Skip to main content
sharethis

ในฐานะนักวิชาการที่ถูกจัดว่าเป็นฝ่าย "เอาด้วย" กับการรัฐประหาร 19 กันยาเพียงคนเดียวในเวทีสัมมนา "สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร" เขาได้แถลงเหตุผล 8 ประการที่เป็นข้อจำกัดของคณะรัฐประหารชุดนี้ที่ทำให้ไม่สามารถเป็นเผด็จการได้ และยังต้องตอบโต้กับอีก 3 นักวิชาการ !!

ท่ามกลางนักวิชาการที่จุดยืนชัดเจนว่า เป็นผู้ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยา รศ.ดร.ไชยันต์  ไชยพร  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดูเหมือนเป็นผู้เดียวที่จำต้องเดินขึ้นเวทีอย่างโดดเดี่ยว ลองดูทัศนะของนักวิชาการหนุ่ม ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยฉีกบัตรเลือกตั้งกลางคูหาเพื่อต้านระบอบทักษิณมาก่อน

 

เก็บความจากเวทีสัมมนาวิชาการ "สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร" จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

000

 

รศ.ดร.ไชยันต์  ไชยพร

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ความจริงการยอมรับรัฐประหาร น่าจะเป็นเสียงข้างน้อยในสังคม ซึ่งในที่นี่ก็ใช่ และในสังคมก็ใช่ด้วย

 

ผมจะอภิปรายในสองส่วน คือ ส่วนที่เตรียมมาพูดตามหัวข้อ กับส่วนที่ได้ฟังอ.อุบลรัตน์ (ศิริยุวศักดิ์) อ.สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) และอ.สมชาย (ปรีชาศิลปกุล)

 

หัวข้อ "สังคมการเมือง 4 เดือนหลังรัฐประหาร" ผมคิดว่า มันยังไม่เป็น 4 เดือนหลังรัฐประหาร ผมคิดว่าเราอยู่ในช่วงที่กำลังทำรัฐประหารมา 4 เดือนแต่ยังไม่จบสิ้น ผมเห็นอย่างนั้น คิดว่ารัฐประหารยังไม่จบสิ้น เหตุผลคือ… โปรดฟังแถลงการณ์ดังต่อไปนี้...

 

คือปกติ การยึดอำนาจทางการเมือง ด้วยวิธีการปฏิวัติรัฐประหาร เราก็ทราบกันดีว่า เวลาเขายึดอำนาจแล้วก็ต้องล้างบางกัน ตัดแขนตัดขา อำนาจเดิม เพื่อความเสถียรของกลุ่มอำนาจที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ ช่วงนี้ก็มีหนังนเรศวรออกมาด้วย เวลาเราดูหนัง สุริโยทัย ...ที่ผมต้องดูหนังก็เพราะผมไม่ค่อยแม่นประวัติศาสตร์ เวลาเขาขึ้นมามีอำนาจ ก่อรัฐประหารในพระราชวัง เขาต้องฆ่าล้างโคตรกัน

 

แต่ว่าในการเมืองสมัยใหม่ การจะไปเที่ยวไล่ฆ่าใครต่อใครคงไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิธีการกวาดล้างอำนาจเก่า ก็คือการยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้นำเก่า เพราจะว่าไปแล้ว ในสมัยนี้หรือสมัยไหนก็ตาม ทรัพย์สินเงินทองเป็นฐานอำนาจทางการเมือง แล้วการรัฐประหารในการเมืองสมัยใหม่ สิ่งที่ทำได้นอกจากการยึดทรัพย์ ก็คือการปลด โยกย้ายบรรดาสมุนรผู้ภักดีต่อระบบเก่า ที่ทำงานให้อย่างออกหน้าออกตา และล้างบางให้พ้นจากตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งวิธีการเราพบในการรัฐประหารที่ผ่านมาเกือบทุกครั้ง

 

แต่สำหรับรัฐประหาร 19 กันยาฯ คณะรัฐประหารไม่ได้วิธีการที่ปฏิบัติกันมาในอดีต น่าจะเป็นไปได้ด้วยเหตุผลที่เป็นไปได้ 8 ประการที่ผม "คาดเดา" เอา ไม่ใช่ทราบจากพลเอกวินัยหรือพลเอกสนธิ

 

