Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 ..50 เมื่อเวลา 9.00 . ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีชรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่องทิศทางสิ่งแวดล้อมภาคใต้ในทศวรรษหน้า : การจัดการสิ่งแวดล้อมในแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน


 


นายสุทธิ มโนธรรมพิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้ในปัจจุบันว่า มีอาการบ่งบอกปัญหาหลายประการ  ทั้งความเสื่อมโทรมและภัยพิบัติธรรมชาติ ในปี 2548 เหลือพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ 11,178,400.75 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 25.50 ของพื้นที่ทั้งหมด ลดจากปี 2547 ถึง 36,368 ไร่ ส่งผลกระทบต่อสภาวะความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่าไม้ เกิดภาวะอากาศร้อน แห้งแล้ง อุทกภัย และดินถล่ม


 


นายสุทธิ รายงานต่อไปว่า นอกจากนี้ ในปี 2548 ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมกระจายทั่วภาคใต้ เนื่องจากปริมาณฝนมาก เฉพาะจังหวัดสงขลาสร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2549 ปริมาณฝนน้อยลงเกือบครึ่ง และมีแนวโน้มปริมาณฝนจะลดลงในปีต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และขาดแคลนน้ำอุปโภคปริโภค พร้อมกันนี้ ยังพบลุ่มน้ำที่มีคุณภาพน้ำในระดับเสื่อมโทรม 1 แห่ง คือ คลองบางใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ส่วนแม่น้ำตาปี - พุมดวง อยู่ในระดับพอใช้ถึงเสื่อมโทรม แม่น้ำปากพนัง พอใช้ถึงเสื่อมโทรมและเสื่อมโทรมมากในบางจุด ส่วนคุณภาพน้ำที่อยู่ในระดับดี มี 5 แห่ง และอีก 6 แห่ง อยู่ในระดับพอใช้


 


นายสุทธิ รายงานอีกว่า ขณะเดียวกันพบว่า มีการเจาะและใช้น้ำบาดาลเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแอ่งหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีบ่อบาดาลที่มีใบอนุญาตประมาณ 1,000 บ่อ และบ่อบาดาลของหน่วยงานรัฐประมาณ 2,000 บ่อ มีชั้นความลึก 20 - 100 เมตร หากมีปริมาณการใช้น้ำบาลดาลสูง ระดับน้ำใต้ดินจะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้นำทะเลรุกเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล ขณะนี้น้ำทะเลรุกเข้ามาเฉลี่ยประมาณ 8 ตารางกิโลเมตรต่อปี


 


นายสุทธิ รายงานด้วยว่า ในส่วนของขีดความสามารถในการกำจัดขยะของหลายจังหวัดอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีขยะตกค้างจำนวนมาก ส่งผลให้มลพิษมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ที่ดินในการเกษตร 2 ใน 3 เสื่อมสภาพ มีปัญหาการชะล้างพังทลาย และดินถล่ม พบการใช้ดินที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพของดิน ทำให้ผลผลิตต่ำ เฉพาะใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ถึง 9 ล้านกว่าไร่ หรือร้อยละ 50.39 พร้อมกับพบตะกอนจากสวนยางพาราในพื้นที่ลาดชันกว่า 35 องศา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 - 2 ถึง 20 - 100 ตันต่อปี ส่งผลให้มีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ 721 หมู่บ้าน ใน 74 อำเภอ


 


นายสุทธิ รายงานถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้ว่า มีความรุนแรงในจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ส่วนชายฝั่งทะเลอันดามันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปลายปี 2547 สำหรับจังหวัดสงขลามีการประชุมเพื่อแก้ปัญหากับกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว ได้ข้อสรุปการแก้ปัญหา 2 ระยะ คือ ระยะเฉพาะหน้าให้นำกระสอบทรายไปวางเรียงในจุดที่มีการกัดเซาะในลักษณะลาดเอียง ห้ามตั้งฉากหรือใช้วัสดุที่แข็งตัวไปวางเด็ดขาด ส่วนระยะยาว กรมทรัพยากรธรณีกำลังทำวิจัยแนวทางทางแก้ปัญหาอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2550


 


"นอกจากนี้ยังมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ชุมน้ำ ทั้งที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ส่งผลให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เช่นเดียวกับปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ และในเขตอุตสาหกรรม ที่จะต้องเฝ้าระวัง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ ทั้งในระดับลุ่มน้ำและในระดับพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา"


 


นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน กล่าวระหว่างการบรรยายแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต : จะเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไรว่า แนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องมีการปรับแนวคิดกันใหม่ โดยให้การแก้ปัญหามาจากประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน แยกเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำจืด ซึ่งภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญ ถัดลงคือพื้นที่ชุ่มน้ำกร่อย  ซึ่งถูกทำลายไปมากจากโครงการพัฒนาต่างๆ ต่อด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำเค็ม ที่ถูกทำลายไปมากแล้วเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำทะเลลดลงด้วย เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นที่อนุบาลสัตว์ตามธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำในทะเล ก็คือ พื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสัมพันธ์กัน ตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงทะเล


 


"การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องให้ภาคประชาชนมีปฏิบัติการเชื่อมกันตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงทะเล นั่นคือ ต้องสร้างบทบาทประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ภาครัฐเห็นและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนได้ ที่สำคัญ ต้องสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันด้วย" นายพิศิษฐ์ กล่าว


 


นายพิศิษฐ์ ยกตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำจืด เช่น ป่าสาคู ซึ่งรัฐไม่ถือเป็นไม้เศรษฐกิจ ทั้งที่ชาวบ้านมีรายได้จากผลผลิตสาคู 1 ต้น เท่ากับยางพารา 1 ไร่ ทำให้ป่าสาคูถูกทำลายไปมาก นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานรัฐบางแห่ง สร้างระบบส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรทำนา แต่ทำแล้วน้ำแห้ง ชาวบ้านต้องเปลี่ยนไปปลูกยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน รวมทั้งกรณีถมที่ดินเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะไม่ปรึกษาชาวบ้าน


 


"ภาคประชาชนต้องเข้มในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน และมีการเชื่อมเป็นเครือข่ายกับองค์กรภายนอก เพื่อให้ภาครัฐได้เห็นงานของชาวบ้านและเข้ามาช่วยเหลือ มิฉะนั้น ภาครัฐจะทำตามนโยบายที่วางไว้เท่านั้น โดยไม่ยอมฟังเสียงชาวบ้าน ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมโดยให้รัฐมีส่วนร่วมกับประชาชน ไม่ใช่ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐ" นายพิศิษฐ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net