2 นศ.อดข้าวไม่เอา ม. นอกระบบเป็นวันที่ 2 ยันค้านจนกว่าจะฟุบ

ประชาไท - 21 ก.พ. 50  นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาและนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวน 2 คน นั่งอดข้าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.พ. เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และรัฐบาลชะลอหรือระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ

 

2 นักศึกษายันอดข้าวไม่รับ ม.นอกระบบจนกว่าจะฟุบ

นายภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า เดินทางมาถึงรัฐสภาตั้งแต่เวลา 09.00 น.ของวันที่ 19 ก.พ.เริ่มอดข้าวทันทีและจะอดข้าวต่อไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว ฟุบลงไป ขอเรียกร้องให้สนช.และรัฐบาลชะลอหรือระงับการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ม.ในกำกับรัฐของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะพิจารณากันโดยไม่ได้ฟังความเห็นนักศึกษา และขอให้ทำประชาพิจารณ์ใหม่

        

นายอธิวัฒน์ บุญชาติ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหงและโฆษกสหพันธ์นักศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า มานั่งอดข้าวร่วมกับนายภาคิไนย์ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.และจะอดข้าวต่อไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอพิจารณร่างพ.ร.บ.ในกำกับรัฐทุกฉบับไว้ก่อน เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้ชะลอการพิจารณาและจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นบุคลากรและนักศึกษาก่อน แต่กลับมีการพิจารณาต่อไปและทำอย่างเร่งรัด ตัดตอนอ้างว่าจัดประชาพิจารณ์แล้วโดยนักศึกษาไม่รู้เรื่อง

         

"ผมกับภาคิไนย์นั่งอดข้าวก็มีคนขี่มอเตอร์ไซค์ ขับรถมาบ้างข่มขู่จะทำร้ายร่างกาย แต่ผม 2 คนยืนยันอดข้าวต่อไป ตอนนี้มีเพื่อนๆนักศึกษาประมาณ 10 คนมาลงชื่อไว้ จะขออดข้าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีนักศึกษา อาจารย์มาให้กำลังใจ มีกรรมการสิทธิมนุษยชนและสมาชิกสนช.มาสอบถาม และบอกจะยื่นกระทู้ถามในสภานิติบัญญัติฯในวันที่ 21 ก.พ.นี้" นายอธิวัฒน์ กล่าว

    

อาจารย์ ม.บูรพา ชี้ ประชาพิจารณ์ไม่เป็นธรรม  

ด้าน ผศ.ดร.พงษ์ประเสริฐ หกสุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพาที่มาเยี่ยมนิสิต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ของม.บูรพาใกล้จะผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญในวาระสุดท้ายแล้วเพราะประชุมกันทุกสัปดาห์ ทำให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีอะไรรองรับว่านักศึกษา อาจารย์จะได้รับประโยชน์จากการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

         

ผศ.ดร.พงษ์ประเสริฐ กล่าวอีกว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ไม่เป็นธรรมเพราะคณะกรรมาธิการพิจารณาเป็นผู้ร่างพ.ร.บ.และมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงแม้คณะกรรมาธิการให้มหาวิทยาลัยรับฟังความคิดเห็นนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรโดยในส่วน ม.บูรพาจัดตามคณะต่างๆ แต่ไม่ได้สนใจรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ม.บูรพาจะจัดประชุมใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ก.พ.นี้ที่ม.บูรพา

 

"เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ผมไปแถลงข่าวที่รัฐสภา หลังจากนั้นมีคนโทร.มาข่มขู่ รู้สึกไม่ปลอดภัย จึงไปแจ้งความไว้ นักศึกษาบอกว่าเคยถูกข่มขู่เช่นกัน แต่จะขอให้สนช.และรัฐบาลระงับพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้ได้ จึงไปนั่งอดข้าวที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. ผมห้ามนักศึกษาแล้ว แต่นักศึกษายืนยันนั่งอดข้าว เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ผมก็ไปดูมา มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช.มาคุยและจะนำไปหารือในสนช." ผศ.ดร.พงษ์ประเสริฐ กล่าว

 

กก.สิทธิฯ ชี้สนช.ไม่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ควรผ่าน พ.ร.บ.ม.นอกระบบ

