Skip to main content
sharethis

กรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ร่วมประชุมกับ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชน โดยข้อสรุปเบื้องต้นเห็นว่าควรมีการบรรจุหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งอาจมีการพัฒนาเป็นการตั้งคณะสิทธิมนุษยชน โดยมีการร่างหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานกลางนั้น


000


นายเสน่ห์ จามริก
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


นายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องตลกที่จะตั้งคณะสิทธิมนุษยชนขึ้นมา เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นการผสมผสานระหว่างวิชาการด้านต่างๆ มากมาย ไม่ได้เป็นวิชาการเฉพาะด้าน เช่น การสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในวิชากฏหมายหรือวิชารัฐศาสตร์ก็ยังไม่เพียงพอในการเข้าใจทั้งหมด ยังต้องเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศ จนกระทั่งการทำความเข้าใจวิถีชีวิตชุมชนในชนบท ไม่ใช่วิชาที่จะตั้งขึ้นเป็นวิชาเฉพาะ ขณะนี้สิ่งเรียนในมหาวิทยาลัยก็มีการแบ่งกันเด็ดขาด ซึ่งชีวิตมนุษย์ไม่ได้รู้เฉพาะศาสตร์ที่เป็นทฤษฎี


ฉะนั้นจะเหมือนกับม้าแข่ง ที่จะมีกระบังครอบหน้าปิดไปแล้ววิ่งแค่ลู่ตัวเอง วิชาการขณะนี้มีการพัฒนาการข้ามสาขามาก หากจะตั้งคณะสิทธิมนุษยชนต้องนำวิทยาการหลายด้านเข้ามาผนวกกัน


นายเสน่ห์กล่าวว่า แม้จะตั้งคณะฯ ได้ แต่จะสนองความต้องการของกระบวนการสิทธิมนุษยชนได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะในระดับหนึ่งเรื่องสิทธิต้องการความเข้าใจมากกว่าการเรียน เป็นเรื่องที่ข้ามวิชาการ ข้ามหลักสูตรมาก ทุกสาขาสามารถเข้ามาเรียนวิชานี้ได้หมด แต่ทุกสาขาวิชาควรมีพื้นฐานในเรื่องสิทธิให้มาก แล้วทำความเข้าใจเรื่องสิทธิในสิ่งที่เรียนตามสาขาวิชานั้น


"สิทธิมนุษยชนมีการพัฒนาขึ้นมาก แต่คนที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่พัฒนา ยังยึดติดกับตำราจากตะวันตก โดยลืมไปว่าสิทธิมนุษยชนเป็นพัฒนาการที่อยู่ในบริบทของตะวันตก เช่น อดีตของตะวันตก มีการต่อสู้ของคนเพื่อสิทธิตนเอง ประเทศชาติจนเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลไม่เกี่ยวกับกลุ่ม เมื่อหันมามองการทำงานในสังคมไทยก็จะมองการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นคนๆ เป็นปัจเจก แต่ความเป็นจริงจะเห็นว่าในภาคชนบทถูกละเมิดสิทธิมากแล้วต้องลงลึกว่าสิทธิของคนชนบทไม่ได้ทำทีละคน สิทธิในชนบทบางอย่างเป็นสิทธิของกลุ่ม ซึ่งในชนบทมีการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ ทรัพยากรและภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งทำให้คิดเรื่องสิทธิชุมชน แต่ตะวันตกไม่ถือเป็นสิทธิ ในสังคมไทยได้ต่อสู้สิทธิมนุษยชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม แต่ตะวันตกชี้ว่าไม่ใช่และใช้สิทธิละเมิดสิทธิ เช่น การเข้ามาลงทุนขุดแร่ในประเทศไทยของบริษัทต่างชาติ แต่ปล่อยสารพิษลงสู่ธรรมชาติ แต่ตะวันตกถือเป็นสิทธิการลงทุน ไม่มีความผิด ถ้าตั้งคณะสิทธิมนุษยชนขึ้นมา อาจจะทำให้กลายเป็นศาสตร์ที่ตายตัว ไม่เกิดการพัฒนา เพราะเรื่องนี้มีพลวัตมากกว่าที่จะตั้งเป็นคณะเรียนขึ้นมา"


 000


 ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่สนับสนุนในเรื่องการตั้งคณะที่สอนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่ควรผลักให้เข้าไปในหลักสูตรของแต่ละคณะมากกว่า เช่น แพทย์ก็ต้องได้เรียนสิทธิมนุษยชน ว่าคนไข้ที่รักษาควรจะได้รับสิทธิมากน้อยแค่ไหน คณะบริหารธุรกิจก็ควรเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในการบริหารให้เคารพสิทธิของคนอย่างไร ถ้าแยกออกมาตั้งโดดๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร และทุกวันนี้หลักสูตรบางคณะที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมีมาก เช่น คณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรด้านเทคโนโลยี อาจจะมีคนรับผิดชอบในเรื่องนี้ซึ่งควรต้องมีแต่จะทำอย่างไรให้เกิดการผลักเข้าไปในทุกรายวิชา ทุกคณะให้กลายเป็นวิชาพื้นฐานซึ่งมีความสำคัญกว่า


"นักศึกษารุ่นใหม่มีความเข้าใจ ตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัย เมื่อเรื่องไหนที่เกิดการละเมิดสิทธิ์ก็สามารถปฏิเสธได้เลย เช่น ประเด็นการรับน้องที่ถือเป็นการละเมิดอย่างรุนแรง แต่อาจจะมีบางคณะที่ยังไม่เปลี่ยน ที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าวการรับน้องที่รุนแรง ก็ทำให้ทราบว่าสังคมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ทำให้บอกได้ว่าสถาบันการศึกษายังตามสังคมอยู่มากเกี่ยวกับกระบวนการสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยในทางความคิดก็ทำให้นักศึกษารุ่นพี่ก็รู้ว่าสิ่งไหนไม่ควรปฏิบัติ ถ้าทำก็ต้องลักลอบทำ ต้องอยู่ในขอบเขต"


รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในความเป็นจริงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะนำเสนอเป็นข้อแนะนำก็ไม่ใช่เรื่องแปลกซึ่งสามารถทำได้ แต่ถ้าจะผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะสิทธิมนุษยชนขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในทุกมหาวิทยาลัยมีการเรียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น วิชาปรัชญาการเมืองในวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น วิชากฎหมายมนุษยชนและในระดับมัธยมก็มีการสอนในวิชากฎหมายเบื้องต้น นักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งแสดงพฤติกรรมกับรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่อย่างป่าเถื่อน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะเคยปลูกฝังมาตลอดเวลาก็ตาม ซึ่งปัญหาใหญ่ของปัญญาชนในเรื่องสิทธิมนุษยชนคือ รู้และเข้าใจหลักการทุกอย่างว่าควรทำอย่างไรแต่ไม่เคยปฏิบัติ


อ.ธเนศวร์กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นคณะเรียนขึ้นมาในขณะนี้ แต่ควรจุดประเด็นให้เห็นว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาใหญ่ที่มหาวิทยาลัยต้องพิจาราณา ซึ่งอาจจะตั้งขึ้นมาในรูปแบบขององค์กรในมหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษา เพราะเรื่องสิทธิเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่การเรียนเพื่อมอบปริญญาให้กับกลุ่มคนที่เรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งบางครั้งในมหาวิทยาลัยนักศึกษาไม่เกรงกลัวต่อกฎในมหาวิทยาลัย กลับกันชาวบ้านและประชาชนภายนอกมหาวิทยาลัยยังมีการเกรงกลัวต่อกฎหมายของสังคม


ฉะนั้น ปัญหาของนักศึกษาที่เป็นปัญญาชนแม้มีความรู้และศึกษาแล้วไปแต่ไม่เคยปฏิบัติตามสิทธิของกฎหมาย ของชุมชน สังคม ก็เปล่าประโยชน์ที่จะเกิดสาขาวิชานี้ขึ้นมา


 


ที่มา หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ พลเมืองเหนือ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net