เหตุผลข้อแรก เนื่องจากรัฐบาลเก่า รัฐบาลทักษิณ เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลอื่นที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกล้มไปตั้งเยอะ เช่น รัฐบาลชาติชาย แต่รัฐบาลทักษิณมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากจริงๆ การใช้กำลังอำนาจในการจัดการกับกลุ่มรัฐบาลเก่า โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส คณะฯ ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจถึงความผิดอันร้ายแรงที่รัฐบาลเก่าได้ทำไว้ ความผิดอันร้ายแรงเป็นสิ่งที่คณะรัฐประหารเขาคิด ฉะนั้น ถ้าเขาใช้กำลังในการจัดการกับกลุ่มอำนาจเก่าอย่างที่เคยทำมาในอดีตก็จะไม่สามารถดึง 16 ล้าน 19 ล้านเสียงให้เข้ามาเข้าใจ อยู่ในระบอบได้อย่างชอบธรรม นอกจากการใช้อำนาจปลดต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ ข้อแรก คณะรัฐประหารจึงไม่สามารถใช้กำลังในการกวาดล้างกลุ้มอำนาจเก่าได้อย่างดื้อๆ

 

ข้อสอง ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์ความผิดของรัฐบาลเก่า เพื่อให้ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเก่าได้ประจักษ์ถึงการกระทำอันทุจตริตมิชอบของรัฐบาลเก่า และที่สำคัญคือ ต้องทำให้นานาประเทศได้ประจักษ์และเข้าใจถึงสาเหตุอันชอบธรรมในการทำรัฐประหาร

 

ข้อสาม จากข้อที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ทำให้คณะรัฐประหารจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสดงจุดยืนที่เป็นกลาง มิใช่เป็นพวกเดียวอย่างเต็มตัวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

ข้อสี่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้ มีภาพที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การพยายามสร้างภาพของผู้ที่เป็นกลางเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเกี่ยวพันกับข้อแรกที่ว่า รัฐบาลเก่าได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

 

ข้อห้า คณะรัฐประหารเอง มิได้มีความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็ง เหมือนครั้งคณะรัฐประหาร รสช. ในปี 2534

 

ข้อหก เครือข่ายของระบอบทักษิณมีมากมาย กระจายไปทั่วในระบบราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน  และภาคประชาชนภาคเอกชนด้วย การกระจายในลักษณะนี้ ถือว่ามีคนในระบบราชการ ที่คิดว่าคุณทักษิณมีความชอบธรรมในฐานะนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง รู้สึกดีกับคุณทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ อีกพวกหนึ่งคือพวกที่ได้รับผลประโยชน์ อีกพวกหนึ่งคือ พวกที่ไม่ได้สนเรื่องการมาจากการเลือกตั้ง และก็ไมได้รับผลประโยชน์ แต่มีความศรัทธาในลักษณะของความรวดเร็ว ความมีประสิทธิภาพจริง คนพวกนี้เมื่อรวมๆ แล้วมีเยอะมาก

 

ฉะนั้น คมช.ในเริ่มแรก หากจะกวาดล้างตัดแขนขาคนเหล่านี้ให้หมด ถ้าทำเช่นนั้นจริงๆ คณะรัฐประหารจะเหลือผู้ที่เป็นพันธมิตรในระบบจำนวนไม่มากนัก และที่สำคัญคือ กลับจะผลักให้คนจำนวนมากในระบบราชการ ไปอยู่กับกลุ่มอำนาจเดิม เป็นการสร้างศัตรูจำนวนมากขึ้น เพราะฉะนั้น คณะรัฐประหารจึงจำยอมต้องใช้มาตรการประนีประนอมมากกว่า

 

ข้อเจ็ด การยึดอำนาจเกิดขึ้นเพื่อยุติสถานการร์ที่จะนำไปสู่การนองเลือดของประชาชนทั้งสองฝ่าย อีกทั้งต้องการสร้าเงื่อนไขให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่สามารถดำเนินไปได้ในการตรวจสอบความผิดของอดีตผู้นำ เพราะเงื่อนไขที่จะเอานำคุณทักษิณและรมต.บางคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงสมัยคุณทักษิณจริงๆ ขนาดส.ว.ยื่นเรื่องเข้าไปในตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รับเรื่อง

 

