Skip to main content
sharethis

โดย วิทยากร บุญเรือง


 


 






 


รายงานชุดประสบการณ์ต่อสู้ของแรงงาน เป็นการนำเสนอประสบการณ์การต่อสู้ของแรงงานในสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำความเข้าใจถึงการถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมจากฝ่ายที่ถือครองปัจจัยการผลิตต่อแรงงาน, อธิบายสถานการณ์แห่งการต่อสู้, เป็นบทเรียนสำหรับไว้ศึกษา ทบทวน ปรับปรุงวิธีการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน รวมถึงการสร้างพลังแห่งความสมานฉันท์ประสานกับกลุ่มนอกขบวนการแรงงาน สู่การร่วมกันสร้างสังคมใหม่ของภาคประชาชน.


 


รายงานย้อนหลัง


ประสบการณ์การต่อสู้ของสหภาพแรงงาน : การร่วมกันสู้ของสหภาพแรงงานคนทำยาง


รายงานพิเศษ - ประสบการณ์การต่อสู้จาก "สหภาพแรงงาน" (ตอนที่ 1)


รายงานพิเศษ - ประสบการณ์การต่อสู้จาก "สหภาพแรงงาน" (ตอนที่ 2)


 


 


 


 



 


 


 


ปัญหาจากนโยบายเสรีนิยมใหม่


 


"งานที่พวกเรากระทำไม่ใช่งานชั่วคราว" -- เป็นถ้อยคำที่ถูกบรรจุไว้ในจดหมายลาตายของคุณคณาพันธุ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราววัย 37 ปี ทำงานอยู่ในแผนกฟอกย้อมของโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี ที่แขวนคอจนเสียชีวิตที่ห้องเช่าเมื่อวันที่ 27 .. 2550 ที่ผ่านมา


 


โดย การตายของคุณคณาพันธุ์ เกิดจากการที่คุณคณาพันธุ์ ได้เห็นและสัมผัสกับการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ที่ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เคยย่อท้อ แม้ว่าเงินเดือนจะน้อยแทบจะไม่พอเลี้ยงครอบครัว ... จนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 17 ปี เขาและเพื่อนๆ ก็ไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ --- การตายของคุณคณาพันธุ์ จึงเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณให้สังคมรับรู้ว่าความอยุติธรรมในที่ทำงานนั้นยังคงอยู่ อยู่ในรูปแบบการจ้างงานแบบ "ลูกจ้างชั่วคราว" นั่นเอง!


 


ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีลูกจ้างชั่วคราวกว่า 60000 คน (ในโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ) โดยปัญหาที่ลูกจ้างชั่วคราวต้องเผชิญ อาทิ เช่น บางคนทำมา 5-20 ปี เงินเดือน 5,360 บาท ซึ่งเมื่อหักส่วนอื่นแล้วเหลือประมาณ 4,900 บาท ซึ่งแทบที่จะไม่พอกับค่าใช้จ่ายในยุคปัจจุบัน หรือปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงาน เป็นต้น


 


แต่ก็ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่กำลังปรับตัวให้เข้ากับยุคโลกาภิวัตน์เท่านั้นที่มีการจ้างแรงงานชั่วคราว ทั้งนี้ ภาคเอกชนทั้งหลายก็มีการจ้างงานประเภทนี้อยู่มากมายดาษดื่น --- การจ้างงานแบบสัญญาชั่วคราวที่นายจ้างพร้อมที่จะเลิกจ้างง่ายๆ นั้น เกิดขึ้นเพื่อตรรกะง่ายๆ อย่างเดียว คือการพยายามลดต้นทุน ผลักต้นทุนการผลิตสู่สังคมให้มากที่สุด อันเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) อันเป็นนโยบายที่ถูกนำมาแก้ปัญหาวิกฤติการทำกำไรของระบบทุนนิยมที่ลดลง ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา


 


เมื่อเริ่มสหัสวรรษใหม่ ในปี ค.ศ. 2004 กลุ่ม G-20 กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ได้ร่วมมือกันสถาปนามันเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโลกจริงๆ จังๆ เสียที โดยได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่จะนำพาความร่วมมือสู่นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal policies) ซึ่งพอที่จะสรุปรายละเอียดแนวทางได้ดังนี้ :


