Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 ก.. 2550 เมื่อวันที่ 9 ก.พ. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานรัฐศาสตร์วิชาการครั้งที่ 14 ณ อาคารรัฐศาสตร์ โดยเวลาประมาณ 15.30 . มีการเสวนาหัวข้อ "การเมืองลายพราง : ทหาร หมอดู กับการตัดสินใจทำรัฐประหาร"  โดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง โหราศาสตร์กับการยึดอำนาจ (Supernatural prophecy in Thai politics : the role of a spiritual cultural element in coup decisions) เป็นผู้อภิปรายหลัก


 


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า หัวข้อดังกล่าวมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ซึ่งอยู่ในบริบทช่วงปลายทศวรรษ 1980 หรือ พ.. 2530 นักศึกษาด้านการเมืองการปกครองในเวลานั้นจะสนใจเรื่องการเมืองไทยและเรื่องทหาร ขณะเดียวกันมีคำถามในใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่หมอดูก็เฟื่องมากในประเทศไทย รวมทั้งในกรุงเทพฯ หมอดูสามารถขึ้นโรงแรมมณเฑียรเพื่อไปดูหมอได้ ส่วนราคาค่าดูก็แพงมาก เช่น 300- 500 บาท ต่อครั้งในช่วงนั้น หลายรายมีชื่อเสียง หลังจากนั้นค่าดูก็แพงขึ้นเรื่อยๆ มาตลอด การเฟื่องฟูของหมอดูแบบนี้หมายความว่าอย่างไรในช่วงเวลาเดียวกันกับการทำรัฐประหาร จึงนำมาจับรวมกัน


 


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า สังคมไทยแปลก เพราะมักบอกว่าเรื่องโหราศาสตร์หรือไสยศาสตร์นั้นเป็นเรื่องงมงาย ส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่เคยดูหมอ แต่เชื่อได้เลย เช่นที่ห้องเสวนานี้ ตอนสอบปริญญาตรี หลายคนทำยิ่งกว่าการดูหมอเสียอีก ดังนั้นลองคิดจากตัวเองว่า เวลาอยากดูหมอหรือสะเดาะเคราะห์จะทำในเวลาแบบไหน อย่างนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ก็ในช่วงสอบที่มักจะต้องไปบนศาลเจ้าแม่สิงโตกันมากมาย เป็นต้น


 


ดังนั้น เวลาดูหมอจะเป็นช่วงที่มีเรื่องที่รู้สึกว่าใหญ่มากๆ เกิดขึ้นในชีวิตหรือมีความเสี่ยงสูงมากๆ ที่อยากรู้ บางทีอาจไม่ใช่แค่อยากรู้ แต่มีความคาดหวังที่อยากได้หรืออยากให้มันเป็น การดูหมออาจเป็นการการันตีสิ่งที่อยากให้เกิด และถ้าคำตอบเป็นทางลบจะมีขั้นตอนต่อไป เช่น การสะเดาะเคราะห์หรือพิธีกรรมต่างๆ


 


"แต่ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่หมอดูกำหนดชีวิตเรา เพราะความสัมพันธ์ระหว่างหมอดูกับคนมันซับซ้อน ในแง่การตีความหมอดู จากงานวิจัยจะเห็นว่า การดูหมอคล้ายกับวิธีการบริหารความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ผู้เรียนบริหารธุรกิจ บริหารรัฐกิจ หรือสถิติ จะคิดถึงการศึกษาความเป็นไปได้ ดังนั้น ประเด็นวิทยานิพนธ์คือทำไมคนจำนวนมากจะไปหาหมอดูเพื่อบริหารความเสี่ยงไม่ได้ ใครดูหมอดูจึงไม่เห็นน่าอับอายตรงไหน" รศ.ชลิดาภรณ์ กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม เหตุที่คนทั่วไปมองเรื่องนี้ว่างมงายคงเป็นเพราะในช่วงเวลาหนึ่ง วิธีคิดแบบเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่จะทำให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง หรือวิธีคิดที่ว่า วิทยาศาสตร์เท่านั้นทำให้ได้เห็นความจริงแท้ ประสบชัยชนะ และวิธีคิดนี้ยึดกุมความคิดในช่วงเวลานี้ได้มาก แต่ความจริงแล้ววิทยาศาสตร์เป็นคำตอบเชิงประจักษ์อย่างเดียวเท่านั้น


 


อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์ประสบชัยชนะก็ทำให้อะไรที่ไม่เหมือนวิทยาศาสตร์หรือไม่สามารถพูดในเชิงประจักษ์ได้ เช่น หมอดู ไม่มีที่ทาง ปัจจุบันแม้จะพยายามพูดให้เห็นเชิงประจักษ์มากขึ้นก็ตาม แต่ฐานวิธีคิดเดิมไม่ใช่คำตอบแบบวิทยาศาสตร์ จึงไม่ได้รับการยอมรับ


 


นอกจากนี้ เมื่อผู้ดำเนินการเสวนาถามในประเด็น หมอดูมีส่วนในการตัดสินใจของทหารในการทำรัฐประหารหรือไม่ จากกรณีเก็บข้อมูลการทำรัฐประหารในช่วง พล..เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี รศ.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์ทหารที่มีส่วนในการทำรัฐประหารซึ่งเป็นฝ่ายที่ทำไม่สำเร็จ น่าสนใจเนื่องจากพบว่า ไม่มีใครไปหาหมอดู แต่ใช้วิธีดูหมอเอง ชนชั้นนำไทยดูหมอ ดูเอง และดูเป็น ส่วนจะมีผลในการตัดสินใจหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ เพราะมันมีความซับซ้อน


 


"อย่าลืมว่ารัฐประหารมันผิดกฎหมาย โดยธรรมชาติ ถ้าทำไม่สำเร็จมันเป็นกบฎ ในประวัติศาสตร์ไทยมีการเสียชีวิตด้วย การทำรัฐประหารมีเงื่อนไขการทำหลายเรื่อง มีหลายกลุ่ม และมีเหตุผลแรงจูงใจที่ทำให้อยากทำอะไรบางอย่างอยู่แล้ว จึงไปดูหมอดู"


 


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ยกกรณีตัวอย่างจากการทำวิทยานิพนธ์ประเด็นความซับซ้อนของคนกับการดูหมอว่า นายทหาร 1 ใน 44 นาย ที่โดนปลดด้วยข้อหากบฏ เคยไปดูหมอ ซึ่งหมอดูทักว่า ช่วงเวลานี้ไม่ควรยุ่งการเมือง แต่เมื่อมีการทำรัฐประหารเขาเข้าร่วมด้วย โดยเหตุผลความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ซึ่งถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน ณ เวลาหนึ่ง ทหารที่เรียน จปร.รุ่นเดียวกัน บอกว่า ถ้าล้มเหลว ตายก็ตายกับพี่น้อง ซึ่งถ้าเขาเชื่อหมอดู เขาก็รอด นี่คือความซับซ้อน


 


นอกจากนี้ รศ.ชลิดาภรณ์ยังให้เหตุผลด้วยว่า ที่ชนชั้นนำมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ อาจเป็นเพราะมีความเสี่ยงสูงที่กระทบชีวิตและสถานะค่อนข้างมาก จึงต้องบริหารความเสี่ยงมาก เพียงแต่เมื่อถึงเวลาตัดสินใจจะมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องเสมอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net