สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี : วิเคราะห์ระบอบสนธิ

สุภลักษณ์ กาญจขุนดี นักข่าวอาวุโสที่วิพากษ์การเมืองได้ดุเด็ดเผ็ดร้อน คราวนี้ในเวทีสัมมนาของ ฟ้าเดียวกัน เขานำเสนอบทวิเคราะห์ระบอบสนธิ ทำไมทหารยึดอำนาจ มันเรียกว่าระบอบแล้วหรือยัง หน้าตามันเป็นเช่นไร รวมถึงการอภิปรายของ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ที่ระบุถึงความเสี่ยงของสังคมไทย

สุภลักษณ์ กาญจขุนดี

หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น

เสนอบทความ "วิเคราะห์ระบอบสนธิ"

ในเวทีสัมมนาวิชาการ "สังคมการเมืองไทย 4 เดือนหลังรัฐประหาร"

จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

*ผู้อภิปรายบทความ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 19 มกราคม 2550

 

 

ระหว่างที่ผมกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ มีคนตั้งคำถาม 2-3 อย่าง ว่า มันพอจะเรียกว่าระบอบแล้วหรือยัง ? บางคนก็เห็นว่ากำลังแดกดันสิ่งที่ผ่านมาแล้วหรือเปล่า เพราะมี "ระบอบทักษิณ" แล้วก็เลยมี "ระบอบสนธิ" ขึ้นมา คำถามเด็ดกว่านั้นอีกคือคุณหมายถึงสนธิไหนกันแน่ ? (ฮา)

 

เรื่องที่จะพูดจะตอบคำถาม 3 ข้อใหญ่ โดยไม่ตอบคำถามทางศีลธรรม ไม่ตอบปัญหาเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย  เพราะการรัฐประหารไม่นำไปสู่อะไรทั้งสิ้น ไม่นำไปสู่การติดตั้งประชาธิปไตย การสร้างคุณธรรมอย่างใหม่ให้กับสังคม

 

ผมตั้งประเด็น 3 ประเด็น 1. อะไรทำให้ทหารยึดอำนาจ และจะยึดอำนาจถึงเมื่อไร  2.มีข้อโต้แย้งอะไรเกี่ยวกับทหารที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ในเรื่องการยึดอำนาจ  3.สำคัญมาก สภาทหารเป็นระบอบหรือไม่

 

 คำถามแรก ทหารจะยึดอำนาจอีกเมื่อไร

 

อาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) บอกว่าเดี๋ยวนี้หาหนังสือเกี่ยวกับทหารกับการเมืองไทยได้น้อยเพราะไม่มีใครคิดว่าทหารจะยุ่งกับการเมืองอีกต่อไปแล้ว เล่มใหม่ที่สุดเท่าที่หาได้ คือของอาจารย์กนลา (สุขพานิช) ที่เป็นบรรณาธิการ ปี 2523 ผมบังเอิญเจอใหม่กว่านั้นปี 2529 เป็นเอกสารวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เรื่องทหารไทย ยังเป็นเอกสารโรเนียว ผมใช้เอกสารเก่าขนาดนี้ในการศึกษาเรื่องนี้ เพราะกระบวนการในการยึดอำนาจก็เก่าพอกัน 

 

แต่มันก็ยังไม่เก่าพอ จึงไปหาหนังสือ Southeast Asia Political System ของ Lucian W.Pye หนังสือนี้อธิบายว่าทหารจะยึดอำนาจได้มีเงื่อนไขอะไร บางคนบอกทหารจะยึดอำนาจเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง บางคนบอกเมื่อเกิดความแตกแยกกันในหมู่ทหารอีกฝ่ายหนึ่งก็จะยึดอำนาจ บางพวกบอกไม่ใช่ เมื่อทหารมีเอกภาพเขาก็จะยึดอำนาจได้ สรุปก็คือ ทหารยึดอำนาจตอนไหนก็ได้

 

สิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจมีอะไรบ้าง ผมนับได้ประมาณ 5 ข้อ ประเด็นแรก คลาสสิกมากคือการอ้างว่ามีการคอร์รัปชั่น รัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจอาจจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากทหารก็ได้ แต่ข้อกล่าวหานี้จะลืมไม่ได้ ต้องเป็นอันดับแรก ประเด็นที่สอง ขาดความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติ เพราะอำนาจใช้สำหรับการโอบล้อมความสามัคคีของคนในชาติ ประเด็นที่สามซึ่งบางทีก็มี บางทีก็หลงลืมคือมีภัยด้านความมั่นคง

 

ประเด็นที่สี่ การยึดอำนาจจะไม่สำเร็จเลยถ้าไม่อ้างข้อนี้คือ ต้องอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่จงรักภักดี ทหารจงรักภักดีกว่า หรือต่อให้เป็นทหารด้วยกัน กลุ่มเราก็จงรักภักดีกว่า ทหารที่ทำการรัฐประหารโดยที่ไม่สามารถรวมตัวเองเข้ากับสถาบันกษัตริย์ได้ก็ล้มเหลว พลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) เป็นคนที่สามารถทำให้ตนเองให้แน่นแฟ้นกับสถาบันได้ ทำให้คู่ต่อสู้ล้มเหลว

