Skip to main content
sharethis


 


 


นายสุไลมาน หมัดยุโส๊ะ แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ตัวแทนชาวบ้านจากเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คัดค้านการให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของแนวท่อก๊าซเส้นใหม่ เชื่อมต่อระหว่างโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย มายังโรงไฟฟ้าสงขลา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา


 


นายสุไลมาน เปิดเผยต่อไปว่า ชาวบ้านรู้ว่าการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ต้องมีการศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พวกตนทำหนังสือคัดค้าน เพราะเราต้องการให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเห็นว่า การให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่อส่งก๊าซฯ ตอนนี้ผลกระทบได้เกิดกับชาวบ้านแล้ว ที่ผ่านมาโครงการที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบกับชาวบ้านมาแล้วหลายโครงการ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยไม่มีผู้ชำนาญการคนไหนออกมารับผิดชอบ ในเมื่อรับผิดชอบไม่ได้ ก็อย่าให้ความเห็นชอบอะไรอีกเลย


 


"ผมอยากให้คิดถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านให้มากๆ อย่ารับฟังแต่เฉพาะข้อมูลของเจ้าของโครงการ ควรเชิญชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย"


 


นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่องส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย กล่าวว่า ที่ผ่านไม่มีโครงการไหนลงมาให้ข้อมูลชาวบ้าน มีแต่แอบทำข้อมูล แอบไปเซ็นอนุมัติ แล้วก็ลงมาก่อสร้าง ท่อก๊าซที่นี่สร้างพาดผ่านกลางหมู่บ้าน เมื่อพวกเราคัดค้าน นายอำเภอก็ส่งอาสารักษาดินแดนลงมาข่มขู่ชาวบ้าน พวกเรายืนยันว่าไม่กลัว เรากลัวนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นมากกว่า


 


นายประกอบ หลำโส๊ะ กล่าวว่า เคยไปฟังข้อมูลที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ขอให้อาจารย์จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ  อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจารณ์รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าสงขลา ในประเด็นการปล่อยน้ำหล่อเย็นลงคลองนาทับว่า เมื่อรับฟังแล้วตกใจว่า ต่อไประบบนิเวศในคลองนาทับจะถูกทำลาย เพราะสัตว์น้ำขนาดเล็กจำนวนมาก จะถูกดูดเข้าสู่ระบบหล่อเย็นในแต่ละวัน


 


"ขณะที่การปล่อยน้ำร้อนออกมา ก็จะทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก และจำนวนพันธุ์สัตว์น้ำที่โรงไฟฟ้าสงขลานำมาอ้าง ก็ต่างกับที่ตนจัดเก็บกว่าเท่าตัว ที่สำคัญ  โรงไฟฟ้าลงมาเก็บข้อมูลเพียง 1 วัน จึงไม่ทราบว่าเห็นชอบกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่เคยศึกษาไปแล้วได้อย่างไร ทำไมถึงปล่อยให้รายงานแบบนี้ออกมาได้ นายประกอบกล่าว


 


ทั้งนี้ เนื้อหาในจดหมายระบุว่า พวกตนไม่เคยต้องการโครงการขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผน ที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนาและการดำเนินการโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เป็นเสมือนการ "ยัดเยียด" ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นจากเจ้าของพื้นที่ พวกตนต้องการใช้ชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ดำรงกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว


 


เนื้อหาในหนังสือระบุต่อไปว่า ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซฯ มีความไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่สามารถตอบข้อสงสัยของนักวิชาการและสังคมโดยรวม ถึงความจำเป็นของโครงการฯ ได้ เมื่อมีเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ บริษัทฯ เจ้าของโครงการ กลับใช้กำลังตำรวจเข้ามาบีบบังคับให้ชาวบ้านต้องจำยอม ขณะที่สังคมยังคาใจ แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลาก็ตามมา ด้วยเหตุผลเดียวกับการก่อสร้างโรงแยกก๊าซว่า พื้นที่ชุมชนนี้ต้องการ "การพัฒนา


 


"เราขอบอกต่อท่านว่า ที่ท่านเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ทางบริษัทฯ อ้างต่อท่านว่า ได้ทำอย่างดีเยี่ยม วันนี้ แม้โครงการจะเพิ่งเริ่มดำเนินการแต่ผลกระทบต่อพวกเราได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งกรณีโครงการท่อส่างก๊าซและโรงแยกก๊าซฯ ส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน เรื่องกลิ่นจากการเผาไหม้ก๊าซ ที่ส่งผลชาวบ้านบางคนต้องย้ายครอบครัวหนี หรือการถมคลองของโรงไฟฟ้าสงขลา ที่ก่อตะกอนมหาศาลจนอาจส่งผลต่อทางระบายน้ำธรรมชาติได้ เราขอถามท่านว่า สิ่งที่ท่านได้อนุมัติไปนั้น สามารถรับรองคุณภาพชีวิตของพวกเราได้หรือไม่ ชีวิตของเราไม่อาจจะเยียวยาได้เพียงแค่เม็ดเงินเพียงเล็กน้อย ที่ทางบริษัทฯ อ้างต่อท่านว่า นั่นคือ การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งท่านจะรับผิดชอบต่อการแตกแยกของคนในชุมชนเราได้หรือไม่"


 



 


เนื้อหาในหนังสือระบุอีกว่า ไม่ทราบว่าท่านใช้มาตรฐานของเมืองนอกอันไหน ที่นำมาเป็นบรรทัดฐานในการเปลี่ยนชีวิตของพวกเรา แต่พวกเราขอยืนยันว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้เป็นเพียงแค่เจ้าของที่ดิน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือหน่วยงานราชการที่ไม่เคยลงมาให้เราเห็นหน้า เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นแผ่กระจายเป็นวงกว้างต่อชุมชนโดยรอบโครงการฯ มีชาวบ้านจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ


 


"ถ้าท่านอนุมัติโดยคิดคำนวณเฉพาะค่าที่ดินที่โครงการต้องการนำไปใช้ ก็ขอให้ท่านคืนใบปริญญาที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาด้วย และถ้าท่านไม่สามารถรับรองคุณภาพชีวิตของเราได้ เราก็ขอให้ท่านอย่าได้อนุมัติโครงการใดๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเราอีกต่อไป" หนังสือฉบับดังกล่าวระบุ


 


วันเดียวกัน โรงไฟฟ้าสงขลาได้ปรับสภาพพื้นที่ตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างคลองนาทับกับโรงไฟฟ้า เพื่อสร้างท่อดูดน้ำหล่อเย็นจากคลอง ถึงแม้ก่อนหน้านี้ชาวบ้านร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้วว่า ทางโรงไฟฟ้าถมคลองนาทับกระทบกับระบบนิเวศในคลอง ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุมัติก่อสร้างจากกรมเจ้าท่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net