เพราะฉะนั้น เหตุผลของการรัฐประหารคือการยุติสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และพยายามสร้างบรรยากาศหรือเงื่อนไขที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเกิดขึ้นได้

 

ข้อสุดท้าย ภายใต้บริบทการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ยากที่จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งต่างจากบริบทสงครามเย็นที่มหาอำนาจตะวันตกสามารถยอมรับการทำรัฐประหารได้ หรือการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ ตราบเท่าที่รัฐบาลนั้นไม่ฝักใฝ่หรือเอนเอียงไปยังขั้วมหาอำนาจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

 

แต่ภายใต้บริบทสังคมปัจจุบันซึ่งถูกครอบงำด้วยระบบเสรีนิยมทุนนิยมแบบตะวันตก การปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ยากที่จะรอดพ้นจากการครอบงำจากกลุ่มทุนในประเทศและกลุ่มทุนที่สัมพันธ์โยงใยกับทุนโลก คือ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไหนในโลกนี้ ส่วนใหญ่กลุ่มทุนก็ขึ้นมามีอำนาจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้เอง ระบอบการปกครองที่จะเอื้อประโยชน์สำหรับการครอบงำทางเศรษฐกิจ การเมือง ทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ก็คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกลุ่มทุนโลก

 

ดังนั้น การทำรัฐประการ 19 กันยาฯ ที่ผ่านมา จึงมีปัญหาในการเมืองระหว่างประเทศมาก เพราะว่าไม่ใช่เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มทุนเสียทีเดียว คณะรัฐประหารจึงต้องหาทางพิสูจน์ความชอบธรรมในการยุติรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ความชอบธรรมในการยุตินี้ คือต้องไม่ใช้มาตรการเผด็จการใดๆ แต่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมในการสอบสวนการกระทำผิดต่อรัฐของรัฐบาลเก่า ดำเนินไปในบรรยากาศที่เสรีและโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างความชอบธรรมการยอมรับกลับคืนมาจากนานาประเทศ ซึ่งก็พยายามทำสิ่งเหล่านี้อยู่ และรัฐประหารก็ยังไม่เสร็จสิ้น

 

8 ประการที่กล่าวมานี้ ก็ทำให้เห็นว่า รัฐบาลและคมช.อยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งไม่สามารถทำในสิ่งที่คณะรัฐประหารในอดีตสามารถทำได้ และอยู่ในสภาวะที่มีปัญหามากทีเดียว  

 

เมื่อวานนี้ ผมเผอิญมาสอนที่ธรรมศาสตร์ และได้มีโอกาสพบอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งพูดถึงอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลด้วย

 

อาจารย์ชัยวัฒน์พูดถึงอาจารย์สมศักดิ์ว่า อาจารย์สมศักดิ์วิจารณ์งานของเขาเรื่องอริสโตเติลกับการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ไว้ในเว็บไซต์มหาลัยเที่ยงคืน ผมถามว่าเป็นยังไง สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูดมา กับสิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์พูดถึงอาจารย์ชัยวัฒน์ในบทความ เหมือนกันเลย แสดงว่าอาจารย์ชัยวัฒน์เข้าใจอาจารย์สมศักดิ์ อาจารย์สมศักดิ์ก็เข้าใจตัวเองว่าพูดอะไรออกไป (เสียงหัวเราะทั้งห้องประชุม)

 

สิ่งที่ผมคุยกับอาจารย์ชัยวัฒน์และเห็นพ้องต้องกัน อันนี้เป็นวิชาการนิดหนึ่ง คือ เวลาเราสอนปรัชญาการเมือง โดยเฉพาะเวลาสอนเรื่อง แมคคีอาเวลลี (Nicolas Machiavelli - นักปรัชญาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์) เรามักสอนบทที่ 15 ไม่รู้เป็นยังไง แต่พอเกิดรัฐประหาร เราสองคนเห็นด้วยว่า พอกลับมาอ่านบทที่ 1 และ 11 แล้วขนลุกซู่ไปหมด คือบทที่ 1 มันว่าด้วยการได้มาซึ่งอำนาจรัฐในรูปแบบต่างๆ แล้วก็พอเราเห็นพ้องต้องกันว่า บทที่ 1 และ 11 มันกลับมามีชีวิตชีวามาก ภายในบริบท 19 กันยา ผู้ที่สนใจก็ลองไปอ่านดูได้ว่า คมช.ชุดนี้ไม่เป็นแมคคีอาเวลเลียนยังไง คือ ไม่สามารถทำในสิ่งที่แมคคีอาเวลลีสอนได้เลย เพราะเขาสอนว่าการทำรัฐประหารต้องเด็ดขาด ล้างบาง ถ้าจะมัวห่วงว่าตัวเองจะมีสถานะ ภาพพจน์ที่ดี ก็ระวังเถอะ จะพบกับความหายนะ ก็คอยดูไป แต่ผมก็คิดว่าถ้าแมคคีอาเวลลียังมีชีวิตอยู่ ก็อยากถามว่า ถ้าเขาอยู่ภายใต้สถานการณ์การเมืองไทยเวลานี้ เขาจะทำอะไรบ้างภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้