 

ประเด็นที่ห้า ประเด็นคลาสสิกที่ประเทศอื่นชอบอ้างกันคือ ทหารทำหน้าที่ในการเป็นผู้ปกป้องประเทศ ปกป้องความมั่นคงและทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นสังคมขาดทหารไม่ได้ ทหารเป็นกลุ่มคนที่ฉลาดเลิศเลอกว่าคนอื่น ในร่างรัฐธรรมนูญของพม่า มีมาตราหนึ่งเขียนไว้ว่า กองทัพพม่าเป็นกลุ่มคนที่ฉลาดเลิศล้ำ สมควรได้ดูแลประเทศ แปลว่าคนอื่นโง่ และรังแต่จะทำให้สังคมนี้เกิดความร้าวฉาน

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งในระยะหลังโดยเฉพาะนักวิชาการไทยรุ่นหลังๆ ประมาณ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ที่มีความเชื่อว่า ทหารจะไม่ยึดอำนาจต่อไปแล้วหากสังคมพัฒนาซับซ้อน เศรษฐกิจก้าวหน้า ประชาชนมีความเป็นสถาบันเข้มแข็ง ทหารไม่กล้าเพราะตัวเองไม่รู้เรื่องความสลับซับซ้อนของโลก แต่มันไม่จริง เพราะทหารยุค คมช. พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ไม่มีเงื่อนไขทางสังคมเป็นตัวแวดล้อมมากมายนัก คนที่อ้างว่าคนเป็นพหุนิยม เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจะกีดกันให้ทหารไปเป็นมืออาชีพ ผมพบว่ามันไม่จริง

 

พวกที่จะหาความชอบธรรมให้ความยึดอำนาจก็พยายามโต้แย้งทฤษฎีนี้เหมือนกันโดยบอกว่า ทหารยึดอำนาจได้เพราะเขารู้ว่าโลกซับซ้อน พวกนักวิชาการยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองชอบอ้างว่าทหารเรียนรู้โลกได้เร็ว เพราะอยู่กับเทคโนโลยี แม้จะเป็นเทคโนโลยีในการฆ่าฟัน แง่หนึ่งมันก็จริงที่เทคโนโลยีหลายอย่างมาจากวงการทหารก่อน

 

แต่ทฤษฎีก็ถูกโต้แย้งตกไป เพราะหากทหารก้าวหน้า ต้องมีความสามารถในการบริหารประเทศมากกว่านั้น ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าทหารใดๆ ก็ตามไม่สามารถนำพาประเทศไปได้ มีปัญหามากระหว่างอยู่ในอำนาจและมีปัญหามากยิ่งกว่าเวลาจะ "ลงจากอำนาจ" ประวัติศาสตร์ไทยมีอยู่ไม่กี่ครั้งที่พวกเขาลงจากอำนาจได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วลงแบบถูลู่ถูกัง คณะ รสช.เป็นคณะสุดท้ายที่ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์อันนั้น คณะ คมช.เข้าใจว่ากำลังเดินไปในทิศทางนั้นในอัตราเร่งที่สูงยิ่งนัก และน่ากลัว

 

ประการต่อมา ข้อโต้แย้งที่ว่า ทหารจะยึดอำนาจหรือไม่ยึดอำนาจเมื่อใด

 

มันอธิบายปรากฏการณ์ของการยึดอำนาจในประเทศไทยไม่ค่อยได้ ผมพยายามค้นหาว่ามันเกิดอะไรขึ้นแน่ ทำไมจึงมีการยึดอำนาจขึ้นในปัจจุบันนี้ พบว่า มีการแข่งขันกันในกลุ่มอำนาจ 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ กลุ่มขุนนาง ขุนศึก ซึ่งสูญเสียพื้นที่ทางการเมืองไปหลังจากมีการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น กลุ่มพ่อค้านายทุนต้องการพื้นที่ทางการเมืองเพื่อรักษาทิศทางของประเทศ ทำให้เข้ามายึดกุมพื้นที่มากขึ้นโดยวิถีทางของการเลือกตั้ง อาการที่คนลงคะแนนให้ทักษิณอย่างมากไปขัดแย้งกับระบอบเก่าซึ่งบริหารโดยพวกขุนนาง ข้าราชการ นับตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) เป็นต้นมา ทักษิณเป็นคนแรกที่นั่งบริหารใจกลางอำนาจได้ โดยเห็นระบบราชการเป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารงานเท่านั้น โดยมีแรงสนับสนุนของมวลชนจากการเลือกตั้งมาก

 

