Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 .. 50 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดการประชุมระดมความคิดเห็นจัดการความรู้เรื่องบริการฟิตเนสกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ณ ห้องประชุม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยเชิญผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากการใช้บริการ และตัวแทนจากผู้ให้บริการฟิตเนสทั้งบริษัท ทรูฟิตเนส จำกัด บริษัทฟิตเนส เฟิร์ส จำกัด สปอตซิตี้ ปิยรมย์สปอตคลับ เยส ฟิตเนส สิริสาทร ฟิตเนส และบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด(มหาชน) เข้าร่วมประชุม แต่บริษัทฟิตเนส เฟิร์ส จำกัด สปอตซิตี้ ปิยรมย์สปอตคลับและบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด(มหาชน) กลับไม่มาเข้าร่วม


การจัดการประชุมพบว่าผู้บริโภคมีปัญหาด้านสัญญากับผู้ให้บริการฟิตเนส ผู้บริโภคหลายคนไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้แม้จะมีเหตุสุดวิสัยอย่างกรณีการตั้งครรภ์เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบปัญหาเกี่ยวพนักงานขายเชิญชวนผู้บริโภคให้ไปใช้บริการฟรีเมื่อไปใช้กลับบอกว่าไม่มีบริการฟรีให้ แต่จะให้ส่วนลดในการใช้บริการ และ เมื่อสมัครใช้บริการไปแล้วสถานที่ให้บริการยังไม่พร้อมก็ต้องเสียเงินค่าบริการไปก่อน เมื่อผู้บริโภคขอบอกเลิกสัญญาก็ไม่ให้เลิกสัญญา โดยมีเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาได้นั้นต้องทุพลภาพหรือย้ายที่อยู่เท่านั้น


นอกจากปัญหาด้านสัญญาไม่เป็นธรรมแล้วยังมีปัญหาด้านสถานที่ให้บริการไม่พร้อม อุปกรณ์ไม่เพียงพอกับผู้ให้บริการ รวมถึงการตื๊อลูกค้าของพนักงานขายให้สมัครใช้บริการ และเมื่อเป็นสมาชิกของบริการฟิตเนสแล้วกลับไม่ค่อยได้รับการดูแลเหมือนตอนก่อนสมัครสมาชิก ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่จะมาจากพนักงานขายที่หวังค่าคอมมิสชั่น บริษัทรับปากว่าจะแก้ไขแต่ก็ไม่มีการดำเนินการอะไร


นางชญานุช จุลทวงภิพัฒน์ ผู้บริโภคที่ประสบปัญหากับ บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ กล่าวว่าส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาด้านสัญญาก็คือผู้บริโภคไม่ได้อ่านสัญญาเอง อีกทั้งสัญญามีตัวอักษรที่เล็กมาก เมื่อใส่ใจอ่านพนักงานขายก็บอกว่าไม่มีอะไรมากให้ลงชื่อได้เลย และเมื่อจะบอกบอกเลิกสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะถูกประวิงเวลาด้วยการให้บอกเลิกสัญญาที่บริษัทใหญ่ ไม่สามารถบอกเลิกที่สาขาได้ หรือไม่ให้รายละเอียดที่เพียงพอ ต้องมีการรอเอกสารจากบริษัทจนเลยเวลาที่กำหนดไว้ หรือในสัญญาที่ตกลงระบุว่าจะตัดเงินวันที่ 15 แต่จะตัดเงินในวันที่เริ่มเล่นเลย นอกจากนั้นพนักงานก็เป็นอีกปัญหานั่นคือเซลล์บอกว่าให้เล่นฟรีในเดือนที่สาม แต่พอเช็คกับบริษัทกับไม่มี


นางประชุมพร ศรีสุวรรณกาฬ ผู้บริโภคที่ประสบปัญหากับแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ อีกรายกล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่ทางแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ ไม่มา เพราะอยากจะสอบถามโดยตรงถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวเสริมว่านอกจากจะเป็นปัญหาทางด้านสัญญาแล้ว พนักงานขายก็เป็นปัญหาเช่นกันตอนจะขายสมาชิกก็อ้างว่าให้สามีหรือลูกเข้าร่วมใช้บริการได้ แต่พอสมัครเข้ามาจริงๆ ก็กลับใช้ไม่ได้ นอกจากนั้นยังพูดจาจาบจ้วง เมื่อพาเพื่อนไปทดลองใช้ฟรี เซลล์ถามว่ามีตังค์หรือเปล่า หรือบางคนพอไปทดลองใช้ฟรี 3 ครั้งถ้าลูกค้าไม่ยอมสมัครจะโดนรุมตื้อ ถ้าหากว่าใจไม่แข็งสุดท้ายต้องยอมจ่ายเป็นสมาชิกในที่สุด


นายนพปฏล เมฆเมฆา ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่าแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ทั้งเรื่องสัญญาซึ่งระบุว่าผู้บริโภคจะเลิกสัญญาก่อนกำหนดหนึ่งปีไม่ได้ พนักงานขายเชิญชวนผู้บริโภคหรือให้คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ตรงกับสัญญาที่มี เช่น สถานบริการยังไม่พร้อมแต่ต้องเสียเงินค่าบริการไปแล้ว รวมทั้งบริการอื่นๆต้องเสียเงินเพิ่มเช่นมีบริการโยคะเสริม แต่ต้องเสียเงินเพิ่ม นอกจากนั้นยังระบุอีกว่าการบอกเลิกสมาชิกหากไม่ทำในเวลา 5 วันก่อนหมดอายุบริษัทหากไม่มีการบอกเลิกสัญญาก็จะมีการต่ออายุสมาชิกอัตโนมัติจะหักเงินค่าสมาชิกผ่านบัตรเครดิตต่อไป ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ สคบ.นั้น ประมาณร้อยละเก้าสิบ บริษัทยอมคืนเงินให้ผู้ร้องเรียน