วันที่ 20 ก.พ. คณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจัดเสวนา 'ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ' โดยมีการเชิญองค์กรต่างๆและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้แทนจากมหาวิทยาลัยและสถาบันที่เกี่ยวข้อง นายกฤษณพงษ์ กีรติกร เลขาธิการกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.)พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธุ์ศรี นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักศึกษาปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งสื่อมวลชน

 

ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายต้องสะท้อนเจตนารมทั่วไปของประชาชน แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ทั่วไปได้ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับทั้ง 5 ฉบับนั้น ควรชะลอการพิจารณาเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา ตอนนนี้ถือว่ากฎหมายคือคำสั่งขององค์อธิปัตย์ได้แก่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคมช.) และรัฐบาล ซึ่งในสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.)มีอำนาจนั้นผ่านกฎหมายมา 300 ฉบับ มีดีแค่ฉบับเดียว ก่อนนี้เคยพูดว่าการศึกษาไทยตายแล้วต่อไปนี้ไม่รู้ว่าหากกฎหมายนี้ออกไปจะนำไปสู่การฟื้นมหาวิทยาลัยหรือลงนรกกันแน่

 

เลขา กกอ.ไม่ปฏิเสธมองมหาวิทยาลัยเป็นการค้า

ด้านนายกฤษณพงษ์ อธิบายในเวทีเสวนาว่า ไม่ปฏิเสธที่มหาวิทยาลัยมองเป็นการค้ามากเกินไป เพราะรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณไม่เพียงพอ จึงต้องเปิดวิชาพิเศษมาสนับสนุนมหาวิทยาลัย ต้องไปถามว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณได้เท่าไหร่แต่คงเป็นเรื่องยากเพราะรัฐต้องไปใส่งบประมาณให้ฟรีมากขึ้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีก่อน แล้วจึงมาที่ระดับอุดมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานตอนนี้แม้จะไม่ถึงขั้นไอซียูแต่ก็มีโรงเรียน 20,000 โรงเรียนใน 30,000 โรงเรียนที่ต้องใส่ทรัพยากรอีกเยอะ

 

อนุกก.สิทธิ ฟันธง ปิดประตูแต่สร้างภาพประชาพิจารณ์

อย่างไรก็ตาม นายศราวุธ ปทุมราช อนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น กล่าวว่า สิ่งที่ควรมองมากกว่าการออกหรือไม่ออกนอกระบบคือ การพูดเรื่องระบบการศึกษาทั้งระบบและเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ใช่ห่วงเรื่องความเป็นธรรมต่อข้าราชการ เช่น การกลัวไม่ได้ขั้น หรือการได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพราะตรงนั้นไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และหากไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องแบบนั้นสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไปฟ้องศาลปกครองได้

 

ทั้งนี้ เรื่องม.นอกระบบ เกี่ยวกับสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้ประชาชนรับรู้ได้ และมีการประชาพิจารณ์ แต่ตอนนี้ยังทำได้ไม่เป็นจริงตามหลักสากลแม้จะมีในลักษณะของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีก็ตาม การประชาพิจารณ์ต้องมีการตั้งประเด็นก่อน เช่น รัฐจะออกนอกระบบแบบใด รัฐจะสนับสนุนอย่างไรบ้าง หรือจะจัดงบประมาณการศึกษาให้มีสัดส่วนเท่าไหร่ แล้วทุกฝ่ายจึงมาพูดกันตรงกลาง แต่ที่ทำกันตอนนี้คือการปิดประตูเพื่อสร้างภาพว่ามีการประชาพิจารณ์แล้ว

 