สิ่งที่ทักษิณทำท้าทายสถาบันจารีตนิยมแบบเดิม ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกสูญเสียอำนาจในการควบคุมสังคม อำนาจในสถาบันเก่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในสมัยเปรม (ติณสูลานนท์) ในการทำให้ได้รับแรงสนับสนุนทางการเมืองจากมวลชน ชาวไร่ชาวนาในอดีตขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในนามของความจงรักภักดีก็ตาม ในนามของโครงการพระราชดำริก็ตาม ทำให้พระมหากษัตริย์ popular มาก ทักษิณท้าทายโดยสร้างเครือข่ายของตัวเอง เปลี่ยนระบบราชการที่จงรักภักดีกับสถาบันดั้งเดิมมากให้มาเป็นกลไกบริหารงานทางการเมืองของเขาที่ขึ้นกับเขาโดยตรง

 

สิ่งที่ทำลายมากที่สุดคือ การยุบ ศอ.บต.ในภาคใต้นับเป็นการท้าทายความมั่นคงของรัฐไทยโดยรวมเลยทีเดียว  การรื้อเครือข่ายการบริหารงานในสังคมไทยจนสิ้น ผมคิดว่าพลเอกเปรมทนไม่ได้ และเมื่อยุบ ศอ.บต.ไปไม่เท่าไรก็เกิดความรุนแรงขึ้นในภาคใต้อย่างที่เรียกว่าควบคุมไม่ได้ ก่อนหน้านั้นก็มีเรื่องความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ เช่น การปลดคุณพลากร สุวรรณรัตน์ แต่หลังจากนั้นคุณพลากรก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เป็นการตบหน้ากันไปกันมาของกลุ่มอำนาจ

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในทรรศนะของผมก็คือ ทักษิณเป็น Electoral Popular มันท้าทายสิ่งที่เราเรียกกันว่า Royal Popular ทักษิณสร้างนโยบายประชานิยมต่างๆ นานาโดยการใช้เงินหว่านไปให้คนจน คนจนรู้สึกได้รับประโยชน์ บางคนอาจจะพูดว่านี่เป็นภาระทางการเงินการคลัง คนจนไม่สนใจ ภาระทางการคลังไม่ใช่เรื่องที่เขาต้องตอบ บางคนว่าเป็นการใช้เงินของรัฐหาเสียง แต่อีกมุมหนึ่งก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐมีหน้าที่ผันทรัพยากรไปให้คนส่วนใหญ่ หรือจะให้ผันให้เฉพาะคนชั้นสูง เมื่อคุณอุ้มธนาคารต่างๆ ได้ ทำไมไม่อุ้มคนจน นี่ทำให้ทักษิณได้รับความนิยมจนปัจจุบัน

 

แน่นอน คนชั้นสูงไม่สบายใจ คนชั้นกลางซึ่งเสียประโยชน์จากทักษิณก็มองเห็นประเด็นนี้และสร้างปรากฏการณ์ให้เห็นว่าทักษิณท้าทายสถาบันหลักของชาติ ไม่จงรักภักดี ดังนั้นเขาอยู่ไม่ได้ในสังคมนี้ แต่ทักษิณไม่ตระหนักเรื่องนี้ แล้วก็ลำพอง ย่ามใจ

 

เขาลำพองใจเพราะว่า ปี 2540 ทุกคนเจอวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ทักษิณไม่เจอ และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เจอเต็มๆ ธนาคารไทยพาณิชย์เจอเต็มๆ ภาระที่ไทยพาณิชย์อุ้มไอทีวีอยู่นั้นอ่วม และไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม ทักษิณให้ชินคอร์ปช่วยซื้อไอทีวี เป็นการปลดภาระหนี้ก้อนใหญ่ให้กับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เขาจึงลำพองใจมากว่าสถาบันนี้อ่อนแอเกินว่าจะสู้วิกฤติอันนี้ได้ ต่อมายังดีลกับเทมาเส็กโดยธนาคารไทยพาณิชย์อีก เขาจึงลำพองใจว่าจะอยู่ได้เพราะอีกฝ่ายหนึ่งพึ่งพิงเขาอยู่ตลอดเวลา

 

พลเอกเปรม จึงทนไม่ได้กับปรากฏการณ์นี้ ในนามของความจงรักภักดีจึงปัดชุดสีเขียวขี้ม้าออกปลุกระดมในเขตฐานที่มั่นของตัวท่านเอง พูดสารซึ่งคนเข้าใจได้ว่ารัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ชั่วคราว ม้าเป็นของเจ้าของคอก พลเอกเปรมได้ตัดช่องการสื่อสารระหว่างรัฐบาลของทักษิณกับกองทัพ แล้วโอนไปหาตัวเอง ซึ่งไม่เคยมีอำนาจจริงๆ ในกองทัพ แต่ว่ามีอำนาจในการแอบอ้างความใกล้ชิดของสถาบัน เปรมจึงใช้เครือข่ายอันนี้และให้นายทหารทำการยึดอำนาจจากทักษิณไปได้