 



  • The elimination of restrictions on the international movement of capital

( ลดข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายทุนไปมาระหว่างประเทศต่างๆ )


 



  • Deregulation

( การแก้กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับในประเทศนั้นๆ กฎหมายแรงงาน กฎหมายที่ดิน ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการเก็งกำไรตามแบบอย่างของการลงทุนระยะสั้น )


 



  • Flexible labour conditions market conditions

( ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน คือ การสร้างความไม่มั่นคงให้แรงงาน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนงานเลิกจ้างได้ง่าย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจ้างสูงสุดของนายทุน )


 



  • Privatisation

( แปรรูปวิสาหกิจขนาดใหญ่อันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร่วมกันของคนในสังคม - รัฐวิสาหกิจ, การศึกษา เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อหวังผลกำไร)


 



  • Enforcement of intellectual and other private property rights

( บังคับสร้างกรรมสิทธิ์ให้แก่ผลิตผลิตทางภูมิปัญญาและผลผลิตของปัจเจกต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ในการสร้างกำไรจากกรรมสิทธิ์นั้นๆ ด้วยวิธีทางการค้า )


 



  • Creating a business climate conducive to foreign direct investment

( สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจ-การเมือง-ข้อกฎหมาย ให้เหมาะสมสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ )


 



  • Global trade liberalisation

( กระทำการดำเนินแนวทางเศรษฐกิจโลกด้วยวิถีของลัทธิเสรีนิยมทั้งหมด )


 


 


จะเห็นได้ว่าในข้อ "Flexible labour conditions market conditions" นั้นคือ การทำให้เกิดความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน สร้างความไม่มั่นคงให้แรงงาน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนงานเลิกจ้างได้ง่าย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจ้างสูงสุดของนายทุน --- นี่แหละคือแนวนโยบายการจ้างแรงงานแบบใหม่ แรงงานประจำที่นายทุนจะต้องเสียงบประมาณดูแลและต้องมัวพะวงว่าแรงงานประจำเหล่านั้นจะตั้งสหภาพแรงงานต่อรองเมื่อไหร่ ... เป็นสิ่งที่นายทุนจะต้องกำจัดไป


 


การจ้างงานแบบไม่เป็นทางการ (informal sector) , การจ้างแรงงานเหมาช่วง (sub contract) , และการจ้างงานจากภายนอกองค์กร (out source) กลายเป็นนโยบายการจัดการทรัพยากรแรงงานในแต่ละองค์กรในปัจจุบัน หลายๆ บรรษัทกำลังลดขนาดขององค์กรลง เพื่อทำให้กำไรทั้งหมดไปกระจุกที่ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นชนชั้นนำของสังคมเพียงไม่กี่คน แต่คนส่วนใหญ่ของสังคม โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานกลับต้องประสบปัญหา "ความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต"


 


ค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือน / โบนัส / ค่าจ้างรายวัน-รายชิ้น ฯลฯ ถูกนำมาเป็นข้ออ้างว่าบรรษัทและองค์กรเหล่านั้นได้เต็มใจและจริงใจในการแบ่งปันส่วนแบ่งในงานที่ร่วมกันผลิตของแรงงานอย่างเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจไม่คุ้มเมื่อเทียบกับเศษสวัสดิการที่ได้รับนั้น , ความไม่มั่นคงในการทำงานระยะยาว หรือแม้แต่การที่ไม่สามารถพัฒนาฝีมือของแรงงานได้เลย


 


องค์กรที่ต้องการทำกำไร มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายบริหารทรัพยากรแรงงานแบบนี้สูง แม้แต่โรงพยาบาลของรัฐหลายๆ ที่ ที่มีแนวโน้มในการแปรเปลี่ยนตนเองทำกำไรแข่งกับโรงพยาบาลเอกชน, ทั้งนี้อาจจะรวมถึงมหาวิทยาลัย หากการนำระบบตลาดมาเป็นตัวชี้นำการศึกษาไทยด้วยการแปรรูปมหาวิทยาลัย นอกจากที่จะสร้างภาระให้กับผู้เรียนแล้ว แรงงานในมหาวิทยาลัยก็จะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน --- เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกเบี่ยงเบนเข้าใกล้ระบบตลาด นโยบายพื้นฐานเสรีนิยมใหม่ ที่นายทุนผู้หิวกระหายปูทางไว้ มันจะถูกนำมาใช้ในองค์กรนั้นๆ เสมอ