 

กลับมาถึงสิ่งที่อาจารย์อุบลรัตน์และอาจาย์สมศักดิ์ได้กล่าวไป

 

โต้อุบลรัตน์

อาจารย์อุบลรัตน์ เปิดฉากมาพูดเรื่องผู้หญิงว่า ตั้งแต่รัฐประหารมารู้สึกผู้หญิงจะไม่ค่อยมีบทบาทอะไร ใช้คำว่าดูผู้ชายตีกัน อาจารย์พูดถึงเทพปกรณัม ก็เลยนึกถึงกวีกรีกโบราณคนหนี่ง ชื่อ Aristophanes เรื่อง Lysistrata เป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ Sparta กับ Athens มันรบกันอยู่เรื่อย จนผู้หญิงสองฝ่ายทนไม่ไหว เขาบอกว่า ถ้ายังรบอยู่จะไม่นอนด้วย ไม่ทำกับข้าว ไม่ดูแลบ้าน ผมว่าไม่เลวนะถ้าผู้หญิงจะลุกขึ้นมาบอกว่า ไอ้พวกการเมืองไทยที่ตีกันอยู่ทุกวันนี้ ฉันไม่ทำกับข้าวให้กินดีไหม

 

อาจารย์บอกว่าผู้หญิงไม่ค่อยมีบทบาท ผมไม่แน่ใจว่า อาจารย์พูดถึงตัวเอง หรือผู้หญิงฝั่งตัวเอง แต่ถ้าพูดถึงผู้หญิงกลุ่มโน้น ผมก็พบว่า คุณหญิงพจมานก็ไปหาป๋าเปรม แกก็ไม่ใช่ไม่มีบทบาท ก็พยายามเชื่อมประสานอยู่ เมื่อวานนี้ก็ไปบวงสรวงที่อนุสาวรีย์ที่นครราชสีมา

 

อาจารย์เป็นห่วงเรื่องการครอบงำสื่อ และมีการกระตุ้นการใช้มาตรการรุนแรง แต่ผมคิดว่า เมื่อกี๊ผมพูดเรื่องข้อจำกัดไปเยอะแล้วว่า คมช.ไม่สามารถใช้มาตรการเผด็จการรุนแรงได้มากนัก แต่สิ่งที่มันมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ผมคิดว่ามันก็สืบเนื่องมาจากการระเบิดที่ทำให้คนตายไปสามคน

 

ในการเกิดระเบิด มันไม่รู้ว่าใครทำ แต่รู้อย่างเดียวว่า คนที่เข้าไปดูแลการพิสูจน์หลักฐาน พล.ต.ท.จงรักษ์ จุฑานนท์ พล.ต.ท.ภานุพงษ์ สิงหรา ณ อยุธยา และมีโฆษกกรมตำรวจ ซึ่งใหญ่กว่าโฆษกรัฐบาลด้วย เพราะเวลาโฆษกกรมตำรวจพูดอะไรไป โฆษกรัฐบาลได้แต่พยักหน้า

 

ทั้งสามคน เราปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าเขามีภาพลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับระบอบทักษิณอย่างเหนียวแน่น

 

ในวงการกรมตำรวจเองเขาก็บอกว่า จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ สองคนคือ พล.ต.ท.ภานุพงษ์ และ พล.ต.ท.จงรักษ์ ที่ต้องไปอยู่ตรงนั้น แต่มีอีกคนซึ่งมีบทบาทโดยตรง แต่ทำไมต้องส่งคนที่เป็นคนของทักษิณออกไปขนาดนั้น เพราะฉะนั้น เราไม่รู้หรอกว่าใครทำแต่เรารู้ว่าคนที่ดูแลเรื่องพิสูจน์หลักฐาน ไม่สามารถจะทำให้เราไว้วางใจได้ว่าเป็นกลาง

