Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2550 รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวงสัมมนาวิชาการ เรื่อง "สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร" จัดโดยคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน


 


รศ.ดร.อุบลรัตน์ได้กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองและการทำรัฐประหารในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาว่า เหมือนการดูผู้ชายตีกัน และหวังว่าการเรียกร้องเพื่อฟื้นคืนประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้คนชายขอบและผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น


 


ส่วนเรื่องของความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย รศ.ดร.อุบลรัตน์ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ในประเทศไทย ภายหลังการรัฐประหาร 4 เดือนกับหนังสือเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ซึ่งประพันธ์โดยนักเขียนชาวอเมริกาใต้ "กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ" โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งเทพปกรณัมเช่นเดียวกับเรื่องราวในหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งหมายถึงเวลาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตถูกทำให้อยู่ในระนาบเดียวกัน


 


รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวด้วยว่า ไม่ต่างอะไรกับช่วงเวลาในการสร้างประชาธิปไตยของไทยที่ถูกทำให้กลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยการทำรัฐประหาร 16 ครั้งในระยะเวลาไม่กี่สิบปี ทำให้กระบวนการทางประชาธิปไตยไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และการร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น


 


"นอกจากนี้ รัฐบาลปัจจุบันยังพยายามสร้างมติร่วมจนดูเหมือนว่ามีการชิงพื้นที่สื่อเกิดขึ้น แต่อาจมองได้อีกทางว่านี่เป็นการ "บังคับยึดพื้นที่" มากกว่า ซึ่งอาจจะไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่บริบทของการสร้างฉันทามติ"


 


รศ.ดร.อุบลรัตน์มองว่ากลวิธีควบคุมสื่อของรัฐบาลปัจจุบัน มุ่งไปที่สถานีโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ คือมีการใช้รถถังไปคุมสถานีโทรทัศน์ จะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มองว่าอำนาจการสื่อสารและการสร้างฉันทามติอยู่ที่โทรทัศน์ ประชาชนรับข่าวสารจากโทรทัศน์ จึงมีการควบคุมสถานีโทรทัศน์โดยการใช้อาวุธ แต่ไม่มีการสั่งปิดอย่างโจ่งแจ้ง เพราะโทรทัศน์เป็นสื่อที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน


 


ในขณะที่สื่อซึ่งประชาชนอาจมองไม่เห็นชัดเจนเท่าโทรทัศน์ เช่น สื่ออินเตอร์เน็ต อาทิ เว็บไซต์ของกลุ่ม19 กันยา และเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือวิทยุชุมชน จะถูกแทรกแซงและถูกบล็อกโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในยุคนี้จะยังมีการแทรกแซงเช่นนี้อยู่อีก


 


อย่างไรก็ตาม สื่อโทรทัศน์หลังจากรัฐประหาร ก็พยายามนำเสนอสาระสำคัญในการสร้างมติเสมือนให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งมติเช่นนี้อาจมีความเสมือนจริง แต่ไม่ใช่มติที่แท้ และเป็นเพียงความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารเท่านั้น เช่น มีการสร้างกระแสเรื่องพระราชอำนาจ ชาตินิยม เศรษฐกิจพอเพียง เช่นเดียวกับสารคดีพิเศษต่างๆ ที่มีเนื้อหาเชิดชูสถาบันทหาร และสื่อมักจะนำเสนอแต่ข่าวที่ทำให้บรรยากาศดูรื่นรมย์ และแม้ว่าขณะเดียวกันจะมีกระแสด้านลบเรื่องประชานิยม ทุนนิยม เรื่องคลื่นใต้น้ำ และความขัดแย้งของชนชั้นนำ แต่สื่อโทรทัศน์ก็ไม่ได้เสนอเหตุการณ์ดังกล่าวชัดๆ จึงไม่มีบรรยากาศของการตั้งคำถามเกิดขึ้นในสังคมเท่าที่ควร


 


 


 


หมายเหตุ


 


อ่านความคิดเห็นของ "สมชาย ปรีชาศิลปกุล" วิทยากรอีกคนหนึ่งบนเวทีสัมมนาได้ที่


 "สมชาย ปรีชาศิลปกุล : เมื่อชนชั้นนำกำลังแย่งชิงอำนาจกัน โดยใช้ประชาชนเป็นเบี้ย"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net