 

ผมไม่อธิบายว่าจะเกิดความรุนแรงในคืนวันที่ 19 กันยายน ผมไม่สน มันเป็นเพียงสมมติฐาน ผมไม่เชื่ออย่างที่นักสันติวิธีอธิบายว่า ถ้าไม่มีการยึดอำนาจจะมีการนองเลือดในวันที่ 20 กันยายน เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็เตรียมไว้แล้ว

 

ตรรกะของผมง่ายๆ คือ การยึดอำนาจมีความเสี่ยง 100% สำหรับการเกิดความรุนแรงเสมอ ถ้าคืนนั้นคุณทักษิณออกเร็วกว่านั้นอีกหน่อย คุณเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ก็สั่ง คุณพรชัย กรานเลิศได้ ก็ต้องสู้กัน แล้วคุณบอกใช้รัฐประหารยุติความรุนแรง แต่บังเอิญเมื่อมันไม่เกิดก็ได้รับชัยชนะกันไป  แต่ผมเชื่อว่ารัฐประหารทุกครั้งทุกชนิดไม่มาในนามของสันติแน่ มันมาในนามของความเสี่ยงของการนองเลือด ผมจึงไม่เถียงเรื่องนี้

 

ประการที่สาม เมื่อทำการยึดอำนาจได้แล้ว เขาสถาปนาสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น "ระบอบ" แล้วหรือยัง

 

บางคนบอกว่ามันแค่ 4 เดือน แต่ผมว่าไม่ใช่แค่ 4 เดือน มันมีมานาน รูปแบบนี้ก็ใช้มานานก๊อปปี้มาจาก รสช. ซึ่งมาจากพม่า พม่า ใช้รูปแบบเดียวกัน คณะทหารของพม่ามีสมาชิกประมาณ 15 คน สภานี้ทำหน้าที่บังคับบัญชาระบอบเหมือนกัน สภาของพลเอกสนธิทำหน้าที่ในการคุมการเขียนธรรมนูญซึ่งคุณมีชัย (ฤชุพันธ์) ออกแบบไว้ให้มีหัวใจสำคัญว่าพลเอกสนธิมีอำนาจตั้งและปลดนายกรัฐมนตรีได้ ระบอบแบบพม่าไม่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่เราต้องมีตรายางเอาไว้ผลิตกฎหมายเหมือนกับสภาตรายางในลาวหรือเวียดนามที่ทำตามคำสั่งรัฐบาล อิดเอื้อนได้บ้างบางเวลา เพราะอภิปรายรัฐบาลได้แต่ลงมติไม่ได้  พม่ามีสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยก็มี พม่าผลิตรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 1993 ส่วนของไทยใช้มา 3 ฉบับแล้ว

 

ทุกวันนี้เวลาพูดต้องพูดให้มันสลับกัน อำนาจใหม่กลายเป็นอำนาจเก่า อำนาจเก่ามาเป็นอำนาจใหม่ ตอนนี้เครือข่ายของพลเอกเปรมได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เคยเป็นที่ปรึกษาเปรม พลเอกเปรมเป็นประธานกิตติมาศักดิ์ประธานกรุงเทพฯ นอกนั้นมีเครือข่ายอดีตปลัดทุกกระทรวง มีเพื่อนป๋า เพื่อนลูกป๋า เพื่อนของเพื่อนลูกป๋า เข้ามานั่งในคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเต็มไปหมด แม้แต่กลุ่มซึ่งเคยเสพสังวาสกับกลุ่มทักษิณก็เปลี่ยนตัวเอง เช่น ที่เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้วเดี๋ยวนี้ก็เป็นผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพราะเคยทำธุรกิจกับธนาคารทหารไทย คุณอารี วงศ์อารยะ ก็ใช่ โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ไม่ตระหนักถึงความแตกต่างของสองระบอบนี้เลย ไปนั่งที่ใดเมื่อไรก็ได้

 

ระบอบใหม่นี้สร้างอะไร ระบอบนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากสิ่งที่เคยเป็น "เศรษฐกิจพอเพียง" จนบัดนี้ก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร ตราบเท่าที่ทักษิณไม่ได้เป็นคนบริหาร มันก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ในทัศนะผมมันมีการรีแบรนด์ใหม่ โอท็อปเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน 30 บาททุกโรคเป็นรักษาทุกโรครักษาฟรี กองทุนหมู่บ้านและเมกกะโปรเจ็กต์ยังอยู่ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่ขนมอมยิ้มเอาไว้ปลอบใจเด็กๆ เวลาผิดหวังจากของขวัญอันใหญ่กว่า เอาไว้ปลอบใจตัวเองเมื่อเราไม่สามารถแข่งขันกับโลกได้ แล้วมันก็ตีความไปได้เรื่อยๆ ไม่มีความหมายในทางอุดมการณ์

 