 


การตายของคุณคณาพันธุ์ จึงไม่ใช่ตัวสะท้อนปัญหาแค่ว่า การจ้างงานแบบลูกจ้างชั่วคราวสมควรที่จะถูกยกเลิก หรือขอความช่วยเหลือขอความสงเคราะห์จากใครหน้าไหน ... หากแต่เมื่อเรากวาดสายตามองไปทั้งระบบแล้ว จะพบว่าทุกส่วนที่ไม่เป็นธรรมนั้นเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น (ระบบทุนนิยมดำเนินไปได้ด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ และรัฐที่ชนชั้นนำมีอำนาจและได้ผลประโยชน์ย่อมอุ้มชูทั้งสองสิ่งนั้น = แรงงานจึงต้องถูกนายทุนและอำนาจรัฐกดหัวอยู่ร่ำไป)


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องร่วมมือกันแก้ที่โครงสร้าง เราไม่สมควรที่จะให้คนกล้าแบบคุณคณาพันธุ์คนต่อๆ ไปต้องเสียสละอีก เราต้องกล้ารวมตัวกันเผชิญหน้ากับนายทุนจริงๆ จังๆ เสียที ... เริ่มจาก 2-3 คนในที่ทำงาน > สู่การรวมกลุ่มศึกษาในที่ทำงาน > การจัดตั้งสหภาพแรงงาน > ร่วมมือกับกลุ่มก้อนแรงงานอื่นๆ ในประเทศ > จนถึงการร่วมเผชิญหน้ากับชนชั้นผู้กดขี่ ด้วยพลังของแรงงานทั่วโลก !


 


 


ถ้อยคำจากคนที่ยังอยู่


 






 


เราก้มหนก้มตาทำงาน แต่ไม่เคยได้งอกได้เงย ...


 


น.ส. มัณทนา พนักงานชั่วคราวจากโรงพยาบาลของรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เล่าถึงชีวิตการทำงานในฐานะ "ลูกจ้างชั่วคราว" คร่าวๆ ดังนี้ ..


 


".. ที่ทำงานหลายคนเคยทำงานบริษัทเอกชน เงินเดือนดีกว่า แต่ด้วยความที่อยากเป็นพนักของโรงพยาบาลของรัฐ ก็เลยลาออกมาทำกันหลายคน นึกว่าเป็นพนักงานของหน่วยราชการแล้วจะสบายเหมือนกับข้าราชการ มีบำเหน็จบำนาญ สวัสดิการดี แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ แต่หลายคนไม่กล้าลาออก เพราะอยากอยู่รอให้เขาบรรจุเป็นพนักงานประจำ .."


 


".. บางคนทำงานเกือบ 20 ปี ก็ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวเหมือนเดิม เราก้มหน้าก้มตาทำงาน แต่ไม่เคยได้งอกได้เงย บางคนก็ไปเรียนผู้ช่วยพยาบาล เพื่อให้ได้เป็นผู้ช่วย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่กันที่เดิม ไม่กล้าเรียกร้องอะไร คิดเหมือนว่าโรงพยาบาลเลือกเรามาทำงาน ต้องทำให้เขาเต็มที่ เท่านั้น .."


 


".. ภายในสัญญานั้น เขาบอกว่าเราไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ และเราก็ไม่กล้า เพราะเคยมีเพื่อนที่ทำงานคนหนึ่งจะเคลื่อนไหว ขอเพิ่มเงินเดือน แต่ก็ถูกผู้บริหารเรียกให้ไปพบ แล้วแกก็ไม่กล้าทำอะไรอีก .."


 


".. จากที่เล่าเรื่องการตายของคุณคณาพันธุ์ รู้สึกเห็นใจ เพราะเขาโดนเหมือนเรา และหลายๆ ที่คงเป็นแบบนี้ แต่ในที่ทำงานเอง หลายคนก็ไม่ใส่ใจ เห็นก็ท้อ ไม่รู้จะสู้ยังไง .."