 

แต่กระแสระเบิดก็ทำให้ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้คมช.ใช้มาตรการรุนแรง ซึ่งผมว่าในคมช.ก็แบ่งเป้นสองพวก และถ้าเราใช้ความรุนแรงจริง มันก็ไปเข้าทางเขาเลย เพราะว่าทางฝ่ายโน้นไม่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมมันดำเนินไปได้

 

แต่สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ กระแสประชาชนเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ไม่ว่าจะกระแสประชาชนฝ่ายเชียร์ทักษิณหรือฝ่ายคมช. เรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงตลอดเวลา ลองฟังวิทยุคลื่น 92.25 ให้ประชาชนโทรเข้ามา บอกว่า จัดการเลย แล้วต้องปลดสุรยุทธ์ด้วยนะ เอาพลเอกสพรั่งขึ้นมาแทน คือประชาชนนอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์ปัญญาชนแล้ว กระแสประชาชนก็เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไมได้ว่าเป็นพลังอะไรบางอย่าเหมือนกัน ซึ่งผมก็เป็นห่วงว่า ในที่สุดแล้วรัฐบาลชุดนี้อาจจะลงเอยไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณ

 

อาจารย์พูดต่อไปเกี่ยวกับสัจจนิยมมหัศจรรย์ ถามว่าอยู่ในยุคของเทพปกรณัมหรือเปล่า ซึ่งผมก็คิดว่า อาจารย์ได้พูดว่าเราควรอยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์เสีย แทนที่จะอยู่ในช่วงเวลาของปกรณัม ผมก็เข้าใจว่า อาจารย์ย่ามองว่าประวัติศาสตร์สมัยใหม่เป็นเส้นตรงที่พุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

ผมคิดว่าเราไมได้อยู่ในยุคเทพปกรณัม แต่ผมคิดว่า บังเอิญอาจารย์อาจมีเส้นประวัติศาสตร์ของอาจารย์เองที่คิดว่าทุกคนต้องเดินตามเส้นของอาจารย์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ

 

ทีนี้พูดถึงเรื่อง ผู้ปกครองสร้างฉันทนามติใหม่ ตอนแรกที่อาจารย์คำว่าผู้ปกครอง ผมดีใจมาก เพราะผมมองว่า พวกทหาร พวกที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งอำนาจเก่าด้วย เป็นผู้ปกครอง ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซนต์ว่า คนเหล่านี้กำลังพยายามสร้างฉันทามติใหม่ และผมก็ไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองใดก็แล้วแต่ แต่ถ้าพูดๆ ไปแล้วอาจารย์ถอดออกมาเป็นคมช. ผมคิดว่าเขายังสร้างอะไรไม่ได้หรอก ทหารที่ขึ้นมาเพื่อยุติคนตีกัน แต่เขาไม่มีปัญญาสร้างประชาธิปไตย และการสร้างประชาธิปไตยมันอยู่ที่เรามากกว่า

 

ส่วนที่บอกว่า การยึดพื้นที่ การปิดสื่อ ผมก็เห็นด้วย แต่มันก็แปลกที่ทำไมรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจปล่อยให้สถานีช่องหนึ่งมีรายการประจำของคุณวีระ  มุสิกพงษ์ กับคุณจตุพร  พรหมพันธุ์ได้ ซึ่งผมก็คิดว่าน่าฟังคือเขาก็ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามพูดอะไรก็ได้ไปเรื่อยๆ ในตอนนี้ ผมก็คิดว่าน่าสนใจทีเดียว

 

แต่มาตรการปิดสื่อ พยายามขอให้สื่อวินิจฉัยในการเสนอข่าวทักษิณ นี่ก็เป็นเรื่องที่อีกฝ่ายต้องแก้ตัว เพราะเขาไม่ได้บอกว่าห้าม แต่มันเป็นมาตรการที่คืบคลานไปสู่ความเด็ดขาดบางอย่าง ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นมาตรการที่โง่เขลาเบาปัญญา

 

 