ประการต่อมา บุคลิกของระบอบ ไม่ต่างจากระบอบทหารทั่วไป ทหารต้องนั่งในรัฐวิสาหกิจ สิ่งที่คลาสสิคอีกอันที่รัฐบาลทหารต้องทำคือ การเพิ่งงบประมาณทหาร ปีนี้เพิ่ม 34% มีการวางบิลด้วย 1,000 ล้านบาท พลเอกสนธิบอกว่ากองทัพบกได้สำรองจ่ายไปแล้ว ประมาณว่าเป็นค่ายึดอำนาจ ซ้ำไม่พอยังมีอีก 555 ล้านบาทให้พลเอกสะพรั่ง กัลยาณมิตร เอาไปตั้งศูนย์ปฏิบัติการคมช. ค่าใช้จ่ายของระบอบนี้ ในระยะ 4 เดือนที่ผ่านมาจ่ายไปแล้วเท่านี้ ถ้าอยู่ 5 ปีอาจจะเท่า 7.3 หมื่นล้าน

 

บุคลิกอีกอย่างของระบบนี้ที่ต้องทำคือ การสร้างพันธมิตรระดับล่าง พล.อ.สุรยุทธ์ต้องออกไปรื้อฟื้นเครือข่ายเก่าๆ ของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพราะเชื่อว่าพวกคนเดือนตุลาไปใส่ไฟไว้มาก

 

กอ.รมน.ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ให้งบประมาณ แล้วก็เพิ่มกำลังคนให้ 14,000 คน แต่ที่จริงตั้งเป้าไว้ 60,000 คน เอาไว้ทำอะไร สิ่งที่ระบอบนี้ต้องสร้างต่อไปในอนาคต ผมไม่เคยคิดว่าเขาจะไปหรือจะลงจากอำนาจ ถ้าลงไปนักการเมืองใหม่จะเล่นเขา ทุกคนก็นั่งทับผลประโยชน์ไว้ทั้งนั้น จะอยู่นานที่สุดเท่าที่ทำได้เว้นแต่ประชาชนจะไม่พอใจ สิ่งที่ต้องสร้างคือ ให้กอ.รมน.ควบคุมมวลชน พวกคลื่นใต้น้ำทั้งหลาย

 

ผมเพิ่งคุยกับสมัชชาคนจน เขาไม่ได้เชียร์ทักษิณนะ สมัชชาคนจนบอกว่าตอนนี้มีทหารไปใช้ชีวิตในหมู่บ้าน แกนนำถูกจับตา เสรีภาพในการเคลื่อนไหวถูกจับตา ไม่ว่าจะเป็นคลื่นชนิดไหนก็ตาม ผมเองไปเป็นวิทยากรพูดเรื่องลาวแท้ๆ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ปรากฏว่ากองทัพภาคที่ 3 ให้คนมานั่งฟัง ถ่ายรูป เขาบอกว่าไม่มีอะไร บันทึกไว้เผื่อท่านทำอะไรผิดพลาด นี่คือการควบคุมประชาชน เพื่อสิ่งที่เป็นหัวใจของ 4-5 เดือนข้างหน้า คือ รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญซึ่งอ้างว่าจำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่การมีส่วนร่วมจริงๆ ต่ำ และการกดประชาชนไว้แบบนี้มันมีส่วนร่วมไม่ได้ จะจัดสัมมนาก็ไม่ได้ โอกาสที่จะถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ การมีส่วนร่วมจะเป็นแต่เพียงเรื่องฉาบฉวยและจอมปลอม มีผู้แทนประชาชนปลอมๆ นั่งร่างรัฐธรรมนูญปลอมๆ

 

สิ่งที่จะสู้กันในอนาคตอันใกล้ ถ้าผมเป็นทักษิณผมจะทำ ก็คือ การจัดการฐานคะแนนเสียงของผม ให้ปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คมช.ก็รู้ เขาจึงใช้เครือข่ายของตนสร้างประเด็นคู่กัน สุดท้ายผมคิดว่าต้องทำ ประชามติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็มีอีกดาบสองอีกว่าจะหยิบฉบับไหนมาใช้อีกก็ได้ มีตัวประกันไว้แล้ว ฉะนั้นกระบวนการประชาธิปไตยอย่างที่หมอทำขวัญพูดกันจึงไม่เป็นอย่างนั้น

 

ขอทำนายเล็กน้อยถึงรัฐธรรมนูญในอนาคต รัฐธรรมนูญฉบับที่จะมาถึงนี้ 1.จะเชื่อมันในระบบแต่งตั้งมากกว่าระบบเลือกตั้ง เพราะระบบเลือกตั้งทำโดยคนโง่ เลือกคนเลว 2.รัฐบาลต้องอ่อนแอ เป็นรัฐบาลผสมที่ฟังเสียงชนชั้นสูง รัฐบาลต่อไปอาจจะไม่ผลิตนโยบายอะไร เพราะรัฐบาลนี้ได้ว่างทิศทางนโยบายไว้แล้ว ประชาชนจะเลือกเหมือนเลือกนางงาม โดยนายพลแก่ๆ จะไปนั่งในวุฒิสมาชิก

