Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


มอญดูดาว


 


ระหว่างที่รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 18 กำลังจะถูกยกร่างให้เสร็จภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คมช. ขณะที่ข้อถกเถียงอยู่ระหว่างการโยนหินถามทางว่าจะลดจำนวน ส.ส. ดีไหม ส.ว.ควรจะมาจาการแต่งตั้ง หรือ นายกฯ ควรเปิดโอกาสให้มาจากทางอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งได้ไหม ในวงสนทนาวงหนึ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ชาวบ้านคนหนึ่งลุกขึ้นถามอย่างซื่อๆ แล้วมันเกี่ยวกับปากท้องของผมตรงไหน…!!?


 


พลิกอ่านหนังสือ การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนโดย ศ.เสน่ห์ จามริก ขุนเขาแห่งวงการรัฐศาสตร์ ระบุว่าเพื่อจะวิเคราะห์อธิบายพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกระทบต่อโครงสร้างสัมพันธภาพทางอำนาจ และนำมาซึ่งปัญหาการสร้างสถาบันการเมืองกระทั่งปัจจุบัน


 


การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญมีประวัติการพิมพ์ที่น่าสนใจ นั่นคือ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2529 และพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 ในปี 2540 ท่ามกลางบรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เชื่อกันว่าประชาชนได้มีส่วนร่วมมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ และพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 2549 ปีที่การเมืองไทยหมุนทวนเข็มนาฬิกาอย่างน่าอัศจรรย์ และกลับมาสู่บรรยากาศการยกร่างรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ประกาศใช้มาเป็นเวลา 9 ปี


 


หนังสือเล่มนี้มองจากกรอบของ "ตัวละคร" ที่โลดแล่นแบ่งปันบทบาทในเวทีการเมืองไทย ตั้งแต่ยุคการปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจนถึงยุคปัจจุบัน ว่าใคร มีส่วนอะไรและทำอย่างไร บ้างต่อสังคมการเมืองอันมีผลต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายฉบับ


 


เป็นการมองพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไปพร้อมๆ กับการสำรวจสภาพสังคมไทยเชิงโครงสร้าง และชนชั้นต่างๆ ที่เข้ามาร่วมแบ่งปันบทบาทในทางการเมือง


 


จากที่เคยเป็นของชนชั้นผู้ปกครอง และเมื่อกระแส "สมัยใหม่" จากตะวันตกชักนำให้ต้องเปลี่ยนแปลง พื้นที่ทางการเมืองจงเริ่มผ่องถ่ายไปสู่ข้าราชการรุ่นหนุ่ม ทหาร และชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นจากยุคของการพัฒนาประเทศ


 


น่าพิศวงว่านับจากยุคสมัยใหม่ ส่วนร่วมกันประการสำคัญก็คือ คนชั้นล่าง ชาวนา เกษตรกร คนในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่นั้นถูกละเลยมาโดยตลอดทั้งเองจากเหตุปัจจัยภายนอก และจากนโยบายของรัฐเองที่จะละเลย ดูจากการพัฒนาการศึกษาซึ่งยิ่งทำให้ชนชั้นล่างอ่อนแอลงยิ่งๆ ขึ้น


 


พื้นที่ทางการเมืองไทยจึงยังคงเป็นของชนชั้นสูงและชนชั้นที่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด


 


นับถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญไทยก็ถูกหยิบมายกร่างกันใหม่อีกครั้ง และดูจะเป็นย้ำรอยเดิมว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเรื่องเฉพาะของชนชั้นปกครอง ทหาร ข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น


 


การพิมพ์ครั้งที่ 3 นี้ ได้เพิ่มเติมเนื้อหาว่าด้วยการเมืองไทยในปัจจุบัน บทความ "หลุมพรางประชาธิปไตย" ซึ่งอาจารย์เสน่ห์อธิบายว่า ระบอบทักษิณ นั้นหาใช่ใดอื่น แต่เป็นชนชั้นนายทุนหรือพ่อค้าที่เติบโตมาจากยุคของเผด็จการทหารและยุคประชาธิปไตยครึ่งใบนั่นเอง


 


"โดยนัยของกระแสโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนและการเมืองแบบเก่าจึงตกอยู่ในสถานการณ์ของระบบล้าหลังซึ่งสุกงอมพร้อมที่จะเปิดประตูสู่อำนาจให้กับกลุ่มทุนและธุรกิจการเมืองใหม่ การก้าวขึ้สู่เวทีอำนาจของพรรคไทยรักไทยของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หมายถึงเป็นการเสื่อมถอยของกลุ่มทุนท้องถิ่น อิทธิพลท้องถิ่น"


 


ภายใต้การอธิบายที่ฉายภาพการเมืองไทยนับจากยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา จนขณะนี้ อาจารย์เสน่ห์สรุปไว้ในย่อหน้าสุดท้ายถึงการการปฏิรูปการเมืองไทยรอบใหม่ว่า "การปฏิรูปประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของสูตรสำเร็จที่พยายามถอดต้นแบบกันมาจากในบริบทเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมอื่น โดยปราศจากพื้นฐานความเข้าใจในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมของตนเอง โดยนัยนี้ การปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตย จึงไม่ได้มีความหมายเพียงการแสวงหาระบบที่ดีที่เหมาะสม หากโดยสาระเป็นเรื่องของกระบวนพัฒนาการ ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าเปิดโอกาสให้มหาชนคนไทย ผู้เป็นเจ้าของชีวิตและจินตนาการของตนเอง ได้เข้ามาเป็นตัวบทบาทหลักในภารกิจการปฏิรูปรอบสองนี้" 


 


ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกอ้างอิงถึงบ้างหรือไม่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งปัจจุบันแต่สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ตอกย้ำให้เห็นก็คือพื้นที่ทางการเมืองไทยนั้น ไม่ได้เปิดให้กับตัวละครส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยได้เล่นบทหลักเรื่อยมา สิ่งที่น่าเจ็บปวดก็คือว่าตัวละครหลักๆ ก็รวมหัวกันสร้างให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นยารักษาสารพัดโรคอันเกิดกับประเทศไปเสียในขณะที่ตัวเองก็เล่นเกมจัดสรรอำนาจกันต่อไปอย่างใจดำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net