โต้สมศักดิ์ 

ส่วนอาจารย์สมศักดิ์ ต้องขอพูดเชื่อมเกี่ยวกับอาจารย์ชัยวัฒน์นิดหนึ่ง ซึ่งพูดตรงกันคือ อาจารย์สมศักดิ์เริ่มพูดว่าเสียใจ แต่ผมขอเติมไปหน่อยว่า อาจารย์เสียใจ น้อยใจ อย่างสุดซึ้งเลยว่า บรรดาคนต่างๆ ที่อาจารย์คาดหวังกับเขาไว้มากว่าน่าจะเป็นปัญญาชน นักวิชาการซึ่งเรียนประวัติศาสตร์มา น่าจะมีความเข้าใจ เรียนรู้ได้มากกว่านี้ แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่ทำได้ขนาดนั้น คล้ายกับว่าอาจารย์ชัยวัฒน์ว่า "ขี้จุ๊ เบ่เบ๋" มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเหมือนเด็กน้อยใจผู้ใหญ่

 

แต่ผมก็แฮปปี้กับที่อาจารย์สมชายบอกว่า อย่าบอกว่าเป็นนักวิชาการมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นนักวิชาการก็เป็นคนเหมือนกัน ก็แสดงความคิดเห็น ไม่ได้มีสถานะที่สูงกว่าคนอื่น ดีนะที่อาจารย์สมชายไม่พูดว่า ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นคนที่เสมอภาคเท่ากับคนอื่นๆ ในสังคมเหมือนกัน เพราะอาจารย์สมศักดิ์จะบอกว่า แน่ใจเหรอว่าเสมอภาคกับทุกๆ คนน่ะ (ฮา)

 

ประเด็นสำคัญที่สามารถสรุปได้บรรทัดเดียว ที่อาจารย์สมศักดิ์บอกว่า ปัญญาชน นักวิชาการไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์เลย ไม่เคยเรียนรู้ความผิดพลาดเลย ถ้าจะพูดเรื่องรัฐประหาร 19 กันยาฯ จริงๆ ผมก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้อีก แต่ไหนๆ ก็เอา...

 

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาชื่อธเนศ วงศ์ยานนาวา สมัยก่อนอาจารย์ธเนศ ตอนเรียนปริญญาตรี เป็นคนที่รักความเป็นธรรมมาก เวลาเจอเพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์คนไหนที่พูดจาดูถูกดูแคลนกับนักศึกษาก็จะโวยวายเอาเรื่องขึ้นมา ใครโดนรังแก แกก็จะไป

 

จนแกเริ่มชราลง ประมาณสักปริญญาโท ปริญญาเอก แกก็เบาบางลงเรื่อยๆ กลับกลายเป็นว่า ผีห่าซาตานที่สิงแก กลับมาสิงผมแทน จนอาจารย์ธเนศเริ่มเตือน มึงอย่าทำแบบนี้เลย ได้ยินเสียงปี่เสียงกลอง ก็ออกจะชกตลอด เสียงปี่เสียงกลองที่ว่าก็คือเหมือนมีเหตุการณ์ต่างๆ ก็ฮึดฮัดขึ้นมา

 

ผมเลยคิดว่า เหตุการณ์ 19 กันยา มันเหมือนที่ธเนศพูดว่า ได้ยินเสียงปี่เสียงกลองก็ฮึดขึ้นมา

 

ผมนึกถึงการค้นคว้าทางจิตวิทยาของ Ivan Pavlov แกทดลองกับสุนัข แกพูดถึงหมาว่า เมื่อสั่นกระดิ่ง แล้วให้อาหาร หมาก็กิน ทีนี้พอสั่นกระดิ่งแล้วไม่มีอาหาร หมาก็ยังน้ำลายไหลอยู่ ฉะนั้น เป็นไปได้ไหมว่าพอได้ยินเสียงปี่กลองก็ออกไปมีปฏิกิริยากับสิ่งที่มันเกิดขึ้นซ้ำๆ อาการแบบนี้ เมื่อเชื่อมโยงกับหมาแล้ว Dogmatic เป็นอัตโนมัติ

 