 

 

อภิปราย : อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์  สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ความเข้าใจเรื่องการรัฐประหารในงานวิชาการในภาษาไทยเท่าที่มี เนื้อหาสรุปคล้ายๆ กันทั้งไทยและฝรั่งพูดถึงเกียรติภูมิทหาร บทบาทการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เรื่องอาวุธและความพร้อม แต่งานระยะหลังพยายามจะดูการจัดองค์กรของทหาร หรือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับกลุ่มอื่นๆ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว

 

แต่กรณีของไทยแตกต่างจากที่อื่น ดูเฉพาะการรัฐประหารครั้งล่าสุดเปรียบเทียบกับ รสช. โดยหลักทั่วไปเป็นความจริงทหารพร้อมจะรัฐประหารเมื่อไรก็ได้ เมื่อมีความขัดแย้งกับรัฐบาล ซึ่งดูจริงๆ แล้ว ปี 2534 การรัฐประหารเกิดจากความขัดแย้งในกองทัพก่อน มีรุ่น 1 กับรุ่น 5 ที่ขัดแย้งกันอยู่ และเป็นทหารกลุ่มใหญ่แล้วเลือกโจมตีรัฐบาลพลเรือนที่เพิ่งเกิดขึ้นเรียกว่าในรอบ 20 ปีก็ได้ มาถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง ผบ.ทบ. แล้วก็มากระทบตัวรัฐบาล

 

แต่ปี 2549 ทหารที่ทำรัฐประหารเป็นทหารกลุ่มเล็กที่อยู่นอกระบบ ไม่ถูกกับทหารกลุ่มใหญ่ของทักษิณ เตรียมทหารรุ่น10 ครองงำทั้งหมดเหลืออยู่คนเดียว ดังนั้นมันเป็นเรื่องจะคาดการณ์ก็ได้ว่ามันจะมีความขัดแย้ง แต่จะนองเลือดหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ความเห็นที่เกิดตั้งแต่การโยกย้ายออกจากตำแหน่ง แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลมหาศาล เช่น นโยบายจากพม่าเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง จุดยืนของกองทัพบกตอนนั้นย้ายจากปัญหาอินโดจีน อีกทั้งรุ่น 10 ซึ่งมีจำนวนหลายคนก็ได้รับการดันไปจ่อตำแหน่งสำคัญๆ ปี 2549 เป็นปีที่สำคัญและเข้าใจว่าการต่อรองที่สำคัญระหว่างการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายปี 2549 ก็ไปเอาสนธิขึ้นมาโดยอ้างว่าจะแก้ปัญหามุสลิม

 

สิ่งพิเศษอีกอันคือ วาทกรรมเรื่องพระราชอำนาจ น่าสนใจว่ามันถูกใช้อย่างเป็นระบบในหลายๆ เดือนเพื่อท้าทาย ต่อต้านกับระบอบทักษิณ แต่จริงๆ แล้วในการช่วงชิงฐานมวลชนของวาทกรรมพระราชอำนาจนั้นช้าและไม่เป็นระบบ ขณะที่ทักษิณทำผ่านประชานิยมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังมีอิทธิพลอยู่  ฉะนั้น มันจึงมีปรากฏการณ์ที่องคมนตรีก็ยังแอคทีฟ แม้ว่ากฎหมายบอกว่าองคมนตรีไม่ยุ่งกับปัญหาบ้านเมือง สถานะขององคมนตรีเป็นเรื่องน่าสนใจ เราเปรียบเทียบกับ 15 ปีที่แล้วจะเห็นบางอย่างที่น่าห่วง

 

ส่วนเรื่องระบอบสนธิ กว่าที่เราจะนึกถึงระบอบทักษิณก็ใช้เวลาหลายปีแล้ว มันต้องนโยบาย มีความต่อเนื่อง มีโครงสร้าง มีองค์กรพอสมควร แล้วมันยังมีความต่างที่ระบอบทักษิณสามารถสานต่อความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างส่วนกลางกับชนบท ระหว่างพรรคการเมืองกับชาวบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกับประเทศอื่น เป็นโลกาภิวัตน์โดยตัวมันเอง เราถึงต้องเรียกมันเป็นระบอบ

 