 


 


 


 


 






 


ไปสู่สุขคติเถิดเพื่อน ...


 


 


 


จากข่าวของลูกจ้างชั่วคราว โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี ฆ่าตัวตาย เนื่องจากประชดชีวิตว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวมา 17 ปี ไม่ได้รับการพิจารณาให้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ หรือพนักงานประจำ ทำให้ได้แต่เงินเดือนที่คงที่ สวัสดิการอะไรก็มีไม่มาก เลยประท้วงระบบราชการที่เหลวแหลก ประท้วงนายก ประท้วง รมต.สาธารณสุข และผอ.โรงพยาบาลให้หันกลับมาดูลูกจ้างที่ต่ำต้อยคนหนึ่ง

ผมเห็นรูปครั้งก็ตกใจว่านี่เค้าเป็นเพื่อนเราตอนเรียนมัธยม เราเรียนกันมาตั้ง 6 ปี ตั้งแต่ ม.1 - ม.6 ตามรูป ร.ด.ด้านบน ตอนเรียนเค้าเป็นคนร่าเริง เกเรนิดหน่อยไม่มาก เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ทุกคนในห้อง เค้าตัวเล็ก แต่เวลามีอะไรจะชอบออกหน้าก่อนเพื่อนคนอื่นเสมอ โดยเฉพาะเวลาจะมีเรื่องกะใคร ๆ หลังเรียนจบมัธยม พวกเราก็แยกย้ายกันไปเรียนต่อ บางคนก็ได้เป็นตำรวจ ทหาร ครู พยาบาล พนักงานบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ และรับราชการ แต่คณาพันธุ์เค้าไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ก็เลยออกไปหางานทำ ตอนหลังก็มาเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาล มีหน้าที่เหมือนภารโรงทั่วไป

ช่วงปี 32 - 41 พวกเรายังพบปะ เฮฮากันอยู่ ไปกินเหล้าด้วยกันบ่อย ตอนกลับบ้านที่ราชบุรี ก็จะไปหาเค้ากะเพื่อนที่อยู่บ้านไม่ไกลกันมากนัก แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้พบเจอะเจอกันอีก บางทีก็ไปหาแต่เค้าก็ย้ายที่อยู่ไปมา ก็ไม่ได้เจอกัน ไม่ได้ติดต่อกัน จนวันนี้ถึงได้ทราบข่าว

มีอยู่ครั้งหนึ่งในวงเหล้าที่เคยดื่มกินด้วยกันเมื่อเกือบสิบปีก่อน เค้าเล่าบรรยายความอัดอั้นตันใจให้ฟังว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวมันต่ำต้อยแค่ไหน ตอนทำงานต้องทำตามคำสั่ง ไม่ทำเดี๋ยวปีต่อไปเค้าก็จะไม่จ้างอีก ไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้ มีแต่ทำงาน ๆ ๆ ๆ บรรยากาศในที่ทำงานก็ไม่ค่อยเป็นมิตรกันเท่าไหร่ มีแต่ชนชั้นทางสังคม เค้าอยู่ชนชั้นที่ล่างสุดของหน่วยงาน มาวันนี้เค้าก็ทำงานมาเกือบจะยี่สิบปี ก็ยังไม่เห็นอนาคตตัวเองว่าจะมีอะไรอีก ความกดดันที่มีอยู่เราก็ไม่รู้ว่าเค้ามีอะไรบ้าง มากว่าเรื่องงาน ที่รู้บ้างก็เรื่องครอบครัวเค้าไม่ค่อยดี สังคมที่บ้านเค้าก็เหมือนกัน ส่วนตัวเค้าก็ค่อนข้างอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ค่อยออกไปยุ่งเกี่ยวกับใครเท่าไหร่ เค้าทำงานอยู่ไปวัน ๆ ไม่ค่อยคิดหาทำงานเสริมอะไรเพิ่มเติม หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ ที่มีเงินเดือนสูงขึ้น สวัสดิการดีกว่าเดิมแค่นั้น

