Skip to main content
sharethis


ประชาไท

- 2 ก.พ. 50 วันที่1กพ.50 คณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง(สรรป.) สภาที่ปรึกษาฯ จัดการสัมมนาระดมความเห็นเวทีระดับจังหวัด เรื่อง "รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร" เป็นเวที 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากแผนจัดเวทีที่เป็นการระดมความเห็นจากภาคประชาชนใน 3 จังหวัด คือ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ ณ ห้องมงกุฏเพชร โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยมี นายปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่า
ราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงานสัมมนา

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการให้ความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสะท้อนความเห็นจากประชาชน เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฎิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเพื่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงเลือกตั้ง


การเสวนาในครั้งนี้ มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อหาข้อสรุปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่



อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร


อำนาจนิติบัญญัติ ในเรื่องของระบบรัฐสภา เห็นควรให้มีสภาแบบ

2 สภา คือ สส.และ สว.เพื่อให้การพิจารณาเรื่องกฎหมายทำได้อย่างรอบคอบมากขึ้น ส่วนที่มาและคุณสมบัติของสส.มติที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรที่จะมีการสังกัดพรรคการเมือง และควรมีจำนวนสส. 300+100 คน ส่วนวุฒิการศึกษาสำหรับสส.ควรเป็นระดับปริญญาตรีหรือไม่นั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี และสังกัดพรรคการเมืองระยะเวลา 90 วัน ก่อนการเลือกตั้ง และควรตรากฎหมายให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน

ส่วนอำนาจหน้าที่ ที่มาและคุณสมบัติของสว.นั้น ที่ประชุมส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า สว.ควรมีอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียวและมีอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมถึงการมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอน
ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ส่วนที่มาของ สว. เห็นว่าควรมาจากการสรรหาขององค์กร ชุมชนและจากการเลือกตั้งและมีจำนวนสว.จำนวน 200 คน เท่าเดิม สำหรับคุณสมบัติของ สว. เห็นว่าไม่ควรเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและควรมีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปและควรมีวาระการดำรงตำแหน่งได้วาระ(สมัย)เดียว 6 ปี


อำนาจบริหาร เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี นอกจากนี้ การห้ามมิให้คู่สมรสและบุตรถือหุ้นในกิจการที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ รวมถึงการกำหนดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย



อำนาจตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ


อำนาจตุลาการ เรื่องศาลยุติธรรม เห็นควรให้ควรรื้อระบบศาลยุติธรรมใหม่ทั้งระบบ กำหนดให้มีคณะลูกขุนในการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี ควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลยุติธรรม โดยกำหนดให้ คณะกรรมการตุลาการต้องมีองค์ประกอบจากภาคประชา ส่วนการจัดตั้งศาลพิเศษ เห็นว่าควรมีการจัดตั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักการจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช

2540 โดยที่องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ตุลาการควรมีที่มาจากภาคประชาชนให้มากขึ้นและปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง รวมถึงการกำหนดให้ประชาชน มีสิทธิ์ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับต่างๆ ได้ โดยสามารถยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และควรกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำนวน 30,000 คน มีสิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของกระบวนการสรรหา ไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองมีส่วนร่วมเป็นกรรมการในกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ และควรกำหนดตำแหน่งวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ให้เท่ากันทั้งหมด


ส่วนคุณสมบัติของกรรมการในองค์กรอิสระนั้น ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ขององค์กรนั้นๆ และควรกำหนดคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระ ให้เปิดกว้าง เพื่อให้ภาคประชาชนมีสิทธิเข้าดำรงตำแหน่งได้มากขึ้น


สิทธิเสรีภาพของประชาชนและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ


สิทธิเสรีภาพ


นอกจากสิทธิเสรีภาพแล้วควรเพิ่มความเสมอภาคและภราดรภาพด้วย


- สตรีควรมีสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในทุกระดับ โดยให้มีระบบสัดส่วนหญิงและชาย

- ให้ประชาชนมีเสรีภาพด้านวิชาการ โดยเฉพาะการคิด พูด และสังเคราะห์ข้อมูล

- กลุ่มองค์กรหรือสมาชิกองค์กรใดๆ ควรมีสิทธิเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อการสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งให้มีการกำหนดตัวชี้วัดในการเข้าถึงบริการของรัฐด้วย

- ให้ขยายการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึง จนถึงระดับปริญญาตรี รวมทั้งให้งบประมาณสนับสนุนสนับสนุนสถาบันการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพื่อให้มีมาตรฐานการศึกษาเหมือนกัน

- ให้ประชาชนเป็นเจ้าของและบริหารจัดการคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ มิใช่ให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

สิทธิฟ้องร้องนักการเมือง


- ควรให้สิทธิโดยตรงแก่ประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน สามารถฟ้องร้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาได้


การเพิ่มบทบาทภาคประชาชน


ควรให้สิทธิประชาชนในการลงประชามติ โดยก่อนลงประชามติจะต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าก่อน และการอันใดที่จะมีผลกระทบต่อสังคม และคนทั้งประเทศ ต้องให้มีการลงประชามติ


แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ควรกำหนดให้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีสภาพบังคับ และควรกำหนดให้สภาที่ปรึกษาฯ มีบทบาทหน้าที่ เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 นอกเหนือจากการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ในปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น สามารถเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น และควรเพิ่มเติมกรอบเวลา รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีในกรณีที่ประชาชนได้ลงมติแล้ว


ทั้งนี้ จะนำผลการสัมมนาที่ได้จากเวทีระดับจังหวัด มาประมวล และสังเคราะห์ เสนอต่อเวทีการประชุมสัมมนาระดับชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นประมาณต้นเดือนมีนาคม 2550 เมื่อได้ผลการสัมมนาระดับชาติ ครั้งที่ 1 แล้ว จะนำไปเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาเสนอความเห็น โดยจะจัดการประชุมสัมมนาเวทีระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประมาณในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2550 เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net