แต่มองกลับกันกับปัจจุบันของทหาร มันเป็นเรื่องระยะสั้นของการมีอำนาจ แต่ไม่มีอะไรใหม่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารัฐประหารเสร็จแล้วจะทำอะไรบ้าง แนวความคิดที่ชัดเจนในทางการเมืองก็ไม่มี แล้วก็เป็นทหารบ้านนอกด้วย รู้แต่กิจการทหารก็ไปสร้าง super structure ที่ใหญ่เกินไปและล้าสมัย เช่น กอ.รมน. นี่เป็นอันตรายโดยที่ทหารไม่รู้ว่ามันอันตราย โดยกอ.รมน.เองเมื่อไม่มีอำนาจอะไรแล้วก็ไปสร้างปัญหาในภาคใต้ การลงจากอำนาจก็พูดว่าจะคืนให้ประชาชน แต่สัญญาณเริ่มแปลก เป็นการตอบโต้กับปฏิกิริยาที่ไม่ได้คิดมาก่อน ไม่รู้ระบบการบริหาร

 

ถ้าจะบอกว่านี้คือระบอบสนธิ ผมกลับคิดว่าน่าจะใช้ระบอบเปรมาธิปไตยไปเลย ในความหมายคือว่าตัวไม่อยู่ก็ได้แต่ระบอบยังอยู่ แล้วเรื่องนโยบายก็ต่างกัน ฝรั่งยังไม่ตีว่าเปรมาธิปไตยเป็นชาตินิยมหรือเปล่า แต่นโยบายตอนนี้ของแบงก์ชาติก็ดี หน่วยงานราชการก็ดีก็ค่อนข้างเป็นชาตินิยม

 

อาจารย์เสน่ห์ จามริก มีงานเขียนชิ้นใหม่เรื่องการเมืองไทยกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ใช่แต่ตัวกฎหมายแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล พูดไว้ตรงว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะเป็นรัฐธรรมนูญที่จะรอให้มีการล้ม แล้เผลอๆ จะด้วยการรัฐประหาร เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นพหุสังคม ไม่เปิดโอกาสให้มีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนข้างนอก แต่ถูกดีไซด์มาแล้ว ไม่ว่าเร็วหรือช้า การดีไซด์รัฐธรรมนูญฉบับที่จะเกิดขึ้นจะสร้างปัญหาความขัดแย้งแน่นอน ความเสี่ยงนี้เป็นความเสี่ยงต่อทหารกลุ่มนี้ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหาหรือมองไปข้างหน้าระยะยาวได้

 

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษและเสียใจคือ สปิริตของการปฏิรูปการเมืองตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หายไปไหน ทำไมไม่มีแนวความคิดเกี่ยวกับสื่อเสรี การมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งที่กำลังคิดปัจจุบันเป็นเทคนิคทั้งนั้น แต่สิ่งที่เป็นแกนกลางของโลกข้างหน้า การปฏิรูปการเมืองจะทำให้ระบบการเมืองไทยมีประสิทธิภาพในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกและภายใน แต่ที่ทำตอนนี้เป็นเพียงการเอาตัวรอดไปวันๆ และนี่คือความเสี่ยงที่อันตรายไม่ใช่กับระบอบทหารแต่กับสังคมการเมืองไทย

 

บางส่วนของการซักถามแลกเปลี่ยน

 

สุภลักษณ์

ในฐานะที่ถูกพาดพิงถึงวิชาชีพ ขออภัยที่ต้องพูดว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนทำตัวเสมือน "เด็กเชียร์แขก" ทำหน้าที่เชียร์คนนั้นเพื่อให้นายทหารใหญ่หิ้วขึ้นไปรับใช้ แล้วก็ยินยอมพร้อมใจที่จะเซ็นเซอร์เรื่องบางอย่างได้ หลักการไม่มีอะไรมากถ้าเชื่อเรื่องสื่อเสรี คือ counter authority แต่สื่อทุกวันนี้ทำตัวเป็น authority ด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า agenda setting รวมทั้ง self censor

 

ผมไม่ได้ชอบทักษิณเป็นการส่วนตัว แต่ก็ไม่คิดว่าประชาชนที่ชอบทักษิณจะไม่มีสิทธิทราบว่าทักษิณไปไหนมาไหน ผมมีปัญหาเวลาจะต้องเขียนว่าใครเป็นปีศาจ หรือใครเป็นเทวดา ปกติผมไม่ค่อยแคร์เท่าไหร่ แต่ถึงตอนนี้สภาวะนี้น่าอึดอัดใจตรงที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการก็ยินดีที่จะเป็นเช่นนั้น กรณีทักษิณเป็นข่าวในซีเอ็นเอ็น สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งยินดีเซ็นเซอร์โดยไม่ต้องถามว่าทักษิณจะพูดเรื่องอะไรเพราะได้มีการขอความร่วมมือกันไว้  ผมจึงมองไม่เห็นความจำเป็นในการปฏิรูปสื่อ สื่อได้เซ็ทตัวเองอยู่ในสภาวะที่ไม่จำเป็นต้องปฏิรูปแล้ว ไม่มีมาตรฐานกลาง ความพอดีของการรายงาน ละเลยในการทำหน้าที่ของตัวเองในหลายเรื่อง เช่น งบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นก็แทบไม่รายงาน หรือรายงานเล็กๆ ไม่มีการรายงานอย่างวิพากษ์วิจารณ์กับสถานการณ์ปัจจุบัน สื่อมวลชนก็เป็นอย่างที่เป็นมาโดยตลอด อย่าไปปฏิรูปให้เสียเวลา ประชาชนได้โปรดอย่าหวัง สื่อมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามอำนาจ เขียนใน agenda ของอำนาจ 