นายวิวัฒน์ จันทวีวัฒน์ ตัวแทนจากบริษัท ทรูฟิตเนส จำกัด ยอมรับว่าสัญญาการใช้บริการค่อนข้างเยอะ และตัวหนังสือค่อนข้างเล็ก และการบอกเลิกสัญญาของลูกค้านั้นจะนับวันที่ลูกค้ายื่นเรื่องแต่ลูกค้าต้องทำเอง หรือหากลูกค้ามีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถดำเนินการเองได้เช่นทุพลภาพหรือวิกลจริต ญาติสามารถทำแทนได้ อาจจะช้าแต่คืนเงินจริง ด้านรูปแบบสัญญาที่ต้องทำกับผู้ใช้บริการนั้นได้เอามาจากต้นแบบบริการของเครือที่สิงคโปร์ และบริษัทยินดีที่จะเริ่มดำเนินการใช้สัญญามาตรฐานถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการบังคับ


ด้านผู้ให้บริการอีกราย นางสาวมนทกานต์ จันทรารัตน์ ตัวแทนจาก เยส ฟิตเนส กล่าวว่าในการทำสัญญากับลูกค้านั้นจะสอบถามลูกค้าก่อนว่าจะเล่นสั้นหรือระยะยาว ถ้าเป็นระยะยาวจะถูกกว่าถ้าดูค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมด หากผู้บริโภคต้องการบอกเลิกสัญญาก็จะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โดยลูกค้าต้องมาติดต่อและกรอกแบบฟอร์มบอกเลิกสัญญาที่บริษัทเอง


"กรณีถ้าลูกค้าป่วยในระยะสั้นก็จะให้ดรอปไว้ก่อน แต่ถ้าป่วยยาวในระยะยาวก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยต้องใช้ใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานมาด้วย หรือบางกรณีหากลูกค้ามีความต้องการเพิ่มเติม จะให้เซลล์ระบุลงในสัญญาด้วยได้ ถ้าให้ไม่ได้เซลล์จะไม่เขียนให้" ตัวแทนจากเยส ฟิตเนสกล่าว


นางสาวมาลัย วานวัลย์ ตัวแทนจาก ศิริสาทร ฟิตเนส กล่าวถึงกรณีการบอกเลิกสัญญาของลูกค้าว่าจะยึดตามใบรับรองแพทย์ ถ้าบอกว่าให้หยุดใช้บริการสองเดือนก็จะให้หยุดใช้บริการสองเดือนเป็นต้น


นายชัยรัตน์ แสงอรุณ นักกฎหมายจากสภาทนายความ กล่าวถึงปัญหาในการเลิกสัญญาของผู้บริโภคกับผู้ให้บริการฟิตเนสว่า บริการฟิตเนสนั้นเป็นการเป็นการขายตรง มีการรุกเร้าผู้บริโภค ทำให้ไม่มีเวลาพิจารณารายละเอียดในสัญญา กฎหมายขายตรงจึงเปิดช่องให้ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และหากไม่ได้รับบริการตามที่พึงจะได้หรือผิดสัญญา สิทธิในการเลิกสัญญาเป็นเอกสิทธิของสมาชิก สมาชิกสามารถบอกเลิกสัญญาโดยทันที หากบริษัทไม่สามารถขายบริการตามที่ได้สัญญาไว้ได้ เป็นการผิดสัญญาตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่มีในสัญญาแต่เป็นจารีตประเพณีตามที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าฟิตเนสจะต้องให้บริการอะไรบ้าง เช่น มีอุปกรณ์ มีที่เปลี่ยนเสื้อผ้า ที่อาบน้ำเป็นต้น


นอกจากนี้การบอกเลิกสัญญากับบริการฟิตเนสนั้นผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ด้วยเหตุสุดวิสัยโดยไม่ต้องยึดตามเอกสารสัญญาของบริษัท ผู้บริโภคเพียงทำหนังสือแสดงเจตจำนงการบอกเลิกสัญญาส่งไปที่บริษัท และสามารถบอกเลิกสัญญาได้เพราะผู้ประกอบการผิดสัญญา ไม่เป็นตามเงื่อนไข นั่นคือถ้าหากผู้บริโภคมีปัญหา ได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไข เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบอกเลิกสัญญาได้


กรณีที่มีการตัดเงินผ่านบัตรเครดิตของลูกค้านั้น ทางสถานบริการฟิตเนสนั้นสามาทำได้ เพราะลูกค้าให้ความยินยอม ในด้านกฎหมายทำได้ถ้าไม่ขัดกับความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งผู้บริโภคจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้แม้ไม่มีเงินจ่ายก็มีสิทธิถูกฟ้องให้ชดใช้ในภายหลังได้ และเมื่อผู้บริโภคได้ทำการบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ผู้บริโภคเองก็ต้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาบริการฟิตเนสให้กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของบัตรนั้นด้วย


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าจากสภาพปัญหาของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการฟิตเนส ปัญหาเรื่องข้อสัญญาของบริการฟิตเนสเป็นปัญหาสำคัญ เพราะผู้บริโภคมีโอกาสในการบอกเลิกสัญญาได้จำกัด เช่น ต้องพิการทุพพลภาพ หรือเกณฑหาร รวมทั้งต้องใช้บริการและจ่ายเงินตามข้อสัญญาที่ตกลง นอกจากนี้เป็นปัญหาเรื่องคุณภาพการให้บริการ พร้อมเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคผลักดันให้บริการฟิตเนสใช้สัญญามาตรฐานและเป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมและไม่มีการเอาเปรียบกับผู้บริโภคอีกต่อไป



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net