เมื่อเค้าทำไปแล้ว เราก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร คนเรามันคงไม่มีทางออกจริง ๆ แต่ที่เค้าบอกว่าขาดเค้าไปคนหนึ่งคงไม่เป็นไร ตอนเค้าอยู่มีประโยชน์กับบุคคลรอบข้างน้อยมาก ผมเสียใจมากนะที่เค้าคิดอย่างนี้ เพราะเค้ายังไงก็เป็นเพื่อนที่ดีคนหนึ่ง ยังมีประโยชน์ต่อโลก ต่อสังคมนี้อีกมากมาย

แต่การตายของเค้าก็ทำให้เห็นว่าโลกนี้มันก็มีส่วนที่โหดร้ายนัก ที่ทำให้ชีวิตคน ๆ หนึ่งไม่สามารถอยู่ได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาล รมต. นายกฯ หรือระบบราชการทั้งหมด ก็ควรนำเรื่องนี้เป็นบทเรียนว่าควรมีการพิจารณาบรรจุ หรือปรับปรุงให้ลูกจ้างชั่วคราวต่าง ๆ มีชีวิต หน้าที่การงานที่มั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอายุงานมาก ๆ

สงกรานต์ที่จะถึงนี้ผมว่าจะไปหาเพื่อน ๆ มัธยมที่บ้าน ก็นัดกะเพื่อนอีกคนไว้แล้วว่าไม่ได้เจอกันนานแล้ว กะว่าจะไปพบเค้าเหมือนกัน ว่าจะตั้งวงกินเหล้า เล่าประสบการณ์ พูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งสุข และทุกข์ของแต่ละคน แต่เมื่อเกิดเรื่องนี้แล้ว พวกเพื่อนๆที่บ้านราชบุรีคงต้องรวมกลุ่มกันไปทำบุญให้เค้าแทน หวังว่าเมื่อเค้าเกิดในภพชาติใหม่ ขอให้เค้ามีแต่ความสุขสมบูรณ์ในทุกสิ่ง ไม่ต้องมาทรมานเหมือนในชาติภพนี้อีก

ชีวิตนี้มันมีค่า เราต้องหวงแหนรักษามันไว้ เพราะมันยังมีสิ่งดีงามอีกในหลาย ๆ ด้าน และชีวิตเราก็ยังดีกว่าคนอื่น ๆ ในโลกนี้อีกมากมายหลายล้านคน ชีวิตมันต้องสู้ให้ถึงที่สุด ถึงมันจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เราก็คงอยู่ในสังคมได้ มีความสุขตามเท่าที่มีอยู่ ทำให้คนที่เรารักมีความสุข มีเพื่อนที่คอยห่วงหา ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน

ขอให้เพื่อนรักไปสู่สุขคติเถิดนะ ไม่ต้องห่วงผู้ที่ยังต้องอยู่ เพื่อนๆ และผู้ที่อยู่ข้างหลังจะคอยช่วยเหลือดูแลให้ และพรุ่งนี้ตั้งใจไว้ว่าแต่จะไปทำบุญตักบาตรที่หน้าครูบาศรีวิชัย อุทิศให้เพื่อนจงมีแต่ความสุขตลอดไป และสำหรับบล็อคนี้ก็ขอให้เพื่อน ๆ ที่เข้ามาดูโปรดตรองดูว่าชีวิตคนเรามันลำบากยากนักในการอยู่ในสังคมปัจจุบัน ก็ให้สู้ชีวิตต่อไป เพื่อชีวิตตัวเองอยู่ได้ ตามเท่าที่มันจะเป็นไป ปัญหาอุปสรรคใด ๆ ก็พยายามแก้ไขให้พ้นผ่าน และชีวิตเรามันต้องอยู่กับกาลเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วันใด วันหนึ่ง เราคงพบความสุขที่เราหวังไว้ สักวัน


 


จากบล็อกของเพื่อนคุณ คณาพันธุ์


http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=wungbuaban&month=01-2007&group=1&date=31&blog=1


 


 


 


 


...............................


 


อ่านจดหมายลาตายฉบับลายมือของ คณาพันธุ์ ปานตระกูล  


 


จดหมายลาตายของคณาพันธุ์ ปานตระกูล


 


ข่าวเกี่ยวข้อง


 


"ลูกจ้างชั่วคราว" อัตนิบาตกรรม "ชีวิตของผมคงจะกระตุ้นพวกท่านให้มีความอนุเคราะห์ลูกจ้างชั่วคราวบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net