 

 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่คุณสุภลักษณ์บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้เหมือนกับรูปแบบที่ผ่านมานั้น รัฐประหารครั้งนี้มีความใหม่อันหนึ่ง คือ เป็นครั้งแรกที่ทำโดยกลุ่มที่ไม่ใช่ขุนศึก ขุนศึกก็คือพวกทหารการเมืองที่มีอิสระ มีศักยภาพที่จะขึ้นมาบริหารประเทศด้วยตัวเอง ขุนศึกกลุ่มสุดท้าย คือ พวกหนุนภักดี คราประยูร หลังจากนั้นเป็นช่องว่างพวกทหารไม่มีศักยภาพพอ จนช่วงประมาณที่ชวน (หลีกภัย) เป็นรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นครั้งแรกและแปลกมากในการเมืองไทย แล้วดันเอาสุรยุทธ์ (จุลานนท์) ขึ้นมาโดยข้ามตั้งหลายคน ตอนนั้นก็คิดว่าเป็นการสะท้อนพลังอำนาจของระบอบรัฐสภาที่มีต่อระบอบราชการ แต่เมื่อมองย้อนหลังไปกลับพบว่าพลาด อันนั้นมันเป็นสัญลักษณ์ว่า มันเป็นช่องว่างของพวกขุนศึกว่าขุนศึกหมดยุคแล้ว และเปิดช่องว่างให้ the palace take over ถึงเห็นได้ว่าทำไมรัฐประหารครั้งนี้ขึ้นมาแล้วถึงกระจอกขนาดนี้ การบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องอัตวิสัย มันเป็นภาววิสัย

 

มาถึงข้อสรุปที่น่ากลัว รัฐธรรมนูญจะถูกล้มโดยการนองเลือด มันหมดยุคไปแสนนานและไม่มีความสามารถจะขึ้นมาแล้ว พอขึ้นมาก็ไม่มีน้ำยา แต่ความที่พวกนี้ประเมินตัวเองสูง เปรมก็เห็นว่าตัวเองได้รับการสนับสนุนจากมหาประชาชนตลอดเวลา ไม่ลงและดื้อดัน จึงน่ากลัวว่ากระบวนการนี้จะลงเอยโดยการนองเลือด

 

ถ้าหลายคนเห็นว่าการวิเคราะห์นี้เป็นไปได้ ข้อเสนอหนึ่งคือ ต้องหยุดกระบวนการนี้ตั้งแต่ตอนนี้ แล้วให้เกิดการเลือกตั้งเลย แล้วให้คนที่ได้รับเลือกตั้งมาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่มันมีปัญหาที่แก้ไม่ตกคือ จะทำยังไงก็พวกกลุ่มทักษิณ พวกที่ขึ้นมารวมทั้งนักวิชาการ สื่อที่ร่วมต้านด้วยก็ต้องการกวาดพวกทักษิณไปให้หมด ตรงนี้ยังไม่มีทางออก แต่ที่น่าห่วงคือการที่ประเมินตัวเองสูง และโลภมากคิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้ทุกอย่างในที่สุดมันจะพาให้สังคมลงเอยด้วยการนองเลือดอีกครั้ง

 

สุภลักษณ์

มีฝากประเด็นเรื่องการประเมินรัฐบาลของ ครป.  ผมคิดว่ามีปัญหาในวิธีการประเมินของคุณสุริยะใส (กตะศิลา) ผมไม่คิดว่ากระทรวงกลาโหมทำงานดีเลิศ ถ้าดูปัญหาภาคใต้ อัตราความรุนแรงในช่วงเดือนพฤจิกายนและธันวาคมปีที่แล้วสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนประมาณ 10% ความสามารถของกระทรวงกลาโหมในพื้นที่ภาคใต้ติดลบ ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงติดลบ ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ศอ.บต.ทุกวันนี้ยังหาคนทำงานไม่ได้

 

สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มให้เกรดแล้วว่า รัฐบาลนี้สอบตก ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญญาจัดการแม้ปัญหาเล็กน้อย เช่น เรื่องทักษิณในกรณีสิงคโปร์ ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการเผาบ้านไล่แมลงสาบ ตอนนี้เราเชือดไก่จะหมดเล้าแล้วลิงยังไม่ดู ถ้าคิดว่าทักษิณผิดขนาดสร้างวิกฤตให้ชาติได้ขนาดนี้แล้วปล่อยเขาไป อำนาจก็อยู่ในมือ อำนาจมีแล้ว แต่บางทีปัญญาในการใช้อำนาจต่างหากที่สำคัญกว่า

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท