให้ต้องเขาต้องนำเงินต่างประเทศมาหนุน

 

นอกจากนี้ เงินออมของเม็กซิโกก็ลดต่ำลงมาก เกิดภาวะไร้ดุลยภาพภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็บอกว่า มันอาจไม่วิกฤต หากมีเงินทุนไหลเข้าเรื่อยๆ

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เหตุการณ์ทางการเมืองต่างหาก รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าว

 

ประเทศเม็กซิโกมีการลอบสังหารองประธานาธิบดี เป็นเหตุการณ์ตอนต้นปี ๑๙๙๔  แต่ดูเหมือนเม็กซิโกจะไม่กังวลต่อวิกฤต เพราะตอนนั้นเม็กซิโกเพิ่งเข้าสมัครเป็นสมาชิกนาฟตา ซึ่งทำให้เม็กซิโกเชื่อว่า การเป็นสมาชิกจะทำให้การส่งออกดีขึ้น แต่ก็ดีขึ้นเฉพาะกับประเทศชายแดนเท่านั้น ไม่ใช่ดีขึ้นจริง ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้น และไปบั่นทอนการส่งออกอื่นๆ

 

คนต่างชาติก็เริ่มเห็นว่า เสถียรภาพประเทศเม็กซิโกมีปัญหา นับแต่เกิดการลอบสังหาร เงินทุนระยะสั้นเริ่มถอนตัวออกไปจากเม็กซิโก

 

ปรากฏการณ์นี้เหมือน "สัตว์" นั่นคือ นักลงทุนต่างชาติมีความเกรงกลัวเกินกว่าเหตุ การถอนตัวในช่วงเวลาไม่กี่วันถึงหลายร้อยพันล้านเหรียญ

 

ตอนนั้นเม็กซิโกให้ต่างชาติถือพันธบัตรได้เต็มที่ในรูปของเงิน US เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว พอต่างชาติถอนเงินออกจำนวนมหาศาล ก็มีผลต่อเงินกองทุนสำรองที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เม็กซิโกต้องยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในปี ๑๙๙๔ มาเป็นแบบลอยตัว และเม็กซิโกก็เป็นหนี้มหาศาล เพราะเงินกู้ กู้มาในรูปเงินดอลล่าร์ รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ได้ และไม่ขายธนาคาร

 

ทางเลือกในการแก้ปัญหานั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ขณะที่ประเทศสวีเดนไม่พยายามอุ้มธนาคารพาณิชย์ ส่วนรัฐบาลประเทศเม็กซิโก ก็เลือกเดินเข้าหาไอเอ็มเอฟ

 

กรณีของไทย คล้ายเม็กซิโก คือรัฐบาลไทยเดินตามฉันทามติวอชิงตัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นแบบลอยตัว ไม่ทำให้มีความยืดหยุ่น

 

Jeffrey Sach นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard วิพากษ์กรณีของไทยเปรียบเทียบกับเม็กซิโกว่า กรณีประเทศไทย มีพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคที่ดีมากจนไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าเกิดวิกฤตในปี 1997 ขณะที่กรณีของประเทศเม็กซิโกมีปัญหาเงินเฟ้อมาก่อนหน้านั้น และอัตราแลกเปลี่ยนของเม็กซิโกที่ซ่อนเร้นอยู่มีค่าสูงเกินจริง

 

รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าวว่า "นักเศรษฐศาสตร์เวลานั้นมองแบบสุขนิยม คือมองว่า เงินทุนที่ไหลเข้า คงไม่ไหลออกไปในแบบทันทีทันใด ถ้าแบงค์ชาติในขณะนั้นได้ศึกษากรณีเม็กซิโกและสวีเดน ก็น่าจะเฉลียวใจ"

 

แต่ว่า เงินทุนไหลเข้านั้น ไหลออกอย่างรวดเร็วมาก นั่นเป็นความตื่นตระหนกของนักลงทุนอย่างไม่มีเหตุผล

 

เหล่านี้คือความคล้ายคลึงกันของวิกฤติเศรษฐกิจไทยและเม็กซิโก ต่างเพียงประเทศไทยไม่มีสถานการณ์สังหารผู้นำ

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การออกแบบวิธีแก้ปัญหาวิกฤตของสวีเดน เมื่อย้อนมองเทียบกับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลเลือกที่จะโอนหนี้ของเอกชนมาเป็นของรัฐ แต่ประเทศสวีเดนเลือกที่จะขายธนาคารทิ้ง ไม่แบกหนี้นายทุนเอกชน

 

สรุป ทั้งสามประเทศดำเนินนโยบายภายใต้สิ่งที่เรียกว่าฉันทามติวอชิงตัน มูลเหตุวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากสถาบันการเงิน ตามด้วยธนาคารพาณิชย์ และเงินทุนระยะสั้น เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์

 

ทั้งสามประเทศมีอาการร่วมกัน คือมีการใช้เสรีการเงินอย่างรุนแรง โดยไม่เคยคิดเลยว่าจะถอยกลับดีไหม

 

"สิ่งที่น่าสนใจคือบทเรียนในการแก้วิกฤต แต่เรากลับไม่เอาบทเรียนนั้นมาใช้" รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าว

 

 

 

ดาว์นโหลดเพื่อศึกษาเพิ่มเติม

 

งานวิจัยเรื่อง "วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในสวีเดน เม็กซิโกและไทย: สาเหตุและการตอบสนองของนโยบาย" โดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net