พออาจารย์สมศักดิ์พูดถึงเรื่องคุณวิชิตชัย  อมรกุล ผมเดินเข้าออกตึก 1 เห็นป้ายรำลึกถึงเขาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างนี้นะครับ ผมไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา และไม่ต้องการมีประสบการณ์ 6 ตุลา และในเหตุการณ์วันที่ 19 และ 20 เนื่องจากผมไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา และไม่ต้องการมีประสบการณ์ดังกล่าว ผมก็ไม่แน่ใจว่าวันที่ 20 21 22 มันจะเกิดอะไรขึ้น อาจารย์สมศักดิ์อาจจะรู้ดี เพราะผ่านเหตุการณ์มาแล้ว อาจจะรู้ว่าเมื่อไรมันจะเกิด อะไรจะไม่เกิด ผมอาจจะผิดพลาดที่คิดเรื่องการนองเลือดมากเกินไป

 

ผมยอมรับว่าผมเพ้อเจ้อ เพราะผมรู้แต่ว่าน้ำเมื่อถึงองศาหนึ่งแล้วมันใกล้เดือด แต่ไม่รู้ว่าเมื่อน้ำใกล้เดือด จะมองเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างไร ผมก็ใช้อัตวิสัย และไม่ต้องการมีประสบการณ์ดังกล่าว ผมไม่เคยชินกับมัน และคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่คุ้มค่า และก็คิดว่าเมื่อต้องมีการตาย ก็อย่าให้ตายอย่างไม่มีค่าอะไร แต่ถ้ายังไม่ตาย ก็อย่าให้มันเกิดขึ้นดีกว่า

 

 

ตอบสมชาย ปรีชาศิลปกุล

ผมขอบคุณอาจารย์สมชายที่พูดแทนผมไปแล้ว ที่ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ต่างกับใคร ไม่ได้มีสถานะที่สูงกว่า แสดงความคิดเห็นไป ผิดพลาดได้ และเห็นด้วยกับอาจารย์สมชายที่ว่า การเมืองไทยช่วง 2500 มา การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในสังคมไทย มันไม่ได้ถูกเอากลับมา กำกับโดยสมบูรณ์เด็ดขาดเสียที่ไหนกัน ประชาชนก็สามารถมีส่วนกำหนดได้

 

เห็นด้วยอย่างยิ่งที่อาจารย์บอกว่า ทหารจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากในปัจจุบันนั้นมันยาก เพราะประวัติศาสตร์มันก้าวหน้าไปแล้ว มันมีข้อจำกัดในการขยับตัวไปทางไหนก็แล้วแต่ เรื่องที่อาจารย์สมชายบอกว่ารัฐประหารทำลายระเบียบทางการเมืองชุดหนึ่ง ก่อนหน้านี้สภาน่าจะแก้ปัญหา และการรัฐประหารมาทำลายตรงนี้ แต่ผมคิดว่า จริงๆ สภาถูกทำลายมาก่อนหน้านี้แล้ว

 

ผมมีบทเรียนจาก 19 กันยาฯ ว่าเราต้องระวังว่าทหารรุ่นใหม่ เขาจะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของเขาในอนาคตต่อไป ทหารรุ่นใหม่ที่เห็นเจ้านาย เห็นรุ่นพี่ เห็นประชาชนเอาดอกไม้มามอบให้ ทหารรุ่นใหม่ก็จะถูกหล่อหลอมไปโดยไม่รู้ตัว

 

อันที่สองคือ มันจะเป็นเรื่องไม่ดีอย่างยิ่งที่สังคมไปทำให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจมากเกินไป  อันนี้มันเกี่ยวข้องกับประชาชนล่ะว่าจะไปหวังกับคนอื่นมาก

 

อันที่สาม สังคมเดินทางมาถึงความชัดเจนในความแตกต่างทางชนชั้นแล้ว มันมีความชัดเจน ความจริงแล้ว ชนชั้นกลางต้องตระหนักความจริงของปัญหา ยอมรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น ไม่งั้นจะอยู่ไม่ได้ ส่วนชนชั้นล่างก็ต้องสู้ต่อไป

 

 

 

 

หมายเหตุ

 

อ่านความคิดเห็นของ "สมชาย ปรีชาศิลปกุล" วิทยากรอีกคนหนึ่งบนเวทีสัมมนาได้ที่

 "สมชาย ปรีชาศิลปกุล : เมื่อชนชั้นนำกำลังแย่งชิงอำนาจกัน โดยใช้ประชาชนเป็นเบี้ย"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net