Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 มกราคม 2550 ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี มีการสัมมนาของคณะอนุกรรมการธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ประธานคณะกรรมการธิการฯ เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วม 40 คน


 


โดยที่ประชุมได้ให้ตัวแทนของคณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาบุคลากรครูและคุณภาพการศึกษา คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาอิสลามศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยา คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาบัณฑิตว่างงาน คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาและผลกระทบต่อกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน และคณะอนุกรรมการการสร้างความเข้าใจกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานความคืบหน้ารวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหา


 


นางจิราพร บุนนาค ประธานคณะคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยา รายงานว่า คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นร่วมกันให้แก้ปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี เนื่องจากการพิจารณาของศาลในคดีความมั่นคง จะใช้วิธีเดียวกับคดีอาญาทั่วไปทำให้ล่าช้า การออกหมายจับและการจับกุมจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ เนื่องจากคดีความมั่นคงหาประจักษ์พยานได้ยาก จึงเสนอให้ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด


 


นางจิราพร รายงานต่อไปว่า พร้อมกันนี้ทางคณะอนุกรรมการฯ ยังได้เสนอให้ใช้กลไกศาสนาที่เอื้อต่อกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น อาจจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ให้มีการตั้งสภานักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม ทำหน้าที่วินิจฉัยในบางเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องการเยียวยาขณะนี้มีกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้น คือ กลุ่มชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากมีการแบ่งแยกระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม ตามคำยุยงของคนบางกลุ่ม


 


"คณะอนุกรรมการฯ ได้แบ่งกลุ่มคนไทยพุทธออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่หวาดกลัวย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว กลุ่มคนที่ถูกกดดันจากสถานการณ์และกำลังคิดจะย้ายออก ครอบครัวที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง และกลุ่มคนที่คิดจะใช้ความรุนแรงตอบโต้ ด้วยการจับอาวุธขึ้นสู้" นางจิราพร ระบุ


 


นางจิราพร ได้รายงานข้อเสนอแนวทางแก้ไขของคณะอนุกรรมการฯ ว่า ให้ชาวมุสลิมไปเยี่ยมเยือนชุมชนไทยพุทธในพื้นที่ โดยอาจจะเริ่มจากมุสลิมภาคใต้ตอนบน จากนั้นนำชาวมุสลิมจากที่อื่นเข้าไปเยี่ยม เนื่องจากมุสลิมในพื้นที่เองอาจยังไม่กล้า ที่ผ่านมามีอะไรบางอย่างปิดกั้นทำให้มุสลิมในพื้นที่ไม่กล้าไปเยี่ยมชาวไทยพุทธ


 


พล.ท.เรวัตร รัตนผ่องใส ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความเข้าใจกับประชาชนใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ ว่า จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนตลอดเวลา แม้คณะกรรมาธิการชุดนี้จะอยู่ไม่นานก็ตาม ก็ต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายทั้งในพื้นที่ ในระดับประเทศ จนถึงระดับโลก ต้องสนับสนุนโครงการดาอี (นักเผยแพร่ศาสนา) ให้ดำเนินการต่อไป และต้องขยายให้ครอบคลุมทั้ง 1,670 หมู่บ้าน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เข้าใจหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง


 


"คณะอนุกรรมการฯ เสนอปรับปรุงสื่อของรัฐและขอความร่วมมือสื่อเอกชน ในการนำเสนอสิ่งดีๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น นำเสนอการบรรยายธรรมในการละหมาดวันศุกร์ (คุตบะห์) ที่ถูกต้องตามหลักศาสนา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตั้งคณะทำงานพัฒนาศักยภาพชุมชนตำบลละ 1 คณะ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยให้มัสยิดเป็นตัวกลาง และให้สถาบันปอเนาะ เป็นเครือข่ายในการสร้างความเข้าใจ นำผู้ที่เคยกระทำผิดหรือกลับใจมาสร้างความเข้าใจกับประชาชน" พล.ท.เรวัตร กล่าว


 


ส่วนคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาและผลกระทบต่อกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน เสนอให้แก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎอัยการศึก โดยให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยสมบูรณ์ ครบถ้วนและสามารถตรวจสอบได้ ให้ศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์ ทั้งก่อนและหลังการใช้นโยบายสันติวิธีในการแก้ปัญหาของรัฐบาล และเสนอให้จัดทำโครงการตรวจสอบและศึกษาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เช่น การเคลื่อนย้ายอพยพหรือการประท้วงของประชาชนเกิดจากอะไร


 


คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาบุคลากรครูและคุณภาพการศึกษา รายงานถึงปัญหาครูขอย้ายออกจากพื้นที่จำนวนมาก แม้มีคนมาทดแทนแต่ไม่ตรงกับสาขาวิชาที่ขาดแคลน ส่วนพื้นห่างไกลไม่มีครูกล้าเข้าไปสอน แนวทางแก้ปัญหา คือ ส่งเสริมให้บุคลากรที่จบไม่ตรงสาขาได้มีโอกาสศึกษาต่อเพิ่มเติมให้ตรงสาขา พร้อมกับเสนอให้บรรจุครูอัตราจ้างเป็นข้าราชการ เพื่อความมั่นคงในอาชีพ


 


คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาอิสลามศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชนโดยเร็ว พร้อมกับยกระดับครูวิทยากรศาสนาอิสลามเป็นครูอัตราจ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาวิทยากรอิสลามศึกษาถูกตัดงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก


 


คณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาบัณฑิตว่างงาน เสนอว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากจบในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด จึงเสนอนำมาช่วยงานต่างๆ เช่น เป็นเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกเรื่องการประกอบพิธีอัจย์ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล พร้อมกับส่งเสริมให้ศึกษาเพิ่มเติมด้านวิชาชีพครู เพื่อรองรับความต้องการครูในพื้นที่ ทดแทนครูที่ย้ายออกไป


 


พล.อ.ปานเทพ กล่าวในช่วงท้ายว่า จะประสานให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนงบประมาณทางด้านการศึกษาให้เพียงพอโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะผลักดันร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชนต่อไป พร้อมกับจะผลักดันเรื่องเพิ่มวิชาศาสนาในโรงเรียนสามัญด้วย ส่วนข้อเสนอให้วิธีพิจารณาคดีความมั่นคง แตกต่างจากคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้นนั้น จะต้องรีบดำเนินการ


 


พล.อ.ปานเทพ เปิดเผยด้วยว่า ตนได้รับจดหมายฉบับหนึ่งเขียนตำหนิว่าเอาใจแต่ชาวมุสลิม ยังมีชาวพุทธจำนวนมากที่เดือดร้อน ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ต้องย้ายออกมาอาศัยวัดเป็นที่พักอาศัย ทำไมไม่ช่วยเหลือ ตนจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้นำชาวมุสลิมไปเยี่ยมไทยพุทธในพื้นที่ จะได้ไม่รู้สึกแปลกแยก


 


"ที่ผ่านมามีคนไปยุยงให้เกิดความแตกแยกกันในชุมชน เช่น ปล่อยข่าวเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายมุสลิม หรือปล่อยข่าวว่า ถ้ารัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรยังอยู่ เราคงไม่ถูกรังแก นี่เป็นการปล่อยข่าวสร้างความแตกแยกอย่าไปหลงกล" พล.อ.ปานเทพกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net