นิสิต ป. เอก จุฬาฯ ถามคำถามที่ไม่เคยมีคำตอบจากผู้มีอำนาจ

นายเก่งกิจ ตั้งคำถามตรงๆไปยังเลขาธิการ กกอ.ว่า เวลาไปเวทีเสวนาต่างๆผู้บริหารหรือผู้อำนาจที่เกี่ยวข้องมักจะพูดเป็นนามธรรมแต่ทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับที่พูดเสมอ การที่บอกว่าเงินสนุนสนุนจากรัฐไม่พอหรือได้รับเงินลดลงทำไมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีบอกว่าให้เงินมากพอ มหาวิทยาลัยไม่ต้องหาเงินเอง แต่ตรงนี้นายกฤณพงษ์บอกว่าต้องไปรับจ้างทำวิจัยเพื่อหางบประมาณแบบนี้จะเป้นการเอาเอาธุรกิจมาเกี่ยว การที่มหาวิทยาลัยมักบอกว่าไม่อยากเก็บค่าเทอมเพิ่มมันมีความหมายว่าต้องเก็บใช่หรือไม่ และเมื่อค่าเทอมแพงขึ้นขอให้ตอบตรงๆว่ากระทบกับสังคมและนักศึกษาใช่หรือไม่

 

นายเก่งกิจยังระบุอีกว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการที่นักศึกษาไม่เห็นด้วยกับ ม.นอกระบบ ที่มหาวิทยาลัยบูรพามีการปิดไมโครโฟนระหว่างแสดงความเห็นต่อหน้าผู้มาร่วมประชุม 300 คน และห้ามอาจารย์ที่คัดค้านมาพูด นอกจากนี้ยังอยากให้ไปศึกษาในกรณีต่างประเทศในหลายๆกรณีด้วย อีกทั้งยังมีกรณีที่ พ.ร.บ.ม.นอกระบบเขียนให้อธิการบดีมีอำนาจซื้อ ขาย โอนที่ดิน หรือทำนิติกรรม การทำแบบนี้เป็นหน่วยธุรกิจหรือมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการประชามติทั้งประเทศ ถ้าไม่ดูถูกประชาชนว่าโง่ก็ช่วยให้มีส่วนในการตัดสินใจหน่อย

 

อย่างไรก็ตาม นายกฤษณพงษ์ ตอบเพียงว่า งบประมาณที่ใช้สำหรับมาวิทยาลัยของรัฐมาจากรัฐส่วนกลาง ผู้เรียน และท้องถิ่น ในกรณีไทยปัจจุบันมาจากรัฐส่วนกลาง ซึ่งคิดว่าน่าจะมาจากท้องถิ่นในการระดมทรัพยากรด้วยเพราะมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนในฐานะสกอ.สิ่งที่ทำได้เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับคือการให้ข้อมูลแก่ที่ประชุม และรับปากว่าจะนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาในวันนี้เข้าไปในชั้นของคณะกรรมาธิการ

 

อาจารย์จุฬา ฯ ชี้ นายกสภาจุฬาฯมาจากสรรหาไม่ถูกต้อง พ.ร.บ.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผศ.ชูชีพ ฉิมวงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสถานการณ์ที่จุฬาฯว่า ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ต้องถือเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ให้เพิกถอนประกาศจุฬาฯ เรื่องการสรรหานายกสภาจุฬาฯ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้เสนอนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงทำเรื่องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งสรรหานายกสภาจุฬาฯ ใหม่

 

กก.สิทธิฯ ชี้ ม.บูรพาและ สจพ. เข้าข่ายปิดกั้นสิทธิเสรภาพในการแสดงความเห็น

สำหรับความคืบหน้ากรณีที่นักศึกษา ม.บูรพา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ร้องกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยละเมิดสิทธิในการแสดงความเห็นนั้น ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ อนุกรรมการสิทธิว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็นกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีลักษณะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่นั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

ส่วน ผศ.จรัล กล่าวว่า กรณี สจพ.เข้าข่ายผู้บริหารละเมิดสิทธิ มีการปลดนักศึกษาออกจากตำแหน่งเลขานุการองค์การนักศึกษาทั้งที่มหาวิทยาลัยไม่มีระเบียบกำหนดไว้ แต่ผู้บริหาร สจพ.รับปากเปิดกว้างการแสดงความเห็นของนักศึกษา และไม่ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยนักศึกษา สำหรับที่ ม.บูรพาข้อมูลไม่เพียงพอ จะเชิญผู้บริหารมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ทราบว่านายภาคิไนย์อดข้าวประท้วงอยู่หน้ารัฐสภานั้น อยากให้รัฐบาล และตำรวจมองปัญหานี้อย่างเข้าใจ และเคารพสิทธิในการประท้วง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท