Skip to main content
sharethis

แปลและเรียบเรียงโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


 


 


 


 



 


ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรืออดีตกลุ่มกบฏลัทธิเหมาหลายแสนคนชุมนุมกลางกรุงกาฐมาณฑุในโอกาสครบรอบ 11 ปีของการทำสงครามประชาชนกับรัฐบาล (ที่มาของภาพ: www.blog.com.np)


 


 


 



 


"สหายประจันดา" ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ขณะกล่าวปราศรัยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี (ที่มาของภาพ: AFP/Devendra M. Singh)


 


 


 


 



บรรยากาศการเต้นรำเฉลิมฉลอง 11 ปีแห่งการต่อสู้ของบรรดาผู้สนับสนุนกบฏเหมาอิสต์ กลางเมืองหลวงของเนปาล เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา (AP/Binod Joshi)


 


 


 


 


 


กาฐมาณฑุ - ผู้นำกบฏเหมาอิสต์แห่งเนปาล ประจันดา ประกาศจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์และสร้าง "เนปาลใหม่" เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา ระหว่างการปราศรัยต่อหน้าผู้สนับสนุนหลายแสนคน ระหว่างการปรากฏตัวเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในที่สาธารณะกลางกรุงกาฐมาณฑุเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี


 


 


11 ปีแห่งการต่อสู้และ "เนปาลใหม่"


"หากไม่มีการกำจัดสถาบันกษัตริย์ให้สิ้นไป เนปาลใหม่จะไม่เกิดขึ้น" ประจันดา กล่าว ในขณะที่ฝูงชนต่างโบกธงและโห่ร้องแสดงความยินดีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา


 


การเดินขบวนซึ่งผ่านใจกลางของเมืองหลวงในวันนี้ เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 11 ปีแห่งการเริ่มต้นทำสงครามต่อสู้กับรัฐบาลของกลุ่มกบฏเหมาอิสต์ ซึ่งสงครามได้สิ้นสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากกลุ่มกบฏลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพประวัติศาสตร์กับรัฐบาล


 


"นี่คือวันแห่งความทรงจำของพวกเราที่กว่า 10 ปีมานี้ สงครามประชาชนได้ประดิษฐานซึ่งบรรทัดฐานและค่านิยมใหม่ให้กับประเทศนี้อันมีเข็มมุ่งไปสู่การเป็นสาธารณรัฐ" นายประจันดากล่าว ซึ่งผู้จัดงานนี้ระบุว่าเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ในที่สาธารณะครั้งแรกของเขานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 หรือช่วง พ.ศ.2520


 


การรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวดระหว่างที่ผู้ชุมนุมกำลังฟังผู้นำของเขา ซึ่งไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณะ ผู้ซึ่งเคลื่อนไหวใต้ดินอย่างแข็งขันมานานกว่า 25 ปี เพื่อเป้าหมายของเขากำลังกล่าวปราศรัย


 


ผู้นำเหมาอิสต์ผู้นี้กล่าวปราศรัยบนเวทีกลางแจ้งเป็นเวลากว่าชั่วโมง โดยมีมวลชนชนส่งเสียงเชียร์และโบกธงแดงตลอดเวลา โดยมวลชนเหล่านี้ชูป้าย "พรรคเหมาอิสต์จงเจริญ" และ "ประจันดาจงเจริญ"


 


กบฏเหมาอิสต์หรือพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) นี้เข้าสู่รัฐสภาของเนปาลเมื่อต้นปีนี้ และได้มีที่นั่งในสภา 83 ที่นั่งจาก 330 ที่นั่ง แต่พวกเขาไม่ได้รับตำแหน่งใดในคณะรัฐมนตรี


 


ประจันดาไม่ใช่สมาชิกของรัฐสภา แต่เขากล่าวเมื่อปลายปีที่แล้วว่า เขาต้องการรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเนปาลในอนาคต "ถ้ามวลชนต้องการให้ข้าพเจ้าเข้ามารับผิดชอบและถ้าพรรคของข้าพเจ้าเลือกข้าพเจ้าเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่ง"


 


 


กระบวนการประชาธิปไตยเนปาล


ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพเมื่อปลายปีที่แล้ว ชะตากรรมของกษัตริย์คเยนทรา (King Gyanendra) จะถูกตัดสินโดยการลงคะแนนครั้งสำคัญเพื่อเลือกตัวแทนร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ขอเนปาล


 


โดยคาดหมายกันว่าการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มขึ้นกลางเดือนมิถุนายนปีนี้


 


แต่เมื่อที่ 12 ก.พ. ผ่านมา นายเอียน มาร์ติน (Ian Martin) ทูตขององค์การสหประชาชาติที่เข้ามาดูแลกระบวนการสันติภาพของเนปาล ได้กระตุ้นเตือนสมัชชาแห่งชาติชั่วคราวของเนปาลให้เร่งการเลือกตั้งว่า และกล่าวว่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องผ่านกฎหมายการลงประชามติก่อนเส้นตายที่จะถึงนี้


 


ถ้าการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถเกิดขึ้นในกลางเดือนมิถุนายนบน เราก็พร้อมจะประกาศว่าเนปาลเป็นสาธารณะรัฐประชาธิปไตยในกลางเดือนพฤษภาคม" ประจันดากล่าวต่อฝูงชน


 


นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า การชุมนุมมวลชนครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสของอดีตกบฏที่จะแสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมต่อพวกเขา


 


 


"ชะตากรรมทางการเมือง" และ "ที่ทางในธนบัตร" ของสมมติเทพเนปาล


กษัตริย์คเยนทราทรงยึดอำนาจการปกครองมาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อต้นปี 2548 โดยทรงอ้างเหตุผลว่าเพื่อปราบกบฏลัทธิเหมาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คน


 


แต่มวลชนผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมหาศาล นำโดยกบฏเหมาอิสต์และบรรดาพันธมิตรพรรคการเมืองเนปาลได้จัดการชุมนุมเรียกร้องให้กษัตริย์สละพระราชอำนาจและฟื้นฟูระบอบรัฐสภาจนเป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนเมษายนปี 2549 ที่ผ่านมา


 


อนาคตของกษัตริย์คเยนทราจะถูกตัดสินโดยสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญที่จะเขียนรัฐธรรมนูญถาวรของเนปาลฉบับใหม่


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา นายราม ชาราน มาฮัต (Ram Sharan Mahat) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเนปาลแถลงว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงธนบัตรราคา 10 รูปีใหม่ โดยจะใช้ภาพของภูเขาเอเวอเรสต์แทนภาพของกษัตริย์คเยนทรา โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ. คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจเลือกภาพของภูเขาเอเวอเรสต์ หลังจากที่มีการประชุมเพื่อพิจารณาเลือกระหว่างภาพภูเขาเอเวอเรสต์กับภาพของพระพุทธเจ้าซึ่งประสูติในเนปาลเมื่อกว่า 2,600 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากองค์กรทางพุทธศาสนาของเนปาลไม่เห็นด้วยกับการตีพิมพ์ภาพของพระพุทธเจ้าในธนบัตร


 


"เราตัดสินใจที่จะใช้ภาพของ "สกามัณฑะ" (Sagarmatha) แทน เพราะองค์กรทางศาสนาไม่เห็นด้วยที่ใช้ภาพพระพุทธเจ้า" ราม ชารัน มาฮัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเนปาลกล่าว


 


ทั้งนี้ คำว่า สกามัณฑะ เป็นภาษาเนปาล หมายถึงเจ้าแห่งท้องทะเล ซึ่งชาวเนปาลสื่อถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดในโลกมีความสูงที่ 29,035 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเนปาล


 


 


 



 


เจ้าของร้านค้าในกรุงกาฐมาณฑุของเนปาลโชว์ธนบัตรรูปกษัตริย์คเยนทราของเนปาล ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลังในรัฐบาลเฉพาะการณ์ของเนปาลแถลงว่าจะเปลี่ยนภาพในธนบัตร 10 รูปี จากรูปกษัตริย์คเยนทราเป็นรูปยอดเขาเอเวอร์เรสต์ (ที่มาของภาพ: AFP/Devendra Man Singh)


 


 


ลือสละราชสมบัติ วังเนปาลปฏิเสธ


ทั้งนี้หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ กาตานา ราบีชาร์ (Ghatana Ra Bichar) ซึ่งตีพิมพ์ภาษาเนปาล รายงานเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า อนาคตของกษัตริย์เนปาลแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน ท่ามกลางข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลและฝ่ายกบฏลัทธิเหมา พระองค์กำลังพิจารณาที่จะเสด็จออกนอกประเทศ พระองค์ทรงประชุมกับสมาชิกในราชวงศ์หลายครั้งเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการสละราชบัลลังก์ของพระองค์ ตามคำกล่าวของพระญาติที่ใกล้ชิดระหว่างการประชุม กษัตริย์คเยนทราทรงตรัสว่า พระองค์มีแผนการมอบราชสมบัติให้แก่หลานชาย และเสด็จออกจากเนปาลไปเกษียณอายุไปอยู่ในต่างประเทศสัก 2-3 ปี


 


อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราชวงศ์เนปาลปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า กษัตริย์คเยนทราทรงมีแผนการที่จะสละราชบัลลังก์และเสด็จออกนอกประเทศ หลังจากถูกลิดรอนพระราชอำนาจของพระองค์ทั้งหมด โดยสำนักราชเลขากล่าวกับเอเอฟพีว่า ไม่มีความจริงแม้แต่นิดเดียว มันเป็นการรายงานข่าวที่ขาดความรับผิดชอบอย่างมาก พระองค์ยังทรงประทับอยู่ในประเทศ กระบวนการสันติภาพต้องเดินหน้าต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ พระองค์รับสั่งอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงถือตามความปรารถนาของประชาชน


 


ระหว่างสงครามกลางเมืองของเนปาลที่ดำเนินมากว่า 1 ทศวรรษ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 13,000 คน และมีประชาชนประมาณ 100,000-200,000 คนต้องอพยพลี้ภัย


 


ที่มาของข่าว


Nepal Maoist leader calls for monarchy's end at Kathmandu rally, by Deepesh Shrestha, AFP, Tue Feb 13, 8:23 AM ET


Hurry up on elections, UN tells Nepal, AFP, Mon Feb 12, 6:23 AM ET


Nepal's palace denies report of king's planned abdication, AFP Thu Feb 8, 12:32 PM ET


Mt. Everest to replace Nepal king on currency note, Reuters, Fri Feb 9, 5:40 AM ET


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net